Photo: Stringer Malaysia, Reuters/profile

1.

การพลิกสถานการณ์กลับมาคว้าแชมป์ของทีมชาติไทยในรอบชิงชนะเลิศศึกฟุตบอลประจำภูมิภาคอาเซียน เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2014 ได้อย่างน่ามหัศจรรย์ หลังตามมาเลเซียเจ้าถิ่น 3-0 เป็น 3-2 คือเหตุการณ์ที่ดีที่สุดในรอบ 2 ปีของวงการฟุตบอลไทย

เพราะเป็นการคว้าแชมป์รายการนี้ครั้งแรกในรอบ 12 ปี และเป็นจุดเริ่มต้นของทีม ‘ช้างศึก’ ยุคใหม่

หลังจบการแข่งขัน ซิโก้-เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง หัวหน้าผู้ฝึกสอน กล่าวว่า ระหว่างพักครึ่ง ในขณะที่ทุกคนกำลังท้อแท้ ก็มีเสียงโทรศัพท์เข้ามาถึง เกษม จริยวัฒน์วงศ์ ผู้จัดการทีมชาติไทย

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตรอยู่ และพระราชทานกำลังใจให้นักฟุตบอลให้สู้ต่อ”

เพียงแค่รู้ว่า ‘พ่อ’ ดูอยู่

นั่นก็มากพอที่จะทำให้ทุกคนพร้อมลุกขึ้นสู้และสร้างปาฏิหาริย์

2.

คนรุ่นหลังอาจไม่เคยรู้ว่า ‘ในหลวง’ ของเราชาวไทยครั้งหนึ่งทรงเป็นนักกีฬาที่เก่งกาจ

โดยเฉพาะกีฬาเรือใบที่ทรงโปรดอย่างมาก

เมื่อ 46 ปีก่อน พระองค์ได้แสดงพระอัจฉริยภาพในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 ทรงชนะเลิศการแข่งขันกีฬาเรือใบ ประเภทโอเค ดิงกี้ (OK Dinghy) ร่วมกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี​ โดยเรือ ‘นวฤกษ์’ ที่ใช้ในการแข่งขันก็เป็นเรือที่ทรงต่อขึ้นจากฝีพระหัตถ์เอง

ครั้งนั้นผู้ที่ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญทองแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็คือสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

ภาพของล้นเกล้าฯ ทั้งสองในวันนั้นเป็นภาพในความทรงจำที่พสกนิกรชาวไทยไทยรุ่นพ่อรุ่นแม่ปลาบปลื้มเป็นอย่างยิ่ง และเชื่อว่าไม่มีใครลืมลง

และต่อมาทุกวันที่ 16 ธันวาคม จึงกลายเป็น ‘วันกีฬาไทย’ ไปด้วย

อีกเรื่องที่เล่ากันได้ไม่รู้เบื่อ คือการที่พระองค์ทรงเรือใบด้วยพระองค์เพียงลำพังจากพระราชวังไกลกังวลแล่นข้ามอ่าวไทยไปถึงอ่าวนาวิกโยธิน อำเภอสัตหีบ เป็นระยะทาง 60 ไมล์ทะเล หรือ 110 กิโลเมตร ท่ามกลางคลื่นลมแปรปรวนกลางทะเลอ่าวไทย รวมเวลากว่า 17 ชั่วโมง

เส้นทางที่แม้แต่นักเรือใบรุ่นหลังยังยอมรับว่าการ ‘ตามรอยพ่อ’ เส้นทางนี้หนักหนาสาหัสอย่างยิ่ง ต้องใช้พละกำลังทั้งกายและใจอย่างมาก

หากพระองค์ไม่ได้มาตัวเปล่า แต่นำธง ‘ราชนาวิกโยธิน’ มาด้วย และปักบนยอดก้อนหินใหญ่ที่ชายหาด และทรงลงพระปรมาภิไธยบนแผ่นศิลาจารึกบนก้อนหินใหญ่

เสียงบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ ‘มาร์ชราชนาวิกโยธิน’ (Royal Marines March) ดังกระหึ่มทั่วทั้งชายหาด เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2509

และยังตรึงอยู่ในใจนาวิกโยธินทุกนายจนทุกวันนี้

แต่ไม่ใช่แค่ทรงพระปรีชาในการทรงเรือ พระองค์ยังทรงออกแบบและต่อเรือใบตระกูล ‘มด’ ขึ้นด้วยพระองค์เอง

เรือใบมด ดัดแปลงมาจากเรือใบตระกูลม็อท (Moth) ตัวเรือยาว 11 ฟุต กว้าง 4 ฟุต เสาเดี่ยว เนื้อที่ใบ 72 ตารางฟุต มีน้ำหนักเบา สะดวกในการเคลื่อนย้าย เก็บรักษาง่าย และที่สำคัญคือมีความว่องไว และเร็ว ซึ่งชื่อพระราชทานนั้น ทรงมีรับสั่งว่า “ที่ชื่อมดนั้น เพราะมันกัด เจ็บๆ คันๆ ดี”

เรือใบประเภทมด ได้รับการจดสิทธิบัตรสากล ประเภท International Moth Class ที่ประเทศอังกฤษ ก่อนที่ต่อมาทรงพัฒนาขึ้นอีก 2 แบบคือ เรือใบซูเปอร์มด และเรือใบไมโครมด

จะมีนักกีฬากี่คนบนโลกที่ไม่เพียงแต่จะเล่นกีฬาชนิดนั้นได้เก่ง หากยังสามารถออกแบบเรือที่ใช้ในการแข่งขันได้ทั้งลำเช่นนี้

คำว่า ‘อัจฉริยะ’ อาจไม่เพียงพอสำหรับการยกย่อง ‘กษัตริย์นักกีฬา’ พระองค์นี้

3.

ความจริง ‘พ่อ’ ไม่ได้โปรดแค่กีฬาเรือใบ แต่ทรงชื่นชอบกีฬามากมายหลายหลาก

สกีน้ำแข็ง, ยิงปืน, กอล์ฟเล็ก, การแข่งขันรถเล็ก, เทนนิส, แบดมินตัน, เครื่องร่อน เป็นกีฬาที่ทรงเล่นตั้งแต่พระเยาว์ โดยเฉพาะแบดมินตันที่โปรดไม่แพ้เรือใบ

ที่โปรดกีฬาเหล่านี้เพราะเป็นกีฬาที่ไม่ได้ใช้แค่พละกำลังเพียงอย่างเดียว แต่ต้องใช้ไหวพริบด้วย

ครั้งหนึ่งเคยทรงมีรับสั่งกับคนใกล้ชิดว่า แบดมินตันเป็นกีฬาไม่กี่ประเภทที่คนไทยสามารถไต่เต้าไปสู่ระดับโลกได้

สมาคมกีฬาแบดมินตันจึงเป็นสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์มาโดยตลอด จากศาสตราจารย์ เจริญ วรรธนะสิน อดีตนักแบดมินตันระดับโลกคนแรกๆ ของไทย (เคยพระราชทานคำแนะนำ จนสามารถเอาชนะคู่ปรับจอมแกร่ง เออร์แลนด์ คอปส์ ชาวเดนมาร์กได้) จนในวันนี้เรามีนักแบดมินตันหญิงที่เคยขึ้นเป็นมือหนึ่งของโลกคือ รัชนก อินทนนท์ และเหล่านักตบลูกขนไก่คลื่นลูกใหม่ที่มาแรงเหลือเกิน

และอีกหลากหลายสมาคมที่พระองค์ทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ต่างก็มีการพัฒนาก้าวหน้าไปตามลำดับ

ที่เป็นเช่นนี้เพราะพระองค์ทรงเห็นความสำคัญของการเล่นกีฬา ดังความตอนหนึ่งในพระบรมราโชวาทเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2514 ว่า

“การกีฬาเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเป็นอยู่ของบ้านเมืองเป็นสำคัญส่วนหนึ่ง ประเทศใดที่มีนักกีฬาที่มีฝีมือและมีน้ำใจดีก็ทำให้ประเทศนั้นมีหน้าตา และแสดงถึงนิสัยใจคอประชาชนในประเทศนั้น”

กีฬาสร้างคน คนสร้างชาติ และกีฬาก็สร้างความสุขให้แก่คนในชาติได้เช่นกัน

นักกีฬาทีมชาติไทยเมื่อถึงคราต้องลงแข่งขันรายการสำคัญจะพกพระบรมฉายาลักษณ์ติดไปด้วยเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ

และทุกคนรู้ว่าพระองค์ทรงเฝ้าติดตามอยู่ไม่ห่างจริงๆ

วิจารณ์ พลฤทธิ์ ชูพระบรมฉายาลักษณ์ ‘ในหลวง’ เพื่อฉลองชัย หลังเอาชนะ Bulat Jumadilov นักชกชาวคาซัคสถาน คว้าเหรียญทอง กีฬามวยสากลสมัครเล่น รุ่น 51 กิโลกรัม โอลิมปิกเกมส์ ปี 2000 ที่ซิดนีส์ ประเทศออสเตรเลีย, Photo: Reuters Photographer, Reuters/profile

เหมือนในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ปี 1996 (พ.ศ. 2539) ที่แอตแลนตา ประเทศสหรัฐอเมริกา สมรักษ์ คำสิงห์ เตรียมขึ้นชกชิงเหรียญทองด้วยความกระวนกระวาย เหงื่อโทรมกาย หัวใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว รู้ตัวว่าขึ้นไปชกสภาพนั้นคงไม่ได้รับชัยชนะกลับมาแน่

นักชกจอมโวจึงนำพระบรมฉายาลักษณ์ที่นำติดตัวมาจากบ้านขึ้นเวทีไปด้วย เพื่อเป็นกำลังใจให้ชกได้ที่สุด

ในวันนั้น สมรักษ์ สยบเซราฟิม โทโดรอฟ นักชกชาวบัลแกเรีย คว้าเหรียญทองแรกในประวัติศาสตร์วงการกีฬาไทยมาครองได้สำเร็จ

โดยที่สมรักษ์ไม่รู้หรอกว่าในวันนั้นมีกองเชียร์คนหนึ่งที่เอาใจช่วยสุดหัวใจอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล

กว่าจะรู้ก็ตอนมีโอกาสได้เข้าเฝ้าและพระองค์ทรงมีรับสั่งว่า

“เราดีใจมาก เราดูอยู่ที่วังไกลกังวล พอชนะคว้าเหรียญทองเรากระโดดดีใจร้องไชโยเสียงดังจนข้าราชการผู้ใหญ่หัวเราะเรา”

Photo: Athit Parawongmetha, Reuters/profile

4.

วันนี้ฟ้ายังคงสีเทาสีเดิมและสีเดียวกับอารมณ์ของคนไทยหลัง ‘พ่อหลวง’ จากเราไปหลายวัน

สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ประกาศยุติการแข่งขันฤดูกาลปัจจุบันอย่างเป็นทางการด้วยมติ 17-1 หลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในการตัดสินใจครั้งนี้

สนามกีฬาอีกหลายแห่งว่างเปล่า ไม่มีใครมีอารมณ์เล่นกีฬานักในยามนี้

แต่อีกไม่นานนักเมื่อวันเวลาช่วยบรรเทาความเศร้าโศกลง ทุกอย่างจะค่อยๆ กลับสู่ภาวะปกติอย่างช้าๆ

วงการกีฬาย่อมต้องมีการแข่งขัน นักกีฬามีหน้าที่ของตนที่ต้องทำเช่นกัน

ตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมา ‘พ่อ’ ก็ไม่เคยทรงมีรับสั่งขอให้ใครเล่นกีฬาเพื่อพ่อ

แต่ ‘พ่อ’ ทรงอยากเห็นคนไทยเล่นกีฬา เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพกายและใจที่ดี เพื่อที่จะดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข เหมือนที่พ่อทรงออกกำลังกาย เพื่อที่จะได้แข็งแรงและสามารถดูแลประชาชนที่เปรียบเหมือนลูกๆ ทุกคน

และมากกว่านั้น ‘พ่อ’ ทรงอยากเห็นประเทศเต็มไปด้วยคนที่มี ‘น้ำใจนักกีฬา’ เพื่อที่ทุกคนจะได้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข

วันนี้ถึง ‘พ่อ’ จะเสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว

แต่ความทรงจำดีๆ และแรงบันดาลใจของพ่อยังอยู่

เช่นเดียวกับ ‘กำลังใจ’ ที่ไม่เคยหายไปไหน

‘ในหลวง’ ยังทรงเฝ้าดูพวกเราและเหล่านักกีฬาไทยอยู่เสมอบนฟ้าไกล

 

อ้างอิง:
https://th.wikipedia.org/wiki/การเล่นกีฬาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช,
https://www.4.eduzones.com/logist/1713, http://manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9490000074086, http://siamsport.co.th/Sport_Other/161014_162.html, http://manager.co.th/sport/ViewNews.aspx?NewsID=9590000103254, http://tnamcot.com/content/81638, http://matichon.co.th/news/321132, http://matichon.co.th/news/322404, http://matichon.co.th/news/323216

Tags: , , , , , , , ,