เวลาเราพูดถึงคำว่า ‘เสรีภาพ’ หลายคนนึกไม่ออกจริงๆ ว่ามันคืออะไร ขอบเขตของมันสามารถกว้างไกลขยายขอบฟ้าไปได้ถึงขนาดไหน

โดยเฉพาะเสรีภาพเรื่องเพศ

เมื่อปีที่แล้ว กลุ่มการเมืองที่เรียกว่า The Liberal Youth of Sweden (เรียกย่อๆ ว่า LUF) ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนของพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่มีชื่อว่าพรรค Liberal Pepole’s Party (ถ้าจะแปลก็อาจแปลได้ว่าเป็นพรรคเสรีนิยมประชาชน) ได้ลงคะแนนเสียงกันในกลุ่ม โดยผลโหวตที่ออกมาบอกว่า กลุ่มจะเคลื่อนไหวในเสรีภาพทางเพศเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นปัญหามานานแล้ว

ถ้าหากว่าคนสองคนที่เป็นพี่น้องกัน เกิดอยากรักกัน แต่งงานกัน มีเพศสัมพันธ์กัน
และเป็นเรื่องที่เรียกว่า consensual หรือยินยอมพร้อมใจกันทั้งสองฝ่าย
ถ้ามันไม่ได้ทำให้คนสองคนนั้นมีปัญหา
ก็ไม่ควรที่ใครอื่นจะเข้าไปคิดว่าคนสองคนนั้นมีปัญหาหรือเปล่า

ถ้าฟังเผินๆ หลายคนอาจรู้สึกตกใจ เพราะเสรีภาพทางเพศที่เขาบอกว่าจะเรียกร้องต่อสู้ ก็คือเสรีภาพทางเพศสองเรื่อง

เรื่องแรกคือ การมีเพศสัมพันธ์แบบ Incest คือมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนในสายเลือดเดียวกัน เช่นระหว่างพี่น้อง (อาจไม่ถึงขั้นระหว่างพ่อแม่กับลูก) ส่วนอีกแบบหนึ่งคือ การมีเพศสัมพันธ์แบบที่เรียกว่า Necrophilia ซึ่งหลายคนคิดว่าเป็นการมีเซ็กซ์กับศพเท่านั้น

พูดแบบนี้ คนร้อยทั้งร้อยคงไม่เห็นด้วยนะครับ จะเปิดเสรีทางเพศอะไรกันนักหนาถึงขั้นให้คนมีเซ็กซ์ได้ระหว่างพี่น้อง แถมยังไปมีเซ็กซ์กับศพอีกต่างหาก

เรื่องนี้ เซซิเลีย จอห์นสัน (Cecilia Johnsson) ประธานกลุ่ม LUF ในกรุงสตอกโฮล์ม บอกว่ามันมีกฎหมายห้ามการกระทำเหล่านี้อยู่ แต่เธอบอกว่า กฎหมายเหล่านี้ไม่ได้ปกป้องใครเลย

เธอบอกว่า เธอเข้าใจว่าการมีเซ็กซ์ในรูปแบบที่ว่ามานี้อาจถูกมองว่าเป็นเรื่องวิตถารประหลาด และถึงขั้นน่าทุเรศอุบาทว์ แต่กระนั้นกฎหมายก็ไม่ควรมีที่มาจากความรู้สึกแบบนี้แล้วออกเป็นกฎหมาย แต่เธอบอกว่า ‘ฐาน’ ที่กฎหมายควรวางอยู่ ก็คือฐานคิดเรื่องสิทธิและความยินยอมพร้อมใจ (Consent) ของคนแต่ละคน

เธอบอกว่า ในเรื่องเพศสัมพันธ์แบบ Incest ถ้าหากว่าคนสองคนที่เป็นพี่น้องกัน เกิดอยากรักกัน แต่งงานกัน มีเพศสัมพันธ์กัน และเป็นเรื่องที่เรียกว่า consensual หรือยินยอมพร้อมใจกันทั้งสองฝ่าย ถ้ามันไม่ได้ทำให้คนสองคนนั้นมีปัญหา ก็ไม่ควรที่ใครอื่นจะเข้าไปคิดว่าคนสองคนนั้นมีปัญหาหรือเปล่า

ในอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่อง Necrophilia เธอบอกว่าคนเราควรมีอำนาจตัดสินใจเหนือร่างกายของตัวเอง ไม่ว่าขณะยังมีชีวิตอยู่หรือตายไปแล้ว การ ‘เคารพผู้ตาย’ แปลว่าต้องเคารพเจตจำนงของผู้ตายด้วย สมมติว่ามีใครคนหนึ่งรักใครอีกคนหนึ่งมาก แล้วอยู่ๆ คนคนนั้นก็ตายลง ทำไมเราต้องบังคับให้ฝังหรือเผาร่างของผู้ตายเสมอ ทำไมใครคนใดคนหนึ่งถึงจะเก็บศพของคนที่ตัวเองรักเอาไว้ไม่ได้ (ในกรณีที่ผู้ตายได้แสดงเจตจำนงเช่นเดียวกัน) เช่น อาบน้ำยาดองศพเก็บไว้ในห้องนอนที่บ้าน เพื่อให้ได้เห็นกันไปจนกว่าอีกฝ่ายจะตายตามไป

Necrophilia ไม่ได้แปลว่าต้องมีเซ็กซ์กับศพเสมอไป แต่หมายถึงความรักในศพ ในผู้ตาย แต่หากผู้ตายกับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ตกลงกันไว้แล้วว่าสามารถมีเซ็กซ์ได้ ก็น่าจะเป็นเรื่องของคนสองคน (หรือหนึ่งคนกับร่างของอีกคนหนึ่ง) นั้น

ดังนั้น ทั้งกรณี Incest และ Necrophilia จึงไม่ใช่เรื่องของการเปิดปล่อยเสรีภาพโดยไม่ได้คิด แต่เป็นการย้อนกลับมาดูว่า กฎหมายควรจะวางอยู่บน ‘ฐานคิด’ แบบไหน สอดคล้องกับหลักการเสรีนิยมหรือเปล่า

หากผู้ตายกับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ตกลงกันไว้แล้วว่าสามารถมีเซ็กซ์ได้
ก็น่าจะเป็นเรื่องของคนสองคน

แต่แน่นอน แนวคิดของ LUF ได้รับการปฏิเสธจากพรรคใหญ่ อดัม อัลเฟรดสัน (Adam Alfredsson)-โฆษกพรรค, ต้องรีบออกมาบอกว่า พรรคแม่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับข่าวนี้เลย เขาบอกว่าทั้ง Incest และ Necrophilia ควรต้องผิดกฎหมายและจะต้องผิดกฎหมายต่อไป เพราะร่างของผู้ตายไม่สมควรถูกนำมารับใช้วิถีทางเพศของใครแบบนี้

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกนะครับที่มีข้อเสนอทำนองนี้ เพราะย้อนกลับไปในปี 2008 สภาจริยธรรมแห่งเยอรมนี (Germany’s National Ethics Council) ก็เคยเรียกประชุมพิจารณาเรื่องนี้มาแล้ว ตอนนั้นเป็นเพราะมีคดีของชายคนหนึ่งที่มีลูกสี่คนกับน้องสาวของตัวเอง

เรื่องของเรื่องก็คือ แพทริก สตูบิง (Patrick Stuebing) เป็นลูกที่พ่อแม่ยกให้คนอื่นรับไปเลี้ยง แต่พอโตขึ้น เขามาเจอกับน้องสาวของตัวเองครั้งแรกตอนที่แพทริกอายุ 24 น้องสาวของเขาอายุ 16 ซึ่งต่อมาก็ตกหลุมรักและมีลูกด้วยกัน เนื่องจากเขาไม่รู้ว่าพ่อแม่ของตัวเองเป็นใคร จึงพยายามค้นคว้าย้อนกลับไปดูความเป็นมาของตัวเอง ผลปรากฏว่า เขาเป็นพี่น้องกับคนที่เขารัก

เขาถูกกล่าวหาว่าทำผิดในเรื่อง Incest ในปี 2008 และต้องติดคุกนานสามปี แม้จะอุทธรณ์กับศาลของเยอรมนี และกระทั่งกับศาลมนุษยชนของยุโรป ในเรื่อง ‘สิทธิ’ ที่จะมีชีวิตครอบครัว แต่ก็ไม่เป็นผล

ที่แย่ก็คือ ลูกๆ ของเขาทั้งสี่ต้องกระจัดพลัดพรายกันไปคนละทิศละทาง เพราะศาลไม่อนุญาตให้พ่อแม่อย่างเขาเลี้ยงดูลูก ทั้งนี้ก็เพราะความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างพี่น้อง และพ่อแม่กับลูกนั้น เป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมายอาชญากรรมเยอรมัน

แต่ที่สภาจริยธรรมเยอรมันต้องหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมา ไม่ใช่แค่เพราะสองคนนั้นไม่รู้ว่าตัวเองเป็นพี่น้องกันในตอนแรกเท่านั้น แต่สภาเสนอว่า ความเสี่ยงของการที่ลูกจะเกิดมามีภาวะด้อยต่างๆ เนื่องจากกรรมพันธุ์ใกล้กันเกินไปนั้น เป็นเรื่องที่ไม่เพียงพอจะใช้เป็นฐานของกฎหมายนี้

คริสเตียน วูเพน (Christiane Woopen) ประธานสภาจริยธรรมเป็นหนึ่งในคนที่โหวตยกเลิกกฎหมาย เขาบอกว่าแม้เรื่อง Incest จะไม่ได้มีอยู่มากมายนักในสังคมตะวันตกเมื่อดูจากสถิติที่เกิดขึ้น แต่กฎหมายที่มีอยู่ทำให้คนที่มีชีวิตแบบนี้ใช้ชีวิตได้ยากมาก เพราะเหมือนต้องถูกลงโทษจากทั้งสังคมและจากกฎหมายตลอดชีวิต

ที่สำคัญคุณคริสเตียนบอกว่าคนที่มีชีวิตแบบนี้รู้สึกเหมือนตัวเองถูกละเมิดเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และถูกบังคับให้ต้องเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ หรือไม่ก็ปฏิเสธความรักแบบนี้ในตัวเองไปเลย มีหลายกรณีมากที่ไม่ได้เป็นพี่น้องกันทั้งหมด เช่น เป็นลูกพ่อเดียวกันเท่านั้น (หรือแม่เดียวกันเท่านั้น) และไม่ได้โตมาด้วยกัน แต่มาเจอกันในตอนที่โตแล้ว และรักกัน

เวลาเราพูดว่า-ฉันเปิดกว้างๆ
เอาเข้าจริงก็ล้วนแต่มีขีดจำกัดที่มองไม่เห็นด้วยกันทั้งนั้น
ต้องรอกระทั่งมีเรื่องที่ ‘สุดขั้ว’ จริงๆ มากระทบ
เราถึงจะเห็นขีดจำกัดของตัวเราเอง

ประธานสภาจริยธรรมเยอรมันบอกว่า กฎหมายแบบนี้ทำให้คนที่รักกันต้องเผชิญหน้ากับโศกนาฏกรรมทั้งที่ไม่จำเป็น เขาบอกว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม ที่จะเอากฎหมายอาชญากรรมมาใช้กับเรื่องต้องห้ามทางสังคม

เขาบอกด้วยว่า ในกรณีของ Incest ที่ต่างฝ่ายต่างยินยอมพร้อมใจนี้ ต่อให้ใครจะกลัวว่าจะเกิดผลลัพธ์ในแง่ลบกับครอบครัว หรือเด็กอาจเกิดมามีสภาวะที่บกพร่องทางพันธุกรรมอะไรก็แล้วแต่ ก็ไม่ควรเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายอาชญากรรม

กับเรื่องนี้ โฆษกของนางอังเกลา แมร์เคิล บอกว่าการยกเลิกกฎหมายนี้จะเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดให้กับสังคม เพราะอาจทำให้คนเข้าใจผิดได้ว่า เยอรมนีสนับสนุนการมีเพศสัมพันธ์แม้กระทั่งระหว่างพ่อแม่กับลูก

ที่ผมหยิบเรื่องเหล่านี้มาเล่าให้ฟัง ไม่ได้จะบอกคุณว่าเราควรต้องมีเสรีภาพทางเพศกันถึงขนาดในข่าว เพราะเอาเข้าจริง ทั้งทางการเยอรมนีและสวีเดนก็ยังรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ ‘มากเกินไป’ แต่ที่อยากให้สังเกตก็คือ ไม่ว่าข้อเสนอ (Arguments) จะฟังดูบ้าบอขนาดไหน ก็ไม่ได้มีใครออกมาชี้หน้าด่ากันว่าอีกฝ่ายเป็นคนเลว ไม่มีมาตรฐานศีลธรรม ทว่าเป็นการสู้กันด้วยการพูดคุยและเหตุผลที่เกี่ยวข้อง

การโต้เถียงกันด้วยเรื่องที่ ‘สุดขอบ’ (Radical) แบบนี้ ที่สุดอาจไม่ได้ก่อเกิดผลในทางปฏิบัติอะไรเลยก็ได้ แต่มันจะทำให้เรา ‘เห็น’ ว่าเส้นขอบฟ้าแห่งความคิดของเราไปสิ้นสุดอยู่ตรงไหน เวลาเราพูดว่า-ฉันเปิดกว้างๆ เอาเข้าจริงก็ล้วนแต่มีขีดจำกัดที่มองไม่เห็นด้วยกันทั้งนั้น ต้องรอกระทั่งมีเรื่องที่ ‘สุดขั้ว’ จริงๆ มากระทบ เราถึงจะเห็นขีดจำกัดของตัวเราเอง

เรื่องราวของเสรีภาพทางเพศก็เป็นแบบนั้นด้วยเช่นกัน

 

ภาพประกอบ: Karin Foxx

Tags: , , , , , , , ,