การตั้ง “พรรคอนาคตใหม่” ของคนรุ่นใหม่ที่นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ ปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นข่าวมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายวันที่ผ่านมา นอกจากจะประกาศเปิดตัวแกนนำทั้งสองแล้ว ก็ตามมาด้วยการเผยโฉมกลุ่ม ‘เพื่อนธนาธร’ ที่มาจากกลุ่มคนหลายแวดวงที่จะเข้ามาทำงานด้านนโยบายและวางแนวทางให้กับพรรค
ท่ามกลางกระแสข่าวและความคิดเห็นที่มีทั้งเสียงเชียร์และเสียงต้านตามสื่อและโลกโซเชียลนั้น สิ่งหนึ่งที่น่าจับตามองเกี่ยวกับการตั้งพรรคของธนาธรและปิยบุตรก็คือ ถ้าทั้งคู่มีเป้าหมายจะทำให้สังคมไทยก้าวพ้นเผด็จการและมุ่งไปสู่ประชาธิปไตยอย่างยั่งยืนตามที่ได้ประกาศไว้ในเบื้องต้น ทำไมทั้งคู่จึงตัดสินใจตั้งพรรคใหม่ขึ้นมา แทนที่จะพยายามเปลี่ยนแนวทางของพรรคการเมืองพรรคใหญ่ที่มีแนวโน้มต่อต้านอำนาจเผด็จการอยู่ก่อนแล้ว นั่นคือพรรคเพื่อไทย
บทความนี้ต้องการจะอภิปรายประเด็นนี้ โดยยกกรณีของกลุ่ม Momentum ในประเทศอังกฤษมาเทียบเคียง ทั้งนี้ เพราะกลุ่ม Momentum เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีภาพของคนรุ่นใหม่เช่นเดียวกัน แต่ความน่าสนใจของ Momentum คือ พวกเขาไม่ได้ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่ แต่เข้าไปมีบทบาทเปลี่ยนแปลงแนวทางของพรรคการเมืองเก่าแก่พรรคหนึ่งที่มีอยู่แล้ว นั่นคือพรรค Labour หรือพรรคแรงงานของอังกฤษ
ที่สำคัญ การเคลื่อนไหวของ Momentum นั้น ยังประสบความสำเร็จค่อนข้างมาก ซึ่งชี้ให้เห็นว่า การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จนั้น อาจไม่จำเป็นต้องอาศัยการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่เสมอไป แต่สามารถทำได้โดยการเข้าไปเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลในระดับผู้นำและแนวทางของพรรคเดิมที่มีอยู่แล้ว
ประวัติย่อของพรรคแรงงานอังกฤษ
พรรค Labour หรือพรรคแรงงานของประเทศอังกฤษ ก่อตั้งขึ้นช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เป็นพรรคที่พัฒนาขึ้นมาจากกลุ่มเคลื่อนไหวของชนชั้นแรงงานที่มีอยู่ก่อนหน้านั้น ในช่วงที่พรรคแรงงานถือกำเนิดขึ้น อังกฤษมีพรรคการเมืองใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญอยู่ 2 พรรค คือพรรคอนุรักษนิยม (Conservative) ซึ่งมีจุดยืนอยู่ทางฝั่งอนุรักษนิยมหรือที่เรียกกันว่าฝั่งขวาของการเมือง ส่วนอีกพรรคหนึ่งคือพรรคเสรีนิยม (Liberal) ซึ่งมีแนวคิดแบบกลางๆ อาจค่อนมาทางซ้ายอยู่บ้าง
ในระยะแรก พรรคแรงงานยังไม่สามารถช่วงชิงคะแนนเสียงมาได้มากนัก แต่ในเวลาไม่นาน พวกเขาก็ได้ที่นั่งในสภามากขึ้นจนจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในปี 1923
ความนิยมที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของพรรคแรงงาน ก็ส่งผลให้พรรคเสรีนิยมได้คะแนนเสียงลดลง จนเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงในปี 1945 พรรคแรงงานก็ก้าวขึ้นมาเป็นพรรคหลักในฝั่งซ้ายของการเมืองอังกฤษแทนที่พรรคเสรีนิยมได้โดยสมบูรณ์
ด้วยเหตุที่ว่าพรรคแรงงานเป็นพรรคที่พัฒนาขึ้นมาจากกลุ่มเคลื่อนไหวของชนชั้นแรงงานในอังกฤษ จุดยืนที่เป็นประเพณีดั้งเดิมของพรรคจึงเป็นจุดยืนในแบบซ้ายหรือสังคมนิยม เช่น มุ่งเน้นการพิทักษ์ผลประโยชน์ของชนชั้นแรงงาน คนยากจน และผู้ด้อยโอกาสในสังคม เชื่อมั่นในการให้รัฐเข้าไปกำกับควบคุมระบบเศรษฐกิจ มุ่งขยายบทบาทของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายต่างๆ รวมถึงเชื่อในการเก็บภาษีจากคนรวยในอัตราสูงเพื่อนำมาพัฒนาระบบสวัสดิการของรัฐ
ผลงานที่เด่นชัดอย่างหนึ่งของพรรคแรงงานอังกฤษในช่วงที่มีอำนาจเป็นรัฐบาลภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ก็คือการก่อตั้งระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า (National Health Service หรือ NHS) ที่ทำให้ประชาชนในอังกฤษสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลจากระบบสาธารณสุขของรัฐได้ฟรีในเกือบทุกกรณี ซึ่งระบบ NHS นี้ได้กลายเป็นนโยบายเชิดหน้าชูตาของพรรคแรงงานมาตลอด เพราะเป็นนโยบายที่ประชาชนให้ความนิยมอย่างล้นหลาม แม้ว่าในเวลาหลังจากนั้นจะมีอีกหลายยุคหลายสมัยที่พรรคอนุรักษนิยมได้เป็นรัฐบาล แต่พรรคอนุรักษนิยมก็ไม่เคยล้มเลิกระบบ NHS ลงได้เลย
พรรคแรงงานเป็นพรรคที่พัฒนาขึ้นมาจากกลุ่มเคลื่อนไหวของชนชั้นแรงงานในอังกฤษ จุดยืนที่เป็นประเพณีดั้งเดิมของพรรคจึงเป็นจุดยืนในแบบซ้ายหรือสังคมนิยม เช่น มุ่งเน้นการพิทักษ์ผลประโยชน์ของชนชั้นแรงงาน คนยากจน และผู้ด้อยโอกาสในสังคม
อย่างไรก็ตาม เมื่ออังกฤษประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงทศวรรษ 1970 แนวทางของพรรคแรงงานที่เน้นให้รัฐกำกับควบคุมระบบเศรษฐกิจก็เริ่มไม่ส่งผล ทำให้ทางฝั่งพรรคอนุรักษนิยมที่นำโดย มาร์กาเร็ต แท็ตเชอร์ (Margaret Thatcher) ก้าวขึ้นมาเป็นรัฐบาล และเปลี่ยนแนวนโยบายเศรษฐกิจของประเทศไปในทิศทางของตลาดเสรีอย่างเข้มข้น
แท็ตเชอร์ได้เป็นนายกรัฐมนตรียาวนานถึง 11 ปี นำพรรคอนุรักษนิยมชนะการเลือกตั้ง 3 ครั้ง และถึงแม้แท็ตเชอร์จะพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ไปในปี 1990 แต่ผู้นำพรรคอนุรักษนิยมคนต่อมา คือ จอห์น เมเจอร์ (John Major) ก็นำพรรค ชนะการเลือกตั้งครั้งถัดมาในปี 1992 ได้อีกครั้ง ทำให้เมื่อรวมแล้ว ในช่วงเวลานั้น พรรคอนุรักษนิยมได้เป็นรัฐบาลต่อเนื่องยาวนานถึง 18 ปี คือตั้งแต่ปี 1979 จนถึงปี 1997
ในเวลาที่พรรคอนุรักษนิยมได้ครองอำนาจต่อเนื่องยาวนานเช่นนี้ ก็หมายความว่าพรรคแรงงานต้องตกอยู่ในฐานะฝ่ายค้านยาวนานถึง 18 ปีเช่นเดียวกัน จนในที่สุดเมื่อพรรคเข้าสู่ยุคที่โทนี่ แบลร์ (Tony Blair) ก้าวขึ้นเป็นผู้นำ จึงพลิกกลับมาเอาชนะได้อย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งเมื่อปี 1997
จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้พรรคแรงงานได้กลับมาเป็นรัฐบาลในยุคของแบลร์ ก็มาจากการปรับโฉมหน้าและแนวทางของพรรคครั้งใหญ่ กล่าวคือ แทนที่พรรคแรงงานจะยึดมั่นในแนวทางสังคมนิยมแบบเดิม ก็ปรับเปลี่ยนมาใช้แนวนโยบายแบบตลาดเสรีตามอย่างพรรคอนุรักษนิยมมากขึ้น โดยแบลร์ขนานนามพรรคแรงงานในช่วงที่เขาเป็นผู้นำว่า พรรคแรงงานใหม่ (New Labour)
แม้ว่าพรรคแรงงานในโฉมหน้า New Labour จะประสบความสำเร็จเป็นรัฐบาลได้ต่อเนื่องถึง 13 ปี คือตั้งแต่ปี 1997 ถึง 2010 แต่การเปลี่ยนแนวทางของพรรคไปสู่แนวนโยบายแบบตลาดเสรีที่มากขึ้นก็สร้างความไม่พอใจให้กลุ่มฐานเสียงดั้งเดิมของพรรค และเมื่ออังกฤษประสบกับปัญหาเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2008 ก็ทำให้ประชาชนอีกจำนวนมากเสื่อมศรัทธาในฝีมือการบริหารประเทศและแนวทางของพรรคแรงงาน
เมื่อพรรคอนุรักษนิยมได้กลับมาเป็นรัฐบาลในปี 2010 รัฐบาลที่นำโดยพรรคอนุรักษนิยมก็ใช้นโยบายรัดเข็มขัดและควบคุมการใช้จ่ายของรัฐอย่างเข้มงวดจนสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยทำให้เกิดกระแสกดดันว่า แนวทางแบบ New Labour นั้นหมดยุคลงแล้ว พรรคแรงงานควรละทิ้งแนวนโยบายแบบตลาดเสรี และย้อนกลับไปเป็นพรรคที่มุ่งใช้ทรัพยากรของรัฐมาปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนดั่งเช่นในอดีต
แทนที่พรรคแรงงานจะยึดมั่นในแนวทางสังคมนิยมแบบเดิม ก็ปรับเปลี่ยนมาใช้แนวนโยบายแบบตลาดเสรีตามอย่างพรรคอนุรักษนิยมมากขึ้น โดยแบลร์ขนานนามพรรคแรงงานในช่วงที่เขาเป็นผู้นำว่า พรรคแรงงานใหม่ (New Labour)
เจเรมี คอร์บิน และกำเนิดของกลุ่ม Momentum
แม้จะมีกระแสเรียกร้องให้พรรคแรงงานกลับมาเดินในแนวทางสังคมนิยมตั้งแต่ช่วงหลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2010 แต่ก็แทบไม่มีใครคาดคิดว่าพรรคจะเลือก เจเรมี คอร์บิน (Jeremy Corbyn) ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคในเดือนกันยายนปี 2015
ทั้งนี้ ก็เพราะคอร์บินมีแนวคิดที่ถูกมองว่าเป็นสังคมนิยมในแบบที่ล้าสมัยไปแล้ว เช่น ขึ้นภาษีคนรวย ต้องการให้รัฐนำกิจการรถไฟและและสาธารณูปโภคต่างๆ มาบริหารเอง รวมถึงต้องการให้อังกฤษยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ของประเทศ
สมาชิกในพรรคหลายคนไม่เชื่อว่า ประชาชนทั่วไปจะยอมรับแนวคิดแบบของคอร์บินได้ เพราะถึงที่สุดแล้ว สมาชิกเหล่านี้มองว่าการที่พรรคจะทำประโยชน์ให้ประเทศได้ ก็ต้องพยายามชนะเลือกตั้งเพื่อเข้าไปมีอำนาจ และถ้าพรรคจะประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง ก็ต้องดึงดูดประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้มีแนวคิดสุดโต่งแบบคอร์บิน
คอร์บินมีแนวคิดที่ถูกมองว่าเป็นสังคมนิยมในแบบที่ล้าสมัยไปแล้ว เช่น ขึ้นภาษีคนรวย ต้องการให้รัฐนำกิจการรถไฟและและสาธารณูปโภคต่างๆ มาบริหารเอง รวมถึงต้องการให้อังกฤษยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ของประเทศ
อย่างไรก็ตาม คอร์บินก็สร้างความประหลาดใจให้กับทั้งสมาชิกพรรคแรงงานเองและบุคคลอื่นๆ เพราะแนวคิดที่ถูกมองว่าสุดโต่งของเขานั้น กลับเป็นที่ชื่นชอบของคนอีกจำนวนมาก เพราะผู้คนที่เดือดร้อนจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2008 เริ่มมองว่า แนวทางบริหารประเทศแบบ ‘กระแสหลัก’ ที่ร้ฐบาลอังกฤษไม่ว่าจะพรรคไหนก็ทำตามๆ กันมานั้น ใช้ไม่ได้ผล
ประชาชนรู้สึกว่า แนวทางของคอร์บินอาจจะดูเป็นการขายฝัน แต่ก็ยังน่าจะเป็นประโยชน์ต่อชีวิตประชาชนผู้เดือดร้อนได้มากกว่าแนวนโยบายแบบเดิม ๆ ขณะเดียวกัน คนที่เคยเลือกพรรคแรงงานมาก่อนในอดีตแต่ทิ้งพรรคไปในยุค New Labour ก็หวนกลับมาเป็นสมาชิกพรรคอีกครั้ง เนื่องจากมองว่าคอร์บินจะเป็นผู้ที่นำเอาแนวทางแบบสังคมนิยมกลับคืนสู่พรรคอย่างไม่ต้องเกรงใจใคร
ความมุ่งมั่นของคอร์บินทำให้ฐานเสียงของเขาขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ สวนทางกับกระแสวิจารณ์ตามหน้าสื่อที่ยังมองว่าคอร์บินจะนำพรรคไปสู่ความล้มเหลว
ที่น่าประหลาดใจยิ่งกว่านั้น ก็คือ คอร์บินซึ่งขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคในวัย 66 ปี กลับได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ ทั้งนี้ก็เพราะคนรุ่นใหม่ในอังกฤษต่างเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจและนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาลพรรคอนุรักษนิยม ต้องต่อสู้ดิ้นรนกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยเฉพาะค่าเช่าที่อยู่อาศัย ส่วนคนที่เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัยก็มีภาระต้องใช้หนี้ก้อนโตที่ผูกพันมาจากกองทุนให้กู้ยืมเรียนของรัฐบาล เหตุผลเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่ในอังกฤษชื่นชอบแนวทางของคอร์บิน ที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของคนที่เดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจ
ที่น่าประหลาดใจยิ่งกว่านั้น ก็คือ คอร์บินซึ่งขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคในวัย 66 ปี กลับได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่เยาวชนคนรุ่นใหม่
และก็เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้นี่เอง ที่จัดตั้งกลุ่มที่เรียกว่า Momentum ขึ้น โดยเป้าหมายหลักของกลุ่ม Momentum ก็คือสนับสนุนการทำงานของคอร์บิน
สมาชิกกลุ่มมองว่า ตัวเองเป็นแนวร่วมของพรรคแรงงานก็จริง แต่ก็ต้องเป็นพรรคแรงงานที่มีคอร์บินเป็นหัวหน้าพรรคเท่านั้น
บทบาทของกลุ่ม Momentum ในฐานะของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ก็คือรณรงค์หาเสียงให้กับพรรค รวมถึงเชิญชวนผู้คนให้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรค ทำให้พรรคแรงงานในยุคของคอร์บินมีสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นจำนวนหลายหมื่นคน
นอกจากนี้ การที่กลุ่มประกาศตัวสนับสนุนแนวทางของคอร์บินอย่างเต็มที่เช่นนี้ ก็แปลว่าพวกเขาได้กลายเป็นคู่แข่งกับกลุ่มย่อยอื่นๆ ในพรรคแรงงานที่ยังมีความคิดต่างไปจากคอร์บิน ดังนั้นเป้าหมายสำคัญอีกประการหนึ่งของกลุ่ม Momentum ก็คือพยายามเปลี่ยนแปลงพรรคแรงงานให้กลายเป็นพรรคที่มุ่งมั่นเดินตามแนวคิดของคอร์บินอย่างจริงจัง ไม่หันกลับไปหาแนวทางตลาดเสรีอีก
ซึ่งจะทำเช่นนั้นได้ ก็หมายความว่าจะต้องเปลี่ยนตัวบุคคลในระดับกรรมการบริหารพรรคแรงงานให้มีคนที่เห็นพ้องกับคอร์บินมากขึ้นด้วย นั่นคือ นอกจากกลุ่ม Momentum จะสนใจการเมืองภายนอกพรรคแล้ว ก็ยังพยายามกำหนดทิศทางการเมืองในพรรคแรงงานให้เป็นไปตามที่พวกเขาต้องการ
จุดเด่นของกลุ่ม Momentum ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองมีอยู่สองประการ ประการแรก พวกเขาจัดกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง กิจกรรมของพวกเขาไม่มีลักษณะเคร่งเครียดเหมือนกิจกรรมทางการเมืองโดยทั่วไป แต่พยายามสร้างบรรยากาศให้สนุกสนาน ทำให้การรณรงค์ทางการเมืองเป็นเหมือนการสังสรรค์ที่ให้ผู้คนมาร่วมสนุกกันได้ มีความกระตือรือร้นและอยากมาร่วมอีกในครั้งต่อๆ ไป
ประการที่สอง กลุ่ม Momentum เล็งเห็นถึงพลังของคนหนุ่มสาวที่ยังขาดความกระตือรือร้นทางการเมือง จึงพยายามใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อจูงใจคนเหล่านี้ให้มาสนับสนุนพรรคแรงงาน โดยมีการใช้กลยุทธ์การหาเสียงที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ เช่น ใช้โซเชียลมีเดียและแอปพลิเคชันช่วยหาเสียงและเผยแพร่ข่าวสาร
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทางกลุ่มจะมองข้ามความสำคัญของวิธีการหาเสียงแบบเดิม ๆ เพราะสมาชิกกลุ่ม Momentum ก็เข้าไปช่วยพรรคลงพื้นที่ตามเขตเลือกตั้งต่างๆ ด้วยเช่นกัน
ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2017 พรรคแรงงานถูกสบประมาทในช่วงแรกว่าจะพ่ายแพ้ย่อยยับให้กับพรรคอนุรักษนิยม แต่คอร์บินก็เดินหน้าหาเสียงอย่างอดทน ขณะที่กลุ่ม Momentum ก็ให้การสนับสนุนเขาอย่างเต็มที่ และพยายามจูงใจเยาวชนคนหนุ่มสาวให้ออกมาเลือกพรรคแรงงาน ทำให้คะแนนนิยมของพรรคดีวันดีคืนขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุด แม้พรรคแรงงานจะยังเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง แต่ก็เป็นการแพ้ที่ถือว่าดีเกินคาด เพราะพรรคอนุรักษนิยมที่ตอนแรกเป็นต่ออย่างมากกลับไม่สามารถครองเสียงข้างมากในสภาได้ ผิดจากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้อย่างลิบลับ
อีกทั้งเมื่อดูจากคะแนนเสียง พรรคแรงงานได้คะแนนไปถึง 40% ใกล้เคียงกับพรรคอนุรักษนิยมที่ได้ไป 42% ถือเป็นช่องว่างที่ห่างกันน้อยกว่าที่สื่อต่างๆ พยากรณ์ไว้
แม้พรรคแรงงานจะยังเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง แต่ก็เป็นการแพ้ที่ถือว่าดีเกินคาด เพราะพรรคอนุรักษนิยมที่ตอนแรกเป็นต่ออย่างมากกลับไม่สามารถครองเสียงข้างมากในสภาได้
ผลเลือกตั้งที่ออกมาทำให้พรรคอนุรักษนิยมเป็นฝ่ายเสียหน้า ส่วนคอร์บินพิสูจน์ตัวเองว่า แนวทางของเขาที่ถูกมองว่าสุดโต่งนั้นกลับได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมาก
ความสำเร็จของพรรคแรงงานในการเลือกตั้งครั้งดังกล่าว ส่วนหนึ่งก็ต้องยกให้เป็นผลงานของกลุ่ม Momentum ที่มีบทบาทระดมคนหนุ่มสาวให้ออกมาเลือกพรรคแรงงาน มีสถิติตัวเลขชี้ชัดว่าพรรคแรงงานได้คะแนนเสียงจากคนหนุ่มสาวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
พลังของคนรุ่นใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องตั้งพรรคใหม่
ในกรณีพรรคอนาคตใหม่ของไทย ผู้ก่อตั้งพรรคอาจมีเหตุผลหลายประการที่ทำให้ตัดสินใจตั้งพรรคใหม่ขึ้นมา อาจเป็นเพราะต้องการเน้นความเป็นคนหน้าใหม่ทางการเมืองอย่างแท้จริง ไม่อยากจะตั้งความหวังอะไรกับพรรคเพื่อไทยที่ยังเต็มไปด้วยผู้แสวงหาผลประโยชน์ หรืออาจเห็นตัวอย่างมาจากพรรคใหม่ ๆ ที่ขึ้นมามีบทบาทสำคัญในต่างประเทศ เช่นพรรค Syriza ในกรีซ และ Podemos ในสเปน
แต่กลุ่ม Momentum ก็เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การแสดงพลังทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ไม่จำเป็นจะต้องอาศัยการตั้งพรรคขึ้นมาใหม่เสมอไป คนรุ่นใหม่สามารถเข้าไปพยายามกำหนดแนวทางของพรรคการเมืองเดิมที่มีอยู่ให้เป็นไปอย่างที่พวกเขาอยากเห็น ซึ่งในกรณีของพรรคแรงงานอังกฤษ ก็ถือได้ว่ากลุ่ม Momentum สร้างผลงานไว้ได้โดดเด่นไม่น้อยในการมีส่วนช่วยผลักดันผู้นำที่ดูเป็นนักการเมืองตกยุคอย่าง เจเรมี คอร์บิน ให้กลายเป็นคนที่เกือบจะนำพรรคชนะการเลือกตั้งระดับประเทศได้
ดังนั้น หากเรามองว่าวิธีที่ดีที่สุดในการจะเปลี่ยนแปลงประเทศ ไม่ใช่การรณรงค์อยู่แค่ในวงนอก แต่ต้องอาศัยการเข้าไปมีอำนาจในรัฐบาล การที่กลุ่ม Momentum เลือกเข้าไปสนับสนุนพรรคแรงงานก็น่าจะเป็นเพราะพวกเขาเล็งเห็นว่า เมื่อเทียบกันแล้ว หากพวกเขาตั้งพรรคใหม่ก็แทบไม่มีโอกาสที่จะชนะการเลือกตั้งได้ในเวลาอันสั้น ขณะที่พรรคแรงงานเป็นพรรคใหญ่ มีโอกาสชนะเลือกตั้งมากกว่า หรือแม้จะไม่ชนะเลือกตั้งก็ยังแสดงพลังกดดันพรรคอนุรักษนิยมได้มากกว่า ดังนั้นสมาชิกของกลุ่ม Momentum จึงเลือกที่จะแสดงพลังของคนรุ่นใหม่ในพรรคเก่า แทนที่จะตั้งพรรคใหม่ซึ่งอาจจะต้องรอโอกาสอีกนานจึงจะดึงดูดผู้สนับสนุนมาได้มากพอ
Tags: กลุ่มคนรุ่นใหม่, เจเรมี คอร์บิน, พรรคแรงงาน, การเมืองอังกฤษ, การเมืองสหราชอาณาจักร, momentum