สหรัฐอเมริกาเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร และโลกใหม่ในยุคประธานาธิบดีทรัมป์จะมีหน้าตาเช่นไร

มาถกกันต่อกับบทสัมภาษณ์ของ ปกป้อง จันวิทย์ ผู้เขียนหนังสือ CHANGE ถนนสู่ทำเนียบขาว เมื่อปี 2008 หนึ่งในคณะบรรณาธิการ the101.world สื่อใหม่ของทีมงาน ‘วันโอวัน’ (the101percent.com) ที่เตรียมเปิดตัวในปี 2017 ที่ชวน ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตรองอธิการบดีและคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาสำรวจเบื้องลึกเบื้องหลังของ ‘ปรากฏการณ์ทรัมป์’ ผ่านแว่นตาของนักประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐอเมริกา

สังเกตว่าข้อกล่าวหาใหญ่ๆ ที่ฝ่ายทรัมป์ใช้ในการโจมตีคลินตันนั้นมีสองเรื่องคือ
อีเมลกับคอร์รัปชั่นในมูลนิธิคลินตัน ทั้งสองเรื่องนี้ ฝ่ายคลินตันแก้ไม่ตก ที่แก้ไม่ตกเพราะสตีฟ
แบนนอนใช้สำนักข่าวไบรต์บาร์ตเป็นเครื่องมือ ผ่านกลวิธีสร้างจุดขายให้ผู้รับข่าวซึมซับและปลดปล่อยอารมณ์ร่วมไปกับข่าว ผลคือภาพลักษณ์และความเชื่อถือในตัวของคลินตันตกต่ำและเลวร้ายสุดๆ ในสายตาของผู้เลือกทรัมป์ทั้งหลาย
ไม่ว่าจะเป็นคนขาวระดับล่างหรือระดับบนในเขตเศรษฐกิจตกต่ำ

กระแสขาวขวาในสังคมการเมืองอเมริกันแรงขึ้นมาได้อย่างไร

ช่วงหลังๆ มีความขัดแย้งเรื่องสีผิวบ่อยครั้ง เกิดความขัดแย้งระหว่างตำรวจผิวขาวกับคนดำในหลายพื้นที่ มีคนดำถูกตำรวจยิงตายหลายกรณี จนก่อให้เกิดความเคลื่อนไหว กระทั่งมีคนตั้งขบวนการ Black Lives Matter แต่อีกด้านหนึ่ง ก็เกิดกระแสตีกลับ ตอนทรัมป์หาเสียง ก็มีผู้สนับสนุนผิวขาวยืนถือป้ายใหญ่ว่า All Lives Matter ต้องแคร์คนผิวขาวด้วย มันเกิดขบวนการตอบโต้กับคนผิวดำ รวมถึงตอบโต้กับผู้หญิง เกย์ เลสเบี้ยนด้วย

การเมืองระดับล่างในสังคมการเมืองอเมริกันตอนนี้มันยิ่งกว่าแตกแยก มันเป็นกลียุคและแตกร้าวอย่างไม่อาจประนีประนอมได้  ในยุคสงครามกลางเมือง ประธานาธิบดีอับราฮัม ลิงคอล์น เคยกล่าวว่า “A house divided against itself cannot stand.” (บ้านที่แตกแยกไม่สามารถดำรงอยู่ได้) ตอนที่ลิงคอล์นพูดนั้น เขายังเชื่อในหลักการของระบบสาธารณรัฐ (รีพับลิก) และรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ว่าคนที่ทำให้บ้านแตกแยกคือบรรดาผู้นำและแกนนำของพรรคการเมืองต่างหาก

แต่ตอนนี้สถานการณ์หนักหนายิ่งกว่าความแตกแยกในยุคของลิงคอล์น เพราะทรัมป์กำลังจะเปิดยุคใหม่ที่ผมเรียกว่า American Chaotic ด้วยการปลุกระดมให้มวลชนฝ่ายขวาสุดและกลุ่มอนุรักษนิยมปฏิกิริยาออกมาโจมตีระบบสาธารณรัฐและรัฐธรรมนูญอเมริกันอย่างที่ไม่เคยทำกันมาก่อน

ที่น่าแปลกคือการเติบใหญ่ของฝ่ายขวาและชาตินิยมผิวขาวนี้คล้ายคลึงกับขบวนการอนุรักษนิยมปฏิกิริยาของไทยตั้งแต่ขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) จนถึงคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ในเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองที่ไม่ต้องการระบบประชาธิปไตยเสรีนิยมและปลุกระดมลัทธิคลั่งชาติพอกัน เพียงแต่จุดเน้นต่างกันเท่านั้น

อะไรเป็นจุดพลิกผันที่สร้างปรากฏการณ์ขาวขวาขึ้นมา มีสัญญาณเตือนไหมว่าคนแบบทรัมป์กำลังจะมา

คงไม่มีใครคิดว่าปรากฏการณ์โดนัลด์ ทรัมป์จะเกิดขึ้นได้ในระบบการเมืองของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับระบบการปกครองและรัฐบาลในประเทศตะวันตกอื่นๆ ด้วยกันแล้ว พลังและอุดมการณ์ของประชาธิปไตยเสรีนิยมนั้นเข้มแข็งและมั่นคงยิ่งนักในสหรัฐอเมริกา ทั้งยังพิสูจน์ด้วยการปฏิบัติว่าได้สร้างความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ ให้แก่ประชาชนและประเทศอเมริกามานับศตวรรษ กระทั่งเอาชนะบรรดาประเทศยุโรปที่เป็นเมืองแม่และเคยดูถูกสหรัฐฯ มาก่อนได้

แล้วสหรัฐอเมริกาเดินทางมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

หลังจากโอบามาได้เป็นประธานาธิบดี เกิดกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาที่เรียกว่า “ทีปาร์ตี้” เป็นการตอบโต้การที่ระบบพรรคและระบบประธานาธิบดีถูก radicalize โดยโอบามาและเสียงข้างมากที่มีคนผิวดำและผู้หญิงเป็นฐานสำคัญ  ฝ่ายต้านก็ไปอาศัยพรรครีพับลิกัน ปลุกระดมมวลชนฝ่ายอนุรักษนิยมและเอียงขวาขึ้นมา ที่น่าสังเกตคือ ทีปาร์ตี้ไม่ได้มีฐานะเป็นพรรคการเมือง แต่เป็นกลุ่มเอียงขวาและแอนตี้เสรีนิยม เป็นพวกนักการเมืองระดับท้องถิ่นหรือระดับรัฐที่รวมตัวขึ้นมาจุดประกายต่อต้านนโยบายที่มีลักษณะก้าวหน้าและเสรี เช่น สิทธิสตรีและบุคคลเพศที่สาม ไปถึงนโยบายสาธารณสุขถ้วนหน้า  จุดนี้น่าสนใจเพราะทรัมป์ก็เข้ามาอาศัยพรรครีพับลิกันเป็นหนทางไปสู่การแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีด้วยเช่นกัน

ที่ผ่านมา การที่ผู้นำระดับประเทศสามารถกุมอำนาจในระดับพรรคลงมาจนถึงระดับฐานล่างหรือฐานมวลชน อย่างในกรณีของโอบามาคือคนผิวดำทุกระดับและคนผิวขาวพวกลิเบอรัลได้ ก็ด้วยการอาศัยความสามารถในการพูด โอบามามีความสามารถในการพูดเรื่องอุดมการณ์ นโยบายต่างประเทศ และปัญหาเชิงโครงสร้างใหญ่ได้ จริงๆ แล้ว นี่คือภาพของการเมืองยุคเจฟเฟอร์สันหรือยุคแรกเริ่มของการเมืองอเมริกานั่นเอง  ผู้นำและแกนนำของกลุ่มและพรรคต่างๆ ต้องสามารถแสดงจุดยืนและท่าทีต่อปัญหาทางอุดมการณ์ได้ พูดอุดมคติได้ พูดนโยบายต่างประเทศได้ พูดถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นภายใต้นโยบายต่างๆ เหล่านั้นได้ว่าจะเป็นอย่างไร การเมืองประชาธิปไตยแบบอเมริกาดังกล่าวนี้จึงสะท้อนถึงการเมืองที่คำนึงถึงคนในอนาคตที่จะต้องรับผลพวงของนโยบายของรัฐบาลในปัจจุบัน

โธมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) กับพรรคพวก เริ่มขบวนการทางการเมืองด้วยการวิพากษ์และต่อต้านนโยบายของอเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน (Alexander Hamilton) แฮมิลตันอยู่ฝ่ายสนับสนุนอำนาจรัฐบาลกลาง ที่เรียกว่าเฟเดอรัลลิสต์ ( Federalist) ส่วนเจฟเฟอร์สันเป็นฝ่ายที่เรียกว่ารีพับลิกัน (ไม่ใช่พรรครีพับลิกันในปัจจุบัน) ซึ่งสนับสนุนอำนาจของรัฐบาลระดับรัฐ และสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการดูแลจัดการตัวเอง ทั้งคู่เป็นรัฐมนตรีอยู่ในรัฐบาลของจอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรก

ตอนนั้นจอร์จ วอชิงตัน และแกนนำหลัก คิดว่าสหรัฐอเมริกาไม่ควรมีกลุ่มการเมืองมาแข่งขันชิงตำแหน่งทางการเมืองเลยด้วยซ้ำ ถ้ามีฝ่ายค้านเกิดขึ้นในรัฐบาลหรือในการเมืองระดับชาติ สหรัฐอเมริกาจะพังและอยู่ไม่ได้ เพราะเป็นประเทศเล็กที่เพิ่งเกิดใหม่ ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีกองกำลัง ไม่มีอะไรเลย

ดังนั้น แกนนำรัฐบาลข้างบนบางทีจึงขัดแย้งกันตรงๆ ไม่ได้ พูดจากข้างบนไม่ได้ ก็พูดผ่านลงมา จนถึงแกนนำระดับล่าง เมื่อนำเอาชุดความคิดไปเผยแพร่ต่อในกลุ่มมวลชน มีการท้าทายและตอบโต้ทางความคิดระหว่างกลุ่มที่คิดต่างกัน เกิดประชามติข้างล่างขึ้นมา สุดท้ายมันก็นำไปสู่การแข่งขันทางการเมือง เกิดการต่อสู้แย่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ถ้าเลือกคนนี้จะมีนโยบายแบบนี้ จะทำแบบนี้ ไม่ทำแบบนี้ จะใช้เงินอย่างไร จะเก็บภาษีอย่างไร สุดท้ายก็เกิดเป็นพรรคการเมืองขึ้น กลายเป็นพรรคที่มีอุดมการณ์ นโยบาย และฐานเสียงรองรับตลอด การแข่งขันทางการเมืองด้วยระบบพรรคการเมืองเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกา

เจฟเฟอร์สันเป็นผู้เริ่มให้มีการประชุมในกลุ่มผู้สนับสนุนที่มีจุดยืนเดียวกัน (Caucus) จากนั้นก็ไปสู่การแสวงหาเสียงสนับสนุนจากคณะผู้เลือกตั้ง ต่อมาก็เกิดการเลือกตั้งขั้นต้นโดยประชาชนทั่วไป (Primary) ส่วนผู้ที่ได้รับเลือกตั้งก็ไปจับกลุ่มย่อยกันในรัฐสภา

ทำไมพรรคการเมืองของประเทศเกิดใหม่อื่นๆ ถึงทำตามแบบสหรัฐอเมริกาไม่ได้ เพราะอเมริกาได้เปรียบ มันผ่านตรงนี้ไปได้โดยไม่ได้ฆ่ากันเสียก่อน อเมริกาไม่มีชนชั้นทางสังคม (social class) ที่จะต้องเข้าไปจัดการเหมือนในฝรั่งเศสหรือรัสเซียที่ต้องล้มราชวงศ์ ล้มขุนนางเสียก่อน สำหรับสหรัฐอเมริกา ตีกันอย่างไร สุดท้ายก็มาตัดสินที่การเลือกตั้ง เป็นการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติ (peaceful transition) โดยมีพรรคการเมืองเป็นเครื่องมือ มีความขัดแย้งแตกต่างกันก็มาต่อสู้ระหว่างพรรค ให้มันเป็นกิจการ เป็นเรื่องเป็นราว ไม่ต้องไปสู้กันลับหลัง ดีที่อเมริกาสร้างระบบนี้ให้มั่นคงได้ตั้งแต่ในยุคแรกที่เริ่มเปลี่ยนจากอาณานิคมเป็นประชาธิปไตย มิเช่นนั้น หากมาสร้างทีหลัง ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

อาจารย์เล่าเรื่องเจฟเฟอร์สันเพื่อที่จะบอกอะไรเกี่ยวกับการเมืองในปัจจุบัน

ในยุคแรก ความสัมพันธ์เชิงอำนาจจะเริ่มต้นจากผู้นำพรรคระดับชาติ (national leader) ไปยังกลุ่มแกนนำพรรคระดับชาติ (national cadre) ตามด้วยผู้นำหรือแกนนำพรรคระดับท้องถิ่น (local leader / cadre) ต่อด้วยผู้ปฏิบัติการระดับท้องถิ่น (local activist) แล้วจึงลงไปถึงฐานมวลชน

แต่ในยุคปัจจุบัน ผลการเลือกตั้งบอกเราเลยว่า รอบนี้มันเกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกับมวลชนโดยตรง จากฐานล่างยิงตรงขึ้นมาข้างบนเลย ไม่ต้องผ่านแกนนำพรรคในระดับชาติและระดับท้องถิ่น พรรครีพับลิกันทำอะไรทรัมป์ไม่ได้เลย เสียงมวลชนส่งทรัมป์ขึ้นสู่ตำแหน่งตัวแทนพรรคและประธานาธิบดี แกนนำพรรครีพับลิกันหมดปัญญากีดกันคนนอกพรรคอย่างทรัมป์

อาจารย์พูดถึงแอนดรูว์ แจ็กสัน ในฐานะประธานาธิบดีฐานมวลชนเช่นเดียวกับทรัมป์ ยุคนั้นกับยุคนี้ต่างกันอย่างไร มีอะไรเป็นบทเรียนให้เราได้บ้าง

ในยุคแจ็กสัน กลไกของพรรคกับฐานมวลชนไม่ได้ลึกซึ้งแบบปัจจุบัน ก็คงพอเทียบกันได้ระดับหนึ่งเท่านั้น อย่างแรกคือ บุคลิกของผู้นำมีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จของประธานาธิบดีในการเมืองอเมริกัน บุคลิกมีส่วนในการก่อร่างสร้างนโยบาย รวมถึงความสำเร็จของนโยบายมาก

แจ็กสันเป็นคนเริ่มสิ่งที่เรียกว่า Kitchen Cabinet คือการแต่งตั้งผู้สนับสนุนหรือพรรคพวกเข้ามามีตำแหน่งสำคัญทางการเมือง ในคณะรัฐมนตรี ในทำเนียบรัฐบาล รวมถึงในศาลด้วย เหมือนมีโรงครัวที่เข้ามารุมกินกัน บางคนก็วิจารณ์ว่าเป็นการคอร์รัปชั่นหรือเป็นระบบอุปถัมภ์ในการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

แต่ในการทำงานจริง แจ็กสันเป็นคนดำเนินการเองทั้งหมด เป็นคนตัดสินใจเชิงนโยบายและลงมือทำ แจ็กสันต่อต้านธนาคารชาติ พอรัฐสภาผ่านกฎหมาย เขาก็ใช้สิทธิ์ประธานาธิบดีวีโต้กฎหมายสองครั้ง จนกระทั่งครั้งสุดท้าย แจ็กสันบอกว่า  ถ้ารัฐสภายืนยันที่จะผ่าน ก็ไปบริหารจัดการกันเอาเอง กูไม่ทำ แล้วมันจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะฝ่ายบริหารเป็นคนดูแลเรื่องการเงินการคลัง นี่เป็นวาทะประวัติศาสตร์เลย แจ็กสันสร้างแนวทางใหม่คือ ถ้าฝ่ายบริหารไม่เห็นด้วยกับฝ่ายนิติบัญญัติก็แช่แข็งไว้

อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องภาษี แจ็กสันอยากเก็บภาษีสินค้านำเข้าให้มากขึ้น เพื่อช่วยอุตสาหกรรมภายในประเทศ ทีนี้พวกภาคใต้นำเข้าสินค้ามาก โดยเฉพาะกลุ่มนายทาสที่ชอบใช้ของดีนำเข้าจากยุโรป ก็ต้องจ่ายเงินซื้อสินค้าราคาแพงขึ้น พวกนี้โมโห ไม่ยอมรับ แจ็กสันก็ไม่ยอมเหมือนกัน บอกว่ารัฐบาลต้องการได้เงินมากขึ้น รองประธานาธิบดีจอห์น แคล์ฮูน (John C. Calhoun) ซึ่งเป็นวุฒิสมาชิกรัฐเซาธ์แคโรไลนา ก็นำขบวนประท้วงว่าถ้ากฎหมายผ่านเมื่อไหร่ เขาจะนำคนภาคใต้ทำให้กฎหมายนี้หมดสภาพบังคับใช้ (Nullification) พอแจ็กสันรู้ข่าว ก็ประกาศเลยว่า ถ้าภาคใต้ลุกฮือขึ้นเมื่อไหร่ เขาจะเป็นคนแรกที่จะนำทัพไปปราบเอง แจ็กสันเคยเป็นแม่ทัพเก่าในสงครามกับอังกฤษปี 1812  ทำให้ภาคใต้ต้องจำยอมสยบหัวลงไป ซึ่งกลายเป็นแผลเก่าในความรู้สึกของคนใต้ที่มีต่อรัฐบาลกลางและคนภาคเหนือ คนอเมริกันก็สดุดีและชื่นชมแจ็กสันที่เป็นคนเด็ดขาดและทำจริง น่าคิดว่าทรัมป์อาจจะดำเนินวิธีการปกครองคล้ายกับแจ็กสันด้วยก็ได้

ฟังดูมีหลายอย่างคล้ายกัน เช่น การถูกวิจารณ์เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน การให้รางวัลผู้สนับสนุน หรือนโยบายปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ แล้วเรื่องสิทธิมนุษยชนละครับ เพราะสมัยแจ็กสันก็ไม่เบาเหมือนกัน

แจ็กสันมีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนมาก เขาพยายามขับไล่ชาวอินเดียนพื้นเมืองออกจากถิ่นฐานเดิม โดยบังคับให้ออกเดินทางไกลไปอยู่ในนิคมสำหรับคนอินเดียน (ปัจจุบันคือรัฐโอคลาโฮมา) การเคลื่อนย้ายครั้งหนึ่งถึงกับได้ชื่อว่า “เส้นทางแห่งน้ำตา” (Trail of Tears) เมื่อกองทหารบังคับให้อินเดียนเผ่าเชโรกีประมาณ 15,000 คนต้องอพยพออกไปจากรัฐจอร์เจียในช่วงหน้าหนาวโดยไม่มีการเตรียมความพร้อมใดๆ ทำให้ผู้คนราวสี่พันคนต้องตายไปในการเดินทางครั้งนั้น

เราอธิบายเชิงโครงสร้างได้หรือไม่ว่าทำไมประธานาธิบดีที่มาจากฐานมวลชนกลับละเมิดสิทธิมนุษยชนรุนแรงขนาดนั้น

เขาเน้นผลประโยชน์ของคนผิวขาวเป็นหลัก ทำให้คนกลุ่มน้อยในอเมริกาต้องประสบกับความทุกข์ทรมาน นับจากยุคของแจ็กสันเป็นต้นมา เป็นช่วงที่อเมริกาขยายประเทศขยายดินแดน ในช่วงปี 1850 มีคำศัพท์ว่า Nativism คำว่า “เนทีฟ” นี่ไม่ได้หมายถึงคนอินเดียนนะ แต่คือพวกคนผิวขาว เรียกว่า WASP คือ White, Anglo-Saxon และ Protestant  คนกลุ่มนี้ต่อต้านผู้อพยพที่มาจากประเทศยุโรป ซึ่งส่วนมากเป็นคาทอลิก เขากลัวว่าพวกคาทอลิกจะนำเอาอิทธิพลของสันตะปาปาเข้ามาในอเมริกา  กลุ่มการเมืองแบบเอียงขวา ซึ่งดูถูกกีดกันคนอื่นในทางเชื้อชาติและศาสนา มักเกิดขึ้นในภาวการณ์ที่ระบบพรรคการเมืองสองพรรคอ่อนแอจนเกิดความแตกแยกภายในพรรค

ทุกวันนี้คนก็พูดกันว่า สิ่งที่ทรัมป์กับพรรคพวกกำลังทำคือการปลุกกระแส Nativism และ White supremacy คือคนขาวเป็นใหญ่ อันเป็นอุดมการณ์เก่าแต่สมัยก่อนสงครามกลางเมืองให้กลับมาอีกครั้ง

ในยุคสมัยของแจ็กสัน คนสมัยนั้นจัดการประธานาธิบดีมวลชนแบบแจ็กสันอย่างไร

ถึงที่สุดแล้ว คนที่รับแจ็กสันไม่ได้ก็ไปร่วมกลุ่มกัน เริ่มถล่มด้วยการตั้งฉายาให้แจ็กสันว่า “คิงแอนดรูว์” (King Andrew) กล่าวหาว่าแจ็กสันทำตัวเหมือนกษัตริย์อังกฤษ ยึดกุมอำนาจสูงสุด แต่งตั้งพรรคพวก เกิดปัญหาคอร์รัปชั่นต่างๆ เหมือนอังกฤษในสมัยพระเจ้าจอร์จที่คนอเมริกันเคยต่อสู้มา

แจ็กสันเริ่มจากสังกัดพรรคเดโมเครติก-รีพับลิกัน ซึ่งก็คือพรรครีพับลิกันที่เจฟเฟอร์สันตั้งขึ้นมา พอมาถึงยุคแจ็กสัน คำว่า “เดโมแครต” ก็โดดเด่นขึ้น เพราะอิงกับฐานของมวลชน คนที่รับแจ็กสันไม่ได้ ก็ออกมาตั้งพรรคใหม่ จะไปอยู่กับพรรคเฟเดอรัลลิสต์ก็ไม่ได้ เพราะอ่อนปวกเปียกไร้อนาคต แกนนำหายกับตายไปหมดแล้ว ในที่สุดก็รวมกันตั้งพรรควิก (Whig) ขึ้นมา ที่ใช้ชื่อนี้เพราะเป็นชื่อพรรคฝ่ายต่อต้านกษัตริย์ในอังกฤษ คราวนี้นำมาใช้ต่อต้านคิงแอนดรูว์  ลิงคอล์นเข้าสู่การเมืองยุคแรกก็พรรคนี้ ถือเป็นพรรคก้าวหน้า เป็นพรรคของคนรุ่นใหม่ไฟแรงโดยเฉพาะอุดมการณ์ต่อต้านระบบทาสผิวดำ เข้าไปแข่งกับแจ็กสันในสนามเลือกตั้ง

ส่วนพรรคเดโมเครติก-รีพับลิกัน หลังจากยุคแจ็กสัน ก็กลายเป็นพรรคเดโมแครต ส่วนพรรครีพับลิกันในปัจจุบันเพิ่งมาเกิดในยุคลิงคอล์น หลังจากพรรควิกแพ้เลือกตั้งไปไม่รอด โดนกระแสเรื่องทาส ทำให้แกนนำและสมาชิกพรรคแตกกันเองระหว่างภาคเหนือกับภาคใต้ ในที่สุดพรรควิกก็สลายตัว ส่วนเดโมแครตที่ไม่ชอบพรรคตัวเองก็ออกมาตั้งพรรครีพับลิกัน โดยการต่อสู้ทางการเมืองเคลื่อนมาที่ปัญหาเรื่องทาสและการขยายประเทศไปทางตะวันตก

รอบนี้มีโอกาสเกิดพรรคใหม่แบบสมัยก่อนมากน้อยแค่ไหน เช่น พวกรีพับลิกันที่ไม่เอาทรัมป์แยกตัวออกมา

ยากมาก พรรคเล็กพรรคน้อยหรือพรรคที่สามจากอดีตจนถึงปัจจุบันได้คะแนนเสียงสนับสนุนน้อยมาก การระดมมวลชนเพื่อให้มาสนับสนุนในการเลือกตั้งเป็นงานใหญ่ แม้รัฐธรรมนูญอเมริกาไม่มีข้อห้ามในเรื่องพรรคการเมือง แต่กฎหมายเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ระดับรัฐหมดเลย ดังนั้น พรรคเล็กแข่งได้ยากมาก ต้องเป็นพรรคที่มีขนาดใหญ่มากจึงบริหารจัดการองคาพยพต่างๆ ได้ บางรัฐมีข้อจำกัดเรื่องจำนวนสมาชิกพรรคว่าต้องมี 5% ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง พรรคใหม่ก็ต้องไปหาสมาชิกพรรค รัฐอื่นก็มีข้อจำกัดแบบอื่นๆ อีก เสรีภาพในการสร้างพรรคมีอยู่แล้ว กีดกันไม่ได้ แต่เวลาจะปฏิบัติการจริงในสนามเลือกตั้งมีข้อจำกัดยิบย่อยเต็มไปหมด คุณต้องการการจัดองค์กรขนาดใหญ่มากในการจัดการเรื่องเหล่านี้ ยังไม่พูดถึงเรื่องเงินทุนในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งซึ่งขาดไม่ได้เลย

ฉะนั้น ทางออกคือไม่จำเป็นต้องตั้งพรรคใหม่ แต่สร้างกลุ่มพลังทางการเมือง แล้วไปเป็นกลุ่มต่อรองภายในพรรคเดิม สู้กับฝ่ายนำเก่าในพรรค พยายามยึดพรรคเก่าให้ได้ เหมือนที่โดนัลด์ ทรัมป์ทำสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์รอบนี้

แต่ถ้าไม่มีเงินทุน ชื่อเสียงระดับชาติ บริวาร และเครือข่ายของตัวเองที่มีประสิทธิภาพอย่างทรัมป์แล้ว ก็เป็นเรื่องยากมากที่จะมีนักการเมืองอเมริกันหน้าใหม่คนไหนจะสามารถฝ่ากำแพงพรรคการเมืองสองพรรคเข้าไปได้ ความจริงโอบามาก็เป็นกรณีตัวอย่างที่นักการเมืองผิวดำอาศัยทำงานการเมืองภายในพรรคเดโมแครตจนกระทั่งได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีเหมือนกัน ทั้งสองกรณีจึงเป็นตัวอย่างของการขึ้นมาสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีโดยไม่อาศัยผู้นำและโครงสร้างแบบเดิมของพรรค หากแต่ผลักดันและปลุกระดมฐานเสียงของตนเองขึ้นมาจนกระทั่งได้รับชัยชนะ โดยไม่ต้องไปแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เหนื่อยกายและใจ

ไม่เคยมีว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนไหนในอดีตที่มีภาพลักษณ์และบทบาทโลดโผน
ฉีกแบบแผนและขนบธรรมเนียมจารีตของผู้นำสูงสุดของประเทศเท่าโดนัลด์ ทรัมป์

จากทรัมป์มาถึงฮิลลารี คลินตัน ทำไมตัวเต็งอย่างเธอถึงล้มเหลว คลินตันพลาดตรงไหน

ฮิลลารี คลินตัน เป็นนักสู้ ทำงานหนักมาตลอดตั้งแต่เข้าสู่เวทีการเมืองระดับรัฐและประเทศ สร้างอนาคตทางการเมืองมาด้วยมือของตัวเอง คู่กับบิล คลินตัน เธอเป็นแกนนำพรรคเดโมแครตที่โดดเด่นมากคนหนึ่งในยุคนี้ จากสตรีหมายเลขหนึ่ง เป็นวุฒิสมาชิกของรัฐนิวยอร์ก และเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลโอบามาชุดแรก

ผมคิดว่าทีมงานหาเสียง ไม่ว่าที่ปรึกษา นักยุทธศาสตร์การเมือง ของคลินตันไม่เก่ง พลาดหลายเรื่องอย่างไม่น่าพลาด เช่น การรับมือกับปัญหาเรื่องการใช้อีเมลส่วนตัวติดต่องานราชการแทนที่จะเป็นอีเมลของรัฐ หรือการบริหารแคมเปญหาเสียง พื้นที่ไหนควรให้น้ำหนัก ต้องปลุกระดมคนกลุ่มไหน สารหลักคืออะไร

ความล้มเหลวของคลินตันช็อกคนทั้งโลกก็เพราะมันไม่มีวี่แววและสุ้มเสียงอะไรมาก่อนเลยที่จะบอกว่ามีคนอีกกลุ่มหนึ่งจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วยกับทัศนะและโพลล์สำนักต่างๆ ที่รายงานข่าวในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง กระทั่งผลคะแนนเสียงปรากฏ ผู้คนถึงเริ่มถามกันใหม่ว่าใครคือผู้เลือกทรัมป์และทำไมคนเหล่านั้นถึงคัดค้านต่อต้านคลินตัน

แม้แรกๆ จะมีเสียงวิจารณ์ทำนองว่า บรรดาผู้เลือกทรัมป์คือคนที่ไม่มีความรู้ทางการเมือง หรือไม่ก็เป็นพวกหลงผิด คำตอบแบบนี้มันอาจสะใจคนที่ไม่ชอบทรัมป์และสนับสนุนคลินตัน แต่จากการติดตามการรายงานข่าวของสื่อมวลชนในอเมริกาหลังการเลือกตั้ง ผมคิดว่ามีบทเรียนที่ดีสำหรับสื่อมวลชนไทย นั่นคือ การที่สื่อกระแสหลัก เช่น หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่างนิวยอร์กไทมส์ สำนักข่าวโทรทัศน์อย่างซีเอ็นเอ็นและบีบีซีของอังกฤษ ต่างพากันออกไปค้นหาคำตอบว่าใครคือคนเลือกทรัมป์ และรับฟังความคิดเห็นของคนเหล่านั้นเพื่อนำมาถ่ายทอดสู่สาธารณชนอีกที สื่อมวลชนเลิกทำตัวเป็นผู้พิพากษาหรือพระเจ้าที่คอยตัดสินว่าใครผิดใครถูกและใครดีหรือเลวอย่างง่ายๆ  ให้ข้อมูลที่เป็นฐานของความคิดและความรู้ แทนที่จะให้อคติและบทสวดที่ไม่ช่วยกระตุ้นสติปัญญา

ทำไมเรื่องอีเมลถึงกลายเป็นเรื่องใหญ่โตในสหรัฐอเมริกาขนาดนั้น

มันแสดงต่อสาธารณชนว่า คุณโกหก ไม่ซื่อตรง ชาวบ้านรับไม่ได้ในข้อนี้ และเป็นการละเมิดกฎกติกา ฝ่ายความมั่นคงกำหนดให้ต้องใช้อีเมลของรัฐในการติดต่อราชการเท่านั้น เมื่อใช้อีเมลส่วนตัว มันตรวจสอบไม่ได้ว่าพูดกับใครเรื่องอะไร มันเกิดปัญหาความไม่ชัดเจนระหว่างความเป็นสาธารณะกับความเป็นส่วนตัว

อีกเรื่องหนึ่งคือการที่มูลนิธิคลินตันรับเงินจากผู้นำต่างประเทศขณะที่คลินตันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งผิดกฎหมาย ทั้งสองเรื่องคลินตันก็ยอมรับความบกพร่อง แต่แก้ว่ามันไม่ถึงกับเป็นการทำลายกฎหมายความมั่นคง

สังเกตว่าข้อกล่าวหาใหญ่ๆ ที่ฝ่ายทรัมป์ใช้ในการโจมตีคลินตันนั้นมีสองเรื่องคือ อีเมลกับคอร์รัปชั่นในมูลนิธิคลินตัน ทั้งสองเรื่องนี้ ฝ่ายคลินตันแก้ไม่ตก ที่แก้ไม่ตกเพราะสตีฟ แบนนอนใช้สำนักข่าวไบรต์บาร์ตเป็นเครื่องมือ ผ่านกลวิธีสร้างจุดขายให้ผู้รับข่าวซึมซับและปลดปล่อยอารมณ์ร่วมไปกับข่าว ผลคือภาพลักษณ์และความเชื่อถือในตัวของคลินตันตกต่ำและเลวร้ายสุดๆ ในสายตาของผู้เลือกทรัมป์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นคนขาวระดับล่างหรือระดับบนในเขตเศรษฐกิจตกต่ำ

สุดท้ายผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งก็ต้องตอบตัวเองว่าเราไว้ใจคลินตันได้ไหม เรื่องอีเมลและการรับเงินนี้ยังสั่นสะเทือนพวกชนชั้นกลาง คนมีการศึกษา และพวกเสรีนิยมด้วย ซึ่งทำให้คะแนนเสียงที่น่าจะมาลงคะแนนให้คลินตันหายไปมาก ผลเลือกตั้งฟ้องว่าคนไม่ไว้ใจเธอนัก ความน่าเชื่อถือและความซื่อตรงในตัวเธอลดต่ำลงมาก

แต่ทรัมป์ก็เต็มไปด้วยปัญหาฉาวโฉ่ ฉ้อโกง พูดโกหกเหมือนกัน ทำไมกลับเป็นเรื่องเป็นราวน้อยกว่า

ทรัมป์เป็นนักธุรกิจ คนอาจจะยอมรับง่ายกว่าว่านักธุรกิจกับการโกงหรือการเลี่ยงกฎหมายนั้นใกล้ชิดกัน อย่างข้อมูลการเสียภาษี ทรัมป์ก็ไม่ยอมเปิดเผยต่อสาธารณะ แต่คนก็ไม่รู้สึกเดือดร้อนเท่าที่ควร ประเด็นถูกบิดมาเป็นเรื่องบุคลิกภาพ เช่น การเหยียดเพศ เหยียดผิว มากกว่า

บางคนอาจจะบอกว่าการที่คลินตันโดนโจมตีหนักเป็นเรื่องอคติทางเพศ ถ้าเป็นผู้ชาย น้ำหนักคงไม่รุนแรงขนาดนั้น จะบอกว่ามันไม่มีเลยก็คงจะไม่ได้ กระทั่งปัญหาเรื่องชู้สาวของสามี (บิล คลินตัน) ก็ถูกทรัมป์และสำนักข่าวเอาไปใช้ป้ายสีเธอ ลองนึกดูว่าหากมีผู้ชายหลายคนออกมาให้ข่าวว่ามีเรื่องฉาวโฉ่กับฮิลลารีเหมือนที่มีสตรีออกมากล่าวหาทรัมป์ คิดว่าสังคมจะรับได้ไหม  แน่นอน คนต้องออกมาบีบให้เธอออกจากการแข่งขันเท่านั้น ดังนั้นเรื่องเพศสภาพของผู้สมัครเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งอย่างแน่นอน

ถ้าทรัมป์ไม่ปรับโลกทัศน์และวิธีคิด รัฐบาลของทรัมป์จะ ‘ใหญ่’ เกินกว่าประเทศสหรัฐอเมริกา
เขาจะสร้างความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนที่หลากหลายอย่างแหลมคม
และอาจกลายสภาพเป็นความขัดแย้งขั้นแตกหักระหว่างกันได้

เอาเข้าจริง คลินตันก็ไม่ได้คะแนนเสียงจากผู้หญิงมากอย่างที่คาดหวังไว้ คนนึกว่าผู้หญิงจะแห่กันมาเลือกประธานาธิบดีหญิงคนแรกเหมือนที่คนดำแห่ออกมาเลือกโอบามา ทำไมคลินตันถึงดึงดูดใจผู้หญิงไม่ได้มาก ในขณะที่ทรัมป์ล่วงละเมิดผู้หญิงตลอด กลับได้คะแนนเสียงจากผู้หญิง เราอธิบายการเมืองเรื่องเพศในสหรัฐอเมริกาอย่างไร

อย่างที่กล่าวแล้ว มันมีอคติต่อความเป็นผู้หญิงอยู่ไม่น้อย แต่คนลงคะแนนเสียงเลือกตั้งไม่ได้ตัดสินใจเลือกจากฐานเพศเป็นหลัก การตัดสินใจเลือกหรือไม่เลือกคลินตันไม่ใช่เพราะเธอเป็นผู้หญิง เพียงแต่ว่าน้ำหนักของคำโจมตีต่อเธอนั้น ถูกอคติทางเพศตัดสินไปแล้ว

มัวรีน ดาวด์ (Maureen Dowd) คอลัมนิสต์นิวยอร์กไทมส์ เขียนบทความก่อนหน้าการเลือกตั้งเพียงไม่กี่วันว่า เคยเจอบิลและฮิลลารี คลินตัน ร่วมงานปาร์ตี้กับทรัมป์ ทั้งหมดเป็นเพื่อนกัน ทุกคนต่างยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่เห็นมีปัญหากัน จากนั้นดาวด์ก็ให้ข้อมูลเบื้องลึกที่นักข่าวและคอลัมนิสต์ชื่อดังอย่างเธอได้มาจากแหล่งข่าวชั้นสูง เธอเล่าได้หมดว่าคนเหล่านั้นได้เงินและการสนับสนุนจากใครอย่างไร เธอกำลังจะบอกคนอ่านว่า คลินตันกับทรัมป์ก็เป็นพวกชนชั้นนำดั้งเดิมเหมือนกันนั่นแหล่ะ โยงใยสัมพันธ์กันด้วยเส้นสายทางการเมือง ฉะนั้น แทบไม่มีประโยชน์ที่จะถกเถียงว่าใครพูดดีคิดดีกว่าใคร มันไม่มีน้ำหนัก พวกเสรีนิยมอ่านแล้วก็ช้ำใจหรือยิ่งสะใจ ถึงแม้จะไม่เลือกทรัมป์แน่ แต่ก็เลือกคลินตันไม่ลง เพราะในที่สุดแล้วคนทั้งสองก็ไม่ต่างกัน ผมอ่านคอลัมน์ของดาวด์แล้วก็สังหรณ์ใจว่าฮิลลารีอาจเจออุปสรรคที่คาดไม่ถึงก็ได้ เพราะวาทกรรมแบบนี้แพร่กระจายไปทั่วในสื่อเสรีนิยมทั้งหลาย

คนไม่ได้เห็นภาพของคลินตันเป็นผู้หญิง แต่เห็นภาพของชนชั้นนำดั้งเดิมมากกว่าอย่างนั้นหรือ ถ้าเช่นนั้น ภาพความเป็นผู้หญิงในสายตาอเมริกันชนเป็นอย่างไร ต้องยึดถือคุณค่าแบบไหนถึงได้ชื่อว่าเป็นผู้หญิง

ตั้งแต่ยุคหลังปฏิวัติเพื่ออิสรภาพ สังคมอเมริกันก็มีคติเรื่องความเป็นผู้หญิงแท้ (the cult of true womanhood) คือผู้หญิงต้องอยู่ในบ้าน ดูแลครอบครัว ดูแลกิจการภายในครัวเรือน เรื่องสาธารณะข้างนอกบ้านเป็นเรื่องของผู้ชาย เพราะการเมืองนอกบ้านเป็นเรื่องสกปรก ขัดกับหน้าที่ทางสังคมของผู้หญิงที่ต้องสร้างความสะอาดให้กับครอบครัว สามี และลูก นั่นคือ ผู้หญิงต้องแบกรับบทผู้รักษาศีลธรรม เป็นดังแสงเทียนส่องสว่างให้ครอบครัว สังคมจึงจะบริสุทธิ์ได้

สังคมการเมืองอเมริกันที่แลดูก้าวหน้าและเท่าเทียมสูง กลับเป็นสังคมชายเป็นใหญ่ มีอคติทางเพศ?

ใช่ ความคิดและการปฏิบัติมีการกีดกั้นและหยามเหยียดทางเชื้อชาติและเพศสูงและเหนียวแน่นมาก ในขบวนการต่อสู้เพื่อเลิกทาสจึงมีคนผิวดำและผู้หญิงผิวขาวร่วมอยู่ในขบวนการด้วย รวมตัวกันอย่างแข็งขันตั้งแต่ในศตวรรษที่ 19  แกนนำหลายคนเป็นผู้หญิง เรียกร้องให้ปลดปล่อยคนดำที่เป็นทาสและผู้หญิงผิวขาวไปด้วยพร้อมกัน แต่ก็ไม่เคยสำเร็จ

หลังเลิกทาส มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 15 (ปี 1870) ที่ห้ามมิให้รัฐบาลกลางและมลรัฐปฏิเสธสิทธิในการลงคะแนนเสียงของพลเมือง ด้วยเหตุผลด้านเชื้อชาติและสีผิว ซึ่งรัฐสภาตั้งใจแก้ปัญหาสิทธิพลเมืองให้แก่คนผิวดำที่เพิ่งได้รับเสรีภาพ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้กลับไม่ได้ขยายสิทธิเลือกตั้งให้แก่ผู้หญิงด้วย ทั้งที่หากผู้ชายผิวขาวในตอนนั้นต้องการให้สิทธินี้แก่สตรีก็สามารถทำไปพร้อมกันได้ แสดงว่าในสำนึกของนักการเมืองชายไม่มีความคิดเรื่องนี้แม้แต่นิดเดียว ขบวนการเคลื่อนไหวของผู้หญิงเพื่อสิทธิการเมืองและความเท่าเทียมจึงต้องต่อสู้เรียกร้องกันต่อไปเอง จนได้สิทธิเลือกตั้งในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 (ปี 1920)

คลินตันแพ้เลือกตั้ง ได้คะแนนเสียงของคณะผู้เลือกตั้ง (electoral college) แพ้ทรัมป์ แต่ได้คะแนนเสียงของประชาชนทั้งประเทศ (popular vote) มากกว่าทรัมป์เกินสองล้านเสียง ผู้คนก็กลับมาตั้งคำถามเรื่องระบบเลือกตั้งกันอีกครั้งว่าระบบใดเหมาะสม เป็นธรรม และเป็นประชาธิปไตยมากกว่ากัน ทำไมอเมริกาถึงไม่ใช้ระบบเลือกตั้งทางตรงที่วัดคะแนนเสียงจากประชาชนทั้งประเทศ กลับใช้ระบบทางอ้อมที่ซับซ้อนอย่างคณะผู้เลือกตั้ง

ในยุคต้น เขาไม่เชื่อว่าประชาชนมีเหตุผล 100% คติชนชั้นนำก็คล้ายๆ กันคือ เสียงข้างมากเป็นพวกชาวบ้านชาวเมืองที่คุณวุฒิต่ำหรือไม่มีเหตุผลอย่างสมบูรณ์ เป็นความเชื่อเหมือนกันทั่วโลก ส่วนพวกนักการเมืองและนายทุนก็ไม่ใช่ว่าจะมีคุณธรรมไปเสียทั้งหมด การถูกหลอกลวงจากคำปราศรัยหาเสียงจึงเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นแน่ๆ พวกชนชั้นนำจึงไม่เชื่อในระบบการเลือกตั้งทางตรง เพราะไม่ไว้ใจประชาชน ไม่คิดว่าเป็นคะแนนเสียงที่แท้จริง เลยต้องมีคนที่คิดว่ามีวุฒิภาวะสูงกว่าที่เรียกว่าคณะผู้เลือกตั้งมากำกับอีกชั้นหนึ่ง

นั่นเป็นสมัยก่อนที่คณะผู้เลือกตั้งใช้สิทธิ์ได้เต็มที่ว่าตนจะเลือกใคร แต่ปัจจุบัน กลไกคณะผู้เลือกตั้งเป็นแค่พิธีกรรม ผลการแข่งขันตัดสินกันในวันเลือกตั้งโดยประชาชนผ่านคูหาเลือกตั้งว่าแต่ละรัฐจะเลือกใคร หลายรัฐออกกฎหมายห้ามคณะผู้เลือกตั้งใช้สิทธิ์ในทางตรงกันข้ามกับเจตจำนงของประชาชนภายในรัฐ ถ้าเช่นนั้น ทำไมระบบคณะผู้เลือกตั้งยังต้องดำรงอยู่อีก  หรือมันมีคุณค่าเรื่องความเป็นตัวแทนของรัฐที่มีคุณค่าความหมายมากกว่าการไม่ไว้ใจประชาชน เพราะถ้าใช้ระบบที่ประชาชนทั้งประเทศลงคะแนนเสียงโดยตรง ผู้สมัครก็จะหันไปให้ความสนใจเฉพาะรัฐใหญ่อย่างแคลิฟอร์เนีย ฟลอริดา เท็กซัส นิวยอร์ก ทำให้รัฐขนาดกลางและเล็กหมดความหมายทางการเมืองไป

หลักการของระบบคณะผู้เลือกตั้งก็คล้ายกับหลักการเรื่องวุฒิสภา ซึ่งแต่ละรัฐ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ต่างก็มีจำนวนวุฒิสมาชิก 2 คนเท่ากัน สะท้อนดุลอำนาจการเมืองที่เท่ากันของแต่ละรัฐ ทำให้รัฐขนาดกลางและเล็กมีความหมายทางการเมือง ส่วนสภาผู้แทนราษฎรก็แบ่งเก้าอี้กันไปตามฐานจำนวนประชากร ซึ่งรัฐใหญ่ได้เปรียบ

ในปัจจุบัน ประชาชนรับรู้ เข้าใจ และตัดสินใจทางการเมืองได้ดีขึ้น เพราะมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก มีพื้นที่สาธารณะ รับรู้ข้อมูลข่าวสารได้ จะโดนใครหลอกก็คงยาก ผมคิดว่าในแง่นี้ การเลือกตั้งทางอ้อมไม่มีความจำเป็น ควรใช้ระบบเลือกตั้งโดยตรงจากฐานประชาชน ใช้ popular vote ตัดสินเลย การเปลี่ยนระบบเลือกตั้งใหม่จะทำให้ความสัมพันธ์ของฐานมวลชนต่อตรงไปที่ประธานาธิบดีมากขึ้น ข้ามผ่านตัวกลางทางการเมืองในระบบรัฐและท้องถิ่นไปเลย

ส่วนข้อกังวลเรื่องอำนาจทางการเมืองของรัฐนั้น คิดว่ามีวุฒิสภาคอยทำหน้าที่สะท้อนผลประโยชน์ตรงนั้นอยู่แล้ว นอกจากนั้น ระบบ popular vote ยังมีข้อดีตรงที่ไม่มีคะแนนเสียงตกน้ำ ทุกคะแนนเสียงมีความหมายทางการเมือง  ถ้าใช้ระบบคณะผู้เลือกตั้งแบบปัจจุบัน ในแต่ละรัฐจะตัดสินผลกันโดยฝ่ายชนะได้คะแนนเสียงคณะผู้เลือกตั้งของรัฐนั้นไปทั้งหมด ส่วนคะแนนของฝ่ายแพ้ก็ไม่มีความหมายอะไรเลย

แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมากเรื่องความชอบธรรมของคณะผู้เลือกตั้ง แต่ผมไม่คิดว่ารัฐสภาจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกหรือเปลี่ยนหลักการไปจากเดิม เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องนำเสนอโดยเสียงสองในสามของรัฐสภาหรือเสียงสองในสามของมลรัฐทั้งหมดในที่ประชุมระดับชาติ และต้องผ่านการรับรองให้สัตยาบันด้วยเสียงสามในสี่ของมลรัฐทั้งหมด จึงจะประกาศใช้ได้อย่างถูกต้อง ผมคิดว่าเรื่องนี้คงไม่ผ่านสัตยาบันในหลายมลรัฐ เพราะมีรัฐที่เสียผลประโยชน์

ในด้านหนึ่ง การแก้ไขกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญจะมีความสำคัญ และส่งผลกระทบต่อระบบการเมืองที่ดำรงอยู่ แต่อีกด้านหนึ่ง ระบบการเมืองประชาธิปไตยในอเมริกานั้นมีการใช้จารีตประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ กำกับการเล่นการเมืองของเขาอยู่มาก คือแทนที่จะออกเป็นกฎหมายที่ต้องปฏิบัติอย่างตายตัว ถ้าทำไม่ได้หรือทำไม่ถูกตามตัวบททั้งหมดก็อาจนำไปสู่ข้อขัดแย้งและการเอาชนะคะคานกันในที่สุด ทำให้เกิดความแตกแยกภายในพรรค รัฐสภา และรัฐบาล การเมืองอเมริกันจึงเปิดช่องทางและกลไกที่ไม่เป็นทางการ ไม่เป็นตัวบทกฎหมาย แต่ให้ผู้นำและแกนนำของทั้งสองพรรคและรัฐบาลได้ใช้ความสามารถและศิลปะของความเป็นนักการเมืองไปคลี่คลายและแก้ไขปัญหาทางการเมืองด้วยกัน คืออาศัยการเสวนา (dialogue) ไปแก้ปัญหา ไม่ใช่ด้วยการออกกฎหมายเท่านั้น

ตัวอย่างเช่น ระบบ Filibuster  ที่ให้วุฒิสมาชิกแต่ละคนสามารถอภิปรายคัดค้านร่างกฎหมายที่ตนไม่เห็นด้วยได้นานเท่าที่เขาจะสามารถพูดได้ พูดทั้งวันทั้งคืนก็ได้ เพื่อชะลอการลงคะแนนเสียง และดึงดูดหรือบีบให้เกิดการเจรจาต่อรองทางการเมืองเพื่อหาข้อยุติในปัญหาความขัดแย้ง กล่าวคือไม่ได้ใช้ระบบเสียงข้างมากลากไปอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงสิทธิและความคิดเห็นของเสียงข้างน้อยด้วย

โอบามาทำงานมาเกือบแปดปีเต็ม อาจารย์ให้คะแนนโอบามาอย่างไร อะไรคือ มรดก (legacy) ของโอบามาต่อสหรัฐอเมริกา

ในภาพรวม ผมให้คะแนนบีบวก (B+) แต่ถ้าแบ่งเป็นในประเทศให้เอ (A) ส่วนการระหว่างประเทศและการทหารให้บี (B)

นโยบายในประเทศ เช่น การศึกษา สาธารณสุขและการรักษาพยาบาล สิทธิคนส่วนน้อยและเพศที่สาม การรักษาสภาพแวดล้อม และการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุด เหล่านี้เขาทำได้ดีและมีวิสัยทัศน์ยาวไกล

แต่ที่เป็นปัญหาและเป็นงานยากคือด้านการทหารและความมั่นคง ที่หนักหน่วงคือการรับมรดกสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในอัฟกานิสถานและอิรัก ค่ายนักโทษก่อการร้ายในกวนตานาโม เรื่องเหล่านี้โอบามาสามารถใช้ความเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศเข้าชี้นำและตัดสินใจเพื่อคลี่คลายไปสู่การถอนทหารกลับและคืนสภาพสันติแก่ดินแดนเหล่านั้นได้เพียงใด คำตอบคือ แทบจะทำไม่ได้เลย สงครามในอิรักและอัฟกานิสถานก็ยังต้องประคองต่อไปเพราะสถานการณ์ไม่อำนวย เป็นความโชคร้ายที่เขารับตำแหน่งต่อจากการทำสงครามของบุช ครั้นจะไม่ทำก็ไม่ได้เพราะเป็นความต่อเนื่องของยุทธการและการทหาร

โอบามาเป็นประธานาธิบดีคนที่สองที่ใช้อำนาจไล่นายพลออกจากตำแหน่งระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในการรบ คนแรกคือประธานาธิบดีเฮนรี ทรูแมน ที่ปลดนายพลดักลาส แมกอาเธอร์ ออกจากตำแหน่งระหว่างสงครามเกาหลีฐานละเมิดคำสั่งและดำเนินการรบโดยไม่ได้รับอนุญาต คราวนี้โอบามาสั่งปลดนายพลสแตนลีย์ แมกคริสตัล ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพนาโตและอเมริกันในอัฟกานิสถาน หลังจากเขาและทีมงานให้สัมภาษณ์ในนิตยสารโรลลิงสโตน วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลและโอบามาในการต่อต้านการก่อการร้ายว่าไม่เข้าท่า ก่อนหน้านี้โอบามาได้มีคำสั่งปลดนายพลเดวิด แมกเคียแนน ผู้บัญชาการกองทัพในอัฟกานิสถาน ตามคำแนะนำของรัฐมนตรีกลาโหม (โรเบิร์ต เกตส์) แล้วแต่งตั้งให้แมกคริสตัลขึ้นมาแทน กระทั่งถูกปลดออกอีก

ทั้งหมดนี้เป็นการสู้กันระหว่างพลเรือนที่เป็นผู้นำสูงสุดกับกองทัพว่าในที่สุดแล้วใครเหนือกว่าใคร หลังจากการปลดฟ้าผ่าแล้วก็ไม่เห็นมีคลื่นใต้น้ำอะไรออกมา ไม่มีสื่ออนุรักษนิยมเอียงขวาออกมากวนน้ำให้ขุ่น การทำรัฐประหารในอเมริกาจึงยากกว่าการให้อูฐลอดรูเข็ม

สิ่งที่ผมมองว่าเป็นมรดกของประธานาธิบดีโอบามา ได้แก่ ภาวะของการเป็นผู้นำรัฐที่สามารถแสดงออกในอุดมการณ์ทางการเมืองและภูมิปัญญาที่รองรับความเป็นจริงของสหรัฐอเมริกาและของโลก เขาเอาชนะด้านที่คนมองว่าเป็นจุดด้อยของเขาคือเชื้อชาติและสีผิว ไม่แสดงให้รู้สึกถึงความต่ำต้อยทางสีผิวและชาติกำเนิดเลย สามารถตอบโต้กับฝ่ายคนแอฟริกันอเมริกันที่วิจารณ์นโยบายรัฐบาลได้อย่างตรงไปตรงมา โอบามาทำให้ระบบการเมืองและวัฒนธรรมอเมริกันดูเลิศประเสริฐศรีกว่าหลายๆ ประเทศ คำพูดที่ออกจากปากเขาไม่เคยสะท้อนความตื้นเขินและความหลงผิดดังเช่นผู้นำหลายประเทศในโลก หากแต่ตอกย้ำถึงความรู้และสติปัญญาที่ทำให้เขายืนเด่นอย่างองอาจและงดงามสง่าผ่าเผย

ในยุคประธานาธิบดีทรัมป์ โลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

ไม่เคยมีว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนไหนในอดีตที่มีภาพลักษณ์และบทบาทโลดโผนฉีกแบบแผนและขนบธรรมเนียมจารีตของผู้นำสูงสุดของประเทศเท่าโดนัลด์ ทรัมป์  หลายเรื่องเป็นการสร้างและปลุกกระแสมวลชนคนติดทรัมป์ด้วยตัวเขาเอง เช่นการทวีตทุกวันทุกคืนด้วยความเห็นอันร้อนแรงและแสบสันต์ไปยังสมาชิกยี่สิบกว่าล้านคนของเขา ไม่เคยมีและคงจะมีอีกยาก

ด้วยบุคลิกภาพและความคิดเห็นแบบไม่เดินตามกรอบและกระแส ทรัมป์กำลังทำให้ผู้คนทั้งในแวดวงการเมืองในประเทศและนอกประเทศคาดเดาเป็นการใหญ่ว่าสหรัฐอเมริกายุคประธานาธิบดีทรัมป์จะเกิดอะไรขึ้น  มันต้องเปลี่ยนแปลงไปแน่ๆ หลายคนเริ่มวิตกและกังวลต่ออนาคตของอเมริกา ไม่มีใครคิดว่ารัฐบาลทรัมป์จะดำเนินไปเหมือนกับรัฐบาลอเมริกันที่ผ่านมา ซึ่งแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงและลงมือทำสิ่งใหม่แต่ก็เดินไปตามกรอบและธรรมเนียมปฏิบัติแบบที่เคยทำกันมา แต่คราวนี้คงไม่ใช่

เหตุที่สร้างความหวั่นไหวไปทั่วก็เพราะทรัมป์มีความคิดและความเชื่อแบบไม่เสรีนิยมและเอียงขวา บวกกับท่าทีและทัศนะแบบเหยียดหยามคนด้วยเชื้อชาติ ศาสนา และเพศ  ปฏิเสธไม่ได้ว่าประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในอดีตหลายคนก็เคยมีทัศนะทำนองนี้ แต่คนเหล่านั้นไม่พูดและไม่แสดงให้สาธารณชนเห็นว่าจุดยืนต่อปัญหาเหล่านั้นอยู่ตรงไหน และแน่ๆ คือไม่สนับสนุนว่าเป็นสิ่งถูกต้องอย่างเด็ดขาด

จากข้อมูลล่าสุด คนสุดท้ายที่มีชื่อโผล่ออกมาว่าจะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ อันเป็นตำแหน่งสำคัญอันดับสองรองจากตัวประธานาธิบดีในคณะรัฐมนตรีคือ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน (Rex Tillerson) ซีอีโอของบริษัท Exxon Mobil แหล่งข่าวให้เหตุผลว่าทรัมป์สนใจทิลเลอร์สันเพราะมีประสบการณ์อันยาวนานในการเจรจาธุรกิจค้าน้ำมันไปทั่วโลก โดยเฉพาะดินแดนที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและอันตรายเช่นตะวันออกกลางและรัสเซีย อีกทั้งมีสัมพันธภาพอันยาวนานกับประธานาธิบดีปูติน

ถ้าข้อมูลนี้เป็นจริง เราจะเห็นภาพผู้นำรัฐบาลทรัมป์ที่ชัดเจนขึ้น นั่นคือเขาจะสร้างดุลยภาพกับมหาอำนาจต่างประเทศ (เช่นรัสเซียกับจีน) ด้วยการตั้งนักธุรกิจใหญ่ที่เคยทำมาหากินกับจีน เช่น เทอร์รี แบรนด์สตัด (Terry Brandstad) ผู้ว่าการรัฐไอโอวา และรัสเซีย เช่น ทิลเลอร์สัน มาดำเนินนโยบาย คิดว่าคงจะออกมาทำนอง “ทำสนามรบให้เป็นสนามการค้า” ด้วยการเอาการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางธุรกิจของผู้นำทั้งสามประเทศมาวางบนโต๊ะเจรจา ดูแล้วก็สวยหรูและไม่ยากในการปฏิบัติด้วย

โลกของทรัมป์จะเป็น “โลกสวย” แต่เป็นความสวยของใคร นี่เป็นคำถามที่ทุกคนเฝ้ารอดูคำตอบ

ผู้นำไทยนั้นคงไม่พิศวาสทรัมป์มากเท่าไร เพราะคนที่เป็นข้าราชการระดับสูงในประเทศทั้งชีวิต
และอยู่ในสถาบันที่ไม่ต้องฟังเสียงคนอื่นมาตลอดชีวิต คงยากที่จะยอมรับและชื่นชมความสามารถของพ่อค้านักธุรกิจ
ผู้หากินกับการเจรจาด้วยลมปาก ไม่เห็นจะแสดงบารมีอำนาจตรงไหนออกมาได้เลย

แล้วสหรัฐอเมริกาจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

ถ้าจะเดาว่าสหรัฐอเมริกาในสมัยทรัมป์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ผมลองคาดการณ์ดูแล้วคิดว่า ทรัมป์จะทำให้ปัญหาขัดแย้งกับมหาอำนาจ เช่น รัสเซียและจีน เป็นเรื่องเล็ก ไม่มีอันตรายอะไรอีกแล้ว จากนั้นก็จะมาจับเรื่องในประเทศเพราะเขาคิดว่าเขารู้เรื่องดีกว่าทุกคนในสหรัฐอเมริกา ประเมินจากการตอบรับของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งหลายก็ไม่มีสัญญาณของการปฏิเสธหรือคัดค้านอย่างเด่นชัดนัก ด้วยการที่เขาเป็นนักธุรกิจระดับโลกมาก่อน คิดว่าคงหาทางดำเนินนโยบายการค้าไปได้ไม่เลวนัก แต่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยและคนว่างงานได้หมดไหม คิดว่าคงไม่อาจทำได้ง่ายๆ อย่างที่ได้หาเสียงไว้

แม้โรงงานแคร์เรียร์ที่สัญญาว่าจะเก็บงานหนึ่งพันตำแหน่งเอาไว้ในอเมริกา ไม่ไปเม็กซิโก แต่ข่าวที่ออกมาก็คืองานเหล่านั้นเป็นงานสำหรับพวกที่มีความรู้ทางเทคนิคระดับดี เพราะโรงงานก็กำลังปรับเข้าสู่ระบบอัตโนมัติ ดังนั้น ตำแหน่งงานที่จะเปิดก็ไม่ใช่สำหรับกรรมกร แต่เป็นช่างมีฝีมือต่างหาก

การแก้และคลี่คลายปัญหาเศรษฐกิจในอนาคตจึงเกี่ยวพันกับระบบการค้าอุตสาหกรรมโลกและการเมืองโลก ตรงนี้คือจุดสำคัญของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา เพราะการกำหนดนโยบายทางยุทธศาสตร์ของเขาจะเป็นนโยบายโลกไปด้วย ดังเช่นที่สหรัฐอเมริกาเปลี่ยนวิธีการคมนาคมและการขนส่งในทุกประเทศในโลกจากรถไฟมาเป็นรถยนต์และถนนคอนกรีต จนมาสู่เครื่องคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน สงครามเย็นที่ทำให้คนค่อนโลกหวาดกลัวและฆ่าคนที่เห็นต่างจากตนว่าเป็นคอมมิวนิสต์ก็สร้างโลกที่สามอีกแบบขึ้นมา แต่การที่กองหนุนในประเทศของทรัมป์กลับหันไปหาอุดมการณ์คนขาวเป็นใหญ่และเหยียดหยามคนต่างสีผิวต่างศาสนา ก็มีความเป็นไปได้ที่นโยบายในประเทศของเขาจะขัดแย้งกับความเป็นจริงในโลกภายนอก

ถ้าทรัมป์ไม่ปรับโลกทัศน์และวิธีคิด รัฐบาลของทรัมป์จะ ‘ใหญ่’ เกินกว่าประเทศสหรัฐอเมริกา เขาจะสร้างความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนที่หลากหลายอย่างแหลมคม และอาจกลายสภาพเป็นความขัดแย้งขั้นแตกหักระหว่างกันได้ แต่รัฐบาลของเขาจะ ‘เล็ก’ เกินไปสำหรับโลกยุคโลกาภิวัตน์ ถ้าเขาดำเนินนโยบายต่างประเทศตามแบบคนที่เขาเลือกขึ้นมาทำงานดังที่เห็นกันอยู่

โยฮัน กัลตุง นักสังคมวิทยาชื่อดังของโลก ทำนายว่าทรัมป์จะทำให้สหรัฐอเมริกาพังทลายลง ด้วยความขัดแย้งที่เป็นปฏิปักษ์ภายในประเทศ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ไม่ตอบโจทย์ของความจริงเรื่องมหาอำนาจหลายขั้ว สหรัฐอเมริกาจะตกจากการเป็นมหาอำนาจโลก อเมริกาจะไถลเข้าสู่การเกิดระบบฟาสซิสม์และนำไปสู่การประท้วงต่อต้านของมหาชนที่เรียกร้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและในชีวิต กัลตุงถึงขนาดทำนายภาวะจุดจบของสหรัฐอเมริกาว่าจะคล้ายกับการสิ้นสลายของสหภาพโซเวียตด้วยฝีมือของทรัมป์ เขาให้เวลาไว้ไม่เกินปี 2020  น่าตื่นเต้นมากสำหรับคนรุ่นเราที่อาจได้มีโอกาสเห็นอวสานของมหาอำนาจโลกถึงสองแห่ง

อย่างไรก็ตาม กัลตุงมีคำทำนายเชิงบวกให้ด้วยในตอนจบว่า หลังจากสหรัฐอเมริกาหลุดจากการเป็นมหาอำนาจโลกแล้ว จะเกิดความยากลำบากในประเทศ จนนำไปสู่การเรียกร้องของกลุ่มคนต่างๆ ที่ต้องการเป็นชุมชน (community) หรือเป็นสหพันธรัฐ (confederation) แต่ไม่ต้องการอยู่ในสหรัฐ (union) อีกต่อไป ในช่วงนั้นจะเป็นโอกาสให้อเมริกาเกิดพลังสร้างสรรค์ใหม่ หากทรัมป์สามารถปรับแก้ความคิดและนโยบายแบบประชารัฐนิยมของเขาลงไปได้ และช่วงชิงโอกาสนั้นทำการดัดแปลงและสร้างพลังใหม่ให้แก่สหรัฐอเมริกา ก็อาจจะนำไปสู่การสร้างสหรัฐอเมริกาที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาอีกครั้งได้

ข้อสุดท้ายนี้น่าคิดมาก ที่ผ่านมาคนไม่ค่อยตั้งคำถามเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของสหรัฐอเมริกาว่าจะเปลี่ยนได้ไหม อาจเพราะสหรัฐอเมริกาเคยเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างภาคเหนือกับใต้มาก่อนแล้ว และจบลงด้วยความสูญเสียมหาศาล แต่ทำให้เกิดรัฐบาลกลางและสหรัฐที่เป็นเอกภาพแน่นเหนียวสถาพรยิ่งนักมานับแต่นั้น จนไม่มีใครคิดว่าจะมีมูลเหตุปัจจัยอะไรที่จะมาทำให้มีใครอยาก “แยกดินแดน” ออกจากสหรัฐอีกได้  คำทำนายของกัลตุงว่าไปแล้วก็มองว่าหากรัฐบาลทรัมป์ดำเนินนโยบายทั้งในและต่างประเทศจนก่อให้เกิดความเสียหายมาก อาจนำไปสู่การเปิดช่องทางให้คนหลายกลุ่มที่เกลียดชังกันได้หาทางออกสำหรับอนาคตของพวกตนใหม่ นั่นคือการแยกดินแดน แยกชุมชนหรือแยกรัฐ ไปดำรงตนปกครองอย่างเป็นอิสระกันเองเสียดีกว่า

อย่าคิดว่าเรื่องทำนองนี้เป็นความเพ้อฝัน เป็นอุดมคติอันเลื่อนลอย ในอดีตนั้นชาวยุโรปที่เดินทางมาตั้งรกรากในดินแดนโลกใหม่แห่งนี้ มาด้วยความฝันที่อยากจะสร้าง “ยูโทเปีย” หรือสังคมในอุดมคติ สังคมที่ไม่มีการกดขี่ขูดรีด เอาเปรียบทางเพศ และความคิดทางศาสนา ที่มานั้นมีหลายแบบทั้งที่เพ้อฝันและที่เป็นวิทยาศาสตร์ เช่นชุมชนของโอเอ็น ซึ่งเป็นนักอุตสาหกรรมอังกฤษ รวมๆ แล้วในต้นศตวรรษที่ 19 มีชุมชนที่เป็นยูโทเปียนับร้อยแห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในรัฐนิวยอร์กและนิวอิงแลนด์ หากมีช่องทาง โอกาส และระบบการเมืองรองรับ เราอาจจะได้เห็นการก่อตัวของชุมชนพระศรีอาริย์หรือยูโทเปียนับร้อยๆ แห่งในสหรัฐอเมริกาหลังยุคโลกาภิวัตน์ก็เป็นได้  เพียงแต่ว่าทำอย่างไรถึงจะมีฐานะเป็นรัฐ และมีอำนาจในการดำเนินนโยบายของตนเองได้ด้วย

การเปลี่ยนแปลงนี้จะกลายเป็นความย้อนแย้งของปรากฏการณ์ทรัมป์

จากสหรัฐอเมริกาหันมามองไทย อะไรความท้าทายของประเทศไทยในยุคประธานาธิบดีทรัมป์

ประเทศไทยคงไม่มีอะไรท้าทาย เพราะหากสหรัฐอเมริกาหันหลังกลับเข้าหาตัวเองดังกล่าวแล้ว บทบาทหรือบทเรียนที่ไทยจะได้คงไม่มากและจะทำได้ยากทั้งนั้น เพราะต้องต้องกลับไปอาศัยประวัติศาสตร์ของชุมชนที่เป็นด้านบวก ของอเมริกานั้นหาไม่ยาก ส่วนของไทยหายาก  เรื่องที่จะเกี่ยวพันกันมากหน่อยก็คือเรื่องการค้าและการจัดความสัมพันธ์กับจีน เราเห็นแล้วว่าไทยเริ่มเปลี่ยนหุ้นส่วนเรื่องการค้า การก่อสร้างทางรถไฟอะไรต่อมิอะไรด้วยการหันไปอิงจีน รักษาฐานเก่ากับญี่ปุ่น แล้วเปิดตลาดกับอาเซียนมากขึ้น

แต่การสร้างอาเซียนให้มีศักยภาพในการเมืองโลกอย่างแท้จริง หนีไม่พ้นที่จะต้องทำให้การเมืองในแต่ละประเทศของอาเซียนเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง คือต้องมีระบบการเมืองการปกครองที่แน่นอน มีเสถียรภาพ และประสิทธิภาพ ถ้าอเมริกาไม่สนใจเรื่องประชาธิปไตยในอาเซียน ก็เข้าทางของจีน คิดว่ากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ คงไม่อาจรับนโยบายแบบนี้ของทรัมป์ได้ รัฐบาลของทรัมป์อาจต้องไล่และปลดข้ารัฐการโดยเฉพาะพวกอาวุโสไม่น้อยในกระทรวงต่างๆ เพื่อจะผลักดันนโยบายสุดขั้วของเขาได้จริงๆ ซึ่งอาจคล้ายกับรัฐบาลไทยในขณะนี้และในอนาคต

กล่าวโดยสรุป อนาคตของสองประเทศและสองรัฐบาลในอนาคตอาจคล้ายกันคือ ต่างก็มีความท้าทายจากความขัดแย้งแตกแยกที่เป็นปฏิปักษ์กันระหว่างกลุ่มคนหลากหลายในประเทศที่จะทวีความเข้มข้นมากขึ้น แทนที่จะลดลง

ทรัมป์กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความคล้ายหรือมีความต่างกันอย่างไร    

ความคล้ายน่าอยู่ที่การตัดสินใจเด็ดขาด ดำเนินการทันทีโดยไม่ต้องรอวางแผนงานอะไรให้ยุ่งยาก พูดมากและพูดอย่างไม่ต้องเกรงใจคนฟัง พูดได้ตามใจคือไทยและอเมริกันแท้ เดินสายหาเสียงและการสนับสนุนจากมวลชนพื้นฐาน ชาวบ้านฟังแล้วชอบและสะใจ วิธีการสำคัญในการปกครองและบริหารคือการส่งมอบของให้ลูกค้า (delivery) ทรัมป์ประกาศว่าคณะรัฐมนตรีของเขาต้องทำงาน และการทำงานคือการส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าได้ตามที่สัญญา ไม่อย่างนั้นเขาก็จะไล่ออก

แต่คุณสมบัติข้อสุดท้ายคือความแตกต่างระหว่างพลเอกประยุทธ์กับทรัมป์ ในขณะที่ทรัมป์คัดเลือกคนมาร่วมทีมงานในรัฐบาลจากคนที่เขารู้จักสนิทสนมไม่มากก็น้อย แต่กระนั้นเขาก็ยังเลือกเอาคนที่รู้งานและสามารถทำงานนั้นๆ ได้ ไม่ใช่เอาจากพรรคพวกเพื่อนสนิทเท่านั้น ที่ต่างกันอีกอย่างคือทรัมป์ทำงานในองค์กรธุรกิจเอกชนที่การเข้า-ออกจากงานและเลื่อนขั้นนั้นดำเนินไปตามวาระ ตามกฎ และตามกำไรขาดทุน ทั้งหมดเป็นปัจจัยภายนอกที่ทำให้ผู้ร่วมงานของเขาล้วนมีวาระแน่นอนในการอยู่และไป ไม่มีใครอยู่เพราะเป็นการสืบทอดทายาทและอภิสิทธิ์

ถ้าพลเอกประยุทธ์กับทรัมป์ได้คุยกัน ทั้งคู่จะเป็นเพื่อนรักกันได้ไหม

คิดว่าทรัมป์น่าจะโอ้โลมนายกรัฐมนตรีไทยอย่างสูงด้วยคำพูดหวานหูและยกยอปอปั้นได้ดีกว่าโอบามาและคลินตัน แต่ไม่คิดว่าทรัมป์จะรักผู้นำไทยขนาดนั้น จนกว่าจะแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการใช้อำนาจได้อย่างประธานาธิบดีปูตินแห่งรัสเซีย

ส่วนผู้นำไทยนั้นคงไม่พิศวาสทรัมป์มากเท่าไร เพราะคนที่เป็นข้าราชการระดับสูงในประเทศทั้งชีวิตและอยู่ในสถาบันที่ไม่ต้องฟังเสียงคนอื่นมาตลอดชีวิต คงยากที่จะยอมรับและชื่นชมความสามารถของพ่อค้านักธุรกิจ ผู้หากินกับการเจรจาด้วยลมปาก ไม่เห็นจะแสดงบารมีอำนาจตรงไหนออกมาได้เลย

 

*หมายเหตุ: สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2559 และเรียบเรียงและแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2559
ที่มา: ทรัมป์ 101: ที่มาและที่ไปของสหรัฐอเมริกายุคประธานาธิบดีทรัมป์

Tags: ,