9 มกราคม ที่ผ่านมา เทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ในฐานะประธานคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป ได้นำตัวแทนคณะทำงานปฏิรูปสื่อ และองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 6 องค์กร เข้าร่วมประชุมกับ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน เพื่อเสนอแนะข้อคิดเห็น และเจตนารมณ์ขององค์กรวิชาชีพสื่อ เกี่ยวกับการจัดทำร่างกฎหมาย พ.ร.บ. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ…. โดยมี พล.อ.อ. คณิต สุวรรณเนตร เป็นประธาน
ถ้าให้สรุปง่ายๆ คือ การเคลื่อนไหวครั้งนี้นับเป็นการเคลื่อนไหวคัดค้าน พ.ร.บ. คุ้มครองสื่อฯ ที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนต่างเห็นตรงกันว่ากำลังจะลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในอนาคต
เมื่อเทียบกับการเคลื่อนไหวคัดค้าน พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา คงต้องยอมรับว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้ดูจะเงียบเหงา และได้รับความสนใจจากประชาชนน้อยเป็นพิเศษ ทั้งที่จะว่าไปแล้วเจตนารมณ์ในการออก พ.ร.บ. คุ้มครองสื่อฯ ก็แทบไม่ได้ต่างจากตอนที่ออก พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ เพราะชัดเจนว่ารัฐบาลต้องการควบคุมสื่อทุกช่องทางอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด!
อาจเป็นเพราะมีน้อยคนที่จะรับรู้เรื่อง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ผู้คนเอือมระอากับการทำหน้าที่ของสื่อในช่วงเวลาที่ผ่านมา ศรัทธาสื่อกำลังสูญหายไป ขณะที่สื่อกำลังแย่งชิงความสนใจจากประชาชนด้วยข่าวคุณภาพต่ำ หรือเห็นด้วยกับการให้อำนาจรัฐในการกำกับดูแลสื่อ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลไหนที่ทำให้เสียงตอบรับจากแนวร่วมบางเบา แต่นี่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะอย่างที่หลายคนเคยพูดไว้ว่า ‘เสรีภาพสื่อก็คือเสรีภาพของประชาชน’ ไม่ว่าคุณจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม
The Momentum ต่อสายพูดคุยกับ เทพชัย หย่อง ถึงที่มาของการเคลื่อนไหวคัดค้าน พ.ร.บ. คุ้มครองสื่อฯ ในครั้งนี้ อะไรคือสิ่งที่องค์กรสื่อกำลังเป็นกังวล ปัญหาของการกำกับดูแลกันเองของสื่อที่ผ่านมาคืออะไร แล้วทำไมคนถึงเอือมสื่อ คำถามเหล่านี้กำลังจะได้รับคำตอบจากบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้
ประวัติศาสตร์ทางการเมืองบอกเรามาตลอดว่า
นักการเมืองพยายามแทรกแซงสื่อมาตลอดเวลา
แล้วเมื่อมีเครื่องมือนี้มา ผมก็เห็นว่ายิ่งเข้าทางนักการเมือง
ประเด็นที่องค์กรสื่อเป็นกังวลในร่าง พ.ร.บ. การคุ้มครองสื่อฯ คืออะไร
ผมว่าเนื้อหามันชัดเจน เพราะมันถูกออกแบบให้การทำหน้าที่ของสื่อในการรายงานข่าว หรือแสดงความคิดเห็นถูกแรงกดดัน ถูกกำกับควบคุมโดยอำนาจรัฐ เพราะถ้าไปดูในเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ สิ่งสำคัญที่จะเกิดขึ้นก็คือ จะมีกลไกที่เรียกว่าคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ซึ่งองค์ประกอบตามร่างที่มีการแก้ไขโดยคณะกรรมาธิการฯ ล่าสุดก็คือ จะมีตัวแทนขององค์กรวิชาชีพสื่ออยู่ส่วนหนึ่ง และที่สำคัญคือจะมีกรรมการโดยตำแหน่ง 4 คน เป็นปลัดกระทรวง 4 กระทรวงอยู่ในคณะกรรมการฯ ด้วย ซึ่งก็หมายความว่าจะมีตัวแทนอำนาจรัฐอยู่ในคณะกรรมการฯ ที่จะมาควบคุมและกำกับการทำงานของสื่อ ซึ่งผมคิดว่าเป็นสัญญาณที่ค่อนข้างอันตรายมาก
จริงๆ แล้วคนที่เป็นปลัดกระทรวง ถ้าเราลองมองย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ เป็นตำแหน่งที่ส่วนใหญ่แล้วทางนักการเมืองเป็นคนแต่งตั้งมา พูดง่ายๆ คือเมื่อนักการเมืองแต่งตั้งมา โอกาสที่จะไม่ทำตามคำสั่งทางการเมืองก็จะมีน้อยมาก แล้วอย่าลืมว่าความจริงแล้วคนที่มีตำแหน่งเป็นถึงปลัดกระทรวง ซึ่งก็ถือเป็นตำแหน่งสูงสุดทางราชการ ต้องเป็นคนที่ถูกสื่อตรวจสอบด้วย เพราะถือเป็นกลไกส่วนหนึ่งของรัฐ แต่ถ้าปลัดกระทรวงมาอยู่ในกลไกที่มากำกับสื่อ หรือควบคุมสื่ออีกที คำถามใหญ่ก็คือแล้วคนเหล่านี้จะถูกตรวจสอบได้อย่างไร ในเมื่อคุณมากำกับตรวจสอบสื่อเสียเอง ผมว่านี่คืออันตรายที่ชัดเจนมาก
ที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ผมคิดว่ามันจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทยก็คือ คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติชุดนี้จะมีอำนาจค่อนข้างมาก นอกจากการลงโทษสื่อด้วยการปรับเป็นเงินแล้ว ยังมีอำนาจในการออกและเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อ ก็หมายความว่าใครก็ตามที่เข้ามาในวิชาชีพสื่อ จะเป็นช่างภาพ นักข่าว หรือบรรณาธิการ จะต้องมีใบอนุญาตที่คณะกรรมการฯ ชุดนี้ออกให้ แล้วสามารถถูกเพิกถอนได้ นี่เป็นระบบที่เรามองว่าเป็นการสร้างกลไกที่เข้ามาควบคุมสื่ออย่างเบ็ดเสร็จเลย หมายความว่าคณะกรรมการฯ ชุดนี้จะเป็นองค์กรที่สื่อต้องกลัว เพราะอนาคตคุณอยู่ในมือเขา
ประวัติศาสตร์ทางการเมืองบอกเรามาตลอดว่านักการเมืองพยายามแทรกแซงสื่อมาตลอดเวลา แล้วเมื่อมีเครื่องมือนี้มา ผมก็เห็นว่ายิ่งเข้าทางนักการเมือง นี่คือเหตุผลสำคัญว่าทำไมเราต้องคัดค้านเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้
สิ่งที่จะเกิดขึ้นถ้าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มีผลบังคับใช้คืออะไร
ผมว่าสื่อก็คงจะอยู่ในฐานะที่ลำบากมาก เพราะการทำหน้าที่ หรือการรายงานข่าวจะเกิดขึ้นด้วยความรู้สึกว่ามีกลไกบางอย่างที่เฝ้ามองเราอยู่ และมีอำนาจที่พร้อมจะเล่นงานเราได้ตลอดเวลาถ้าเขาไม่พอใจ
คุณอย่าลืมว่าถ้าย้อนกลับไป 10 ปีก่อนหน้านี้ สมัยที่พรรคการเมืองพรรคหนึ่งกุมเสียงข้างมากในสภา และเป็นผู้นำประเทศที่มีเสียงเด็ดขาดมาก ถ้าจำกันได้ก็คือสื่อมวลชนที่ไม่เป็นพวกเดียวกันก็ถูกกลไกของรัฐคือ ปปง. มาตรวจสอบบัญชีธนาคาร ขนาดยังไม่มีกฎหมายเปิดทางให้แทรกแซงสื่อ ก็ยังมีการใช้กลไกรัฐที่มีอยู่เลย เพราะฉะนั้นเดาได้ไม่ยากว่านักการเมืองจะใช้สภาวิชาชีพที่ว่านี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างไรในการที่จะมาจัดการกับสื่อ
โลกโซเชียลมีเดียเนี่ยเป็นตัวที่ทำให้สื่อต้องระมัดระวังในการทำหน้าที่อย่างมาก
เพราะมีคนจับผิดคุณ จ้องที่จะเล่นงานคุณตลอดเวลา
ผมว่ากลไกการตรวจสอบจากสังคม
จะเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการกำกับสื่อ
แต่ถ้ามองการควบคุมกันเองของสื่อในช่วงเวลาที่ผ่านมา ต้องยอมรับไหมว่ามีปัญหา
เราไม่ปฏิเสธ ต้องยอมรับว่ามันยังไม่สมบูรณ์ และยังมีข้อบกพร่องอยู่ แต่ผมก็เชื่อว่าสถานการณ์มันเริ่มดีขึ้นตลอดเวลา ผมคิดว่าสื่อในปัจจุบันเข้าใจเรื่องจริยธรรม เข้าใจเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่าเมื่อก่อน แล้วปัจจุบันเราต้องยอมรับว่าสื่อมีการตรวจสอบจากสังคมสูงมากเลย โลกโซเชียลมีเดียเนี่ยเป็นตัวที่ทำให้สื่อต้องระมัดระวังในการทำหน้าที่อย่างมาก เพราะมีคนจับผิดคุณ จ้องที่จะเล่นงานคุณตลอดเวลา ผมว่ากลไกการตรวจสอบจากสังคมจะเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการกำกับสื่อ
แต่ต้องยืนยันนะครับว่าสื่อไม่ใช่วิชาชีพที่แตะต้องไม่ได้ ผมคิดว่าสังคมต้องตรวจสอบสื่อ ขณะเดียวกันมันต้องไม่มีกลไกที่มีอำนาจที่ฝ่ายการเมืองจะแทรกแซงได้ คือเมื่อเราพูดถึงเสรีภาพของสื่อ อยากให้ทำความเข้าใจกับผู้อ่านด้วยว่าเราไม่ได้พูดถึงเสรีภาพของคนทำสื่ออย่างผม หรืออย่างคุณอย่างเดียว เพราะหน้าที่ของเราคือการตรวจสอบอำนาจรัฐแทนประชาชน ถ้าเราไม่สามารถทำหน้าที่ตรงนี้ได้เพราะความกลัวที่จะถูกอำนาจการเมืองเล่นงาน ก็หมายความว่าประชาชนก็จะสูญเสียโอกาสในการที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร หรือข้อมูลในเชิงตรวจสอบจากสื่อ มีโอกาสน้อยลงในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเพื่อเป็นส่วนประกอบในการที่จะตัดสินใจทางด้านการเมือง หรือการมีส่วนร่วมทางการเมืองต่างๆ หรือการออกความเห็นอย่างไรต่อนโยบาย หรืออำนาจรัฐในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
ปัญหาของสื่อมวลชนในช่วงเวลาที่ผ่านมาคืออะไร
ผมว่ามันเกิดจากการแข่งขันกันเพื่อเอาชนะกันเรื่องความเร็ว เรื่องของความหวือหวา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่เกิดสื่อทีวีดิจิทัลขึ้นมา มีช่องทีวี 24 ช่อง ซึ่งความอยู่รอดของธุรกิจก็เป็นตัวบีบบังคับ แต่ผมได้มีโอกาสคุยกับคนที่ดูแลข่าวทีวีทุกช่องก็ว่าได้ ทุกคนก็มีความเห็นตรงกันครับว่า อยากทำให้สังคมเขาศรัทธา เชื่อถือสื่อ ไม่มีใครอยากรายงานข่าวที่ทำให้ถูกด่า ถูกกล่าวหาว่าละเมิดจริยธรรม หรือไม่รับผิดชอบ ผมว่านี่คือสิ่งที่เป็นความเห็นร่วมกัน เพียงแต่ว่ามันยังตกลงกันในเรื่องกลไกที่ทำให้การทำหน้าที่อย่างมีจริยธรรมมันเกิดขึ้นอย่างจริงจังได้แค่ไหน อย่างไร
ผมว่ามีอีกประเด็นหนึ่งที่จำเป็นต้องแยกแยะด้วยเวลาพูดถึงสื่อ ซึ่งแม้แต่กรรมาธิการที่ทำหน้าที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ยังสับสนว่าสื่อคืออะไร บล็อกเกอร์ หรือปัจเจกคนที่เขียนข่าวทั้งหลายเป็นสื่อด้วยหรือเปล่า เพราะหลายๆ เรื่องสื่อกระแสหลักไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย แต่มันถูกแพร่กระจายโดยคนที่อาจจะมีเฟซบุ๊กเพจของตัวเอง คนก็เหมาไปว่านี่คือสื่อ คือมันต้องแยกแยะระหว่างสื่อกระแสหลักที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ รายงานข่าว กับสื่อที่อาจจะเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นมาโดยอาจจะไม่มีเป้าหมายในการทำงานที่ชัดเจน เพียงแต่เอาข่าวที่ไหนมาไม่รู้ มารวบรวม แล้วก็นำเสนอไป หรือเป็นแค่เว็บไซต์ หรือเฟซบุ๊กส่วนบุคคลที่นำข่าวมาขยายความ หรือสร้างกระแสข่าวที่จริงบ้าง ไม่จริงบ้างออกไป ผมว่าเราต้องแยกแยะให้ได้
จะหาคนที่เห็นใจสื่อทุกวันนี้มีน้อยมาก
ทุกคนจะซ้ำเติม กระทืบซ้ำ เสมือนว่าสื่อเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจมาก
ซึ่งก็ไม่เป็นไร เพราะเป็นความเห็นที่เราต้องฟัง
ทำไมสังคมถึงไม่ค่อยให้ความสนใจเรื่องร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้
ผมคิดว่ามีประเด็นหนึ่งที่คนเป็นสื่อคงต้องยอมรับ คือความรู้สึกของคนในสังคมที่มีต่อสื่อในช่วงเวลาที่ผ่านมา อาจจะเป็นด้วยเรื่องเหตุผลของความขัดแย้งทางการเมืองก็ได้ หรืออาจจะเป็นเหตุผลที่สื่อบางส่วนไม่ได้ทำหน้าที่อย่างรับผิดชอบเท่าที่ควร มันก็ทำให้ความไว้วางใจ ความศรัทธาของสังคมที่มีต่อสื่อกระแสหลักสั่นคลอนมาก
ผมยังพูดเล่นๆ เลยว่าสมมติว่าเอาร่างกฎหมายฉบับนี้ของกรรมาธิการไปลงประชามติ ก็คิดว่าโอกาสที่มันจะผ่านมีสูงมาก เพราะว่าก็มีคนไม่น้อยที่เห็นด้วย ลองดูในโซเชียลมีเดียก็ได้ จะหาคนที่เห็นใจสื่อทุกวันนี้มีน้อยมาก ทุกคนจะซ้ำเติม กระทืบซ้ำ เสมือนว่าสื่อเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจมาก ซึ่งก็ไม่เป็นไร เพราะเป็นความเห็นที่เราต้องฟัง นี่เป็นความรู้สึกของคนจริงๆ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือต้องถามว่าแล้วคนในสังคมที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์สื่อเขาได้ความรู้สึกนี้มาจากไหนล่ะ สื่อก็ต้องมองตัวเองด้วย โดยเฉพาะความผิดพลาดของเราเอง หรือของสื่อบางส่วน การทำหน้าที่ของเราที่ไม่รับผิดชอบอย่างเต็มที่ มันก็เป็นต้นเหตุสำคัญล่ะ ที่ทำให้สังคมมองสื่อว่าไม่รับผิดชอบ เลือกข้าง หรือมุ่งแต่ขายข่าวอย่างเดียว ต้องยอมรับว่าสังคมเองก็ไม่เป็นมิตรกับเรามากเหมือนสมัยก่อนแล้ว
ถ้าอย่างนั้นสื่อควรจะกำกับดูแลกันเองอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่ผ่านมา
คือองค์กรวิชาชีพสื่อเราได้นำเสนอร่างคู่ขนานเข้าไป เพราะเรารู้ว่าเราปฏิเสธร่างนี้ของเขาไม่ได้ โดยย้ำเรื่องของการควบคุมกำกับกันเอง หมายความว่าเราเห็นด้วยกับบางส่วนของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ของกรรมาธิการ โดยเฉพาะในส่วนของการให้แต่ละสื่อ เช่น หนังสือพิมพ์ ทีวี หรือเว็บไซต์ข่าวต้องมีกลไก อาจจะเป็นคณะกรรมการทางด้านจริยธรรมของตัวเองที่รับเรื่องร้องเรียน และตรวจสอบการทำงานของตัวเอง แต่กรรมการชุดนี้ หรือกลไกนี้จะไม่ได้เป็นคนเฉพาะของสื่อนั้นๆ อย่างเดียว จะต้องมีตัวแทนของภาควิชาการ หรือตัวแทนจากสังคมในระดับสัดส่วนที่สังคมจะเชื่อได้ว่านี่เป็นกลไกที่น่าเชื่อถือ ไม่ใช่เอามาปกป้องกันเอง แล้วกลไกนี้ หรือกรรมการชุดนี้ก็จะมีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนจากผู้อ่านผู้ชม ก่อนจะทำการตรวจสอบแล้วออกระเบียบ หรือกระบวนการตรวจสอบและมีบทลงโทษที่ชัดเจนด้วย คือต้องมีกติกาที่สังคมยอมรับได้ว่าสื่อนี้เขาดีนะ เขามีกลไกนี้ และมีกติกา มีบทลงโทษที่ชัดเจน ผมว่ามันจะช่วยแก้ปัญหาได้เยอะมากเลย ซึ่งความเห็นนี้สอดคล้องกันกับทางคณะกรรมาธิการที่ร่างกฎหมายฉบับนี้
อีกอย่างที่เห็นตรงกัน ซึ่งความจริงมันก็เกิดขึ้นอยู่แล้วก็คือ ควรจะต้องมีองค์กรวิชาชีพสื่อที่ต้องมีความเข้มแข็งมากขึ้น ทั้งสภาการหนังสือพิมพ์ สมาคมทั้งหลาย ซึ่งจะต้องมีแนวปฏิบัติในการตรวจสอบ รับเรื่องร้องเรียน และการลงโทษที่โปร่งใสและน่าเชื่อถือมากกว่านี้ ซึ่งผมคิดว่าถ้าสองระดับนี้ถ้าเกิดขึ้นได้จริง คือระดับสื่อแต่ละสื่อเอง กับระดับองค์กรวิชาชีพ ทำงานอย่างเข้มแข็ง และทุกคนร่วมมือกัน ผมคิดว่าเราสามารถที่จะทำให้สื่อกำกับดูแลกันเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสังคมก็เชื่อถือด้วย
เนื้อหาของร่างกฎหมายฉบับนี้มันเหมือนว่าถูกออกแบบมาบนพื้นฐานของ
สถานการณ์ทางการเมืองในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ที่มีความแตกแยกในเรื่องสีเสื้อทั้งหลาย ซึ่งมันไม่ถูก
ที่จะออกกฎหมายมาบนพื้นฐานของสถานการณ์หรือปรากฏการณ์ในช่วงสั้นๆ แบบนี้
ก็ยังมีความหวังอยู่ว่าเขาจะฟัง ถึงแม้ว่าความหวังอาจจะเริ่มน้อยลงก็ตาม แต่ท่าทีของคณะกรรมาธิการฯ ก็เป็นมิตรมาก จริงๆ ก็คุยกันด้วยความเข้าใจ หลายคนในคณะกรรมาธิการฯ ก็มีความเข้าใจในสิ่งที่เรานำเสนอ แต่ก็ไม่มั่นใจว่าเมื่อถึงขั้นตอน เมื่อเขาต้องสรุปร่างสุดท้ายเพื่อส่งให้ทางสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศแล้ว ร่างนี้จะได้รับการแก้ไขตามที่เราเสนอไปหรือเปล่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เรายังตอบไม่ได้จริงๆ
แนวทางการเคลื่อนไหวต่อจากนี้เป็นอย่างไร
คงต้องรอดูก่อนว่าทางคณะกรรมาธิการจะสรุปเนื้อหาในมาตราต่างๆ อย่างไรบ้าง มีการรับฟังสิ่งที่เรานำเสนอไปแค่ไหน ถ้าเราคิดว่ามันยังไม่ใช่สิ่งที่ดีสำหรับเสรีภาพของสังคมในการแสดงความคิดเห็น หรือรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เราก็คงมีความจำเป็นต้องเคลื่อนไหวในลำดับต่อไป เพราะตามกระบวนการและขั้นตอนคือ คณะกรรมาธิการฯ จะสรุปร่างสุดท้ายส่งให้กับ สปท. หรือสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ถ้า สปท. เห็นด้วย ไม่แก้ไขอะไร ก็คงส่งต่อไปให้ สนช. หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อเข้ากระบวนการร่างเป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งก็ยังมีอีกหลายขั้นตอนที่คงจะต้องไปพูดคุยและทำความเข้าใจกัน ก็หวังว่าในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งจะมีคนเข้าใจสถานการณ์ พูดจาด้วยเหตุด้วยผล รับฟัง และมองสังคมระยะยาวเป็นตัวตั้งมากกว่าความรู้สึก
สิ่งที่ผมพยายามบอกตลอดเวลาคือ เนื้อหาของร่างกฎหมายฉบับนี้มันเหมือนว่าถูกออกแบบมาบนพื้นฐานของสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ที่มีความแตกแยกในเรื่องสีเสื้อทั้งหลาย ซึ่งมันไม่ถูกที่จะออกกฎหมายมาบนพื้นฐานของสถานการณ์หรือปรากฏการณ์ในช่วงสั้นๆ แบบนี้ มันต้องมองย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของสื่อในประเทศไทย และมองไปในอนาคต โดยเอาสังคมเป็นตัวตั้ง
แม้ในฐานะสื่อมวลชนจะไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ แต่ถ้ามองในอีกแง่นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนครั้งใหญ่ให้สื่อเร่งปฏิรูปตัวเองอย่างจริงจังสักที ก่อนที่จะถูกปฏิรูปอย่างไม่เต็มใจ และไร้เสียงทัดทานจากประชาชน
ติดตามร่าง พ.ร.บ. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ…. ฉบับเต็มได้ ที่นี่ และติดตามร่างคู่ขนานจากองค์กรวิชาชีพสื่อได้ ที่นี่
ภาพประกอบ: Karin Foxx
Tags: PRESS, journalist