ย้อนกลับไปเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2556 คนไทยและวงการภาพยนตร์ไทยได้ร่วมกันเฉลิมฉลองให้กับความสำเร็จของ พี่มาก..พระโขนง หนังรัก-ผี-ตลก ที่กวาดรายได้ไปอย่างท่วมท้นกว่า 598 ล้านบาท ทั้งยังได้รับโอกาสในการออกฉายในนานาประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย, ฮ่องกง, สิงคโปร์ ฯลฯ
หากแต่หลังจากปรากฏการณ์ ‘พี่มากฟีเวอร์’ เป็นต้นมา เรากลับไม่มีโอกาสได้เห็นหนังไทยเรื่องไหนที่พอจะทำผลงานในมาตรฐานและระดับที่ใกล้เคียงเลย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (2557-2559) ภาพรวมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยดูจะย่ำแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อข้อมูลจากเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์ระบุว่า
- ปี พ.ศ. 2557 ภาพยนตร์ไทยมีส่วนแบ่งการตลาด 22%
– หนังต่างประเทศเข้าฉาย 135 เรื่อง ทำเงินรวมกันกว่า 3,134 ล้านบาท
– หนังไทยเข้าฉาย 60 เรื่อง ทำเงินรวมกันกว่า 1,026 ล้านบาท
- ปี พ.ศ. 2558 ภาพยนตร์ไทยมีส่วนแบ่งการตลาด 18%
– หนังต่างประเทศเข้าฉาย 179 เรื่อง ทำเงินรวมกันกว่า 3,675 ล้านบาท
– หนังไทยเข้าฉาย 60 เรื่อง ทำเงินรวมกันกว่า 684 ล้านบาท - ปี พ.ศ. 2559 ภาพยนตร์ไทยมีส่วนแบ่งการตลาด 13%
– หนังต่างประเทศเข้าฉาย 245 เรื่อง ทำเงินรวมกันกว่า 4,127
– หนังไทยเข้าฉาย 38 เรื่อง ทำเงินรวมกันกว่า 565 ล้านบาท
ซึ่งหากข้อมูลชุดนี้สามารถเชื่อถือได้ นั่นจะเท่ากับว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 จนถึง พ.ศ. 2559 ภาพยนตร์ไทยมีส่วนแบ่งทางการตลาดลดน้อยลงเรื่อยๆ สวนทางกันกับภาพยนตร์จากต่างประเทศที่นับวันยิ่งออกดอกออกผลงอกงามอย่างเห็นได้ชัด
สาเหตุเป็นเพราะอะไรกันแน่ เพราะหนังไทยไม่มีคุณภาพ? ดูหนังฮอลลีวูดแล้วบันเทิงใจกว่า หรือเป็นเพราะพวกเขาได้รับโอกาสและการสนับสนุนที่ไม่เพียงพอ?
เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์ กับวิกฤตการณ์หนังไทยที่ต้องก้าวข้ามผ่าน
ก่อนหน้านี้เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์เชื่อว่า การที่โรงภาพยนตร์ในไทยทั้งหมดอยู่ภายใต้การดำเนินงานของเครือใหญ่เพียง 2 ราย ทำให้โรงภาพยนตร์มีอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับการเลือกจัดฉายหนังทุกช่วงเวลาแบบผูกขาด
ทั้งยังส่งผลให้ผู้ประกอบการและโรงภาพยนตร์เหล่านั้นเลือกจัดฉายเฉพาะหนังทำเงินจากฮอลลีวูดในเวลาพร้อมๆ กัน (รอบฉายติดๆ กันหลายโรง) และทำให้หนังประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะหนังไทยมีพื้นที่ในการจัดฉายน้อยลง
เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์จึงได้ออกมาเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับวงการภาพยนตร์ไทยในปัจจุบัน โดยชูประเด็นเรื่อง ‘การแบ่งสัดส่วนการฉายภาพยนตร์ไทยที่เหมาะสม’ จาก พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ ฉบับ พ.ศ. 2551 หมวด 1 มาตรา 9 วรรค 5 ที่มีใจความว่า
“คณะกรรมการภาพยนตร์ไทยและวิดีทัศน์แห่งชาติมีหน้าที่ในการออกประกาศกำหนดสัดส่วนระหว่างภาพยนตร์ไทยและภาพยนตร์ต่างประเทศที่จะนำออกฉายในโรงภาพยนตร์
“และหากผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงภาพยนตร์ผู้ใดฉายภาพยนตร์ไทยน้อยกว่าสัดส่วนที่คณะกรรมการกำหนด ต้องชำระค่าปรับทางปกครองตามอัตราที่นายทะเบียนกลางประกาศกำหนด” (หมวด 7 ส่วนที่ 1 มาตรา 68)
ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาข้อประกาศใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ถูกเพิกเฉยและไม่ได้ถูกบังคับใช้อย่างจริงจังมาโดยตลอด
เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์จึงได้ยื่นข้อเรียกร้อง ‘เร่งพาหนังไทยออกพ้นวิกฤตการณ์’ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยให้ทุกระบบในวงการมีความชัดเจนรองรับมาตรฐานสากล ที่ห้องเอนกประสงค์ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2560 โดยมีเนื้อหาสรุปดังนี้
มาตรการแก้วิกฤตภาพยนตร์ไทย
การดำเนินการระดับเร่งด่วน
- กำหนดสัดส่วนการฉายภาพยนตร์ในโรงมัลติเพล็กซ์ ไม่เกิน 20% ต่อเรื่อง
- วางโปรแกรมฉายให้ภาพยนตร์ไทยทุกเรื่องเป็นเวลา 2 สัปดาห์เต็ม วันละ 5 รอบเป็นอย่างน้อย (ไม่รวมรอบ Sneak Preview)
- ยกเลิกค่าธรรมเนียมการฉายภาพยนตร์ Digital VPF หรือค่าธรรมเนียมระบบการฉายภาพยนตร์อื่นๆ ซึ่งในปัจจุบันยังคงมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการฉายภาพยนตร์จากผู้ประกอบการภาพยนตร์ไทย แต่ไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ประกอบการภาพยนตร์ต่างประเทศ
- แก้ไขระบบผูกขาดการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ หรือระบบสายหนัง ซึ่งทำให้ผู้บริโภคไม่ได้เลือกบริโภคหนังที่ตัวเองอยากดูด้วยตัวเอง แต่ถูกเลือกโดยสายหนัง ซึ่งไม่รวมถึงการผูกขาดที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค เช่น ราคาบัตรชมภาพยนตร์และราคาสินค้าอาหารที่สูงขึ้น
การดำเนินการระยะยาว
เรียกร้องให้สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติตั้งกองทุนส่งเสริมผู้สร้างภาพยนตร์ไทยที่มีหลักเกณฑ์การพิจารณาอย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดผลงานภาพยนตร์ไทยที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด และทำให้ผู้ชมมีรสนิยมการชมภาพยนตร์ที่หลากหลาย เปิดกว้างทัดเทียมประเทศอื่นๆ
ซึ่งเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์กล่าวเพิ่มเติมว่า การออกมาเรียกร้องในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการสร้างศัตรู แต่จุดประสงค์คือ การหาแนวร่วม และวิธีในการแก้ปัญหาไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้วงการภาพยนตร์ไทยอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์จะเร่งยื่นมาตรการแก้วิกฤตภาพยนตร์ไทยต่อสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ให้แสดงบทบาทในการกอบกู้วงการหนังไทยอย่างเร่งด่วนในวันที่ 13 มกราคม นี้
‘ปั๊มน้ำมัน’ หนังไทยที่ถูกถอดออกทันที หลังเข้าฉายแค่ 1 สัปดาห์!
ภาพยนตร์เรื่อง ปั๊มน้ำมัน ผลงานการกำกับของ กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับหนังไทยชื่อดัง และหนึ่งในเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์ที่ออกมายื่นข้อเรียกร้องในครั้งนี้ โดยผลงานชิ้นล่าสุดของธัญญ์วารินได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง หลังถูกถอดออกจากโรงภาพยนตร์ทันทีที่เข้าฉายได้แค่ 1 สัปดาห์เท่านั้น
ธัญญ์วารินให้สัมภาษณ์กับ The Momentum ว่า “เราทำหนังทั้งในและนอกกระแส และมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับโรงหนังทั้ง 2 ค่ายมาโดยตลอด เพราะฉะนั้นวันแรกที่ ปั๊มน้ำมัน ทำเงินได้แค่ 9,000 บาท แล้วถูกลดรอบฉาย ก็เข้าใจว่ามันเป็นเรื่องของระบบบริหารธุรกิจ ซึ่งก็โชคดีที่เรายังได้ฉายกับโรงภาพยนตร์ House RCA เพราะคุยล่วงหน้ากับเขาไว้แล้ว
“อย่างหนังของเราเข้าฉายแค่ 1 สัปดาห์แล้วถูกถอดออก ก็เข้าใจว่าถ้าหนังไม่ทำเงิน เขาก็ต้องเอาพื้นที่ของเขาไปฉายหนังที่ทำเงินแทน แต่สิ่งที่เราต้องการในวันนี้คือ ในเมื่อหนังทุกเรื่องมันไม่เหมือนกัน การเอาหนังที่ลงทุน 10 ล้านและพันล้านมาเปรียบเทียบเป็นมวยบนเวทีเดียวกันก็ไม่ยุติธรรม ทางออกที่ยุติธรรมคือการที่เรามาจุดประเด็นว่าถ้าสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ เราต้องตายแน่ๆ อย่างหนังของเราก็พิสูจน์แล้วว่าถ้าได้โอกาสและเวลาที่มากพอ มันก็อยู่ได้ ปัจจุบัน ปั๊มน้ำมัน ก็ได้รายได้เพิ่มขึ้นทุกๆ อาทิตย์ เพราะมีเวลาให้คนได้พูดกันว่าหนังมันดีอย่างไร จนบางรอบทางโรงก็บอกว่ามีคนดูหนังของเรามากกว่า La La Land ด้วยซ้ำ
“หนังทุกเรื่องไม่เหมือนกัน การที่คนดูจะบอกต่อกันหรือมันจะมีชีวิตยืนยาวแค่ไหน มันต้องมีพื้นที่และเวลาเพื่อให้มันได้ทำกระบวนการการบอกต่อ อย่างหนังของเราก็ไม่มีทุนโปรโมตที่มากพอเมื่อเทียบกับหนังของสตูดิโอใหญ่ๆ หวังพึ่งได้ก็แค่กระแสการบอกต่อ เพราะฉะนั้นมันควรจะต้องเกิดการแข่งขันทางธุรกิจที่ยุติธรรม มีพื้นที่ให้หนังไทยมากกว่านี้ เพื่อช่วยอุตสาหกรรมหนังไทยให้อยู่รอดในอนาคต เพราะเราก็คงอยากเห็นหนังไทยทำรายได้ร้อยล้านพันล้านกันหลายๆ เรื่อง ซึ่งเราก็เชื่อว่าโรงหนังก็คงอยากเห็นหนังไทยทำเงินไม่ต่างกัน
“เรามองว่าโรงหนังมัลติเพล็กซ์ในไทยมีโรงมากพอที่จะเจียดพื้นที่ของโรงและรอบให้หนังไทยมีชีวิตอยู่ได้แน่นอน เพียงแต่ต้องมีวิธีคิดและการจัดการของโรงหนังที่ร่วมด้วยช่วยกัน เพราะลำพังแค่โรงภาพยนตร์ House RCA ที่เดียวที่รองรับการฉายหนังไทยนอกกระแสก็คงไม่พอ”
คงต้องจับตาดูกันต่อไป ว่าการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ของเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์จะเห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมเด่นชัดหรือไม่? หรือจะกลายเป็นแค่เสียงตะโกนที่ดังต้นแล้วแผ่วปลาย?
แต่สิ่งที่เราเชื่อว่าผู้บริโภคอย่างเราพอจะทำได้ หรือช่วยผลักดันภาพยนตร์ไทยทั้งในและนอกกระแสให้ยังพอมีที่ยืนและอยู่รอดต่อไป คือการที่คุณให้โอกาสกับหนังไทยมากกว่าที่เป็นอยู่
Tags: Movie, ThaiMovie, Crisis