มกราคมถึงกุมภาพันธ์ของทุกปีถือเป็นช่วงเวลาที่คอหนังคุณภาพได้ร้องเฮ เนื่องจากเป็นช่วงประกาศผลรางวัลภาพยนตร์ต่างๆ รวมถึงรางวัลใหญ่อย่าง Oscar ซึ่งปีนี้มีการประกาศผู้เข้าชิงในวันที่ 24 มกราคม และผู้ชนะในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ (ตรงกับเวลาในไทย เช้าวันที่ 27 กุมภาพันธ์) ทำให้เป็นช่วงที่มีหนังคุณภาพเข้าฉายในอเมริกาหลายเรื่อง ซึ่งน่ายินดีว่าหนังเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้เข้าฉายในไทยด้วย
The Momentum จะพาไปสำรวจหนังที่กำลังจะมีบทบาทบนเวทีออสการ์ 2017 ว่ามีเรื่องไหนบ้างที่น่าสนใจและแต่ละเรื่องมีความโดดเด่นตรงไหนบ้าง
หมายเหตุ – เวลาในวงเล็บเป็นวันกำหนดฉายในประเทศไทย
1. La La Land (กำหนดฉาย 12 มกราคม)
กำกับ – เดเมียน ชาเซลล์ แสดง – ไรอัน กอสลิง, เอ็มมา สโตน, จอห์น เลเจนด์
หนังเกี่ยวกับอะไร – หนังมิวสิคัลที่บอกเล่าเรื่องราวของคู่รักศิลปินในแอลเอ- นครที่เต็มไปด้วยความฝัน เซบาสเตียน เป็นนักเปียโนผู้ใฝ่ฝันที่จะมีบาร์แจ๊ซเป็นของตัวเอง ส่วน มีอา ใฝ่ฝันอยากเป็นนักแสดง ทั้งคู่ตกหลุมรักกันและพยายามผลักดันความฝันของแต่ละคนให้เป็นจริง แต่แล้วความรักกับความฝันของทั้งคู่กลับไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน
ความโดดเด่น – มันเป็นหนังแนวมิวสิคัลย้อนยุค ซึ่งนักวิจารณ์หลายคนบอกว่าไม่มีหนังแบบนี้ถูกสร้างมานานแล้ว เนื่องจากหนังมีความฉูดฉาดหวือหวา เข้าถึงผู้ชมง่าย พูดถึงเรื่องที่ทุกคนต้องอินอย่างความรักกับความฝัน อีกทั้งมีการบูชาครูหนังมิวสิคัลในอดีต ทั้งการร้องเพลง เต้นแท็ป จึงไม่น่าแปลกใจที่หนังจะเป็นขวัญใจทั้งมหาชนและกรรมการตัดสินรางวัล โดยล่าสุดหนังสร้างสถิติคว้า 7 รางวัลบนเวทีลูกโลกทองคำมาครอง (ถือว่าสูงที่สุดตลอดกาล)
สาขาที่น่าจะเข้าชิง – หนัง, ผู้กำกับ, นักแสดงนำชาย (กอสลิง), นำหญิง (สโตน), บทดั้งเดิม, ดนตรีประกอบ, เพลงประกอบ, ถ่ายภาพ, กำกับศิลป์, เสียง, ตัดต่อ – พูดง่ายๆ ว่าน่าจะได้เข้าชิงทุกรางวัลแบบเหมาเรียบ
เกร็ดข้อมูล – ถ้าชาเซลล์ได้รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมออสการ์ เขาจะสร้างสถิติเป็นผู้กำกับที่อายุน้อยที่สุด (31 ปี) ที่คว้ารางวัลนี้มาครองได้
2. Manchester by the Sea (กำหนดฉาย 9 กุมภาพันธ์)
กำกับ – เคนเน็ท โลเนอร์แกน แสดง – เคซีย์ แอฟเฟล็ก, มิเชลวิลเลียมส์, ลูคัส เฮดจ์ส
หนังเกี่ยวกับอะไร – ชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งตัดขาดไม่ยุ่งเกี่ยวกับครอบครัว ต้องรับหน้าที่เป็นผู้ปกครองจำเป็นให้กับหลานชายวัย 16 ปีของเขา เนื่องจากพี่ชายของเขาเสียชีวิตกะทันหัน ซึ่งนั่นทำให้เขาต้องกลับไปยังเมืองที่เขาเคยหนีจากมาและเผชิญหน้ากับบาดแผลในอดีต เขาจึงต้องหาทางก้าวข้ามความรู้สึกผิดในใจให้ได้
ความโดดเด่น – ด้วยความที่เป็นหนังนิ่งเนิบนาบความยาวเกือบ 2 ชั่วโมงครึ่ง ทำให้มันเป็นหนังเฉพาะกลุ่มที่หน้าหนังไม่ดึงดูด แต่ด้วยเสียงวิจารณ์ปากต่อปากตอนฉายในเทศกาลต่างๆ ทำให้หนังได้รับการจับตามองมากขึ้นเรื่อยๆ โดยจุดเด่นของหนังอยู่ที่บทหนัง ซึ่งพูดถึงความเป็นไปของชีวิตได้อย่างแหลมคม อีกทั้งผสมอารมณ์ตลกปนเศร้าเอาไว้ด้วยกันอย่างลงตัว อีกทั้งยังได้การแสดงระดับมาสเตอร์พีซจากนักแสดงมากฝีมือมาช่วยเสริม
สาขาที่น่าจะเข้าชิง – หนังกวาดรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (แอฟเฟล็ก) แทบจะทุกสถาบัน จนทำนายได้ว่าเตรียมเอาออสการ์ไปนอนกอดได้เลย อีกสาขาที่มีลุ้นรางวัลไม่แพ้กัน คือบทดั้งเดิมยอดเยี่ยม นอกจากนั้นหนังยังน่าจะเข้าชิงในสาขาหนังยอดเยี่ยม, ผู้กำกับ, นักแสดงสมทบชาย (เฮดจ์ส) และสมทบหญิง (วิลเลียมส์)
เกร็ดข้อมูล – ด้วยความที่หนังของโลเนอร์แกนเรื่องก่อนอย่าง Margaret (2005) มีเหตุขัดแย้งในเรื่องสิทธิ์การตัดต่อหนัง จนเกิดเป็นเรื่องราวขึ้นศาลและส่งผลให้เขาหายจากวงการไปพักใหญ่ โดยเขายินยอมกลับมากำกับหนังอีกครั้ง เนื่องจาก แมตต์ เดมอน ซึ่งรับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ให้หนังเรื่องนี้ ได้ทำสัญญายินยอมให้เขามีสิทธิ์ในการตัดต่อหนังร่างสุดท้าย
3. Moonlight (กำหนดฉาย 9 กุมภาพันธ์)
กำกับ – แบร์รี เจนกินส์ แสดง – เทรวานเท โรดส์, แอชตัน แซนเดอร์ส, อเล็กซ์ ฮิบเบิร์ต
หนังเกี่ยวกับอะไร – หนัง coming of age ที่เล่าเรื่องราวชีวิตของ ชีรอน หนุ่มเกย์ผิวสีใน 3 ช่วงอายุ นั่นคือ เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ หนังใช้นักแสดง 3 คนมารับบทในแต่ละช่วง) เขาเป็นชนชั้นล่างที่พยายามดิ้นรนเอาชีวิตรอด อีกทั้งยังต้องรับมือกับปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องครอบครัว ยาเสพติด รับมือกับแก๊งอันธพาล และปัญหาหัวใจเมื่อเขาเริ่มมีใจให้กับเพื่อนชายคนสนิทของเขา
ความโดดเด่น –แม้เนื้อเรื่องจะเอื้อให้เป็นหนังสะท้อนสังคมเครียดๆ หรือขายความรุนแรง แต่ Moonlightกลับเป็นหนังโรแมนติกดราม่าที่สะท้อนชีวิตมนุษย์ได้อย่างนุ่มนวลและลุ่มลึก ด้วยกระแสปากต่อปากทำให้หนังที่แทบไม่มีใครพูดถึงเลยในช่วงต้นปีกลับกลายเป็นหนังที่ติดอันดับหนังดีที่สุดแห่งปีของนักวิจารณ์และเวทีรางวัลหลายแห่ง อีกทั้งยังสร้างสถิติได้ 99 คะแนนจากเว็บรวมบทวิจารณ์ Metacritic (สูงเป็นอันดับต้นๆ ตั้งแต่มีเว็บนี้) และคว้ารางวัลหนังยอดเยี่ยม (ดราม่า) จากเวทีลูกโลกทองคำมาครองได้
สาขาที่น่าจะเข้าชิง – มีสิทธิ์เข้าชิงหลายสาขา เช่น หนัง, ผู้กำกับ, บทดัดแปลง, ถ่ายภาพ, ดนตรีประกอบ, ตัดต่อ, นักแสดงสมทบชาย (มาเฮอร์ชาลา อาลี), สมทบหญิง (นาโอมี แฮร์ริส) ซึ่งสาขาที่ถือว่าเป็นตัวเก็งคือ สมทบชาย เนื่องจากกวาดรางวัลนี้มาแล้วแทบทุกสถาบัน
เกร็ดข้อมูล – ถ้าเจนกินส์ได้รางวัลออสการ์ผู้กำกับยอดเยี่ยม เขาจะเป็นผู้กำกับแอฟริกัน-อเมริกันคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัลนี้
4. Hacksaw Ridge (กำหนดฉาย 9 กุมภาพันธ์)
กำกับ – เมล กิบสัน แสดง – แอนดรูว์ การ์ฟิลด์, แซม เวิร์ทธิงตัน, ลุค บราซีย์
หนังเกี่ยวกับอะไร – สร้างจากเรื่องจริงสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง โดยบอกเล่าเรื่องราวของชายหนุ่มเคร่งศาสนาที่ถูกเกณฑ์ไปรับใช้กองทัพ เขาปฏิเสธการจับอาวุธปืน และไม่ยอมทำร้ายใคร จนถูกมองว่าขี้ขลาด และโดนคนในกองทัพกลั่นแกล้ง แต่ต่อมาเขาได้สร้างวีรกรรมช่วยชีวิตเพื่อนทหารในสมรภูมิโอกินาวาเอาไว้มากถึงเกือบ 100 ชีวิต กลายเป็นเรื่องราวที่ได้รับการกล่าวขานจนถึงวันนี้
ความโดดเด่น – ถือเป็นการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้งของ เมล กิบสัน นักแสดง/ผู้กำกับที่เคยถูกฮอลลีวูดแบนไปพักใหญ่ เนื่องจากพฤติกรรมฉาวโฉ่ในอดีต โดยหนังเรื่องนี้ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากในเรื่องของฉากสู้รบที่เข้มข้นและดูสมจริงถึงเลือดถึงเนื้อ (ความรุนแรงถือเป็นลายเซ็นของเขาตั้งแต่ The Passion of the Christ, 2004 และ Apocalypto, 2006)โดยกิบสันกล่าวว่า “แม้มันจะเป็นหนังสงครามที่รุนแรง แต่โดยเนื้อแท้แล้วหนังเรื่องนี้มีเนื้อหาต่อต้านทั้งสงครามและความรุนแรง”
สาขาที่น่าจะเข้าชิง – หนัง, ผู้กำกับ, นักแสดงนำชาย (การ์ฟิลด์) และรางวัลทางด้านเทคนิคต่างๆ
เกร็ดข้อมูล – เนื่องจากหนัง Spider-Man ถูกรีบูตและเปลี่ยนพระเอกใหม่ ทำให้การ์ฟิลด์มีเวลาว่างในการมาเล่นบทนำในหนังคุณภาพสองเรื่องติดอย่าง Hacksaw Ridge และ Silence (ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นทางเลือกที่ถูกต้องแล้ว)
5. Hidden Figures (กำหนดฉาย 23 กุมภาพันธ์)
กำกับ – ธีโอดอร์ เมลฟี แสดง – ทาราจิ พี. เฮนสัน, อ็อกทาเวีย สเปนเซอร์, จาเนลล์ โมเน
หนังเกี่ยวกับอะไร – สร้างจากเรื่องจริงในยุค 60s ซึ่งความเท่าเทียมทางเพศและสีผิวยังมีไม่มากนัก สามสาวแอฟริกัน-อเมริกันถูกคัดเลือกให้เข้าทำงานในตำแหน่งนักคณิตศาสตร์ในองค์กรอวกาศ NASA ความสามารถและความทุ่มเทของพวกเธอสามารถเอาชนะอคติจากเพื่อนร่วมงาน อีกทั้งยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โครงการส่งมนุษย์ขึ้นไปสู่วงโคจรอวกาศสำเร็จลุล่วงด้วยดี
ความโดดเด่น – ในปีนี้มีหนังที่เกี่ยวกับคนผิวสีหลายเรื่อง แต่เรื่องนี้ถือว่าประสบความสำเร็จทางรายได้และเข้าถึงผู้ชมวงกว้างมากที่สุด ด้วยเนื้อหาที่เข้าใจง่าย และสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้ชม โดยแสดงให้เห็นว่าความสำเร็จไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศ อายุ หรือสีผิว ซึ่งไม่แน่ว่าด้วยความเป็นมหาชนของตัวหนังอาจส่งผลต่อออสการ์ก็เป็นได้
สาขาที่น่าจะเข้าชิง – หนัง, ผู้กำกับ, บท, นักแสดงสมทบหญิงทั้งสอง (สเปนเซอร์, โมเน) และเพลงประกอบผลงานของ ฟาร์เรลล์ วิลเลียมส์
เกร็ดข้อมูล – หนังเป็นผลงานการอำนวยการสร้างของศิลปินเพลงชื่อดังอย่างฟาร์เรลล์ วิลเลียมส์ (เขายังแต่งเพลงประกอบให้หนังเรื่องนี้ 2 เพลง) การที่วิลเลียมส์ช่วยผลักดันหนังเรื่องนี้ เนื่องจากประทับใจในเนื้อหา และเขาเคยมีบ้านในตอนเด็กอยู่แถวสำนักงาน NASA ทำให้เขาสนใจเรื่องขององค์กรนี้มาตลอด
6. Jackie (กำหนดฉาย 19 มกราคม)
กำกับ – พาโบล ลาร์เรน แสดง – นาตาลี พอร์ตแมน, ปีเตอร์ ซาร์สการ์ด, บิลลี ครูดัพ
หนังเกี่ยวกับอะไร – หนังเล่าเรื่องราวของ แจ็กกี เคนเนดี สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง โดยตัดสลับกันระหว่าง 1. ตอนที่จอห์น เอฟ. เคนเนดี – สามีของเธอเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใหม่ๆ ซึ่งเธอต้องพยายามสร้างภาพเป็นผู้หญิงเพอร์เฟกต์ให้สื่อมวลชนเห็น กับ 2. ตอนที่สามีของเธอถูกลอบสังหาร แม้เธอจะกำลังสับสนและโศกเศร้า แต่เธอก็ต้องรวบรวมความเข้มแข็งเพื่อก้าวผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดไปให้ได้
ความโดดเด่น – แม้หนังจะสร้างมาจากเหตุการณ์จริงที่ทั่วโลกรู้จัก อีกทั้งยังได้นักแสดงชั้นนำมาร่วมงานคับคั่ง แต่ Jackie กลับมีความเป็นหนังทดลองอยู่สูง ด้วยความที่กล้องโคลสอัพไปที่ตัวละครแจ็กกีแทบจะตลอดเวลา ส่งผลให้หนังนอกจากจะเป็น ‘Natalie Portman Show’ แล้ว มันยังเป็นหนังสำรวจจิตวิทยาตัวละครแบบเข้มข้นในแบบที่หนังชีวประวัติเรื่องอื่นไม่ค่อยทำ
สาขาที่น่าจะเข้าชิง – สาขาที่ได้ชิงแน่นอนและอาจถึงขั้นชนะได้แก่ นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (พอร์ตแมน) นอกจากนั้นยังมีโอกาสในสาขาถ่ายภาพ และดนตรีประกอบยอดเยี่ยมอีกด้วย
เกร็ดข้อมูล – นี่เป็นหนังพูดอังกฤษเรื่องแรกของผู้กำกับชิลีชื่อก้อง โดยเขายื่นขอเสนอว่านักแสดงนำที่จะมารับบทแจ็กกีต้องเป็นพอร์ตแมนเท่านั้น ซึ่งถ้าเธอปฏิเสธ โครงการหนังเรื่องนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น
7. Arrival (กำหนดฉาย 12 มกราคม)
กำกับ – เดนิส วิลล์เนิฟ แสดง – เอมี อดัมส์, เจเรมี เรนเนอร์, ฟอเรสต์ วิเทเกอร์
หนังเกี่ยวกับอะไร – เมื่อยานของมนุษย์ต่างดาว 12 ลำ ได้ลงจอดตามเมืองต่างๆ ทั่วโลก ทางกองทัพได้แก้ปัญหาโดยการส่งศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไปหาทางสื่อสารเพื่อหาคำตอบว่าพวกมันต้องการอะไร แต่การสื่อสารดังกล่าวอาจไม่ยากเท่ากับการทำความเข้าใจกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง เมื่อประชาชนส่วนใหญ่เกิดความหวาดกลัว และประเทศมหาอำนาจคิดหาทางตอบโต้มนุษย์ต่างดาวด้วยกำลังอาวุธ
ความโดดเด่น – หนังไซไฟมักถูกมองเป็นลูกเมียน้อยบนเวทีรางวัล (10 ปีที่ผ่านมามีหนังไซไฟแค่ 2 เรื่องที่ได้เข้าชิงออสการ์หนังยอดเยี่ยมคือ District 9 เมื่อ 7 ปีก่อน กับ The Martian) แต่เรื่องนี้ถือว่ามีลุ้น เนื่องจากผู้กำกับได้นำหนังแนวมนุษย์ต่างดาวบุกโลกที่ถูกสร้างจนปรุมาถ่ายทอดผ่านวิสัยทัศน์ที่สดใหม่ เช่น การถ่ายทอดให้เป็นหนังที่เน้นปรัชญามากกว่าแอ็กชัน การที่ตัวเอกต้องใช้ความรู้ทางวิชาการเพื่อช่วยโลก เนื้อหาที่พูดถึงความหมายชีวิตและความพยายามสื่อสารระหว่างกัน ทำให้มันเป็นหนังที่ทำให้ผู้นิยมหนังบันเทิงหลายคนเบือนหน้าหนี แต่ก็สร้างความถูกใจต่อผู้ชมที่ต้องการหนังแนวกระตุ้นความคิดและทิ้งประเด็นให้คิดต่อ
สาขาที่น่าจะเข้าชิง – ที่มีสิทธิ์เข้าชิงแน่นอนคือ สาขานักแสดงนำหญิง (อดัมส์) และบทดัดแปลงยอดเยี่ยม ส่วนหนัง, ผู้กำกับยอดเยี่ยม และสาขาเทคนิคต่างๆ ถือว่ามีลุ้น
เกร็ดข้อมูล – ด้วยผลงานที่ผ่านมาอย่าง Incendies, Prisoners, Enemy, Sicario, Arrival รวมถึงที่จะฉายปีหน้าอย่างหนังภาคต่อเรื่อง Blade Runner 2049 ทำให้ เดนิส วิลล์เนิฟ เป็นผู้กำกับหนังรุ่นใหม่ที่มาแรงและไว้ใจได้เรื่องคุณภาพมากที่สุดคนหนึ่ง (มีนักวิจารณ์หลายคนมองว่า หากจะหาใครที่จะโค่น คริสโตเฟอร์ โนแลน ลงได้ คนนี้แหละมีแววที่สุด)
8. Fences (ยังไม่มีกำหนดฉายในไทย)
กำกับ – เดนเซล วอชิงตัน แสดง – เดนเซล วอชิงตัน, วิโอลา เดวิส, โจแวน อาเดโป
หนังเกี่ยวกับอะไร – เรื่องราวของครอบครัวผิวดำชนชั้นล่างในอเมริกายุค 50s ผู้เป็นพ่อเคยเป็นอดีตนักเบสบอลที่อนาคตสดใส แต่ปัจจุบันกลับต้องเก็บขยะเลี้ยงชีพ เขาปากกัดตีนถีบเลี้ยงครอบครัวอย่างหนัก จนกลายเป็นคนเครียด อารมณ์รุนแรง และไม่ยอมแสดงออกถึงความรักที่มีให้แก่ลูกชาย ยิ่งนับวันความขัดแย้งระหว่างพ่อลูกก็ยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ
ความโดดเด่น – หนังดัดแปลงจากบทละครเวทีรางวัลพูลิตเซอร์ของ ออกัสต์ วิลสัน ที่เขียนไว้ในปี 1983 (ซึ่งเจ้าตัวได้ดัดแปลงเป็นบทหนังเอาไว้ก่อนตายในปี 2005) ซึ่งมีแฟนๆ ชื่นชอบมากมาย ทำให้หนังถูกตั้งความหวังเอาไว้สูงลิ่ว โดยวอชิงตันผู้เคยรับบทนำในเวอร์ชันละครเวทีปี 2010 ได้เป็นผู้รับผิดชอบในการดัดแปลงเป็นหนัง แม้ทางด้านเทคนิคต่างๆ อาจสู้หนังของผู้กำกับคนอื่นไม่ได้ แต่ Fences ก็โดดเด่นด้วยการแสดงที่เข้มข้นถึงขีดสุด
สาขาที่น่าจะได้เข้าชิง – สาขาที่น่าจะได้รางวัลกลับบ้านแบบชัวร์ๆ คือนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (เดวิส) เนื่องจากกวาดมาแล้วแทบทุกเวที นอกจากนั้นสาขาหนัง, ผู้กำกับ, นำชาย (วอชิงตัน) และบทก็ไม่น่าพลาดการเข้าชิง
เกร็ดข้อมูล – ออกัสต์ วิลสัน ประกาศกร้าวไว้ก่อนตายว่า ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ต้องเป็นคนผิวสีเท่านั้น ทำให้หนังประสบปัญหาในการหาผู้กำกับมานาน จนเมื่อวอชิงตันยอมที่จะกำกับเอง หนังจึงได้สร้างในที่สุด
9. Hell or High Water (ฉายไปแล้วเมื่อ 18 สิงหาคม 2016)
กำกับ – เดวิด แม็กเคนซี แสดง – คริส ไพน์, เบน ฟอสเตอร์, เจฟฟ์ บริดเจส
หนังเกี่ยวกับอะไร – เมื่อธนาคารกำลังจะยึดฟาร์มในเท็กซัสซึ่งเป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายของพี่น้องคู่หนึ่งไป พวกเขาจึงตัดสินใจหาเงินด้วยการวางแผนปล้นธนาคารโดยเลือกธนาคารเล็กๆ ที่มีการป้องกันต่ำและขโมยเงินไปไม่มาก แต่แผนการที่ดูเหมือนง่ายกลับต้องสะดุด เมื่อสถานการณ์เริ่มเลวร้ายมากขึ้น มีคนบาดเจ็บและตาย แถมพวกเขายังถูกติดตามโดยนายตำรวจวัยใกล้เกษียณสุดเก๋า
ความโดดเด่น – เป็นหนังที่เอาตระกูลคาวบอย (ซึ่งถูกมองว่าเป็นแนวที่ตายไปแล้ว) มาดัดแปลงให้ออกมาร่วมสมัยได้อย่างน่าสนใจ โดยหนังสอดแทรกประเด็นเรื่องความล่มสลายทางเศรษฐกิจในอเมริกายุคปัจจุบันกับความฉ้อฉลของระบบเข้ากับความเป็นหนังคาวบอยแอ็กชันได้อย่างลงตัว นอกจากนั้นตัวละครยังมีทั้งความขาวกับดำทางศีลธรรมอยู่ในตัว จนคนดูเลือกเชียร์ไม่ถูกว่าจะเชียร์ตำรวจหรือโจรดี
สาขาที่น่าจะได้เข้าชิง – หนัง, ผู้กำกับ, บทดั้งเดิม, สมทบชายยอดเยี่ยม (บริดเจส และฟอสเตอร์)
เกร็ดข้อมูล – แม้หนังจะมีความเป็นเท็กซัสจ๋า และสะท้อนความเป็นอเมริกันได้ถึงแก่น แต่ที่จริงผู้กำกับแม็กเคนซีกลับเป็นชาวสกอตแลนด์ ผู้ซึ่งต้องมาศึกษาสังคมอเมริกันเอาตอนที่ทำหนังเรื่องนี้นี่เอง
10. Lion (กำหนดฉาย 5 มกราคม)
กำกับ – การ์ธ เดวิส แสดง – เดฟ พาเทล, รูนีย์ มารา, นิโคล คิดแมน
หนังเกี่ยวกับอะไร – สร้างจากเรื่องจริงของ ซารู เด็กชาวอินเดียวัย 5 ปีที่พลัดหลงจากครอบครัวจนกลายเป็นเด็กข้างถนนและถูกอุปการะโดยคู่สามีภรรยาจากออสเตรเลีย 20 ปีผ่านไป ซารูได้พยายามตามหาครอบครัวที่อินเดียด้วยตัวเอง โดยมีเบาะแสเพียงความทรงจำที่เลือนรางและเครื่องมือช่วยค้นหาอย่างกูเกิลเอิร์ท
ความโดดเด่น – หนังเป็นผลงานกำกับหนังยาวเรื่องแรกของเดวิส ซึ่งมาจากวงการโฆษณา น่าสนใจว่าเขาไม่ได้โชว์ความหวือหวาในเนื้อเรื่องหรือวิธีการนำเสนอเหมือนหนังของผู้กำกับหน้าใหม่คนอื่น ตรงข้าม Lion กลับเป็นหนังสูตรเรียกความประทับใจแบบง่ายๆ (จนเกือบจะเป็นละครหลังข่าว) แต่ก็ออกมาเป็นหนังสูตรที่คุณภาพดีมาก และไม่แน่ว่าหนังสูตรเรื่องนี้อาจเป็นม้าตีนปลายในภายหลัง
สาขาที่น่าจะได้เข้าชิง – สาขาที่ไม่น่าพลาดการเข้าชิงคือ นักแสดงสมทบชาย (พาเทล), สมทบหญิง (คิดแมน) ส่วนหนังยอดเยี่ยม, ผู้กำกับ, บทดัดแปลง, กำกับภาพ, ตัดต่อ, เพลงประกอบ (โดย Sia) ก็มีลุ้นเช่นกัน
เกร็ดข้อมูล – นักแสดงที่โดดเด่นจนแทบขโมยหนังไปทั้งเรื่องคือ ซันนี พาวาร์ ที่รับบทซารูวัยเด็กซึ่งรับบทนำเกือบครึ่งเรื่อง ไม่น่าเชื่อว่านี่จะเป็นหนังเรื่องแรกของเขา ซึ่งทีมแคสติ้งได้เจอหลังจากคัดเลือกนักแสดงเด็กในอินเดียมากกว่า 200 คน
Tags: Prisoners, Enemy, Lion, Manchester by the Sea, Moonlight, Jackie, HacksawRidge, Oscar, HiddenFigures, Oscar2017, Fences, LaLaLand, HellorHighWater, Arrival, Incendies