ในหนังสือ Living History – ฮิลลารีบันทึกถึงค่ำคืนวันเลือกตั้งที่ 4 พฤศจิกายน ปี 1992 ซึ่งในค่ำคืนนั้น สามีของเธอได้รับการเลือกตั้งให้เป็น ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่า

‘เวลา 22:47 น. โทรทัศน์ก็ประกาศว่าบิลชนะการเลือกตั้ง

‘ถึงแม้ว่าจะคาดหวังชัยชนะเอาไว้แล้ว แต่ฉันก็ยังตะลึงกับเรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากประธานาธิบดีบุชโทรศัพท์มายอมรับความพ่ายแพ้แล้ว บิลกับฉันได้เข้าไปในห้องนอนของเรา ปิดประตู แล้วสวดขอบคุณพระเจ้าที่ช่วยให้เขาได้รับเกียรติยศ และภาระหน้าที่อันน่าเกรงขามนี้

‘จากนั้นเรารวบรวมคนขึ้นรถไปยังอาคารรัฐสภาเก่าที่ซึ่งการหาเสียงได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 13 เดือนก่อน เราไปสมทบกับครอบครัวกอร์ที่ยืนอยู่ต่อหน้าฝูงชนชาวอาร์คันซอที่ดีใจกันอย่างล้นหลาม รวมทั้งบรรดาผู้สนับสนุนที่ตื่นเต้นคึกคักจากทั่วทุกมุมในอเมริกา ภายในไม่กี่ชั่วโมง โต๊ะในครัวจวนผู้ว่าฯ ก็กลายเป็นศูนย์กลางการสั่งงานกระบวนการถ่ายโอนอำนาจมาให้คลินตัน’

ผ่านมา 24 ปี – ผู้หญิงคนหนึ่งที่จดบันทึกเรื่องราวของสามีที่ได้กลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 42 ได้เขียนบันทึกของตัวเองใหม่ว่า อย่างน้อยที่สุด เธอได้ก้าวขึ้นมาท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45 และเป็นผู้ท้าชิงฯ ผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐฯ และเป็นผู้หญิงเพียงคนเดียวที่ก้าวขึ้นมาเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตในเวลานี้

และต่อจากนี้คือเรื่องราวบางส่วนของเธอตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมาบนเวทีการเมือง ซึ่งสกัดจากหนังสือของฮิลลารีสองเล่มคือ Living History และ Hard Choices

Photo: Jim Young, Reuters/profile

สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งที่เป็น ‘หุ้นส่วนทางการเมือง’

ในปี 1991 เมื่อบิลตัดสินใจลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งมีคู่แข่งคนสำคัญคือ รองประธานาธิบดีบุช (ผู้พ่อ) โดยปกติคณะทำงานของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจะต้องทำหน้าที่ควบคุม กำหนดการ และออกแบบสารทางการเมืองของภริยาผู้สมัคร แต่กรณีของฮิลลารีต่างไปจากนั้น

“ฉันเริ่มรวบรวมคณะทำงานของตัวเองทันทีที่บิลประกาศลงสมัครชิงตำแหน่ง สิ่งที่ฉันทำขัดกับแนวทางปฏิบัติโดยทั่วไป”

ซึ่งบิลก็เปิดโอกาสนั้น และไม่ได้บังคับให้เธอต้องฟังทีมหาเสียงของเขาอย่าง เคร่งครัดแต่อย่างใด

ในเวลานั้นฮิลลารีถูกโจมตีเรื่องการประกอบอาชีพทนาย รวมถึงการก่อตั้งสำนักงานกฎหมายโรส ซึ่งเธอเข้าไปเป็นหุ้นส่วนตั้งแต่ปี 1979 เธอถูกมองว่าอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับรัฐอาร์คันซอ ซึ่งบิลเป็นผู้ว่าการรัฐอยู่ นัยยะสำคัญของการโจมตีเช่นนี้ ก็คือการสื่อสารว่า ‘โลกของผู้หญิงอยู่ที่ครัวเรือน ไม่ใช่โลกการทำงานนอกบ้าน!’

คำตอบต่อไปนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นหุ้นส่วนทางการเมืองของฮิลลารีที่ไม่ยอมจำนนอยู่ในครัวเรือนได้ดี

“คุณรู้ไหมว่าฉันอยากให้ตัวเองสามารถอยู่บ้าน อบคุกกี้ และชงชาได้จริงๆ แต่สิ่งที่ฉันตัดสินใจทำคือปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองให้สมบูรณ์ ซึ่งฉันทำมาก่อนที่สามีฉันจะเป็นคนของประชาชนเสียอีก”

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ทำให้เธอได้รับการโจมตีจากฝ่ายรีพับลิกันว่าเป็นพวก ‘เฟมินิสต์หัวรุนแรง’ ‘ทนายนักรบเฟมินิสต์’ หรือกระทั่ง ‘ผู้นำด้านอุดมการณ์ของรัฐบาลคลินตัน ที่จะคอยผลักดันวาระการประชุมเกี่ยวกับเฟมินิสต์หัวรุนแรง’

ภาพลักษณ์ที่อเมริกันชนมองมายังฮิลลารีในช่วงเวลาที่บิลเป็นประธานาธิบดี คือ

“ไม่เหมือนสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง แต่เหมือนเป็น co-president หรือประธานาธิบดีร่วมเสียมากกว่า”

ฮิลลารีเขียนถึงเรื่องนี้ไว้ว่า แต่เดิมภาพลักษณ์ของสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง มักถูกจดจำในเชิงสัญลักษณ์ หรือในฐานะตัวแทนความเป็นผู้หญิงอเมริกันในอุดมคติเสียมากกว่า แต่บทบาทสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งในยุคของเธอต่างไปจากนั้น

“หลังจากแต่งงานกันมา… เราเป็นเชียร์ลีดเดอร์ที่ดีที่สุด เป็นนักวิจารณ์ที่รุนแรงที่สุด และเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของกันและกัน” และ “เราทำงานด้วยกันมานานกระทั่งบิลรู้ว่าไว้ใจฉันได้ เราเข้าใจกันดีว่า ฉันจะอุทิศตัวให้กับการบริหารประเทศ”

เมื่อบิลขึ้นเป็นผู้ว่าการรัฐอาร์คันซอ เขาแต่งตั้งเธอเป็น ‘ประธานคณะกรรมการบริหารด้านสุขภาพในชนบทและการศึกษาสาธารณะ’ และเมื่อบิลขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขาได้แต่งตั้งเธอเป็น ‘ประธานคณะทำงานเพื่อการปฏิรูปการประกันสุขภาพแห่งชาติของประธานาธิบดี’ ซึ่งเป็นภาพที่ไม่คุ้นตาและยังกลายเป็นประเด็นร้อนแรงทั้งในและนอกทำเนียบขาว เพราะตำแหน่งดังกล่าวมีความสำคัญเป็นอย่างมากในฐานะหนึ่งในเสาหลักทางนโยบาย เศรษฐกิจในยุคบิลที่มุ่งจะหั่นค่าใช้จ่ายสุขภาพที่สูงเสียดฟ้าในเวลานั้น ส่งผลให้การผลักดันนโยบายประกันสุขภาพของฮิลลารีล้มเหลว แต่ก็มาสำเร็จให้หลังในสองทศวรรษต่อมาในยุคประธานาธิบดีโอบามา

นอกจากนั้นเธอยังเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งคนแรกในประวัติศาสตร์ที่มีห้องทำงานในส่วนปีกตะวันตกของทำเนียบขาวด้วย โดยปกติบรรดาทีมงานของสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งมักจะทำงานอยู่บริเวณปีกตะวันออกมากกว่าปีกตะวันตก เพราะปีกตะวันตกเป็นที่ตั้งของฝั่งประธานาธิบดี เป็นที่ตั้งห้องทำงานรูปไข่ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี และห้องสรุปสถานการณ์ ฮิลลารีผลักดันเรื่องที่ตั้งของห้องทำงานด้วยตัวเอง เพราะเห็นว่าทีมงานของเธอก็ควรเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทีมปีกตะวันตก โดยทีมงานของเธอมีมากกว่า 20 ชีวิต หรือรู้จักกันในนาม ‘Hillaryland’ ซึ่งได้รับการพูดถึงจากสื่อมวลชนในเวลานั้นด้วยว่า ‘มีอิทธิพลเป็นอย่างมาก’

สู่บทบาท ‘วุฒิสมาชิก’ – ในปี 2000 เธอได้รับเลือกตั้งจากประชาชนในรัฐนิวยอร์กให้ดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิก “ขณะที่ผลการเลือกตั้งเริ่มทยอยเข้ามาในตอนเย็น เห็นได้ชัดว่าฉันกำลังจะชนะด้วยสัดส่วนที่มากกว่าที่คิดไว้มาก ฉันจึงจัดแจงแต่งตัวที่ห้องของฉันในโรงแรมตอนที่เชลซีพรวดพราดเข้ามา เพื่อบอกข่าวว่าผลการนับคะแนนครั้งสุดท้ายก็คือ 55% ต่อ 43% ในที่สุดการทำงานหนักก็ได้รางวัลตอบแทนแล้ว และฉันก็ต้องขอบคุณที่ได้รับโอกาสให้เป็นตัวแทนของนิวยอร์กและได้รับใช้ประเทศในบทบาทใหม่”

ในค่ำคืนแห่งชัยชนะ เธอกล่าวสุนทรพจน์ต่อคนนิวยอร์กว่า “62 เขต, 16 เดือน, 3 อภิปราย, 2 คู่ชก และ 6 สูทดำในตอนหลัง เป็นเพราะพวกคุณ เราถึงได้มาอยู่ที่นี่” เธอยังย้ำถึงบทบาทก่อนหน้าด้วยว่า 8 ปีที่มีสถานภาพทางสังคม แต่ไม่มีตำแหน่ง ตอนนี้ “ฉันก็เป็นวุฒิสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง” ในตำแหน่งได้ใจคนนิวยอร์กอย่างมากจากความพยายามในการผลักดันงบประมาณ เพื่อฟื้นชีวิตนิวยอร์กหลังเหตุการณ์ 9/11W”

Photo: Robert Galbraith, Reuters/profile

พ่ายแพ้ในปี 2008

ในปี 2008 เมื่อฮิลลารีพ่ายแพ้ต่อวุฒิสมาชิกโอบามาในการเลือกตั้งขั้นต้นพรรคเดโมแครต เธอได้กล่าวสุนทรพจน์โดยเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนของเธอหันมาสนับสนุนโอบามา พร้อมย้ำถึงความพยายามในการทำลายอุปสรรคของผู้หญิงที่ทำให้ไม่สามารถก้าวไปสู่ตำแหน่งสูงสุดในทางการเมืองได้

“วันนี้ฉันขอประกาศถอนตัวจากการหาเสียง เพื่อเป็นตัวแทนพรรคชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ฉันขอแสดงความยินดีกับโอบามาสำหรับชัยชนะและการหาเสียงอันวิเศษของเขา ฉันขอประกาศรับรองโอบามา และขอประกาศว่าจะให้การสนับสนุนเขาทุกวิถีทาง ฉันขอเรียกร้องให้พวกคุณร่วมกับฉันช่วยกันหาเสียงให้โอบามา เหมือนที่พวกคุณได้ช่วยกันหาเสียงให้ฉันมาโดยตลอด

“…ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถทำลายเพดานกระจกที่สูงที่สุด ที่ยากที่สุด ในทางการเมืองได้ในเวลานี้ ขอบคุณทุกคน อย่างน้อยที่สุดเราก็ได้เห็นรอยร้าวของกระจกถึง 18 ล้านรอยร้าวแล้ว (18 ล้านเสียง คือคะแนนเสียงที่เธอได้รับในการเลือกตั้งขั้นต้นปี 2008) และก็เริ่มมีแสงส่องผ่านมาอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สิ่งเหล่านี้ช่วยเติมเต็มความหวังและความมั่นใจให้กับพวกเราว่า เส้นทางนี้จะง่ายขึ้นในครั้งต่อไป”
ความสัมพันธ์ระหว่างโอบามาและฮิลลารีเปลี่ยนสถานะจากคู่แข่งในทางการเมือง ก้าวไปสู่การเป็นอีกหนึ่งหุ้นส่วนทางการเมืองที่เข้มแข็งต่อกันนับแต่นั้น

หลังจากประกาศถอนตัวจากศึกชิงตัวแทนพรรคเพื่อลงแข่งในตำแหน่ง ประธานาธิบดีในปี 2008 ฮิลลารีวางแผนจะกลับไปเป็นวุฒิสมาชิกรัฐนิวยอร์ก แต่ก็ตัดสินใจตอบรับคำเชิญของอดีตคู่แข่งอย่างโอบามา ที่ส่งเทียบเชิญให้เธอดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศคนที่ 67 ของสหรัฐฯ โอบามาโน้มน้าวฮิลลารีว่า

“ยินดีจะมาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศหรือไม่ พร้อมกับบอกว่าได้คิดเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว และคิดว่าดิฉันเป็นคนที่เหมาะสมที่สุด หนำซ้ำยังพูดเหมือนกับว่า ดิฉันเป็นเพียงคนเดียวที่สามารถรับบทบาทนี้ในตอนนี้ ยามที่อเมริกาต้องเผชิญกับการท้าทายสารพัดรูปแบบทั้งภายในและภายนอกประเทศ”

ในบทบาท ‘รัฐมนตรีต่างประเทศ’ ฮิลลารีเดินทางเยือนกว่า 112 ประเทศ คิดเป็นระยะทางเกือบ 1 ล้านไมล์ และมีบทบาทอย่างสำคัญในการกำหนดวิสัยทัศน์ของสหรัฐฯ ตั้งแต่การเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการเมือง และความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปฏิวัติพลังงาน สิทธิมนุษยชน การมีส่วนร่วมในสังคมของผู้หญิง เด็กผู้หญิง และกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

หลังการดำรงตำแหน่งสมัยแรก โอบามาได้ร้องขอให้ฮิลลารีรับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศในสมัยที่สอง แต่เธอตัดสินใจปฏิเสธ เพราะตั้งใจรับตำแหน่งเพียงสมัยเดียวเท่านั้น

หรืออีกนัยหนึ่ง 4 ปีต่อมานั่นเองที่ได้กลายเป็นช่วงเวลาให้เธอเตรียมการเพื่อพิชิตตำแหน่งที่ยากและสูงที่สุดในทางการเมือง

Photo: Carlos Barria, Reuters/profile

ชวดตำแหน่งประธานาธิบดีปี 2016 เมื่อ A Glass Ceiling แกร่งเกินกว่าที่จะทำลาย

“I’m running for president. Everyday Americans need a champion, and I want to be that champion.”

นั่นคือถ้อยคำของฮิลลารี คลินตัน ที่ใช้ประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 เมษายน ปี 2015 ว่า เธอพร้อมแล้วสำหรับการเดินหน้าสู่การเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2016 หลังพลาดท่าในการลงชิงตำแหน่งนี้เมื่อปี 2008

ในเช้าวันนั้น รศ. ดร.โสรัจจ์ หงส์ลดารมภ์ จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายต่อว่า ‘Champion’ ในประโยคของฮิลลารี ไม่ได้แปลว่า ‘แชมเปี้ยน’ แบบแชมป์มวย แต่แปลว่า คนที่จะออกนำหน้าเพื่อต่อสู้แทนผู้อื่น เพราะสมัยก่อนเวลาสองฝ่ายจะรบกัน บางทีเขาก็ตกลงกันที่จะให้ ‘ทหารเอก’ ของแต่ละฝ่ายออกมาสู้กันตัวต่อตัว แทนที่จะให้กองทหารทั้งสองฝ่ายออกมาสู้กัน ซึ่งเราเรียก ‘ทหารเอก’ ที่ออกมาต่อสู้กันนี้ว่า ‘Champion’

โดยสรุป คำประกาศของเธอจึงเป็นการย้ำว่า ‘เธอขออาสาจะออกมาต่อสู้เพื่อชาวอเมริกันทั้งประเทศ’

หลังการประกาศลงสมัครเลือกตั้งของฮิลลารี – คุณปลื้ม (หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล) ผู้ดำเนินรายการชื่อดัง ซึ่งติดตามการเมืองในสหรัฐฯ มาอย่างต่อเนื่องมากที่สุดคนหนึ่งของไทย คือหนึ่งในผู้ที่ประกาศอย่างชัดเจน หลังชัยชนะของ บารัก โอบามา ในปี 2008 ว่า “การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2016 ที่จะมาถึง ไม่มีใครแล้วที่จะขวาง ฮิลลารี คลินตัน ได้”

ในปี 2015 หรือผ่านมาแล้ว 7 ปี เขายังคงยืนยันหนักแน่นเช่นเดิมว่า ไม่มีใครแล้วที่จะขวาง ฮิลลารี คลินตัน ได้ ยกเว้นว่าเธอจะเดินสะดุดขาตัวเอง หรือเกิดอุบัติเหตุในทางการเมือง และคุณปลื้มยังย้ำว่า “สมมติ ฮิลลารี คลินตัน ชนะการเลือกตั้งในปี 2016 สำหรับผมแล้ว ชัยชนะที่เกิดขึ้นไม่ใช่การได้เห็นผู้หญิงคนหนึ่งก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐฯ แต่คือการได้เห็นคนคนหนึ่ง ซึ่งทำงานต่อหน้าสาธารณะอย่างหนักและยาวนานได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี”  

ในงานเปิดตัวแคมเปญหาเสียงสำหรับลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2016 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2015 ทีมหาเสียงตัดสินใจจัดงานขึ้นที่สวนสาธารณะ Roosevelt Gardens ในงานดังกล่าว ฮิลลารีเริ่มต้นบทสุนทรพจน์ด้วยการเชื่อมวลี ‘เพดานกระจก’ ที่เธอได้กล่าวทิ้งไว้เมื่อ 8 ปีก่อน ในสุนทรพจน์ประกาศความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งขั้นต้น ด้วยการบอกว่า

“และสำหรับสถานที่ที่เรามาพบกันในวันนี้ …แน่นอนว่า มันไม่มีเพดานใดกั้นขวางเราอยู่”

เธอยังย้ำในช่วงท้ายของสุนทรพจน์ด้วยว่า “ฉันอาจจะไม่ได้เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่อายุน้อยที่สุดในการ แข่งขันปีนี้ แต่ฉันจะเป็นประธานาธิบดีที่เป็นผู้หญิงที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ การเมืองอเมริกา รวมถึงเป็นประธานาธิบดีที่เป็นคุณย่าแล้วคนแรกด้วย”

เธอยังย้ำด้วยว่า “นี่คือประเทศของเรา ประเทศที่ซึ่งผู้เป็นพ่อสามารถบอกกับลูกสาวของเขาได้ว่า ใช่แล้ว คุณสามารถเป็นทุกอย่างที่คุณอยากจะเป็นได้ แม้กระทั่งตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ”

ในที่ประชุมใหญ่ของพรรคเดโมแครต หลังได้รับทราบผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 กรกฎาคม 2016 ว่า ฮิลลารีได้เป็นตัวแทนของพรรคชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เธอส่งคลิปถ่ายทอดสดจากนิวยอร์กมาในที่ประชุมพรรค เพื่อแสดงการตอบรับเป็นตัวแทนพรรคอย่างไม่เป็นทางการ คลิปดังกล่าวไล่เรียงภาพถ่ายประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ชาย 44 คนก่อนหน้า ก่อนจบด้วยเสียงกระจกแตก และตัดภาพกลับมาเป็นการปรากฏกายของฮิลลารีในชุดสีแดงเพลิง และเธอได้กล่าวสุนทรพจน์ในค่ำคืนประวัติศาสตร์ว่า

“ฉันไม่อยากจะเชื่อจริงๆ ว่า เราได้ทำลายเพดานกระจกที่สูงที่สุดในทางการเมืองเรียบร้อยแล้ว ขอบคุณทุกคนที่ทำให้เรื่องยากที่สุดกลายเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ มันคือชัยชนะของพวกคุณ และค่ำคืนนี้ก็เป็นของพวกคุณ และถ้ามีเด็กผู้หญิงคนไหนที่กำลังชมคลิปนี้อยู่ ขอให้ฉันพูดอะไรสักนิด

“ฉันอาจจะได้เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐฯ แต่หนึ่งในพวกคุณคือประธานาธิบดีคนถัดไป”

แต่ดูเหมือนว่า หลังการประกาศผลการเลือกตั้งในค่ำคืนวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ฮิลลารีจะไม่สามารถทำลาย ‘A Glass Ceiling’ หรือเพดานกระจกบานสุดท้ายลงได้

ตอนจบและก้าวต่อไปของนักสู้ชื่อ ฮิลลารี คลินตัน

การเลือกตั้งปี 2016 ไม่ใช่การเลือกตั้งของความหวังแบบ 8 ปีที่แล้ว แต่เป็นการเลือกตั้งระหว่างปีศาจทางการเมือง 2 คน

สำหรับผู้แพ้ในค่ำคืนนี้ถูกมองมาตลอด 4 ทศวรรษในทางการเมืองว่า เจ้าเล่ห์ ไม่ซื่อสัตย์ มีคดีที่เกี่ยวข้องทั้งที่ผ่านมาแล้ว และรอการสะสางในอนาคตอยู่ไม่น้อย ตั้งแต่กรณี โมนิกา ลูวินสกี, กรณีเบงกาซี, กรณีอีเมลส่วนตัวระหว่างเป็นรัฐมนตรี, กรณีมูลนิธิส่วนตัวกับเงินบริจาค มาจนถึงกรณีความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับกลุ่มทุนวอลล์สตรีท

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นคนฝั่งเดียวกันอย่างโอบามา หรือมิเชล ไปจนถึงคนฝั่งตรงข้ามอย่างทรัมป์ ทุกคนเห็นตรงกันว่า คุณสมบัติที่ดีของฮิลลารีในการเผชิญกับกระแสต่างๆ ทั้งบวกและลบตลอดมาในเวทีการเมืองคือ เธอไม่เคยยอมแพ้
หรือ “Hillary Clinton has never quit on anything in her life” เหมือนกับที่โดนัลด์ ทรัมป์ ยอมรับฮิลลารีในสนามการต่อสู้สู่ทำเนียบขาวครั้งนี้ว่า ฮิลลารีเป็นคนที่ไม่เคยยอมแพ้

“เธอเป็นผู้หญิงที่ไม่เคยล้มเลิก และไม่ยอมแพ้ ซึ่งผมเคารพเธอตรงนี้ ผมพูดจากสิ่งที่เห็น ซึ่งเธอคือนักสู้ ผมไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เธอตัดสินใจหลายอย่าง รวมถึงกลยุทธ์และนโยบายต่างๆ แต่เธอก็สู้ไม่ถอย และไม่เคยยอมแพ้ และผมว่านี่คือคุณสมบัติที่ดีมาก”

นี่คือคำพูดของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในการดีเบตครั้งที่ 2 ก่อนที่อีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา เขาจะคว้าตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45 ไปครอง ส่วนฮิลลารี ผู้ท้าชิงที่ได้รับการคาดหมายว่าเป็นตัวเต็ง กลับชวดตำแหน่งนี้ไปอย่างน่าเสียดาย

4 ทศวรรษที่ผ่านไป ฮิลลารีไม่เคยเดินไปจากแวดวงการเมือง แม้ว่าเธอจะผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย… ผลการเลือกตั้งในค่ำคืนนี้ก็เช่นกัน ก็คงไม่ทำให้เธอต้องหยุดเดินต่อไปในเส้นทางที่เลือกเดินนับจากเรียนจบจากโรงเรียนกฎหมายฮาร์วาร์ด

สุดท้ายหลังจบแคมเปญเลือกตั้งครั้งนี้ ฮิลลารีคงจะกลับไปทำงานเพื่อเด็ก และผู้หญิงในประเด็นการศึกษาและสาธารณสุขที่มูลนิธิคลินตันต่อไป