โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนที่ 45 เข้าพบบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก ที่ห้องทำงานรูปไข่ ทำเนียบขาว ตามคำเชิญของโอบามาระหว่างที่เขาสองคนได้พูดคุยกันทางโทรศัพท์เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (9 พฤศจิกายน 2559) หลังจากโอบามารู้ว่าทรัมป์ได้รับชัยชนะ เพื่อปรึกษาหารือกันเรื่องการถ่ายโอนอำนาจบริหาร ตามแผนกำหนดการ เขาทั้งสองคนจะใช้เวลาพูดคุยกันเพียง 10-15 นาที แต่สุดท้ายทั้งสองคนใช้เวลาพูดคุยกันถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่ง

Photo: Kevin Lamarque, Reuters/profile

การถ่ายโอนอำนาจบริหารคือสิ่งที่โอบามาให้ความสำคัญที่สุด

แม้ก่อนหน้านี้ทั้งสองคนจะโต้คารมกันอย่างดุเดือด แต่หลังจากพูดคุยกันกว่าหนึ่งชั่วโมงครึ่ง โอบามาได้เปิดเผยต่อสื่อว่าการถ่ายโอนอำนาจบริหารตามธรรมเนียมประชาธิปไตยของสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่เขาให้ความสำคัญมากที่สุด อย่างที่เขาเคยได้รับจากอดีตประธานาธิบดี จอร์จ บุช สิ่งนี้สะท้อนความต้องการของโอบามาที่ไม่ต้องการสร้างความเกลียดชังต่อทรัมป์ ในช่วงโค้งสุดท้ายระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งทำให้บรรยากาศทางการเมืองก่อนหน้านี้ที่ดุเดือดดูจะเย็นลงไป “อย่างที่ผมบอกเมื่อคืนว่า สิ่งที่ผมให้ความสำคัญมากที่สุดคือการถ่ายโอนอำนาจให้กับประธานาธิบดีคนใหม่ที่ได้รับเลือก และตอนนี้ผมรู้สึกมีกำลังใจขึ้น หลังจากทรัมป์แสดงความสนใจที่จะทำงานร่วมกับทีมของผมในหลายๆ เรื่องที่ประเทศของเราต้องสะสาง และผมเชื่อว่าสิ่งนี้สำคัญกับทุกคน ไม่เกี่ยวกับพรรค ไม่เกี่ยวกับแนวคิดทางการเมือง ตอนนี้เราต้องเดินไปด้วยกัน เพื่อทำงานร่วมกัน”

ความสำเร็จของทรัมป์คือความสำเร็จของประเทศ

ในการพูดคุยทั้งสองคนได้ปรึกษาหารือกันเรื่องนโยบายในประเทศและต่างประเทศหลังจากนี้ ซึ่งโอบามายินดีที่จะช่วยทรัมป์ เมื่อเขาเข้ามารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2560 “ผมต้องการย้ำกับทรัมป์ในฐานะที่คุณได้รับเลือกเข้ามาดำรงตำแหน่งว่า เราพร้อมจะช่วยเหลือคุณทุกอย่างเพื่อให้คุณสำเร็จตามเป้าหมาย เพราะนั่นหมายถึงความสำเร็จของประเทศเราเช่นกัน”

ขณะที่ทรัมป์เองก็เปิดเผยว่าเขาจะขอคำปรึกษาจากโอบามาเช่นกัน “เป็นเกียรติสำหรับผมอย่างยิ่งที่ได้มาพูดคุยกับประธานาธิบดี เราได้พูดคุยกันถึงหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยม บางเรื่องก็ยังมีอุปสรรค”

ทั้งโอบามาและทรัมป์ต้องการให้ประเทศเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

โอบามาเปิดเผยว่าทรัมป์ได้บอกกับเขาทางโทรศัพท์ว่าพวกเราคืออันหนึ่งอันเดียวกัน “ทรัมป์บอกกับผมว่า ตอนนี้คนที่แพ้จะรู้สึกเสียใจต่อผลการเลือกตั้ง แต่วันพรุ่งนี้เราจะจำได้ว่า จริงๆ แล้วเราคือทีมเดียวกันที่ออกมาปะทะคารมกันเท่านั้น เราไม่ใช่พวกเดโมแครต หรือพวกรีพับลิกัน เราคือคนรักชาติด้วยกันทั้งหมด เราต่างต้องการสิ่งที่ดีที่สุดให้กับประเทศนี้ นี่คือสิ่งที่ผมได้ยินจากทรัมป์ในสุนทรพจน์ของเขา และจากที่เขาพูดกับผมโดยตรง ซึ่งทำให้ผมรู้สึกมีกำลังใจ”

พร้อมทั้งขอโอกาสให้กับทรัมป์ เพื่อให้ประชาธิปไตยของประเทศเดินหน้าต่อไปได้

“ประเทศเราต้องการความเป็นหนึ่งอันเดียวกัน การอยู่ร่วมกัน ความเคารพต่อสถาบันการเมืองต่างๆ นี่คือวิถีของเรา การเคารพหลักนิติธรรม เคารพซึ่งกันและกัน ผมหวังว่าการขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของทรัมป์จะได้รับโอกาส”

การพบปะกันบนความบาดหมาง?

ภาพนาทีประวัติศาสตร์ที่บันทึกการจับมือของทั้งสองคนที่ปรากฏบนสื่อทั่วโลก เป็นภาพที่ดูแล้วสบายๆ ขัดกับการปะทะคารมกันอย่างดุเดือดของทั้งคู่ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง ที่โอบามาโจมตีนโยบายของทรัมป์มาตลอดว่าคือ ‘หายนะ’ ขณะที่ทรัมป์เองก็โจมตีโอบามามาโดยตลอดว่า เขาไม่ได้มีชาติกำเนิดเป็นชาวอเมริกัน และเป็นผู้ให้การสนับสนุนกลุ่มไอเอสในซีเรีย

อย่างไรก็ตามสื่อตะวันตกอย่าง Financial Times พาดหัวข่าวว่าการพบปะกันของสองคนนี้ ‘ราบรื่น’ แต่ก็ ‘กระอักกระอ่วน’ ขณะที่ The Guardian บอกว่า การเจอกันของทั้งสองคนดูแล้ว ‘อะลุ่มอล่วย’ แต่ก็ ‘เย็นชา’ หรืออย่าง The Times ที่มองว่าเป็นการพบกันที่สุภาพ ‘คำพูด’ ของทั้งสองคนเป็นไปในทางบวก แต่ ‘ภาษากาย’ ของทั้งสองคนไม่ได้เป็นไปเช่นนั้น

ด้าน มิเชล โอบามา สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง และเมลานี ทรัมป์ ว่าที่สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งได้พบกันที่ทำเนียบขาวเช่นกัน และนี่คือครั้งแรกของเมลานีในการเดินทางมายังทำเนียบขาว ขณะที่ทรัมป์ สามีของเธอนั้นเคยมายังทำเนียบขาวแล้วเมื่อปี 1987 เพื่อมาร่วมงานของมูลนิธิ Foundation for Art and Preservation in Embassies และในปี 1985 กับ ไอวานา ทรัมป์ ภรรยาคนแรกของเขา เพื่อร่วมรับประทานมื้อเย็นกับกษัตริย์ฟาฮัดของซาอุดีอาระเบีย

หลังจากทั้งสองคนให้สัมภาษณ์กับสื่อเสร็จแล้ว กองทัพผู้สื่อข่าวได้ยิงคำถามใส่ทั้งสองคน แต่โอบามาบอกกับสื่อว่าเขาจะไม่ตอบคำถามอะไรอีก และบอกให้สื่อกลับไปได้แล้ว พร้อมทั้งหันไปบอกทรัมป์ด้วยอารมณ์ขันว่า นี่คือสิ่งที่ทรัมป์ต้องเจอเมื่อเขาเข้ามาเป็นประธานาธิบดี

ด้านทรัมป์ได้ตอบกลับไปว่า “นี่คือคำแนะนำสุดท้ายจากคุณสินะ…”

หรือนี่จะเป็นการถ่ายโอนอำนาจที่ราบรื่นจริงๆ?