ปี 2016 ที่กำลังจะจบลง หลังโลกมีการเลือกตั้งที่สำคัญ คือการลงประชามติของประเทศอังกฤษว่าจะอยู่หรือออกจากสหภาพยุโรป และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ผลการเลือกตั้งนั้นสร้างความแปลกใจให้กับคนส่วนใหญ่ และนับว่าอาจเป็นจุดเปลี่ยนแปลงการเมืองโลกในปี 2017

ในปีที่กำลังจะมาถึงนี้ เรามีอีก 9 การเลือกตั้งที่โลกต้องจับตามอง ซึ่งจะกำหนดทิศทางการเมืองโลกในอนาคตเช่นกัน

Marine Le Pen, France’s National Front political party leader,
kisses Netherland’s Greet Wilders, president of Party for Freedom

เราเห็น Brexit แล้ว เราจะเห็น Nexit ด้วยหรือไม่

เริ่มกันที่ต้นปี 2017 เนเธอร์แลนด์จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 15 มีนาคม 2015 พรรค Party for Freedom พรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดของเนเธอร์แลนด์ได้ประกาศว่า จะนำเนเธอร์แลนด์ออกจากสหภาพยุโรป และขณะนี้พรรคมีคะแนนนำพรรคของ มาร์ก รุตเทอ (Mark Rutte) ประธานาธิบดีของเนเธอร์แลนด์ในโพลสำรวจ ซึ่งพรรค Party for Freedom ถูกมองว่า ได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ กีรต์ ไวลเดอร์ส (Geert Wilders) นักการเมืองของพรรค Party for Freedom ถูกพิพากษาว่ามีความผิดจากการที่เขาเคยพูดว่า อยากเห็นจำนวนของผู้อพยพโมร็อกโกน้อยลงในประเทศ เขาจึงได้หาเสียงด้วยการบอกว่า เขาเป็นตัวแทนของเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็น และต้องการมาสู้กับฝั่งเสรีนิยม

ในการเมืองเนเธอร์แลนด์ ไวลเดอร์สมีจุดยืนต่อต้านชาวมุสลิม อย่างการห้ามให้มีมัสยิด หรือเรียกร้องให้คัมภีร์อัลกุรอานผิดกฎหมาย รวมถึงต่อต้านการรับผู้อพยพ อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนี้จะยังเป็นการเลือกตั้งที่สูสี เพราะมีความเป็นไปได้ว่าพรรคการเมืองอื่นของเนเธอร์แลนด์จะตั้งรัฐบาลผสม เพื่อกีดกันพรรคของไวลเดอร์ส
การเลือกตั้งทั่วไปของเนเธอร์แลนด์ในปี 2017 จึงเป็นอีกความท้าทายของสหภาพยุโรป

Hong Kong’s Financial Secretary John Tsang

การเลือกตั้งผู้ว่าฮ่องกงที่จะชี้ความสัมพันธ์ระหว่างฮ่องกงกับจีน

ฮ่องกงจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าการเกาะฮ่องกงในวันที่ 26 มีนาคม 2017 ตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างฮ่องกงกับจีนอยู่ภายใต้แนวคิด ‘One Country, Two Systems’ หรือการที่จีนยอมรับอำนาจเขตปกครองพิเศษของเกาะฮ่องกง แต่ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนกับฮ่องกงตั้งแต่การปฏิวัติร่มในปี 2014 ทำให้อำนาจของฮ่องกงเริ่มสั่นคลอน เพราะจีนประกาศว่า จีนจะให้คณะการเลือกตั้งจำนวน 1,200 คน ที่ถูกแต่งตั้งโดยจีนเป็นผู้เลือกผู้ว่าการฮ่องกงเอง การตัดสินใจครั้งนี้ไม่เพียงสร้างความตึงเครียดระหว่างฮ่องกงกับจีน แต่ยังทำให้ความคิดทางการเมืองในฮ่องกงเองแบ่งแยกออกเป็น 2 ฝ่าย

การเลือกตั้งผู้ว่าการฮ่องกงในปีหน้า เราจึงจะเห็น เรจินา ยิป (Ragina Ip) ผู้นำพรรค New People’s Party ที่มีแนวคิดสนับสนุนจีนแผ่นดินใหญ่ ลงสมัครแข่งกับ จอห์น จาง (John Tsang) ผู้สนับสนุนการประท้วงในฮ่องกง ที่ขณะนี้มีคะแนนความนิยม 28% นำ เรจินา ยิป ที่มีคะแนนความนิยมเพียง 8% แต่มีความเป็นไปได้ว่าจีนแผ่นดินใหญ่จะกันไม่ให้ จอห์น จาง ลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าการฮ่องกง หลังจากแนวคิดให้ฮ่องกงเป็นเอกราชจากจีน สร้างความกังวลให้กับจีนแผ่นดินใหญ่อย่างมาก

และถ้าหากจีนกันไม่ให้ จอห์น จาง ลงสมัครตำแหน่งผู้ว่าฮ่องกงสำเร็จ หรือเข้ามามีบทบาทกับการเลือกตั้งผู้ว่าฮ่องกงมากขึ้น สิ่งที่ตามมาจึงไม่ใช่เพียงความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างฮ่องกงกับจีน แต่การเมืองภายในฮ่องกงที่จะแบ่งแยกและขัดแย้งมากขึ้นด้วย

Supporters paste a poster of Marine Le Pen, France’s National Front leader

การเลือกตั้งทั่วไปของฝรั่งเศสที่อาจหันการเมืองโลกไปทางขวา

การเลือกตั้งทั่วไปของฝรั่งเศสที่รอบแรกจะมีขึ้นในวันที่ 23 เมษายน 2017 และรอบที่สองในวันที่ 7 พฤษภาคม 2017 จะสำคัญไม่แพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และการลงประชามติ Brexit ของอังกฤษในปี 2016 ที่ผลการเลือกตั้งจะชี้ชะตาของสหภาพยุโรป และสะท้อนแนวคิดการเมืองฝ่ายขวาที่อาจขึ้นมาเป็นการเมืองกระแสหลักในยุโรปตามหลังอังกฤษ

มารีน เลอ แปน (Marine Le Pen) นักการเมืองจากพรรค National Front พรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดของยุโรป ที่มีจุดยืนว่าอยากนำฝรั่งเศสออกจากสหภาพยุโรป ประกาศว่าเธอจะเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจคะแนนความนิยมของเธอชี้ว่า ยังมีโอกาสเป็นไปได้น้อยที่เธอจะเข้าไปถึงการเลือกตั้งรอบสุดท้าย และขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่าเธอมีโอกาสสูงที่จะเป็นหนึ่งในสองผู้สมัครที่สามารถเข้าไปถึงการเลือกตั้งรอบที่สอง และถ้าสุดท้ายแล้วเธอสามารถเข้าไปถึงรอบนั้น อะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ในโค้งสุดท้าย อย่างที่เราเห็นการไต่เข้ารอบสุดท้ายและขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของ โดนัลด์ ทรัมป์ มาแล้ว ซึ่งตอนแรกก็เป็นสิ่งที่คนต่างไม่คาดคิดเช่นกัน

ประธานาธิบดี ฟร็องซัว ออล็องด์ ตัดสินใจไม่ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัย หลังจากโพลสำรวจชี้ว่า เขามีคะแนนความนิยมเพิ่มขึ้นเพียง 4% เท่านั้น ทำให้พรรค French Socialist ต้องหาตัวแทนลงสมัครใหม่ ขณะนี้พรรค Les Républicains ได้อดีตนายกรัฐมนตรีอย่าง ฟร็องซัว ฟียง (Francois Fillon) เป็นตัวแทนลงสมัครในสมัยหน้า

หาก มารีน เลอ แปน สามารถคว้าชัยชนะไปได้ในท้ายที่สุด นั่นหมายถึงว่าจะเหลือเพียง อังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีของเยอรมนีเป็นผู้นำคนเดียว ที่ยังผลักดันความเป็นหนึ่งอันเดียวกันของสหภาพยุโรป แต่ถึงเธอจะแพ้ เธอก็ยังเป็นนักการเมืองที่มีอิทธิพลมากในการจุดกระแสความนิยมต่อนโยบายฝ่ายขวาในฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็น การต่อต้านการรับผู้อพยพ และการออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองฝ่ายเสรีนิยมเจอกับการแข่งขันที่ดุเดือดมากขึ้นในอนาคต


The WHO Assembly approves the first ever international treaty against smoking

การเลือกตั้งผู้ว่าองค์การอนามัยโลกที่อาจเปิดทางให้ประเทศที่ไม่ใช่มหาอำนาจมีบทบาทในเวทีโลก

ไม่ใช่การเลือกตั้งระดับประเทศเท่านั้นที่มีความสำคัญต่อทิศทางของโลก ในเดือนพฤษภาคม 2017 องค์การอนามัยโลกจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าคนใหม่ ตั้งแต่โลกเริ่มมีองค์การระหว่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ความเป็นประชาธิปไตยในการคัดสรรผู้นำขององค์กรระหว่างประเทศเหล่านี้ยังถูกตั้งคำถาม และถูกวิพากษ์วิจารณ์มาจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะจากประเทศที่ไม่ใช่มหาอำนาจของโลก ว่าพวกเขาจะเข้าไปมีบทบาทมากขึ้นในองค์การระหว่างประเทศได้หรือไม่

ในอดีตรายชื่อผู้ท้าชิงตำแหน่งผู้ว่าองค์การอนามัยโลกจะถูกเลือกจากบอร์ด ก่อนจะนำมาเลือกกันระหว่างประเทศสมาชิก แต่ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่ 6 ประเทศ (อิตาลี อังกฤษ ฮังการี ปากีสถาน เอธิโอเปีย และฝรั่งเศส) จะส่งรายชื่อผู้ท้าชิงตำแหน่งนี้ ซึ่ง ทรีดรอส อัดฮานอม กีเบรเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและต่างประเทศของเอธิโอเปีย ถูกมองว่า เป็นตัวเต็งในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะจะได้รับการสนับสนุนจากบรรดาประเทศในทวีปแอฟริกา ส่วนตัวเต็งอีกคนคือ ฟิลิป ดูสท์ บลาซี (Phillippe Douste-Blazy) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของฝรั่งเศส ที่ชูนโยบายราคายาที่ถูกลง

ประเทศสมาชิกทั้ง 190 ประเทศ จะมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงประเทศละหนึ่งเสียงเท่ากันหมด ไม่ว่าประเทศนั้นจะเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินต่อองค์กรรายใหญ่หรือรายเล็ก การเลือกตั้งผู้ว่าองค์การอนามัยโลกจึงจะเป็นอีกการเลือกตั้งที่สะท้อนความสามัคคีของแต่ละภูมิภาค และการขึ้นมามีบทบาทมากขึ้นในองค์กรระหว่างประเทศของประเทศที่ไม่ใช่มหาอำนาจ

Iran’s President Hassan Rouhani

การเลือกตั้งประธานาธิบดีของอิหร่านที่จะกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับชาติตะวันตก

อิหร่านจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 19 พฤษภาคม 2017 ซึ่งในปี 2013 ฮัสซัน รูฮานี (Hassan Rouhani) ได้คว้าชัยชนะอย่างท่วมท้น ในตอนนั้นเขาหาเสียงด้วยการสัญญาว่า จะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก และเศรษฐกิจ และออกกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชน ซึ่งระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาได้ทำให้อิหร่านหลุดจากการคว่ำบาตรหลายมาตรการ แต่หลังจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมาเป็นประธานาธิดีสหรัฐฯ ก็ได้เกิดกระแสชาตินิยมขึ้นมาเช่นกันในชาวอิหร่าน เพราะการพาประเทศให้หลุดจากการถูกคว่ำบาตร ยังไม่ได้ส่งผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัดอย่างที่เขาได้รณรงค์หาเสียงไว้ อย่างไรก็ตาม เขายังเป็นตัวเต็งที่คาดว่าจะคว้าชัยชนะตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่สอง

Rwandan President Paul Kagame

การเลือกตั้งทั่วไปของรวันดา

ไม่ใช่ทุกประเทศที่มีกฎหมายจำกัดสมัยการดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ รวันดาเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มี พอล คากาเม (Paul Kagame) เป็นประธานาธิบดีมาตั้งแต่ปี 2003 มาจนถึงปัจจุบัน ในปี 1994 คากาเมคือคนที่โค่นล้มรัฐบาลรวันดา หลังจากรัฐบาลดำเนินการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เขาได้ปฏิรูปกองทัพและนำประเทศเรื่อยมา จนตัดสินใจลงเลือกตั้งในปี 2003 และล่าสุดเขาได้ประกาศว่าจะลงสมัครการเลือกตั้งอีกเป็นสมัยที่สาม ซึ่งวาระดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของรวันดาคือ 5 ปี

นอกจากนี้ ในปี 2015 ประชาชนรวันดาเพิ่งลงประชามติอนุมัติรัฐธรรมนูญ ที่มีเนื้อหาอนุญาตให้คากาเมสามารถอยู่ในอำนาจได้ไปจนถึงปี 2034 ซึ่งเขาถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายครั้ง จนทำให้ ซาแมนธา พาวเวอร์ (Samantha Power) ทูตสหรัฐฯ ประจำองค์การสหประชาชาติเรียกร้องให้เขาลงจากตำแหน่ง เมื่อเขาหมดสมัยในปีหน้า แต่มีความเป็นไปได้สูงว่า เขาจะยังคงลงสมัครตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัย ซึ่งขณะนี้พรรคการเมืองอื่นๆ ไม่ได้ส่งผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดี

German Chancellor Merkel

การเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนีที่จะชี้ชะตาสหภาพยุโรป

เยอรมนีจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 22 ตุลาคม 2017 อังเกลา แมร์เคิล  อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมานานถึง 11 ปี และตัดสินใจจะลงสมัครเลือกตั้งอีกเป็นสมัยที่ 4 เธอคือผู้ทรงอิทธิพลต่อการเมืองยุโรปตลอดช่วงเวลาที่เธอดำรงตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการรัดเข็มขัดในช่วงที่ยุโรปเจอกับวิกฤตหนี้ การเปิดรับผู้อพยพมากกว่าหนึ่งล้านคนเข้าเยอรมนี และการพยายามผนึกกำลังของบรรดาประเทศยุโรป เพื่อต่อต้านอำนาจของรัสเซีย

โพลสำรวจชี้ว่า มีความเป็นไปได้สูงว่าเธอจะชนะการเลือกตั้งอีกสมัย อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองฝ่ายขวาอย่าง Alternative for Germany ที่ตอนนี้มีคะแนนความนิยมที่ 13% และมีโอกาสที่คะแนนของพวกเขาจะเพิ่มขึ้น หากคนหันไปสนับสนุนนโยบายต่อต้านผู้อพยพมากขึ้นเรื่อยๆ

และหากแมร์เคิลแพ้การเลือกตั้งครั้งนี้ จะทำให้อนาคตของสหภาพยุโรปสั่นคลอนอย่างรุนแรง (ติดตามบทความเพิ่มเติมได้ที่ สหภาพยุโรปจะแยกหรือรวม? ขึ้นอยู่กับอนาคตของ Angela Merkel หลังลงสมัครนายกฯ เยอรมนีสมัยที่ 4)

U.N. Secretary-General Ban Ki-moon

บันคีมูน กับการกลับมาเป็นผู้นำประเทศ หลังจากหมดสมัยเลขาฯ ยูเอ็น

เกาหลีใต้จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 20 ธันวาคม 2017 หลังจาก ปาร์กกึนเฮ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ไม่มีสิทธิลงเลือกตั้งอีกสมัย ทำให้การเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในสมัยหน้า เราอาจจะเห็น บันคีมูน เลขาธิการองค์การสหประชาติที่จะหมดสมัยในสิ้นปี 2016 จากพรรค Saenuri Party ลงชิงสมัครแทนปาร์กกึนเฮ เพื่อต่อสู้กับ มุนแจอิน (Moon Jae-in) ตัวแทนจากพรรคฝ่ายค้าน

อย่างไรก็ตาม คะแนนความนิยมของพรรค Saenuri Party ที่ลดลงอย่างฮวบฮาบ ตั้งแต่กรณีอื้อฉาวของปาร์กกึนเฮ ที่ปล่อยให้เพื่อนสนิทเข้ามาแทรกแซงกิจการของรัฐ และก่อทุจริตคอร์รัปชัน ก็ทำให้ บันคีมูนยังไม่ตัดสินใจแน่นอนว่าจะลงสมัครตำแหน่งประธานาธิบดีหรือไม่ (ติดตามบทความเพิ่มเติมได้ที่ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้อาจถูกจำคุก 45 ปี หากญัตติลงโทษผ่านสภา) แต่เมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา เขาได้บอกเป็นนัยว่า เขาจะกลับประเทศและพิจารณาว่าเขาจะช่วยเกาหลีใต้อย่างไรได้บ้าง

นอกจากนี้ที่น่าสนใจคือ ลีแจมยอง (Lee Jae-myung) ผู้ได้รับฉายาว่า ‘ทรัมป์เกาหลี’ กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จากประชาชนเกาหลีใต้ การเลือกตั้งของเกาหลีใต้ขณะนี้จึงยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่า บันคีมูน จะกลับมาคว้าตำแหน่งประธานาธิบดีที่บ้านเกิดได้หรือไม่

Thailand’s PM Prayuth Chan-ocha

การเลือกตั้งของไทยในปลายปี 2017 ตามสัญญาของ คสช.

ปลายปี 2017 การเลือกตั้งของไทยเป็นอีกการเลือกตั้งที่ทั่วโลกจับตามอง หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ายึดอำนาจตั้งแต่ปี 2014 ในเดือนสิงหาคม 2016 ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ลงประชามติยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่เปิดทางให้ทหารเข้ามามีอำนาจในการเมืองมากขึ้น

แม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะจัดให้มีการเลือกตั้งในปลายปี 2017 ตามสัญญา แต่การเมืองไทยจะยังคงเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างชนชั้นกลางในเมือง กับคนในต่างจังหวัดที่ฝังรากลึกมาเป็นเวลานาน

การเลือกตั้งของหลายประเทศในปีหน้า จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่ชัยชนะของผู้นำระดับประเทศ แต่จะยังสะท้อนทิศทางการเมืองและการปกครองของโลก ทั้งกระแสของพรรคการเมืองฝ่ายขวา อำนาจของทหารในการปกครองประเทศ และบทบาทของประเทศที่ไม่ใช่มหาอำนาจในเวทีโลก

ปี 2017 จึงเป็นอีกปีที่จะสะท้อนความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai
อ้างอิง:
– http://www.scmp.com/news/hong-kong/politics/article/2051114/hong-kongs-next-leader-must-unite-city-says-former-financial
– https://www.bloomberg.com/news/articles/2016-01-14/dutch-populist-wilders-says-eu-finished-netherlands-must-leave
– http://www.ejinsight.com/20161104-john-tsang-leads-by-a-mile-among-potential-candidates-survey
– http://www.thelocal.fr/20161128/fillons-hardline-views-will-help-hold-off-le-pen
– http://www.politico.eu/article/six-candidates-vie-for-who-director-general-world-health-organization
– https://www.theguardian.com/world/2016/jul/13/polling-gives-a-dark-forecast-for-iranian-president-hassan-rouhani
– http://www.theeastafrican.co.ke/news/Rwanda-starts-plans-for-2017-polls-as-opposition-demands-reforms/2558-3385254-w3871yz/index.html
– http://www.theeastafrican.co.ke/news/Rwanda-starts-plans-for-2017-polls-as-opposition-demands-reforms/2558-3385254-w3871yz/index.html
– http://www.bbc.com/news/world-asia-38349993

Tags: , ,