กระบวนการบนศาลมีแต่คำว่า น่าจะ… น่าจะ… ทั้งนั้นเลย
เราเลยไปไม่ถึงความจริง
ระบบงานยุติธรรมของเรามีจุดอ่อนตรงนี้ที่เป็นเรื่องสำคัญที่สุด
คือบุคลากรทั้งระบบยังไม่มีปณิธานแน่วแน่ว่า จะต้องค้นหาความจริงให้เจอ
“ถ้านึกไม่ออกว่ามันเลวร้ายแค่ไหน ลองไปเป็นแพะในคดีอาญาดูสิ ไม่ต้องนานเป็นปีหรอก แค่วันสองวันก็ช้ำไปจนตายแล้ว”
นี่คือคำตอบที่ได้เมื่อเราถาม ศาสตราจารย์พิเศษจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรมและผู้พิพากษาศาลยุติธรรม ด้วยคำถามที่ว่า “ปัญหาแพะเลวร้ายแค่ไหน”
ใครไม่เคยเจอกับตัวเองคงไม่มีวันเข้าใจว่าการตกเป็นแพะในกระบวนการยุติธรรมที่ผิดพลาดจะส่งผลกับชีวิตขนาดไหน ซึ่งนอกจากจะสูญเสียอิสรภาพ บอบช้ำทางจิตใจ และตกเป็นเป้าโจมตีของคนในสังคมด้วยความผิดที่ไม่ได้ก่อแล้ว ปัญหาแพะรับบาปยังนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ อีกมากมายที่ส่งผลกระทบโดยรวมกับคนในสังคมด้วย เพราะเมื่อมีแพะ ก็เท่ากับว่าคนร้ายตัวจริงยังคงลอยนวล และความจริงยังคงเป็นเรื่องลึกลับต่อไป
The Momentum ชวนคุณมาทำความเข้าใจกับปัญหาแพะในกระบวนการยุติธรรมไทย อะไรคือช่องโหว่ที่ควรได้รับการแก้ไข? และปัญหาแพะจะหมดไปจากสังคมไทยได้อย่างไร?
สิ่งที่เลวร้ายกว่าแพะรับบาปคือคนตัวเล็กตัวน้อย หรือชาวบ้านที่ไม่มีพรรคพวก ไม่มีคนช่วยเหลือ แต่ตกเป็นเหยื่อของความผิดพลาดโดยไม่มีใครรับรู้
สิ่งที่เลวร้ายที่สุดกว่าแพะรับบาปคือ แพะที่ไม่มีใครสนใจ
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าปัญหาแพะรับบาปในกระบวนการยุติธรรมไทยไม่เพียงเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อคนที่ตกเป็นแพะเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาที่สร้างความเสียหายให้สังคมในวงกว้างอย่างที่คาดไม่ถึงอีกด้วย ซึ่งศาสตราจารย์พิเศษจรัญ ได้ระบุเพิ่มเติมว่า
“ท่านรองปลัดกระทรวงยุติธรรม พันตำรวจเอก ดุษฎี อารยวุฒิ ท่านพูดชัดเจนเลยว่า ถ้าเราจับแพะมาหนึ่งคน นอกจากเราจะสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับคนที่บริสุทธิ์ ซึ่งอาจจะเป็นเรา หรือลูกหลานเราก็ได้ในอนาคต ที่สำคัญคือเรายังปล่อยให้คนร้ายตัวจริงลอยนวลด้วย ไม่มีกระบวนการอะไรที่จะต้องไปหาคนร้ายเพิ่มเติมอีก เพราะนึกว่าได้ตัวคนร้ายแล้ว แล้วถามว่าแบบนั้นเป็นอันตรายต่อคนในสังคมไหม หรือจะมีเหยื่อรายต่อไปไหม แล้วคนร้ายจะมองกระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้เป็นอย่างไร เขาก็หัวเราะเยาะเห็นเราเป็นตัวตลกน่ะ เพราะฉะนั้นมันเป็นเรื่องเสียหายมาก”
เมื่อเกิดกรณีแพะรับบาปแต่ละครั้งก็นับเป็นเรื่องที่แย่มากพออยู่แล้ว แต่ยังมีสิ่งที่เลวร้ายกว่านั้น นั่นคือ แพะตัวที่ไม่มีใครสนใจ
“สิ่งที่เลวร้ายกว่าแพะรับบาปคือคนตัวเล็กตัวน้อย หรือชาวบ้านที่ไม่มีพรรคพวก ไม่มีคนช่วยเหลือ แต่ตกเป็นเหยื่อของความผิดพลาดโดยไม่มีใครรับรู้ ดังนั้นเมื่อมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นก็ต้องขอบคุณกระทรวงยุติธรรมที่ท่านทำให้เป็นประเด็นขึ้นมา ผมคิดว่าดีแล้วที่เราไม่กลบข่าว และช่วยกันเปิดเผยข้อเท็จจริง เพราะเป็นประเด็นที่เราจะต้องถกเถียงกัน แต่ไม่ใช่เพื่อจะไปเล่นงานใครคนใดคนหนึ่งนะ แต่เพื่อที่จะทำให้เราหันมาใส่ใจในการพัฒนางานยุติธรรมของประเทศเรา ซึ่งถือเป็นหน้าเป็นตาของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมเอง และเป็นประโยชน์กับประชาชนทั่วไปด้วย”
สมัยก่อนตอนที่ผมทำงานอยู่ คนที่เป็นแพะรับบาปจะได้รับเยียวยาอยู่แค่ 200 บาทต่อวัน คราวนี้ได้ยินว่าทางกระทรวงยุติธรรมจะเพิ่มให้เป็น 300 บาท ซึ่งเท่ากับแรงงานขั้นต่ำ แต่ในความเป็นจริงลองไปถามใครก็ได้ว่าเอาไหมล่ะ ให้คุณไปติดคุกแล้วจะได้วันละ 300 บาท
ช่องโหว่ที่ต้องอุดในกระบวนการยุติธรรมไทย
เมื่อมองให้ลึกลงไปในกรณีแพะรับบาปที่ผ่านมา สิ่งที่สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนก็คือ ช่องโหว่ในกระบวนการยุติธรรมที่เริ่มตั้งแต่กระบวนการสอบสวนของตำรวจ ไล่เรียงมาถึงการตรวจสอบพยานหลักฐานของอัยการ และจบสุดท้ายที่การพิจารณาตัดสินคดีของศาล
ช่องโหว่แรกคือ ในชั้นพนักงานสอบสวน ที่ส่วนใหญ่ถูกเร่งรัดโดยนโยบายทำให้ต้องรีบปิดคดีให้ได้ เพราะไม่อย่างนั้นสังคมอาจตราหน้าว่า ‘ตำรวจไทยไม่มีความสามารถ’ และอาจถูกลงโทษทางวินัยในท้ายที่สุด
“ความเร่งรีบตรงนี้ทำให้ความรอบคอบในกระบวนการชั้นแรกไม่เกิดขึ้นตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น ยิ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ปักใจไปทางไหน เช่น ปักใจว่าผู้ต้องสงสัยคนนี้เป็นคนผิดแน่ๆ เขาก็จะพยายามรวบรวมแต่พยานหลักฐานในด้านที่จะสนับสนุนความคิดของตัวเองเท่านั้น โดยไม่ได้เฉลียวใจว่า เอ๊ะ มันอาจจะไม่ใช่นะ อาจจะเป็นคนหน้าเหมือนหรือเปล่า หรืออาจจะเป็นคนที่มีชื่อและนามสกุลซ้ำกัน ซึ่งมีเยอะเลยในประเทศไทย แล้วก็เคยเกิดคดีแบบนี้มาแล้วด้วย
“ขณะที่กฎหมายเขาก็แก้ปัญหานี้ไปแล้วตั้งแต่ปี 2547 คือแก้เป็นว่าให้พนักงานสอบสวนต้องรวบรวมพยานหลักฐานทั้ง 2 ด้าน เพื่อให้มั่นใจก่อนว่าผู้ต้องหาเป็นคนร้ายหรือเป็นคนบริสุทธิ์ แต่โครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ระดับต้นของเราสามารถทำงานทั้งสองด้านนี้ได้อย่างเข้มแข็งยังมีน้อยเกินไป”
ปัญหาอีกด้านคือ ทนายความส่วนใหญ่มักจะแนะนำผู้ต้องหาว่า อย่าให้การอะไรในชั้นสอบสวน แต่ให้รอไปให้การในชั้นศาล เพราะเกรงจะเสียรูปคดี ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมองว่าเป็นความคิดที่ผิด เพราะจะทำให้ผู้ต้องหาหมดโอกาสในการชี้แจง และให้แง่มุมที่จะปกป้องตัวเอง สุดท้ายสำนวนคดีจึงเอนเอียงไปในทิศทางที่ไม่เป็นประโยชน์กับผู้ต้องหาเอง
อย่าคิดนะว่าเราจะโชคดีไม่ตกเป็นแพะในวันข้างหน้า ทุกคนอยู่ในความเสี่ยงเท่ากันหมด
เมื่อมาถึงขั้นอัยการที่มีหน้าที่ตรวจสอบความสมบูรณ์ คุณภาพ และความแม่นยำของระบบการสอบสวนอีกชั้นก็มีปัญหา เพราะในแต่ละปีมีคดีอาญานับล้านที่เดินทางเข้าสู่กระบวนการพิจารณา ซึ่งจากข้อมูลสถิติคดี ในปี 2557-2558 ของศาลยุติธรรมระบุว่า ในศาลชั้นต้นมีปริมาณคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาในปี 2557 คงค้างทั้งสิ้น 665,722 คดี ส่วนคดีที่รับมาใหม่ในปี 2558 ตัวเลขอยู่ที่ 647,664 คดี
“เมื่อคดีมันทะลักขึ้นไปขนาดนั้น ทางอัยการเขาก็ต้องรีบไง ไม่อย่างนั้นถ้าฟ้องไม่ทันเขาก็เดือดร้อน ดังนั้นถึงแม้เราจะวางคุณสมบัติของท่านอัยการให้สูงเทียบเท่ากับผู้พิพากษา เพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองความถูกต้องสมบูรณ์ แต่เมื่อคดีมันล้นขนาดนี้ คดีไหนที่ดูแล้วพอไปได้ ไม่ได้มีอะไรผิดกฎหมาย ไม่ได้มีอะไรแย่จริงๆ เขาก็ต้องรีบส่งฟ้องศาลไป
“จริงๆ แล้วเรามีระบบช่วยในชั้นอัยการ ซึ่งออกแบบไว้อย่างดีว่า ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นผู้เสียหาย ผู้ต้องหา ถ้ารู้สึกว่ามีอะไรไม่ถูกต้อง คดีเริ่มไปในทิศทางที่ผิด ก็สามารถร้องขอความเป็นธรรมไปที่สำนักงานอัยการได้ ระบบนี้ดีมากนะ เพราะมันจะเป็นสัญญาณเตือนให้ท่านอัยการในคดีนั้นรู้ว่า เรื่องนี้มันไม่ได้เรียบง่าย ต้องดูอย่างพิถีพิถันหน่อย ซึ่งคดีของครูจอมทรัพย์ไม่ได้มีการร้องขอความเป็นธรรมไปที่สำนักงานอัยการ กลไกตัวนี้ก็เลยไม่ได้ใช้ ก็เลยพลาดโอกาสในชั้นอัยการไป”
สุดท้ายเมื่อคดีเดินทางมาถึงศาล แม้ศาลจะมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาสืบเพิ่มเติม แต่ด้วยปริมาณคดีที่ล้นทะลักในแต่ละปี ทำให้ศาลชั้นต้นไม่ค่อยได้ใช้อำนาจนี้มากนัก ส่วนใหญ่จึงต้องพิจารณาไปตามพยานหลักฐานของคู่ความทั้งสองฝ่าย
“พอดูไปตามพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่าย เวลารูปคดีมันก้ำกึ่งกัน มันก็จะเกิดเหตุการณ์อย่างครูจอมทรัพย์ ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์พอเชื่อได้แล้ว แต่พอไปถึงศาลอุทธรณ์ มาดูอีกที พยานหลักฐานชุดเดียวกัน ไม่ได้มีอะไรเพิ่มเติมเลย แต่ศาลอุทธรณ์ดูแล้วว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังกระท่อนกระแท่น ก็เลยยกฟ้อง พอไปถึงศาลฎีกา ท่านก็ดูพยานหลักฐานชุดเดิมนั่นแหละ แต่ท่านก็ดูว่าศาลอุทธรณ์น่าจะถูกแล้ว
“กระบวนการบนศาลมีแต่คำว่า น่าจะ… น่าจะ… ทั้งนั้นเลย เราเลยไปไม่ถึงความจริง ระบบงานยุติธรรมของเรามีจุดอ่อนตรงนี้ที่เป็นเรื่องสำคัญที่สุด คือบุคลากรทั้งระบบยังไม่มีปณิธานแน่วแน่ว่า จะต้องค้นหาความจริงให้เจอ เราทำงานเพียงแค่ว่าทำให้เป็นไปตามกฎหมาย อย่าทำผิด แต่ไม่ได้คิดว่าผลที่ได้ตรงกับความจริงหรือไม่”
นอกจากกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบจะมีปัญหาแล้ว ปัญหาความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมายังสะท้อนให้เห็นถึงนโยบายที่ผิดพลาด ซึ่งมุ่งเน้นการปราบปรามมากกว่าการป้องกันอาชญากรรม ซึ่งแม้การป้องกันจะทำยากกว่า แต่ถ้าทำได้ก็จะทำให้ปริมาณคดีที่มีอยู่ลดน้อยลง การพิจารณาคดีมีประสิทธิภาพมากขึ้น และความเครียดของบุคลากรทั้งระบบก็ลดน้อยตามไปด้วย
ไม่มีอะไรที่เลวร้ายในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเท่ากับเอาคนบริสุทธิ์ไปลงโทษลงทัณฑ์
วิดีโอบันทึกคำให้การ วิธีแก้ปัญหาง่ายๆ ที่ไม่มีใครคิด
ถ้าการแก้ปัญหาเรื่องการปลูกฝังปณิธานในการค้นหาความจริง และการมุ่งเน้นป้องกันมากกว่าปราบปรามเป็นเรื่องยากเกินไป ศาสตราจารย์พิเศษจรัญ ได้เสนอวิธีแก้ปัญหาแบบง่ายๆ ที่ทำได้ทันทีด้วยการใช้วิดีโอบันทึกคำให้การ
“ทุกวันนี้ในกระบวนการคดีอาญายังใช้กระดาษกันอยู่เลย ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ศาล ที่บันทึกคำให้การของพยาน และผู้ต้องหาด้วยวิธีให้คนไปฟังมาแล้วพิมพ์เอง เขียนเอง ซึ่งสุดท้ายก็อาจจะไม่ใช่เนื้อความที่ถูกต้อง หรือมีการคลาดเคลื่อน เมื่อเรื่องไปถึงศาล ศาลก็ต้องมาชั่งน้ำหนักดูว่าแล้วจะเชื่อกระดาษแผ่นไหนดีล่ะ
“ซึ่งการบันทึกคำให้การด้วยระบบภาพและเสียงเสมือนจริง ศาลหลายศาลท่านก็ใช้อยู่แล้วนะ อย่างศาลล้มละลายท่านก็ใช้มาก่อนเป็นสิบปี เพียงแต่ว่ายังไม่ได้เอามาใช้ในศาลอาญา หรือคดีอาญา นี่คือเรื่องง่ายๆ เลยนะ ถ้าทำได้ ผมว่าจะลดความบกพร่องไปได้ถึง 70-80% เมื่อเทียบกับการลงทุนแล้ว ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่ถูกมาก อย่าคิดนะว่าเราจะโชคดีไม่ตกเป็นแพะในวันข้างหน้า ทุกคนอยู่ในความเสี่ยงเท่ากันหมด ถ้ายังมีระบบที่เปิดช่องแบบนี้อยู่”
นอกจากนี้ในกระบวนการเยียวยาผู้บริสุทธิ์ที่ตกเป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรมที่ผิดพลาดยังถือว่าน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล
“สมัยก่อนตอนที่ผมทำงานอยู่ คนที่เป็นแพะรับบาปจะได้รับเยียวยาอยู่แค่ 200 บาทต่อวัน คราวนี้ได้ยินว่าทางกระทรวงยุติธรรมจะเพิ่มให้เป็น 300 บาท ซึ่งเท่ากับแรงงานขั้นต่ำ แต่ในความเป็นจริงลองไปถามใครก็ได้ว่าเอาไหมล่ะ ให้คุณไปติดคุกแล้วจะได้วันละ 300 บาท ต้องจากลูกเมีย สูญเสียรายได้ ส่วนประวัติชีวิตก็ล่มสลาย กลายเป็นหายนะแห่งชีวิต เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าเราดูแลประชาชนผู้บริสุทธิ์ของเราพอสมควรหรือยัง คำตอบคือยัง”
แพะตัวสุดท้าย…ไม่มีวันเกิดขึ้นจริง
“เพราะเราไม่รู้ไงว่าความจริงที่เกิดขึ้นในปีที่แล้วมันเป็นยังไง ที่ทำได้คือการตรวจสอบพยานหลักฐานต่างๆ ย้อนหลัง ดังนั้นมันก็มีที่แม่นบ้าง และมีที่ผิดพลาดบ้าง อย่างในอังกฤษ ก็เคยมีกรณีที่คนหน้าเหมือนกัน ซึ่งผู้เสียหายก็ยืนยันชัดเจนว่าคนที่ตำรวจจับมาได้คือคนผิด แต่พอเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกทีมไปตรวจเช็กก็ไปเจอคนร้ายตัวจริงอีกคน
“เขาถึงเตือนกันในระบบงานว่าต้องระวังนะ ความจริงมันเหลือเชื่อนะ แล้วความจริงบางทีมันก็ไม่ได้เป็นไปตามเหตุผล หรือสามัญสำนึกอย่างที่เราจะเข้าใจได้ แต่ความจริงเป็นอย่างไรก็อย่างนั้น มันเตือนใจเราเหมือนกันว่า อย่าปักใจลงไปก่อน ต้องรอบคอบ ต้องระวังให้มาก เพราะมันมีผลต่อชีวิตคนมาก เรื่องนี้เรื่องใหญ่ เราเป็นผู้กระทำอาจจะไม่ค่อยรู้สึก แต่วันหนึ่งถ้าเราตกเป็นผู้ถูกกระทำบ้าง แล้วเราจะซึ้งกับคำว่า
“ไม่มีอะไรที่เลวร้ายในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเท่ากับเอาคนบริสุทธิ์ไปลงโทษลงทัณฑ์”
Tags: judgement, victim