ตลอดเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผลสำรวจความนิยมของฮิลลารีเพิ่มมากขึ้นกว่าทรัมป์เกือบสองเท่าตัว ขณะที่ผลสำรวจคะแนนนิยมในรัฐสนามรบ (Swing State) ก็ปรากฏว่า ฮิลลารีนำเป็นส่วนใหญ่ โดยความนิยมเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากชัยชนะในการดีเบตทั้ง 3 ครั้งของฮิลลารี

แต่อีกด้านหนึ่งเป็นเพราะฟากของทรัมป์ที่เจอกระแสข่าวลบต่อเนื่อง ตั้งแต่คลิปเสียงบทสนทนาว่าด้วยการล่วงละเมิดทางเพศหลุด ไปจนถึงการประกาศทำนองว่า “จะยอมรับผลการเลือกตั้งก็ต่อเมื่อผมชนะเท่านั้น” ซึ่งปรากฏการณ์หลังแทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในแวดวงการเมืองสหรัฐฯ ที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยมาตลอด 240 ปี

ทั้งหมดนี้ทำให้ดูเหมือนว่าฮิลลารีได้ช่วงชิงชัยชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จนแทบไม่มีอะไรให้ลุ้นอีกแล้ว ถ้าพูดแบบติดตลกหน่อยก็ต้องบอกว่า

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 8 พ.ย. ที่จะถึงนี้ มีสองอย่างคือ ฮิลลารีชนะ กับฮิลลารีชนะถล่มทลาย!

แต่สถานการณ์กลับพลิกผัน เมื่อ FBI เจอหลักฐานใหม่ในคดีการใช้อีเมลส่วนตัวที่เป็นชนักติดหลังของฮิลลารี แล้วรื้อฟื้นคดีนี้ขึ้นมาอีกครั้ง

หรือนี่จะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ฮิลลารีพลาดเก้าอี้ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ

Photo: Brain Snyder, Reuters/profile

คดีที่ถูกรื้อกับการฟื้นคืนชีพของทรัมป์

วันศุกร์ที่ผ่านมา หรือนัยหนึ่งคือ 11 วันสุดท้ายก่อนจะถึงวันเลือกตั้งระดับชาติของสหรัฐฯ ระเบิดลูกใหม่ก็ถูกโยนเข้าสู่เวที เมื่อ FBI แจ้งต่อรัฐสภาถึงการรื้อฟื้นคดีสอบสวนการใช้อีเมลส่วนตัวของฮิลลารีอีกรอบ เพราะเจอหลักฐานใหม่ที่เกี่ยวข้อง

ฉับพลันทันที ทรัมป์ขึ้นปราศรัยในเวทีหาเสียงที่แมนเชสเตอร์ ท่ามกลางความครึกครื้นของผู้ฟัง เสมือนหนึ่งเป็นวันประกาศผลการเลือกตั้งและชัยชนะได้อยู่ข้างพวกเขาแล้วว่า

“แล้ววันนี้ก็มาถึง วันที่พวกเขารื้อฟื้นคดีว่าด้วยการก่ออาชญากรรมและการทำผิดกฎหมายที่ทำลายระบบความมั่นคงของสหรัฐฯ โดยอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ฮิลลารี คลินตัน”

เสียงฝูงชนโห่ร้องกึกก้องพร้อมเพรียงกันว่า “Lock Her Up” หรือ “เอาเธอเข้าคุก”

3 คลื่นกระแสข่าวลบ ‘อีเมลของฮิลลารี’

คลื่นระลอกที่หนึ่ง: Damn Emails!

ตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ตระกูลคลินตันมีบาดแผลให้หยิบมาเล่นอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ว่าอย่างไร ดูเหมือนฮิลลารี จะทั้งแถ และผ่านมาได้ด้วยการช่วยเหลือจากบรรดานักการเมืองและนักธุรกิจในสถาบันการเมืองเก่าแก่ทั้งหลายที่พยายามช่วยพยุงเธอไว้ ในฐานะหัวหอกที่จะนำผลประโยชน์ทางการเมืองมาให้ เห็นชัดเจนจากกรณีการใช้อีเมลส่วนตัวรับส่งข้อมูลที่มีชั้นความลับระดับสูงสุด ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายด้านการรักษาความปลอดภัยอย่างมาก

ในสนามการเลือกตั้งขั้นต้นที่จบลงไปเมื่อราวเดือนกรกฎาคม ปฏิเสธไม่ได้ว่าคู่แข่งของเธอ เบอร์นี แซนเดอร์ส มีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้กระแสเรื่องการใช้อีเมลส่วนตัวเบาบางลงไปมาก จนไม่ได้กลายเป็นประเด็นทางการเมือง

กล่าวคือ ในเวทีดีเบตของพรรคเดโมแครตรอบแรก เมื่อ แอนเดอร์สัน คูเปอร์ ผู้ดำเนินรายการถามฮิลลารีเรื่องการใช้อีเมลส่วนตัว เธอเลี่ยงตอบคำถามทันที ด้วยการแถว่า

“ค่ำคืนนี้ ฉันต้องการจะพูด แต่ไม่ใช่เรื่องอีเมล แต่เป็นเรื่องคนอเมริกันต้องการอะไรจากประธานาธิบดีของเขา”

นาทีสำคัญในทางการเมืองที่เป็นจุดพลิกผันให้ประเด็นอีเมลของฮิลลารีกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยทันทีคือ นาทีที่เบอร์นี แซนเดอร์ส ซึ่งเป็นคู่แข่งขันหลักของฮิลลารีที่ควรอาศัยประเด็นอีเมลขึ้นมาโจมตีมากที่สุด แทรกขึ้นมาว่า

“ผมขอพูดอะไรสักหน่อย ซึ่งอาจไม่ใช่การเมืองที่ดีนัก …แต่ผมคิดว่า ฮิลลารีพูดถูก และนั่นก็คือประชาชนคนอเมริกันรู้สึกเบื่อและเหนื่อยหน่ายที่จะฟังเรื่อง damn emails!! (โธ่เอ๊ย! อีเมลอีกแล้ว)”

คดีการใช้อีเมลส่วนตัวระลอกแรกจบลงด้วยการแถลงข่าวของ FBI ในต้นเดือนกรกฎาคม ถึงผลสรุปการสอบสวนและคำแนะนำที่ FBI จะให้ต่อกระทรวงยุติธรรม

“สำหรับบทสรุปก็คือ ไม่ว่ากระทรวงยุติธรรมจะตัดสินใจในขั้นสุดท้ายอย่างที่เราได้ตัดสินใจไปหรือไม่ก็ตาม เราขอให้ความเห็นจากมุมมองของเราว่า ไม่มีกฎหมายใดเหมาะสมที่จะเอาผิดฮิลลารีในกรณีนี้”

อย่างไรก็ตาม FBI สำทับอย่างตรงไปตรงมาว่า “แม้ว่าเราจะไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า อดีตรัฐมนตรีฯ และผู้เกี่ยวข้องได้ละเมิดกฎหมายการปกป้องความลับทางราชการ แต่เราก็มีหลักฐานว่าอดีตรัฐมนตรีและทีมงานมีความใส่ใจน้อยมากในการปกป้องข้อมูลทางราชการที่อ่อนไหวและเป็นความลับสูงสุด”

คลื่นระลอกที่สอง: อีเมลหลุดบอกกับเราว่า ‘การเมืองและประชาธิปไตยเป็นเรื่องของนายทุน!’

กระแสข่าวลบเรื่องอีเมลได้กลับมาสู่แคมเปญหาเสียงของฮิลลารีอีกครั้ง เมื่อวิกิลีกส์ (Wikileaks) ได้แฮ็กอีเมลของ จอห์น โปเดสตา (John Podesta) ประธานแคมเปญหาเสียงของฮิลลารีกว่า 10,000 ฉบับ ในจำนวนนี้มีการปล่อยบทสุนทรพจน์ของฮิลลารี 3 ชิ้น ที่ไปพูดให้กับธนาคารยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ 3 แห่ง ซึ่งเป็นจุดที่เธอโดนโจมตีเรื่อยมา นับตั้งแต่ต่อสู้กับ เบอร์นี แซนเดอร์ส ในสนามการเลือกตั้งขั้นต้น

อย่างไรก็ตาม ทีมงานของเธอก็แถให้เป็นปัญหาความมั่นคงในระดับชาติว่าเป็นความจงใจของรัสเซียที่จะแฮ็กอีเมลและทำลายระบบความมั่นคงในสหรัฐฯ ขณะที่สื่อมวลชนก็หันไปเล่นข่าวความสัมพันธ์ระหว่างโอบามากับนายทุนจากบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่แทน

เพราะจอห์น โปเดสตา ไม่เพียงเป็นประธานแคมเปญหาเสียงของฮิลลารี แต่ในปี 2008 เขายังได้รับความไว้วางใจจากโอบามาให้เป็นผู้อำนวยการในโครงการถ่ายโอนอำนาจทางการเมืองของโอบามา ซึ่งมีหน้าที่บริหารจัดการเพื่อเตรียมการถ่ายโอนอำนาจจากรัฐบาลบุชสู่รัฐบาลโอบามา

สื่อมวลชนหลายรายได้เจาะลึกอีเมลในช่วงปี 2008 และพบว่า ขณะที่ผลการเลือกตั้งในวันที่ 8 พฤศจิกายน ยังไม่ออก แต่กลุ่มธุรกิจในสหรัฐฯ ได้ส่งอีเมลถึงโปเดสตา โดยไล่เรียงรายชื่อบุคคลจากภาคธุรกิจที่เหมาะสมจะเป็นคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลโอบามา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม หรือราว 1 เดือนก่อนที่ผลการเลือกตั้งจะออกมา

อีเมลหลุดแบบนี้จึงเป็นการตบหน้าผู้เลือกตั้งทั้งหลายว่า “เห็นไหม การเมืองคือความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองและนายทุน มันไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับประชาชนหรอก!”

คลื่นระลอกที่สาม: FBI รื้อฟื้นคดีอีเมลขึ้นมาใหม่!

ถือเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเลือกตั้ง เมื่อ FBI ร่วมกระโจนลงสู่สนามการเลือกตั้งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา หรือเพียง 11 วันก่อนการเลือกตั้งเท่านั้น โดยที่ เจมส์ บี. โคมี (James B. Comey) ผู้อำนวยการ FBI แจ้งต่อรัฐสภา ถึงการรื้อฟื้นคดีสอบสวนกรณีการใช้อีเมลส่วนตัวของฮิลลารีอีกรอบ เพราะเจอหลักฐานใหม่ที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งแม้ว่า FBI จะลงท้ายจดหมายว่า “แม้ว่าเราจะยังไม่ได้เริ่มต้นอ่านอีเมลดังกล่าวอย่างละเอียดและพบหลักฐานขนาดที่ระบุได้ว่า มีนัยสำคัญต่อรูปคดี หรือกระทั่งไม่สามารถบอกระยะเวลาในการสอบสวนได้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไร แต่เราเชื่อว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะแจ้งต่อคณะกรรมาธิการทุกท่าน ถึงความพยายามของเราในการทำคดีนี้” รวมถึงหลักฐานชิ้นใหม่ในรอบนี้ก็ไม่ได้มาจากทีมงานรัฐมนตรีต่างประเทศโดยตรง แต่เป็นการค้นพบหลักฐานใน โน้ตบุ๊กของ แอนโธนี ดี. ไวเนอร์ (Anthony D. Weiner) อดีตสมาชิกรัฐสภาที่แสนฉาวโฉ่ ซึ่งเป็นสามีเก่าของ ฮูมา อเบดีน (Huma Abedin) เลขานุการส่วนตัวของฮิลลารี (หรือที่สื่อบางแห่งเรียกขานกันว่า เธอคือลูกสาวคนที่สองของฮิลลารี คลินตัน)

แม้จะยังไม่ชัดเจนว่า หลักฐานที่พบเป็นหลักฐานชุดใหม่จริงๆ และเกี่ยวข้องกับรูปคดีอย่างแน่นอนหรือไม่ ไปจนถึงมีนัยสำคัญแค่ไหนที่จะนำไปสู่ความผิดของ ฮิลลารี แต่การรื้อฟื้นคดีดังกล่าวได้กลายเป็นระเบิดลูกใหญ่ต่อแคมเปญหาเสียงของฮิลลารีไปเรียบร้อยแล้ว เพราะทรัมป์ได้ออกมาโจมตีและประณามฮิลลารีทันทีในฐานะผู้ก่ออาชญากรรมด้านความมั่นคง สาธารณชนเริ่มกลับมาแสดงความไม่ไว้วางใจฮิลลารี มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องการละเมิดกฎหมายการปกป้องความลับทางราชการ ซึ่งควรได้รับโทษบางอย่าง และไม่ควรปล่อยให้เกิดการลอยนวลของคนผิด เพื่อเป็นตัวอย่างให้นักการเมืองคนอื่นๆ ไปจนถึงทำให้พรรครีพับลิกันกลับมาถือไพ่ความไม่น่าไว้วางใจต่อฮิลลารีอีกรอบด้วยภาษาที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิม ซึ่งสังเกตได้จากแถลงการณ์ของ พอล ไรอัน ประธานรัฐสภาว่า

“ฮิลลารีได้พิสูจน์ให้เห็นอีกครั้งว่า เธอได้ทรยศต่อความไว้วางใจที่ประชาชนอเมริกันมอบให้ ด้วยการมีความใส่ใจน้อยมาก และมีความผิดพลาดร้ายแรงในการปกป้องข้อมูลทางราชการที่มีชั้นความลับขั้นสูงสุด”

รอติดตาม ‘หรือว่ากรณีรื้อคดี ‘อีเมลส่วนตัว’ จะทำให้ ‘ฮิลลารี’ พลาดเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ?’ (ตอนที่ 2) ได้ที่themomentum.co

Tags: , ,