Photo: Carlo Allegri, Reuters/profile

การรื้อฟื้นคดีอีเมลส่วนตัวของฮิลลารี นอกจากจะทำให้สถานการณ์พลิกผัน เสียงสนับสนุนฮิลลารีต้องสั่นคลอน จนอาจเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ฮิลลารีพลาดเก้าอี้ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ แล้ว ทางฟาก FBI ซึ่งเป็นฝ่ายรื้อฟื้นคดียังตกเป็นจำเลยจากคนและกลุ่มผู้สนับสนุนของพรรคเดโมแครตที่สังเกตว่า การรื้อคดีของ FBI ในช่วง 8 วันก่อนการเลือกตั้งนั้นค่อนข้างผิดปกติวิสัย และอาจผิดกฎหมายบางข้อ จนหนักข้อถึงขั้นตั้งข้อสงสัยว่า

หรือ FBI คิดจะเล่นการเมือง…

ก้าวย่างที่ผิดปกติของ FBI กับข้อสงสัยเล่นการเมือง

ฮิลลารีแถลงข่าวทันทีหลังข่าวสะพัดทั่วประเทศด้วยการเรียกร้องให้ FBI แถลงถึงหลักฐานและข้อมูลต่างๆ ที่สมบูรณ์ เธอชี้ชวนให้ผู้สนับสนุนเห็นว่า สถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้อาจเป็นเพียงเกมการเมือง

“มันเป็นเรื่องแปลกมากที่จะปล่อยข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ ก่อนการเลือกตั้งไม่กี่วัน… มันไม่ใช่แค่เรื่องที่แปลก แต่ยังเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ที่จะมีการเล่นเกมการเมืองก่อนการเลือกตั้งไม่กี่วัน”

ขณะที่ จอห์น โปเดสตา ประธานแคมเปญหาเสียงของฮิลลารี ก็ออกแถลงการณ์ต่อเนื่องว่า “โดยการเลือกนำเสนอข้อมูล ผู้อำนวยการ FBI ได้เปิดทางให้เกิดการเล่นพรรคเล่นพวก โดยเฉพาะการบิดเบือนและผลิตข่าวสารที่เกินจริง ซึ่งจะสร้างความเสียหายสูงสุดในทางการเมืองต่อไป” อีกทั้งผู้อำนวยการ FBI ยังดูเหมือน “จะไม่ได้เตรียมพร้อมกับการทำงานกับข้อเท็จจริงมากเท่าที่ควร ก่อนที่จะส่งจดหมายรื้อคดีดังกล่าวต่อรัฐสภา”

แถลงการณ์จาก FBI ดูเหมือนจะสร้างกระแสตีกลับในแวดวงการเมืองอยู่มาก โดยเฉพาะจากฝั่งเดโมแครต รวมถึงอดีตนักการเมืองและอดีตลูกจ้างในงานเกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งมองว่าเป็น ‘ก้าวย่างที่ผิดปกติของ FBI’

โดยหนึ่งในจดหมายเปิดผนึกสุดร้อนแรงถึง FBI มาจาก แฮร์รี รีด (Harry Reid, ผู้นำเสียงข้างน้อยในวุฒิสภาจากพรรคเดโมแครต) ซึ่งมองว่า การส่งจดหมายรื้อคดีอีเมลเพียง 11 วันก่อนหน้าการเลือกตั้งจะมาถึง อาจเป็นการละเมิดกฎหมาย ‘The Hatch Act’ ซึ่งห้ามลูกจ้างของรัฐใช้อำนาจใดๆ จนส่งอิทธิพลต่อการเลือกตั้ง เพราะหลักฐานใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอีเมลของฮิลลารีเป็นสิ่งที่ FBI ค้นเจอมานานแล้วเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน แต่เหตุใด FBI ถึงไม่ได้ออกแถลงการณ์ใดๆ จนกระทั่งวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับวันเลือกตั้งอย่างมาก จนปฏิเสธได้ยากว่าอาจเป็นการเล่นพรรคเล่นพวก

“การกระทำของคุณที่เกิดขึ้น ชี้ให้เห็นถึงการกระทำสองมาตรฐาน ต่อข้อมูลที่อ่อนไหว และละเอียดอ่อน… ผมเขียนจดหมายถึงคุณ เพื่อสื่อสารว่า ผมคิดว่าการกระทำของคุณกำลังล่วงละเมิดกฎหมาย The Hatch Act ซึ่งไม่อนุญาตให้องค์กรอย่าง FBI ใช้อำนาจใดๆ ที่จะส่งอิทธิพลต่อการเลือกตั้ง การเล่นพรรคเล่นพวกของคุณ อาจถือว่าเป็นการกระทำที่ล่วงละเมิดต่อกฎหมาย”

ทรัมป์กลับมาเป็นต่อ?

ผลสำรวจความนิยมของทรัมป์ในรัฐสนามรบสำคัญที่เป็นจุดชี้ขาดการเลือกตั้งมาแล้วหลายยุคหลายสมัยอย่างฟลอริดา ล่าสุด A New York Times Upshot/Siena poll ชี้ว่า ทรัมป์มีคะแนนนิยมในรัฐดังกล่าวสูงกว่าฮิลลารีราว 4 จุด หรือร้อยละ 46 ต่อร้อยละ 42

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจดังกล่าวมีขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 ตุลาคม และเพิ่งประกาศอย่างเป็นทางการในวันอาทิตย์ (30 ต.ค.) ในแง่นี้จึงกล่าวได้ว่า คดีอีเมลล่าสุดยังไม่ได้มีผลหรือนัยยะสำคัญต่อผู้เลือกตั้งจนเปลี่ยนการตัดสินใจหันไปเลือกทรัมป์กันชนิดพลิกฝ่ามือ และกระทั่งการมีคะแนนนำโด่งในรัฐนี้ก็อาจไม่ได้บอกว่าจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเสมอไป

เพราะยังมีหลากหลายวิธีการที่ฮิลลารีจะชนะการเลือกตั้งได้โดยไม่ต้องชนะในรัฐฟลอริดา เช่น ฮิลลารีอาจจะได้รับชัยชนะแน่นอน ถ้าเธอสามารถคว้าชัยในรัฐนอร์ทแคโรไลนา และเพนซิลเวเนีย ซึ่งสองรัฐนี้มีผลสำรวจหลายชุดบอกว่าเธอทำคะแนนได้ดี (ดูวิธีการที่หลากหลายของการได้มาซึ่งชัยชนะในการเลือกตั้งได้ที่ https://goo.gl/1zrN2o)

Photo: Mario Anzuoni, Reuters/profile

แม้ว่าผลสำรวจคะแนนนิยมเท่าที่ปรากฏในระยะเฉพาะหน้าไม่ได้บอกว่า กรณีอีเมลมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนใจผู้เลือกตั้ง แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ทรัมป์สามารถคว้า ‘ข่าวที่เกิดขึ้น’ มาใช้โจมตีฮิลลารีได้ตลอดระยะเวลา 8 วันที่เหลือ หรือจนกว่า FBI จะมีแถลงการณ์ที่ชัดเจนกว่านี้ โดยเฉพาะการโจมตีในเชิงความไม่น่าไว้วางใจต่อนโยบายด้านความมั่นคงของชาติ

และแน่นอนว่า หากทรัมป์ทำได้คมชัดมากพอ ก็อาจพัฒนากลายเป็นกระแสจนทำให้ผู้เลือกตั้งเปลี่ยนใจหันกลับไปเลือกเขา

ขณะเดียวกันก็ยังปฏิเสธไม่ได้ว่า กระแสข่าวลบของฮิลลารีอาจมีส่วนกระตุ้นให้ผู้เลือกตั้งพรรครีพับลิกันออกไปเลือกตั้งในวันจริงกันมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้มีรีพับลิกันจำนวนไม่น้อยที่เบือนหน้าหนีจากทรัมป์จากกรณีคลิปเสียงล่วงละเมิดทางเพศ

อย่างไรก็ตาม ข่าวเสียหายของฮิลลารีในรอบนี้ ก็อาจมีส่วนกระตุ้นให้เกิดการชั่งน้ำหนักของผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจมากขึ้น

Photo: Brain Snyder, Reuters/profile

ฮิลลารีกับจุดจบที่ต้องพบ

อีกหนึ่งคำถามสำคัญในช่วงเวลานี้คือ อะไรคือเหตุการณ์ที่ย่ำแย่ที่สุด  (Worst-Case Scenario) ที่ฮิลลารีต้องเจอ?

นิวยอร์กไทมส์ ตอบคำถามนี้ว่า “ในเดือนกรกฎาคม เจมส์ บี. โคมี ประกาศว่า FBI ไม่พบหลักฐานเพียงพอที่จะสามารถเอาผิดกับทุกคนที่ก่ออาชญากรรมเกี่ยวกับความผิดพลาดเรื่องการปกป้องข้อมูลชั้นความลับสูงสุด

“ถ้าอีเมลใหม่ที่ FBI พูดถึงบ่งบอกให้เห็นถึงความพยายามของฮิลลารีและทีมงานของเธอในการย้ายข้อมูลดังกล่าวออกจากระบบความมั่นคงของรัฐที่น่าเชื่อถือได้ หรือถ้าพวกเขาพยายามที่จะกีดขวางหรือทำตัวเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน ก็อาจส่งผลให้ FBI ต้องทำการสอบสวนต่อไปให้มากขึ้นกว่าเดิม

“อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ FBI เพิ่งเริ่มต้นกระบวนการพิจารณาอีเมลที่พบ และเจ้าหน้าที่เชื่อว่า อย่างน้อยบางส่วนของอีเมลมีการซ้ำซ้อนกันของข้อความที่ได้รับการตรวจสอบแล้ว”

ประโยคข้างต้นน่าจะบอกกับเราอย่างน้อย 3 เรื่อง

1. ปฏิเสธไม่ได้ว่า กรณีการรื้อฟื้นคดีอีเมลได้กลายเป็นระเบิดลูกใหญ่ที่แคมเปญหาเสียงของฮิลลารีจะต้องพยายามแก้ปัญหาต่อไป เพราะหากไม่สามารถเรียกร้องความเชื่อมั่นกลับมาได้ ก็อาจมีผลต่อการเลือกตั้งไม่มากก็น้อยต่อไป แต่จะถึงระดับทำให้เธอพ่ายแพ้การเลือกตั้งหรือไม่ อาจต้องรอพิจารณาผลสำรวจคะแนนนิยมที่จัดทำขึ้นหลังจากกระแสข่าวลบทำงานเข้ามาเป็นปัจจัยในการประเมิน

2. FBI ต้องพยายามสร้างความกระจ่างในกระบวนการสอบสวนต่อไป แต่จากข้อสังเกตของนิวยอร์กไทมส์ ก็พบว่า ลำพัง 8 วันที่เหลือจนกว่าจะถึงวันเลือกตั้ง ก็คงไม่ได้มีความคืบหน้าใดๆ มากนัก เพราะการสอบสวนดูเหมือนจะต้องการ ‘เวลา’ มากกว่านี้ และอาจกินเวลายาวนานไปถึงช่วงการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดี หรือกระทั่งยาวไปถึงช่วงที่ประธานาธิบดีเข้าปฏิบัติหน้าที่นี้แล้ว

3. สมมติว่ากรณีอีเมลไม่มีผล หรือมีผลน้อยมากต่อการเปลี่ยนใจของผู้เลือกตั้ง จนส่งผลให้ฮิลลารีได้รับชัยชนะ แต่เป็นไปได้ไหมว่า

“ความสวยงามของการขึ้นสู่อำนาจทางการเมือง คงออกมาไม่ค่อยดีนัก เพราะมีชนักติดหลัง รอการสะสางอยู่ไม่น้อย”

ติดตามบทความ “หรือว่ากรณีรื้อคดี ‘อีเมลส่วนตัว’ จะทำให้ ‘ฮิลลารี’ พลาดเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ? (ตอนที่ 1)” ได้ที่ themomentum.co