ก่อนที่ปี 2016 จะจบลง หากเรามองย้อนกลับไปตั้งแต่ต้นปี เราจะเห็นว่าปีที่ผ่านมาโลกเผชิญกับเหตุการณ์ก่อการร้ายตั้งแต่เหตุโจมตีที่กรุงบรัสเซลส์ เหตุคนขับรถบรรทุกพุ่งชนฝูงชนที่เมืองนีซ และปลายปีเราส่งท้ายด้วยเหตุการณ์เศร้าสลดคือ เหตุคนขับรถบรรทุกพุ่งชนฝูงชนในตลาดคริสต์มาส กรุงเบอร์ลิน และเหตุการณ์อุกอาจอย่างตำรวจตุรกีสังหารทูตรัสเซียกลางแกลเลอรีในกรุงอังการา

ภาพชาวซีเรียเผชิญกับสงครามกลางเมือง จนถึงภาพผู้อพยพกางเต็นท์กลางกรุงปารีส เหตุการณ์เหล่านี้คล้ายกับจิ๊กซอว์หลายชิ้นที่สะท้อนให้เราเห็นภาพใหญ่ว่า ระเบียบโลกชุดเดิม หรือระเบียบโลกชุดเสรีนิยมที่โลกใช้มาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนั้นกำลังเผชิญปัญหา

สิ่งนี้สะท้อนออกมาในผลประชามติออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ และชัดยิ่งขึ้นเมื่อเราเห็นว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกา

ระเบียบโลกชุดเดิมกำลังถูกตั้งคำถาม และกำลังถูกท้าทายจากรอบทิศ

เราในฐานะประเทศไทยที่ยังคงเจอกับความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในบ้าน ทำให้มิติการเมืองนอกบ้านดูจะถูกลดทอนความสำคัญลงไป แต่ถ้าทิศทางการเมืองโลก หรือระเบียบโลกกำลังจะเปลี่ยน ย่อมหมายถึงนโยบายต่างประเทศที่อาจจะเปลี่ยนตาม

แล้วประเทศไทยจะรับมือเช่นไร?

ทิศทางการเมืองโลกจึงเป็นสิ่งที่ ‘ใกล้ตัว’ มากกว่าที่เราคิด

The Momentum มีโอกาสได้พูดคุยกับ ศ. ดร. สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงทิศทางการเมืองโลกในปี 2017 ที่คนไทยทุกคนควรจะตระหนักก่อนที่ปีหน้าจะมาถึง

ระเบียบโลกชุดเดิมที่กำลังถูกท้าทายจากรอบทิศในปี 2016

ระเบียบโลก หรือ World Order นั้น คือระเบียบกระแสหลักที่โลกยึดถือมาตั้งแต่แต่หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งคือระเบียบโลกชุด ‘เสรีนิยม’ ระเบียบชุดนี้ยิ่งมาแรงในช่วงหลังสงครามเย็น เพราะโลกเจอกับกระแสโลกาภิวัตน์ ที่พัดมาทั้งกระบวนการสร้างประชาธิปไตย (Democratization) ธรรมาภิบาล (Good Governance) รวมถึงเศรษฐกิจการตลาด (Market Economy) และเศรษฐกิจเสรี (Neoliberal Economy)

ทั้งโลกและเราในฐานะตัวบุคคลจึงต่างคุ้นเคยกับระเบียบเสรีนิยมมาโดยตลอด แม้ระเบียบโลกชุดเสรีนิยมจะเคยถูกท้าทายมาแล้วในสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามเย็นก็ตาม ศ. ดร. สุรชาติ ได้แสดงทัศนะในเรื่องนี้ว่า “ถ้าเราสังเกต ผมคิดว่าโลกอยู่ในกระแสเดียวคือ กระแสที่เป็นเสรีนิยม แม้ว่าจะมีการต่อสู้อย่างเช่น ความพยายามของพรรคนาซีของฮิตเลอร์ที่สุดท้ายก็แพ้สงคราม ซึ่งเท่ากับตอบเราว่า ฮิตเลอร์เปลี่ยนระเบียบโลกไม่ได้ พอมาถึงยุคสงครามเย็น เราก็ได้เห็นความพยายามของฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งสุดท้ายเราเห็นการล่มสลายของพรรคเหล่านี้ โดยเฉพาะในรัสเซีย และการรวมชาติของเยอรมนี”

ประวัติศาสตร์การเมืองโลกจึงตอบกับเราว่า ระเบียบโลกชุดเสรีนิยมเป็นฝ่ายที่ชนะมาโดยตลอด จนกระทั่งผลโหวต Brexit ปี 2016 และการชนะของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในสนามการเลือกตั้งของอเมริกา ที่สะท้อนว่าปัญหาการก่อการร้าย การรับมือกับผู้อพยพ และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่ระเบียบโลกชุดเสรีนิยมยังตอบไม่ได้ ส่งผลให้พรรคฝ่ายซ้ายหาประเด็นสู้กับพรรคฝ่ายขวาลำบากมากขึ้น การเมืองในสหรัฐฯ และยุโรปจึงเริ่มหันไปหาระเบียบโลกอีกชุดที่พรรคการเมืองฝ่ายขวานำเสนอ ซึ่ง ศ. ดร. สุรชาติ ชี้ว่า “พอมาถึงปี 2016 ผมยอมรับว่าผมช็อก ในช่วงต้นปีเราเริ่มเห็นความพยายามของปีกอนุรักษ์นิยมในอังกฤษ ที่เชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่อังกฤษจะต้องเป็นเอกราชจากสหภาพยุโรป ผมคิดว่าเวลาเราตามข่าว เราถูกครอบด้วยระเบียบที่เป็นเสรีนิยม คือเชื่อว่าฝั่งอยู่ (Bremain) จะชนะ เราแทบไม่ได้เปิดใจว่ามันมีโอกาสที่ฝั่งอยู่จะแพ้นะ แล้วในที่สุดฝั่งอยู่ก็แพ้”

นอกจาก Brexit และชัยชนะของทรัมป์แล้ว ยังตามมาด้วยกระแสความนิยมที่เพิ่มขึ้นของ มารีน เลอ แปน หัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดของฝรั่งเศส ปรากฏการณ์การขึ้นมาของพรรคฝ่ายขวาในออสเตรีย และเยอรมนี ทั้งที่ในอดีตพรรคขวาจัดเป็นสิ่งที่คนออสเตรียไม่ยอมรับ ปีกขวาที่ชนะในประชามติของอิตาลี จนถึงการแพ้ของพรรคสังคมนิยมในการเลือกตั้งสเปน สิ่งนี้คือเค้าลางที่ส่งสัญญาณว่าโลกอาจกำลังจะเจอกับการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ในปี 2017

ปี 2017 โลกกำลังเจอกับการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ที่สุดถัดจากสงครามโลกครั้งที่สอง

ขณะที่ปี 2016 เริ่มสะท้อนความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แต่ปี 2017 จะเป็นปีที่ชี้ชัดว่าโลกจะเดินไปในทางใด เริ่มกันที่การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในต้นปี 2017 นี้เราจะได้เห็นคณะรัฐมนตรีและนโยบายของเขาที่ชัดเจนยิ่งขึ้น หลังจากที่ปลายปี 2016 นั้น สื่อต่างๆ ได้แต่พากันคาดการณ์และวิเคราะห์ทิศทางโลกหากเขาเข้าไปทำงานที่ทำเนียบขาว

ฟากยุโรปนั้นเราจะมีการเลือกตั้งทั่วไปของมหาอำนาจสำคัญอย่างฝรั่งเศส และเยอรมนี ที่จะเป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญครั้งใหญ่ หากพรรคฝ่ายขวาคว้าชัยชนะ เพราะจะถือว่าโลกปฏิเสธระเบียบชุดเสรีนิยมครั้งสำคัญอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ศ. ดร. สุรชาติเห็นว่า “การเลือกตั้งของ อังเกลา แมร์เคิล จะเป็นโจทย์ที่ใหญ่ที่สุดของเธอ ในขณะที่ตอนนี้เธอซึ่งคือปีกขวาสายกลางยังประสบปัญหา ปีกซ้ายในเยอรมนีก็คงไม่ต้องพูดถึง และถ้าผลการเลือกตั้งของเยอรมนีสวิงไปขวา ก็จะเท่ากับเป็นการสวิงขวาครั้งใหญ่ที่สุด เหมือนเมื่อครั้งก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ตอนนั้นพวกเราทั้งหลายขณะนี้ยังไม่เกิด คือตอนที่ฮิตเลอร์และมุสโสลินีขึ้นสู่อำนาจ แต่ถึงอย่างนั้น ครั้งนั้นก็ยังถือว่ายังไม่หันขวาทั้งยุโรป แต่ถ้าการเลือกตั้งของเยอรมนีหันขวาด้วย มันจะกลายเป็นกระแสขวาทั้งยุโรป โลกกำลังจะตอบเราว่า ถ้าเป็นอย่างนี้เรากำลังจะเกิดการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ และปี 2017 กำลังจะเป็นการมาของกระแสขวาประชานิยม”

โลกถูกจัดระเบียบด้วยแนวคิดเสรีนิยมมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หลังมหาอำนาจโลกเริ่มจัดตั้งองค์กรระหว่างประเทศอย่าง League of Nations ที่ตอนหลังคือ องค์การสหประชาชาติ  (United Nations) องค์กรเหล่านี้เปรียบเหมือนชมรมหรือคลับของมหาอำนาจที่มีอิทธิพลต่อทิศทางของโลก และในตอนนั้นประเทศมหาอำนาจเหล่านี้ก็ถือแนวคิดแบบเสรีนิยมกันหมด ดังนั้นหากมหาอำนาจเหล่านี้หันเข้าสู่กระแสขวาประชานิยม ศ. ดร. สุรชาติชี้ว่า

“เราจะเห็นชมรมโลกที่เป็นปีกขวา ถ้ากระแสโลกมันขวากันหมดเลย ความน่ากลัวคือ เราจะมีสมัชชาความมั่นคงขององค์การสหประชาชาติ ที่เป็นสมัชชาขวา ผมกำลังเรียกว่ามันเป็น World Club ของปีกขวา ตั้งแต่เราอยู่กันมา เราไม่เคยเห็นเวทีโลกเป็นเวทีขวา ผมลองคิดดูเล่นๆ ว่า ในสมัชชาความมั่นคง 5 ประเทศ คือ สหรัฐฯ มีโดนัลด์ ทรัมป์ รัสเซียมี วลาดิเมียร์ ปูติน จีนมี สีจิ้นผิง อังกฤษมี เทเรซา เมย์ และถ้าฝรั่งเศสเกิดเป็น มารีน เลอ แปน ขึ้นมา ผมไม่รู้จะใช้คำว่าสนุกได้ไหม หรือจะเปลี่ยนทิศทางโลกได้แค่ไหน”

เมื่อเราพอจะคาดเดาได้ว่าในอนาคตอันใกล้โลกอาจไม่ถือระเบียบเสรีนิยมอีกต่อไป แล้วจะเกิดอะไรขึ้น?

การเลือกตั้งของมหาอำนาจสำคัญอย่างฝรั่งเศสและเยอรมนี
จะเป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญครั้งใหญ่ หากพรรคฝ่ายขวาคว้าชัยชนะ
จะนับว่าโลกปฏิเสธระเบียบชุดเสรีนิยมครั้งสำคัญอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน


ระเบียบ 3 แท่งกับความกังวลต่อระเบียบโลกชุดใหม่

ศ. ดร. สุรชาติ บอกกับ The Momentum ว่า “เราไม่เคยเห็นการกำเนิดของปีกขวาแบบที่เป็นมหภาคหรือเป็นภาพใหญ่ แบบที่ปีกขวาขึ้นมาทั้งกระแสแบบนี้ นอกจากครั้งสำคัญครั้งสุดท้ายคือการขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์ ผมไม่ได้บอกว่าเรากำลังเตรียมเข้าสู่สงคราม แต่กำลังจะบอกว่าประวัติศาสตร์เคยตอบเราแบบนี้ไหม เคย แต่สิ่งที่เรากังวลเฉพาะหน้าจริงๆ คือ เราไม่รู้ว่านโยบายข้างหน้าคืออะไร”

เมื่อระเบียบโลกเกี่ยวข้องกับนโยบาย ศ. ดร. สุรชาติ ได้แบ่งให้เราเห็นว่า โลกนั้นถูกจัดระเบียบด้วยระเบียบ 3 แท่ง นั่นคือ ระเบียบเกี่ยวกับความมั่นคง ระเบียบด้านการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และระเบียบเรื่องพันธะสัญญา

เริ่มกันที่ระเบียบด้านความมั่นคง แม้ว่าโลกจะหันสู่กระแสขวา แต่ข้อพิพาทระหว่างประเทศต่างๆ ไม่ได้หายไปไหน และการแข่งขันของประเทศมหาอำนาจจะยังอยู่ในพื้นที่หลายจุดทั้งในตะวันออกกลาง “ถ้าอเมริกาสามารถยุติบทบาทของกลุ่มไอเอสได้ ลองคิดเล่นๆ ว่าถ้าโมซุลแตก แล้วบรรดากลุ่มนักรบไอเอสจะไปไหน เราอาจคาดการณ์ได้ว่า ส่วนหนึ่งคงแตกเข้ายุโรปเพื่อสร้างฐานที่มั่นใหม่หรือเข้าไปก่อเหตุ ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลคือ อาจจะแตกเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ซึ่งหากใครตามข่าวในภูมิภาคนี้จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในช่วงปี 2015-2016 ว่า กลุ่มติดอาวุธในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างเช่น อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ได้ประกาศขอเข้าร่วมกับกลุ่มไอเอส

อีกสิ่งที่น่ากังวลในทวีปเอเชียนั้น ศ. ดร. สุรชาติ มองว่าคือ การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ “สิ่งที่ตอบไม่ได้คือ ผู้บริหารชุดใหม่ภายใต้การนำของทรัมป์ จะยอมให้ผู้นำเกาหลีเหนือทดลองนิวเคลียร์ไปเรื่อยๆ ไหม แล้วถ้าไม่ยอม สหรัฐฯ จะทำอย่างไร ก่อนหน้านี้เราเคยเห็นกรณีที่สหรัฐฯ ไม่ยอมอิรัก นั่นคือ การส่งกองกำลังเข้าไปล้มรัฐบาล ซัดดัม ฮุสเซน ซึ่งถ้าสหรัฐฯ ตัดสินใจจะทำอย่างนั้นกับเกาหลีเหนือ เท่ากับว่าเป็นการเปิดสงครามโดยตรงกับเกาหลีเหนือ ดังนั้นนี่คือเครื่องหมายคำถามที่ใหญ่มากสำหรับเอเชีย”

ระเบียบโลกชุดเสรีนิยมเป็นฝ่ายที่ชนะมาโดยตลอด จนกระทั่งผลโหวต Brexit ปี 2016
และชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ที่สะท้อนว่าโลกเริ่มหันไปหาระเบียบโลกอีกชุดที่พรรคการเมืองฝ่ายขวานำเสนอ

นอกจากนี้การที่ทรัมป์ตัดสินใจยกหูโทรศัพท์หาประธานาธิบดีไต้หวัน ซึ่งขัดกับนโยบายจีนเดียว (One China Policy) ที่สหรัฐฯ ยึดถือมาโดยตลอดนั้นชัดเจนว่า ทรัมป์ไม่ได้สนใจที่จะเดินตามรอยเดิมของ บารัก โอบามา ซึ่งแน่นอนว่าปีหน้าเอเชียจะเจอกับความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาค และขณะนี้ประเทศในอาเซียนเองก็แตกเป็นสองฝ่ายระหว่างสนับสนุนจีนกับสหรัฐฯ ศ. ดร. สุรชาติจึงแนะประเทศไทยว่า “จุดยืนของไทยมีนัยยะสำคัญทั้งต่อเราเอง และต่อเพื่อนบ้านในภูมิภาค ผมไม่อยากเห็นไทยเป็นเด็กเล็กเลือกข้าง เพราะเวลาที่ผู้ใหญ่เปลี่ยนข้างแล้ว หรือการเมืองของผู้ใหญ่เขาเปลี่ยน เราจะปรับตัวไม่ทัน ซึ่งสถานการณ์อย่างนั้นมันเกิดมาแล้ว เมื่อสหรัฐฯ ตัดสินใจเดินทางเยือนปักกิ่งในปี 1971”

ขณะที่ระเบียบโลกด้านการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศนั้นชัดเจนว่า ในยุคโลกาภิวัตน์นั้นโลกถูกขับเคลื่อนด้วยแนวคิดเสรีนิยมที่เชิดชูเขตการค้าเสรี เศรษฐกิจแบบตลาด ยิ่งโดยเฉพาะหลังจากความพ่ายแพ้ของรัฐสังคมนิยมในสหภาพโซเวียต ซึ่งถ้าปีหน้ากระแสปีกขวาประชานิยมมา ก็เป็นอีกโจทย์ที่เราทุกคนต้องคิด “เราต้องคิดว่า ปีหน้ามันจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร อย่างบทบาทของรัฐมหาอำนาจใหญ่ของสหรัฐฯ และยุโรปทั้งในธนาคารโลก และ IMF ถ้าวันนี้เศรษฐกิจแบบการตลาดถูกท้าทายมากขึ้นจากกระแสขวาประชานิยม แล้วรูปแบบของระเบียบทางเศรษฐกิจโลกในปีหน้าหน้าตาจะเป็นอย่างไร นี่คืออีกเครื่องหมายคำถามใหญ่เช่นกัน ถ้าลัทธิกีดกันทางการค้ามา ภาคส่งออกของไทยต้องคิด เพราะการค้ามันอาจจะไม่ถึงกับปิด แต่มันจะหด”

ซึ่งการคาดการณ์นี้ก็สะท้อนออกมาในข่าวล่าสุดวันที่ 22 ธันวาคม 2016 ว่า มีความเป็นไปได้ที่ทรัมป์จะเพิ่มอัตราภาษีทางการค้ากับสินค้านำเข้า ตามนโยบาย American First ที่เขาเคยให้ไว้ตอนหาเสียง

ระเบียบโลกด้านสุดท้ายซึ่งเป็นอีกเสาที่ค้ำระเบียบโลกชุดปัจจุบันไว้  นั่นคือพันธะสัญญาต่างๆ ที่แต่ละประเทศมีข้อตกลงร่วมกัน ตั้งแต่เรื่องความมั่นคงอย่างองค์การนาโต้ ข้อตกลงว่าด้วยเรื่องของการไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ (Non-Proliferation Treaty) จนถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่าง พันธะสัญญาที่ปารีสว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ หรือจะเป็นบทบาทของสหรัฐฯ ในการผลักดันให้เกิดกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในหลายประเทศ ซึ่งจะเห็นว่าทั้งหมดข้างต้นนั้นโลกมีมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ เป็นตัวละครสำคัญในการกำหนดทิศทางของโลกมานาน แต่เมื่อทรัมป์ขึ้นมา แนวคิดของเขาได้เปลี่ยนจากแนวคิดชุดนี้เกือบทั้งหมด

ทรัมป์อยากลดภาระค่าใช้จ่ายด้านอาวุธที่เคยให้การช่วยเหลือญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ ทรัมป์ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องโลกร้อน และทรัมป์ไม่ได้สนใจเรื่องการโปรโมตประชาธิปไตย

“พันธกรณีระหว่างประเทศมันพัวพันถึงบทบาทของรัฐมหาอำนาจ ผมเชื่อว่าวันนี้ก่อนปี 2016 จะจบลงโดยที่หลายฝ่ายกังวลกับนโยบายชของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ อย่างเช่น นโยบายที่ทรัมป์หาเสียงกับคนงานโรงงานถ่านหิน ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าสหรัฐฯ อาจถอยกลับมาใช้พลังงานแบบเก่าที่ก่อให้เกิดมลภาวะโลก แล้วถ้าสหรัฐฯ ตัดสินใจหันหลังให้ข้อตกลงที่ปารีส อาจจะทำให้มหาอำนาจอื่นถอยออกตาม แล้วถ้าทุกฝ่ายหันกลับไปใช้พลังงานสกปรกกันหมด เราก็จะกลับสู่โลกแบบเก่าที่มีมลภาวะมากขึ้น และถ้าสหรัฐฯ ตัดสินใจไม่ทำการโปรโมตเรื่องประชาธิปไตย มันก็เป็นคำถามเหมือนกันว่า บางประเทศจะกลับไปสู่การปกครองในรูปแบบรัฐเผด็จการหรือไม่”

หากโลกเป็นไปตามที่คาดการณ์ข้างต้น ชัดเจนว่าโลกในปี 2017 กำลังจะเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของทั้งโลก รวมถึงประเทศไทยเอง

การรับมือของประเทศไทยต่อการมาของกระแสขวาประชานิยมในปี 2017

เมื่อระเบียบโลกชุดเสรีนิยมในปี 2017 เดินมาเจอความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งจากกระแสขวาประชานิยม จึงเกิดเป็นคำถามว่า หรือระเบียบโลกชุดเสรีนิยมที่โลกยึดถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมาตลอดนั้นล้มเหลว

“ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่บรรดาปัญญาชนยุโรปกำลังถกเถียง ซึ่งเราต้องยอมรับในบริบทหนึ่งคือ ระเบียบโลกชุดนี้มีข้อบกพร่อง และความผิดพลาด อย่างปัญหาคนตกงานและช่องว่างทางรายได้ โลกาภิวัตน์กลับไปถ่างช่องว่างหลายเรื่อง ประเทศที่กำลังพัฒนาตัวเองก้าวตามลำบากขึ้น แต่ถ้าประเทศก้าวตามได้ระดับหนึ่ง มันจะมีบางกลุ่มบางชนชั้นที่ก้าวได้ และชนชั้นอีกส่วนหนึ่งก็จะถูกทิ้ง นั่นหมายถึงในโลกมันจะมีชนชั้นหนึ่งที่ถูกทิ้งทั่วโลก เมื่อเป็นอย่างนี้คนงานหรือชนชั้นล่างเขาฝันว่าอยากจะกลับเข้ามา ฝันอยากมีงาน เพราะงานคือเงินเดือนนะครับ”

เมื่อฮิลลารีไม่ใช่คำตอบสำหรับคนอเมริกัน สหภาพยุโรปไม่ใช่คำตอบของคนอังกฤษ และอีกหลายกระแสที่กำลังจะตามมาในปี 2017 สะท้อนว่าเสรีนิยมไม่ใช่คำตอบสำหรับหลายประเทศ จึงวกกลับมาเป็นคำถามว่า แล้วเราจะเห็นการมาของฝ่ายขวาของประเทศไทยเหมือนกันหรือไม่ แล้วฝ่ายขวาของประเทศไทยนั้นเป็นอย่างไร

“เราจะเห็นอย่างหนึ่งว่ากระแสขวาประชานิยมในยุโรปและสหรัฐฯ เขาไม่ได้ทิ้งชนชั้นล่าง และพยายามจะเชื่อมต่อกับชนชั้นล่างในอีกมิติหนึ่ง แต่ขวาของไทยอาจจะรังเกียจชนชั้นล่าง ถ้าเราจะบอกว่าขวาประชานิยมที่มีลักษณะต่อต้านโลกาภิวัตน์ ผมคิดว่ามีส่วน แต่ผมคิดว่ามันซับซ้อนกว่ากระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ในไทย เพราะในการต่อต้านของเขา เขามีข้อเสนอแนะลงไปทำงานกับชนชั้นล่าง ผมในฐานะอดีตผู้นำนักศึกษาที่สู้กับปีกขวามาตั้งแต่ปี 2516-2519 ผมคิดว่าผมเข้าใจว่าทำไมขวาไทยสุดโต่งในปี 2519 แต่ในช่วงหลังที่เป็นโลกาภิวัตน์ ผมคิดว่าขวาไทยสุดโต่งแบบไร้สาระ เพราะไม่เห็นว่าความสุดโต่งของขวาไทยอะไรคือคำตอบ และอะไรคือแกนกลางของอุดมการณ์ขวาไทยในปัจจุบัน ข้อเสนอพื้นๆ ของผมคือ ขวาไทยต้องปรับตัวนะครับ ขวาประชานิยมประเทศอื่นไม่ได้มีอำนาจด้วยการยึดอำนาจ แต่มาด้วยการเลือกตั้ง ขวาไทยต้องเรียนรู้ที่จะมีอำนาจด้วยการเลือกตั้ง ไม่ใช่อาศัยระบอบอำนาจนิยม มิเช่นนั้นคุณก็จะเป็นขวาที่โลกไม่ยอมรับ เป็นขวาที่ยืนไม่ได้ในเวทีโลก และอย่าเชื่อง่ายๆ ว่าขวาแบบเสนานิยมบวกทุนนิยมจะเป็นเครื่องมือที่ค้ำประกันอนาคตของรัฐไทย เพราะขวาชุดนี้ล้มเหลวมานานแล้วในลาตินอเมริกา ไม่มีโอกาสฟื้น เพราะปัจจุบันขวาในลาตินอเมริกามาด้วยการเลือกตั้ง ประเทศไทยจะไม่ได้เป็นเพียงรถไฟตู้โบกี้ตู้สุดท้ายนะครับ แต่จะเป็นตู้โบกี้ที่เขาปลดทิ้งไว้อยู่บนรางแล้วไม่มีรถไฟขบวนไหนมาเกี่ยวเราไป”

หากปี 2016 ที่ผ่านมาสะท้อนความเปลี่ยนแปลง ปี 2017 ก็คือปีแห่งความผันผวน ที่วันนี้ทุกคนจบปีลงด้วยความกังวลต่อความไม่แน่นอนในอนาคตอันใกล้ ทั้งเรื่องการเมืองภายนอกและภายในบ้าน ก่อนเราจะเริ่มต้นศักราชใหม่กันอีกครั้ง The Momentum ถาม ศ. ดร. สุรชาติ เป็นคำถามทิ้งท้ายว่า

เราจะยังมีความหวังอะไรได้ไหมในปี 2017

ขวาประชานิยมประเทศอื่นมาด้วยการเลือกตั้ง
ขวาไทยต้องเรียนรู้ที่จะมีอำนาจด้วยการเลือกตั้ง
ไม่ใช่อาศัยระบอบอำนาจนิยม มิเช่นนั้นคุณก็จะเป็นขวาที่โลกไม่ยอมรับ
เป็นขวาที่ยืนไม่ได้ในเวทีโลก

ภาพถ่ายโดย พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์

ศ. ดร. สุรชาติ ตอบกับเราว่า “ผมคิดว่าข้อดีของการช็อกคือ มันทวงถามเราในทางปัญญาว่าในสถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลง เราจำเป็นต้องอาศัยความรู้และปัญญาเข้ามาช่วยคิด การพ่ายแพ้คือการเตือนพวกเราว่าไม่ปรับตัวใช่ไหมล่ะถึงแพ้ และการคุยกันต้องไม่ชี้นิ้วกล่าวโทษกัน ผมคิดว่าข้อเรียกร้องของผมไม่ต่างจากข้อเรียกร้องของปัญญาชนยุโรป คือเราแพ้เพราะเราคิดแบบเก่า ปีหน้าจึงเป็นปีที่หมอกเยอะ ผมไม่รู้ว่าไฟตัดหมอกอยู่ตรงไหน แต่ผมเชื่อว่าปีหน้าจะเป็นปีแห่งการโต้แย้งและถกเถียง ถึงแม้กติกาทางการเมืองอาจจะเปิดให้เราเข้าไปคุย แต่ผมเชื่อว่าการแสวงหาทางปัญญาในปีหน้าจะมากขึ้น และสุดท้ายการแสวงหาปัญญาต้องทำร่วมกัน คบเพลิงที่จุดไฟเพื่อให้แสงสว่างในสังคมมันไม่เคยหมด มันอาจมีบางช่วงที่ลมแรงบ้าง ไฟมอดบ้าง ซึ่งมันขึ้นอยู่กับเราเท่านั้นว่า เราจะช่วยกันจุดคบเพลิงอันนี้ร่วมกันไหม”

ไม่ว่าปี 2017 โลกจะเจอกับปัญหา ความท้าทาย หรือความเปลี่ยนแปลงรูปแบบไหน สิ่งที่เรายังต้องทำร่วมกันคือ การแสวงหาปัญญา หากแต่การแสวงหาปัญญาจะไม่เกิดประโยชน์อันใด ถ้าสังคมยังยึดติดอยู่กับกับดักเดิม ที่ขาดการรับฟังซึ่งกันและกัน และใช้อารมณ์มากกว่าสติและปัญญา

คุณจะช่วยกันจุดคบเพลิงทางปัญญาไหม?

Tags: , , , , ,