‘มิวเซียม’ หรือ ‘พิพิธภัณฑ์’ ในไทยมักถูกม่านหมอกของประวัติศาสตร์ชาติปกคลุม ทั้งๆ ที่ในโลกนี้มี ‘สิ่งของ’ ที่สามารถนำมาร้อยเรียงและทำเป็น ‘ประวัติศาสตร์ของสิ่งของ’ (The History of Things) ได้อีกมากมาย
วัตถุยั่วยวนทางเพศ หรือเกี่ยวกับกามารมณ์ ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มของวัตถุที่อยู่คู่กับชีวิตมนุษย์มาแต่โบราณที่สามารถให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์กับผู้ชมได้เช่นกัน
เป็นเรื่องน่าเบื่อที่จะเริ่มต้นด้วยการอธิบายว่า มิวเซียม หรือพิพิธภัณฑ์ คืออะไร แน่นอนในความหมายไทยคือ พิพิธภัณฑสถาน คือที่เก็บของต่างๆ (กรมศิลปากร, 2560) ส่วนมิวเซียมคือ พื้นที่แห่งการก่อรูปของความรู้ หรือให้ความรู้ ซึ่งคำว่า ‘มิว’ นี้มาจากชื่อเทพธิดาแห่งศิลปะ (Saraydarian, 2017)
ดังนั้นเราอยากจะลองขยับมาสู่ประเด็นที่น่าคิดสักนิดว่า วัตถุสิ่งของ ภาพถ่าย ภาพวาด หรืออะไรก็ตามที่จัดแสดงใน ‘เซ็กซ์มิวเซียม’ (Sex Museum) กำลังสะท้อนให้เราเห็นอะไรในสังคมของเราได้บ้าง โดยเฉพาะการทำให้มนุษย์กลายเป็นเพียงวัตถุสนองอารมณ์ทางเพศ (sexual objectification) ซึ่งจะกล่าวถึงในช่วงท้ายของบทความ
ถ้าหากเปิดใจสักนิด และมองเรื่องเซ็กซ์ว่าเป็นความรู้ของมนุษยชาติแบบหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจอย่างที่สังคมชอบทำให้เกิดความรู้สึกเช่นนั้น บทความนี้เลยจะขอนำเสนอเซ็กซ์มิวเซียมในมุมวิเคราะห์
เท่าที่ผมทราบตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการ ทั่วโลกมีมิวเซียมทำนองนี้อยู่ราว 28 แห่ง แต่ในที่นี้ขอเล่าเฉพาะที่เนเธอร์แลนด์เท่านั้น เพราะว่ากันว่าที่นี่เป็นเซ็กซ์มิวเซียมที่เก่าแก่ที่สุดในโลก แถมยังได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นมิวเซียมที่จัดแสดงได้ดี เสียวซ่าน ตื่นเต้น แถมยังรวบรวมของมาจากแทบทุกมุมโลก แบบไม่มีการเซ็นเซอร์อีกด้วย
สำรวจทุกซอกหลืบใน ‘วิหารแห่งวีนัส’
เซ็กซ์มิวเซียมแห่งนี้มีชื่อว่า ‘Sexmuseum Amsterdam Venustempel’ หรือ ‘เซ็กซ์มิวเซียม อัมสเตอร์ดัม วีนัสเทมเพล’ ถือกันว่าเป็นเซ็กซ์มิวเซียมที่เก่าที่สุดในโลก ตั้งอยู่กลางกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อ ค.ศ.1985 ซึ่งทุกวันนี้มีคนเข้าชมต่อปีร่วม 5 แสนคน
ถึงภายนอกจะดูเป็นตึกคล้ายห้องเล็กๆ ไม่ต่างจากเซ็กซ์ช็อปในกรุงลอนดอน แต่ภายในกลับอัดแน่นไปด้วยวัตถุจัดแสดงที่เกี่ยวกับเซ็กซ์วิถีอย่างน่าสนใจ (เชื่อสิว่าน่าสนใจจริง) เช่น อุปกรณ์ทรมานร่างกายเพื่อใช้ในการร่วมเพศ เซ็กซ์ทอยหลากชนิด ภาพวาดนู้ดทั้งเก่าและใหม่ ภาพถ่ายแนวอีโรติก (erotic) นู้ด-โป๊ และนิทรรศการต่างๆ บอกประวัติศาสตร์เซ็กซ์
ความจริงภายในนิทรรศการเขาก็มีการเขียนคำบรรยายไว้บ้าง แต่คนส่วนใหญ่ก็มักไม่ทันได้อ่าน แต่เอาเป็นว่าอย่างน้อยก็ได้รับรู้ (perceive) อะไรไปบ้างก็ยังดี
เมื่อเหยียบเข้าไปในมิวเซียม สิ่งแรกที่จะพบคือ ประติมากรรมรูปวีนัสเปลือย ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับที่ขายตั๋ว ถือเป็นจุดเด่นและเป็นที่มาของชื่อมิวเซียมแห่งนี้ ที่แปลเป็นไทยว่า ‘วิหารแห่งวีนัส’ (The Temple of Venus)
ประติมากรรมนี้ไม่ได้ตั้งเก๋ๆ เพื่อเอารสนิยม แต่เขาต้องการสื่อให้เห็นถึงความงามของเรือนร่าง (body) ตามอุดมคติของชาวกรีก หรือกระทั่งยุโรปในสมัยเรเนสซองส์
หลังจากผ่านเข้าประตูไป ความสวยงามแบบเพ้อฝันก็ต้องจบลงเมื่อเจอกับนิทรรศการและสิ่งของต่างๆ ที่เขานำมาจัดแสดง เรียกได้ว่าแต่ละอย่างฮาร์ดคอร์ (hardcore) ทีเดียว มันเหมือนเป็นการตัดกันระหว่างความรู้สึกสมัยโบราณกับโลกสมัยใหม่ที่เซ็กซ์คือเรื่องบันเทิงเริงรมย์อย่างแท้จริง มีอุปกรณ์ทรมานร่างกาย เซ็กซ์ทอย หุ่นผู้หญิงแสดงการถูกมัด (คล้ายๆ กับใน Fifty Shades of Gray) มีกระทั่งแบบที่ดูวิตถารและสยดสยอง ภายในนิทรรศการยังมีบางมุมที่นำเสนอเรื่องอุตสาหกรรมหนังโป๊ที่เติบโตทั้งในยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น
จากทั้งหมดที่พูดมา ถ้าเราลองตั้งคำถามต่อว่าทำไมในโลกสมัยใหม่สังคมจึงได้บริโภคหนังโป๊ และมีพฤติกรรมทางเพศที่ดูจะรุนแรงมากขึ้น มีนักวิชาการบางคนเสนอว่า เพราะในสังคมสมัยใหม่มีความเครียดสูงจากการทำงานในเมืองและอุตสาหกรรม ยิ่งในสังคมเมืองด้วยแล้วที่การแต่งงานช้าขึ้น ผู้คนไม่รู้จักกัน ทำให้ไม่สามารถแต่งงานได้เร็ว ใช้ชีวิตเดียวดายมากขึ้น คนจึงยิ่งเก็บกด จนนำไปสู่การพยายามหาหนทางในการปลดปล่อยอารมณ์ทางเพศ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ในสังคมเมือง เรามักจะเจอผู้ชายที่เปิดเสื้อถอดกางเกงโชว์อวัยวะเพศให้ผู้หญิงดูตามมุมตึกหรือข้างถนน ซึ่งในมิวเซียมแห่งนี้เขาก็ทำหุ่นจำลองคล้ายหุ่นยนต์แบบนี้ไว้ หุ่นตัวนี้เคลื่อนไหวได้ แถมโชว์เครื่องเพศแบบฝรั่งชัดๆ (ลองไปหา YouTube ดูกันเอาเอง)
มีอยู่มุมหนึ่งที่ผมอยากนำเสนอมาก หลายคนคงเคยดูเรื่อง สโนไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด ใช่ไหม ซึ่งมุมดังกล่าวในมิวเซียมเขาก็เนรมิตภาพสโนไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ดกำลังโชว์ของสงวนกัน สโนไวท์กำลังเปลื้องชุดเจ้าหญิงยั่วคนแคระ ส่วนด้านหลังมีเจ้าชายกำลังควบม้ามาจากปราสาทยอดแหลมที่เหมือนอวัยวะเพศชาย (ปราสาทศิวลึงค์) บางคนอาจพูดขึ้นมาว่า เฮ้ย ทำแบบนี้ได้ไง ฝันวัยเด็กของฉันสลายหมด แต่ถ้าลองหาข้อมูลจะพบว่าเรื่อง สโนไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด ถูกทำเป็นทั้งการ์ตูนและหนังโป๊ที่ใช้คนแสดงจริงหลายเวอร์ชันมาก รายแรกๆ ที่เอาการ์ตูนเรื่อง สโนไวท์ มาทำเป็นการ์ตูนโป๊คือ นายเดวิด แกรนต์ (David Grant) ซึ่งผลิตหนังเรื่องนี้เมื่อ ค.ศ.1973 นั่นเชียว โดยใช้ชื่อเรื่องว่า Snow White and the Seven Perverts
ขอนอกเรื่องนิด ในฝั่งเอเชียเราเอง ญี่ปุ่นถือเป็นผู้นำการ์ตูนโป๊ก็ว่าได้ เขาเรียกว่า ‘ชุงงะ’ (Shunga) คือศิลปะแบบหนึ่งในการวาดภาพการร่วมเพศระหว่างชายหญิงถูกใช้เป็นคู่มือสอนลูกชายกับลูกสาวเพื่อให้รู้จักการมีบุตรซึ่งสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของครอบครัว ภาพชุงงะนี้บางคนก็ตีความกันในหลายแง่มุม เช่น ให้ซามูไรที่ออกรบพกไปเพื่อจะได้มีกำลังฮึกเหิมหรือใช้ป้องกันตัว การวาดภาพแบบชุงงะนี้ย้อนกลับไปได้ไกลถึงในสมัยเอโดะ บางหลักฐานก็บอกว่าเก่าไปกว่านั้นก็มี ซึ่งในมิวเซียมแห่งนี้ก็ได้จัดแสดงภาพวาดนี้เช่นกันครับ
เลี้ยวกลับมาที่แง่มุมของการศึกษาสักนิดคือ ถ้าใครชอบภาพถ่ายนู้ดหรือโป๊ ผมว่ามิวเซียมแห่งนี้มีภาพจำนวนมากที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงรสนิยมทางเพศของสังคมตะวันตกจากช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ถึงปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจทีเดียว มีภาพหนึ่งที่ผมชอบคือภาพของหญิงสาวคนหนึ่งทำตัวเป็นเจ้านายถือแส้ และเฆี่ยนแส้ไปยังหญิงสาวอีกคนที่ทำตัวเป็นเหมือนกับสุนัข สังเกตได้ชัดจากท่าทาง และยังมีการเติมหางเข้าไปด้วย
พฤติกรรมแบบนี้เราเรียกว่า ‘ซาดิสม์’ (Sadism) เป็นพฤติกรรมที่คนเราได้รับความสุขจากการทรมานคู่นอน ซึ่งในทางจิตวิทยาแล้วถือกันว่าเป็นอาการป่วยทางจิตชนิดหนึ่ง ทว่าภายหลังก็มีคนออกมาเถียงว่า ความสุขที่เกิดจากการทรมานร่างกายของคู่รักนี้เป็นความสุขของพวกเขา การนิยามว่าเป็นโรคจิตนั้นเกิดขึ้นจากมุมมองของนักจิตวิทยา เรื่องนี้ยังคงเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอยู่
ภาพชุดนี้กำลังสื่อให้เราเห็นถึงการที่มนุษย์ได้ลดทอนคุณค่าของความเป็นมนุษย์ผ่านเซ็กซ์ด้วยการทำให้ฝ่ายตรงข้ามกลายเป็นสัตว์ (หมา) หรือกระทั่งถ้าพูดให้ถึงที่สุดคือ กลายเป็นวัตถุทางกามารมณ์ (sexual objectification) ซึ่งเราจะยกเรื่องพวกนี้ไปพูดในประเด็นถัดไปอย่างสั้นๆ
จากสิ่งมีชีวิตกลายเป็นเพียงสิ่งของ
ถ้าเราลองมองด้วยแนวคิดทฤษฎีสักนิดจะเรียกว่า ‘กระบวนการทำให้เซ็กซ์กลายเป็นวัตถุ’ (sexual objectification) คือกระบวนการที่ทำให้คน สัตว์ หรือสิ่งมีชีวิตลดคุณค่าหรือฐานะกลายเป็นเพียงวัตถุแห่งความพึงพอใจทางเพศ ตัวอย่างเช่น การที่ผู้ชายซื้อบริการจากผู้หญิง ผู้หญิงก็จะถูกแปลงค่าเป็นเพียงสินค้า (commodity) การจัดประกวดนางงาม หรือในญี่ปุ่นที่มีอุตสาหกรรมการทำหนังโป๊ หรือ AV เป็นต้น
ทั้งหมดข้างต้น นักสตรีนิยมมองว่ามันคือสิ่งที่ทำให้ผู้หญิงเหมือนเป็นวัตถุทางเพศของผู้ชาย และนำไปสู่การสร้างความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศชายหญิง
ในขณะเดียวกัน นักบุรุษนิยมบางคนก็ออกมาอธิบายเช่นกันว่า ในบางสถานการณ์ ผู้ชายก็ได้กลายเป็นวัตถุทางเพศเพื่อสนองตัณหาของผู้หญิงเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ตามผับที่ผู้หญิงไปเที่ยวผู้ชาย และ เวนดี แม็กเอลรอย (Wendy McElroy) กล่าวว่า ผู้หญิงก็เป็นกลุ่มคนที่ดูหนังโป๊ผู้ชายเช่นกัน (McElroy, 1995)
ดังนั้นผู้หญิงจึงไม่ใช่วัตถุไปเสียทุกครั้ง เพราะผู้ชายก็อาจกลายเป็นวัตถุ ถึงแม้ว่ามันอาจจะเกิดขึ้นในสเกลที่แตกต่างกันก็ตาม
อย่างไรก็ตาม มีผู้เสนอว่าเวลาเรามองการกลายเป็นวัตถุนั้น บางครั้งจะพบว่า ตัวเราเองก็กำลังทำตัวเองให้กลายเป็นวัตถุด้วยตัวของเราเอง (self-objectification) เช่นกัน ดังเช่นการที่คนบางคนพึงพอใจกับการใช้เซ็กซ์ทอยมาบำบัดความต้องการของตัวเอง หรือการเสพติดศัลยกรรม เพื่อเพิ่มความสวยหรือความหล่อ จนเราก็ได้กลายเป็นวัตถุของความคาดหวังด้านความงามของเพศตรงข้ามไป เป็นต้น
เซ็กซ์ในโลกสมัยใหม่แตกต่างจากโลกยุคโบราณอยู่อย่างหนึ่งคือ เซ็กซ์ในโลกสมัยใหม่มักจะไม่ได้คำนึงถึงเรื่องความอุดมสมบูรณ์เพื่อการสืบเผ่าพันธุ์ของสังคมมากนัก แต่เน้นความสุขส่วนบุคคล หรือปัจเจก เพราะโครงสร้างทางสังคมที่อยู่นั้นมีความแตกต่างกัน
สุดท้ายนี้ ในประวัติศาสตร์ของสิ่งของที่จัดแสดงในเซ็กซ์มิวเซียม จะเห็นได้ว่าในด้านกลับแล้วมนุษย์เองก็ได้กลายเป็นสิ่งของ (object) แม้ว่าเราจะอยู่นอกมิวเซียมก็ตาม
อ้างอิง:
- กรมศิลปากร. 2560. พิพิธภัณฑ์คืออะไร. Avialable at: www.finearts.go.th/thairicefarmersmuseum/index.php/languages/item/พิพิธภัณฑ์-คือ-อะไร[Accessed on 12/2/2017].
- Saraydarian, Torhom. Muses and Inspiration. Avialable at: http://www.sevenray.org/uploads/2/9/0/8/29083311/musesandinspiration.pdf [Accessed on 12/2/2017].
- McElroy, Wendy. 1995. XXX: A Woman’s Right to Pornography. New York: St. Martin’s Press.
- David Grant (producer). Avialable at: en.wikipedia.org/wiki/David_Grant_(producer) [Accessed on 12/2/2017].
- Zmrichardson. Sex Museum in AMSTERDAM // Review. Avialable at: zmrichardson.wordpress.com [Accessed on 12/2/2017].