จากกรณีที่ นายสุเทพ โภชน์สมบูรณ์ อาชีพวิศวกร วัย 50 ปี ใช้อาวุธปืนยิงกลุ่มวัยรุ่นที่พยายามจะเข้ามารุมทำร้ายร่างกาย ขณะเกิดเหตุทะเลาะกันบนท้องถนน จนเป็นเหตุให้วัยรุ่นชายอายุ 17 ปีเสียชีวิตหนึ่งคน
ล่าสุดมีการเผยแพร่คลิปกล้องวงจรปิดที่ติดอยู่ในรถของผู้ก่อเหตุ ที่เผยให้เห็นเหตุการณ์ขณะรถตู้ของกลุ่มวัยรุ่นจอดปิดทางรถของนายสุเทพ ก่อนที่กลุ่มวัยรุ่นจะลงจากรถตู้เพื่อล้อมรถของนายสุเทพ พร้อมตะโกนขู่คนในรถ จนกระทั่งมีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด ก่อนที่กลุ่มวัยรุ่นจะสลายตัวออกไป
คำถามข้อใหญ่ที่สังคมกำลังสงสัยในขณะนี้คือ ถ้าเจอเหตุการณ์แบบนี้ควรทำอย่างไร? การป้องกันตัวผิดกฎหมายหรือไม่? แล้วป้องกันตัวอย่างไรถึงจะไม่ผิดกฎหมาย?
เพื่อคลี่คลายข้อสงสัยนี้ The Momentum ได้ทำการสอบถามไปยัง นิวัติ แก้วล้วน อดีตเลขาธิการสภาทนายความถึงกรณีดังกล่าว
ถ้าเป็นการป้องกันสมควรแก่เหตุ กฎหมายถือว่าไม่ผิด แต่ถ้าเกินกว่าเหตุ
ศาลจะลงโทษตามสมควร หลักการง่ายๆ มีแค่นี้
ป้องกันตัวแบบไหนถึงไม่ผิดกฎหมาย?
ในฐานะนักกฎหมาย อดีตเลขาธิการสภาทนายความให้ความเห็นว่า เราทุกคนมีสิทธิ์ป้องกันตัวโดยไม่ผิดกฎหมาย ถ้ายึดตามหลักกฎหมายง่ายๆ ดังนี้
“หลักกฎหมายง่ายๆ โดยไม่ต้องอ้างมาตราคือ เมื่อมีภัยถึงตัว ภัยถึงทรัพย์สิน หรือภัยถึงบุคคลที่อยู่ในความดูแลของเรา หรือภัยต่อบุคคลใดก็ตาม ถ้าสามารถป้องกันได้ เราควรป้องกัน แต่การป้องกันนั้นต้องสมควรแก่เหตุ ซึ่งถ้าเป็นการป้องกันสมควรแก่เหตุ กฎหมายถือว่าไม่ผิด แต่ถ้าเกินกว่าเหตุ ศาลจะลงโทษตามสมควร หลักการง่ายๆ มีแค่นี้”
แบบไหนที่สมควรแก่เหตุ? หรือแบบไหนที่เกินกว่าเหตุ? นิวัติยกตัวอย่างว่าที่ให้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่า
“ที่มีข่าวบ่อยๆ ที่เขาชอบเอาสายไฟไปล้อมรั้ว แล้วปล่อยกระแสไฟฟ้า พอมีขโมยเข้ามา แล้วโดนไฟช็อตตาย แบบนี้เกินกว่าเหตุแน่นอน
“หรือกรณีสมควรแก่เหตุ สมมติว่าเราถูกจี้ แล้วเขาทำร้ายร่างกายเรา เราไม่มีทางสู้ เราหยิบอาวุธอะไรขึ้นมาก็ตามเพื่อทำการป้องกันตัวไป แต่การกระทำนั้นต้องสมควรแก่เหตุด้วย เช่น สมมติว่ายิงปืน ก็ควรจะยิงแค่นัดเดียว ไม่เกิน 2 นัด หรือไม่ได้ยิงส่วนสำคัญของร่างกายเขา อย่างนี้ก็จะเป็นการป้องกันที่สมควรแก่เหตุ
“แต่ถ้าเป็นกรณีที่ห่างตัวมาก เขาวิ่งมาระยะ 10-20 เมตร แต่เราก็ยังยิงเขานัดแล้วนัดเล่า เขาล้มลงแล้วก็ยังยิงต่อ อย่างนี้จะเป็นการป้องกันตัวที่เกินกว่าเหตุ”
ส่วนในกรณีที่เกิดขึ้นนักกฎหมายมองว่าตำรวจจำเป็นต้องตั้งข้อหาพยายามฆ่าอยู่แล้วในทุกกรณี ส่วนที่จำเลยจะอ้างว่าตัวเองป้องกันตัวโดยสมควรแก่เหตุเพราะภัยมาใกล้ตัว นับเป็นปัญหาทางข้อเท็จจริง จำเป็นต้องมีการสืบสวนเพิ่มเติมว่าภัยที่จะมาถึงดังกล่าวเป็นอย่างไร
“เท่าที่ฟังข่าวตอนนี้ก็จะต้องพิสูจน์กันด้วยหลักนิติวิทยาศาสตร์ ก็คือกล้องวงจรปิดทั้งหลาย โทรศัพท์มือถือที่ถ่ายวิดีโอ หรือรูปภาพ หรือกล้องติดหน้ารถยนต์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นพยานหลักฐานที่ศาลสามารถสั่งว่าจะลงโทษหรือไม่ลงโทษได้ ถ้าศาลเห็นว่าเป็นการป้องกันสมควรแก่เหตุ ศาลอาจจะยกฟ้อง ไม่ลงโทษได้”
ถ้าศาลเห็นว่าเป็นการป้องกันสมควรแก่เหตุ ศาลอาจจะยกฟ้อง ไม่ลงโทษได้
กล้องติดรถยนต์ใช้เป็นหลักฐานในศาลได้หรือไม่?
แม้ขณะนี้จะยังไม่มีกฎหมายรองรับเรื่องกล้องติดรถยนต์ และไม่แน่ใจว่าจะผิดกฎหมายจราจรไทยหรือไม่ แต่สำหรับกรณีนี้นิวัติเชื่อว่ากล้องติดรถยนต์จะเป็นพยานหลักฐานสำคัญของคดีนี้
“ผมไม่ได้เข้าข้างใคร เพราะถ้าพูดในมุมกฎหมาย ผมเชื่อว่าศาลจะรับฟังเรื่องกล้องติดหน้ารถ และพยานแวดล้อมอื่นๆ ประกอบกัน แต่คงไม่รับฟังที่คนสองคนเถียงกัน เพราะกลุ่มใครก็ต้องว่ากลุ่มตัวเองถูก แต่หลักฐานที่จะเป็นตัวตัดสินได้ดีที่สุดก็น่าจะเป็นกล้องวงจรปิดต่างๆ”
แม้จะเป็นพยานหลักฐานสำคัญในหลายๆ กรณี แต่กล้องวงจรปิด หรือกล้องติดรถยนต์ก็ยังมีข้อจำกัดในการนำมาใช้เป็นหลักฐานบนชั้นศาล โดยนิวัติให้ความเห็นว่า
“ถ้ามันชัดเจนก็ตัดสินได้ ถ้าไม่ชัดเจนก็เอามาตัดสินไม่ได้ สมมติว่าเห็นคนยกปืนขึ้นยิง เห็นหน้าชัดเจน แบบนี้ก็ตัดสินได้ หรือในกรณีที่มีดีเจถอยรถชนคนอื่นเขา มีกล้องถ่ายไว้ชัดเจน แล้วมาให้สัมภาษณ์ว่าคนอื่นขับรถชนตัวเอง แบบนี้ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าใครชนใคร อย่างนี้ศาลจะรับฟัง แต่ถ้ามันไม่ชัดเจน เช่น ระยะทางไกลเกินไป อย่างนี้ศาลก็อาจจะไม่ฟัง แต่จะฟังพยานแวดล้อมอื่นๆ ประกอบมากกว่า”
จะรับมืออย่างไรถ้าเจอเหตุการณ์แบบนี้?
ยิ่งนับวันเราก็ยิ่งเห็นกรณีพิพาทกันบนท้องถนนที่จบลงด้วยการทำร้ายร่างกายบ่อยขึ้นทุกที ถ้าเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้เราควรมีวิธีรับมืออย่างไร นักกฎหมายแนะนำว่า
“ผมมองว่าถ้าเราป้องกันตัวได้ เราก็ควรป้องกัน แต่ก็ไม่ควรที่จะทำซ้ำๆ อย่างเช่น แทงเขาจนเขาล้มลง ก็ไม่ควรตามไปทำให้เขาตาย คือป้องกันตัวสมควรแก่เหตุ ถ้าป้องกันไปแล้วเราหนีได้ เราก็ควรหนี
“อีกประเด็นคือต้องดูที่อาวุธด้วยนะครับ เช่น เขาพกมีด เราพกปืน ถ้าระยะห่างกันมาก เราก็ควรจะยิงที่ขาเขา ให้เขาล้มลงจนทำร้ายเราไม่ได้ แบบนี้ก็จะไม่เรียกว่าเกินกว่าเหตุ”
นอกจากนี้การป้องกันตัวโดยอาวุธปืน ต้องแบ่งแยกประเด็นความผิดเป็นข้อๆ ด้วย เช่น ประเด็นที่พกอาวุธปืนโดยไม่มีใบอนุญาตพกพา หรือถ้าปืนนั้นไม่มีทะเบียน ก็อาจจะมีความผิดข้อหาพกพาปืนในเมือง หรือพกพาปืนเถื่อน ส่วนประเด็นที่ทำให้คนตายก็อาจจะไม่ผิด ถ้าเป็นการป้องกันตัวสมควรแก่เหตุ ส่วนถ้าเป็นการป้องกันตัวเกินกว่าเหตุ ศาลอาจจะลดโทษให้น้อยลงตามหลักการของกฎหมา
ภาพประกอบ: Karin Foxx
Tags: Law