ถึงนาทีนี้สถานการณ์ที่วัดพระธรรมกายที่ยังคงยืดเยื้อดูเหมือนจะจบยากขึ้นไปทุกที และชัดเจนว่าภารกิจนี้เป็นมากกว่าการปฏิบัติตามกฎหมายเพียงอย่างเดียว

เพราะล่าสุด สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าการตรวจค้นวัดพระธรรมกายมีเป้าหมาย 2 อย่าง อย่างแรกคือ การค้นหาพระธัมมชโยตามหมายจับ และอีกอย่างคือ การดำเนินการให้วัดพระธรรมกายเป็นเหมือนวัดปกติทั่วไปที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

ท่ามกลางคำถามข้อใหญ่ที่สังคมกำลังสงสัยว่าปฏิบัติการนี้แท้จริงแล้วทำเพื่ออะไร การใช้มาตรา 44 และใช้เจ้าหน้าที่นับพันเพื่อจับตัวคนคนเดียวเหมาะสมหรือไม่ และสุดท้ายเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร?

The Momentum พยายามค้นหาคำตอบในรายงานพิเศษนี้

ประเด็นที่แท้จริงของธรรมกาย คือธรรมกายเองมีความใกล้ชิดกับพรรคการเมือง
มีการใช้อำนาจทางการเมืองในการสร้างความเติบโต
หรือสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับสำนักตัวเอง ซึ่งเราปฏิเสธความจริงข้อนี้ไม่ได้

สถานการณ์วันที่ 6 กับแนวโน้มความรุนแรงที่มีมากขึ้น

สำหรับความคืบหน้าในปฏิบัติการค้นวัดพระธรรมกายเพื่อหาตัวพระธัมมชโย ล่าสุดภายหลังมีการเจรจาระหว่างดีเอสไอกับตัวแทนวัดพระธรรมกาย ตัวแทนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ที่ใช้เวลานานถึง 5 ชั่วโมง ผลปรากฏว่าการเจรจาล้มเหลว เพราะพระทัตตชีโว รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจการตัดสินใจสูงสุดภายในวัดขณะนี้ปฏิเสธไม่ให้ความร่วมมือ โดย พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า

“สถานการณ์ล่าสุด ณ ปัจจุบันก็คือว่าทางหลวงพ่อทัตตชีโวปฏิเสธอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ที่จะไม่ให้ความร่วมมือกับทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ ก็เลยขออนุญาตเรียนพี่น้องประชาชน สื่อมวลชนว่า ผลการประสานงาน การติดต่อสร้างความเข้าใจระหว่างกันมันไม่ได้รับการตอบรับ แม้เราจะพยายามถึงที่สุดแล้ว”

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ามาตรการที่เข้มข้นขึ้นภายหลังการเจรจาล้มเหลวจะเริ่มขึ้นเมื่อไร รองอธิบดีดีเอสไอระบุว่า

“เริ่มวินาทีนี้แล้วครับ อย่าใช้คำว่าบุกเข้าไป เราพยายามที่จะดำเนินการตามขั้นตอน ขณะนี้เจ้าหน้าที่เราอยู่ทุกประตู แล้วก็มีการเสริมกำลังเข้ามา เหตุผลของการเสริมกำลังและดูแลตรงประตูไม่ใช่ว่าเราพยายามจะบุก ต้องเข้าใจว่าเราพยายามที่จะควบคุมพื้นที่ให้ทุกอย่างอยู่ในความสงบ พี่น้องสื่อมวลชนทราบดี ติดตามข้อมูลข่าวสารพบว่า มีกลุ่มบุคคลอื่นอีกมากที่พยายามจะเข้ามาสร้างสถานการณ์”

นอกจากนี้ พ.ต.ต.สุริยายังยืนยันเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้ต้องรอการปฏิบัติการตามกฎหมาย และให้ความมั่นใจว่าเจ้าหน้าที่จะไม่มีการละเมิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด

ด้าน พระภาสุระ ทนฺตมโน หัวหน้ากององค์กรระหว่างประเทศ สำนักต่างประเทศ วัดพระธรรมกาย ให้สัมภาษณ์กับ The Momentum ว่า

“ล่าสุดการเจรจาไม่เป็นผล เพราะทางศิษยานุศิษย์ยังไม่ค่อยไว้ใจการทำงานของทางเจ้าหน้าที่ เพราะการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ผ่านมา พอให้คำสัญญาแล้วเขาก็ไม่รักษาสัญญา เหมือนได้คืบจะเอาศอกไปเรื่อยๆ คือตั้งแต่ครั้งแรกที่มาถึง เขาก็บอกว่าเขาจะค้นแค่นี้ เราก็ให้เขาค้น พอค้นวันแรกจบ บอกว่ายังไม่ทั่ว ขอค้นวันที่ 2 เราก็ยอมอีก วันที่ 3 ก็เอาอีก จนกระทั่งมีคำสั่งให้คนออกจากวัด ซึ่งทีแรกบอกว่าค้นจบแล้วจะยกกำลังกลับไป แต่สุดท้ายก็ยังไม่จบ ลูกศิษย์ก็เลยสงสัยว่าจุดจบจะอยู่ตรงไหน

“วัดไม่ได้เปลี่ยนท่าที แต่การกระทำของเจ้าหน้าที่ทำให้ญาติโยมรู้สึกว่าไม่ไว้ใจแล้ว ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ญาติโยมรู้สึกไม่ไหว และคิดว่ามันมากไปกว่าการค้นหาหลวงพ่อ คือการไล่คนออกจากวัด ในขณะที่มีคนให้ข่าวว่าเขาจะมายึดทรัพย์ จะมาเอาพระพุทธรูปทองคำที่เขาสร้างไว้ไป มันก็ทำให้เขารู้สึกว่าเขาต้องปกป้องของของเขา มาไล่เขาออกจากวัดเขาจะออกได้ยังไง ตรงนี้แหละคือจุดที่คลิกกันไม่ลง”

เมื่อสอบถามถึงความกังวลต่อสถานการณ์นับจากนี้ที่ทางดีเอสไอจะใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้นหลังการเจรจาล้มเหลว พระภาสุระเปิดเผยว่า

“ถ้าการเจรจาไม่สัมฤทธิ์ผล ทางการเขาก็พูดชัดเจนว่าเขาจะใช้กำลังบุกเข้ามา ซึ่งแน่นอนว่าก็ต้องตามมาด้วยการตัดน้ำ ตัดไฟ ตัดระบบสื่อสาร ใช้กำลัง ปะทะ ใช้โล่ กระบอง หรือแก๊สน้ำตาตามมาตรการของเขาในการปราบฝูงชน

“แต่ประเด็นอยู่ตรงนี้ว่า ประเทศไทยไม่เคยมีประวัติศาสตร์ที่ดีเลยในการปราบฝูงชนอย่างสงบ ทุกครั้งต้องลงท้ายด้วยการเลือดตกยางออก มีความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ไม่เคยมีครั้งไหนที่การปราบฝูงชนลงเอยด้วยดี ซึ่งภาพแบบนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นกับคนที่ไม่ได้มีความเคลื่อนไหวทางการเมือง และที่สำคัญคืออยู่ในพื้นที่ของตัวเอง ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะ ไม่ได้ไปสร้างความเดือดร้อนให้ใคร

“ถ้ารัฐบาลต้องการจะแสดงเจตจำนงว่าต้องการจะให้เรื่องนี้ยุติโดยสงบ ก็แสดงอะไรสักอย่างสิ ถอยสักก้าวหนึ่งสิ ยกเลิกมาตรา 44 แล้วเรามาคุยกันสิว่าคุณต้องการจะค้นอะไร ไม่ใช่ยืนกรานด้วยการจะใช้มาตรการที่แข็งกร้าว แล้วปราบ กำราบอย่างเดียว”

ส่วนหนึ่งวัดพระธรรมกายก็อาจจะต้องการให้เกิดการปะทะ
เพราะถ้าเราสังเกตกลยุทธ์ในการเคลื่อนพล เช่น เขาจะออกจากประตูนั้น ประตูนี้
ก็เพื่อต้องการให้เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่

การปะทะอาจทำให้สถานการณ์ลุกลามจนยากจะควบคุม

แน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากเห็นความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ เช่นเดียวกับพระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณจากวัดสร้อยทอง ที่ก่อนหน้านี้แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า

“เราอาจไม่ชอบพระอย่างธัมมชโยยังไงก็ได้ ต้องการให้พระธัมมชโยเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายในเร็ววันนี้อย่างไรก็ได้ แต่เราจะเห็นด้วยกับการใช้วิธีการแบบไหนก็ได้ในการจัดการกับวัดพระธรรมกายอย่างนี้ไม่ได้นะครับ

“เราจะไปวางใจว่าอำนาจเผด็จการจะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนผู้บริสุทธิ์ ซึ่งมีอยู่จำนวนมากในวัดพระธรรมกายตอนนี้ ทั้งพระ เณร และฆราวาส ทั้งคนแก่ ทั้งเด็กเล็ก ไม่มีทางเป็นไปได้เลยครับ

“เราต้องไม่ลืมนะครับว่า ทหารตำรวจนี่เขาถนัดในการใช้กำลัง ใช้ความรุนแรง เพราะเขาถูกฝึกมาแบบนี้ แล้วในประวัติศาสตร์บาดแผลที่ผ่านมา ก็ทหารตำรวจนี่แหละที่มีส่วนในการสังหารเข่นฆ่าคนบริสุทธิ์ทั้งนั้นเลย ไม่ว่าจะกลุ่มนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ หรือชาวบ้านที่ราชประสงค์ คนตายไปเท่าไร เราลืมกันหมดแล้ว ทหารไม่เคยต้องรับผิดชอบอะไรเลยครับ อ้างความมั่นคงในการเข่นฆ่าบีฑาคนในชาติเดียวกันโดยไม่ผิดกฎหมาย แล้วแบบนี้เรายังจะคาดหวังความปรองดองความสมานฉันท์ได้อยู่หรือ”

นอกจากนี้พระมหาไพรวัลย์ยังเปิดเผยกับ The Momentum เพิ่มเติมว่า สถานการณ์ขณะนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะมีมวลชนจำนวนมาก มีการระดมเจ้าหน้าที่ ซึ่งเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการบาดเจ็บสูญเสียได้ แล้วถ้ามีการใช้ความรุนแรงก็จะยิ่งสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มคน นอกจากนี้หากมีความพลาดพลั้งเกิดขึ้น ปัจจัยนี้จะกลายเป็นเงื่อนไขให้ทางวัดพระธรรมกายสามารถปลุกระดม หรือเรียกร้องให้คนออกมาปกป้องพระธัมมชโยเพิ่มเติมได้อีก เพราะฉะนั้นรัฐและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานควรจะต้องทำงานด้วยความระมัดระวัง และพยายามไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน

ด้าน ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ ประธานโครงการปริญญาโท สาขาวิชาพุทธศาสนศึกษา ภาควิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า

“ผมว่าส่วนหนึ่งวัดพระธรรมกายก็อาจจะต้องการให้เกิดการปะทะ เพราะถ้าเราสังเกตกลยุทธ์ในการเคลื่อนพล เช่น เขาจะออกจากประตูนั้น ประตูนี้ ก็เพื่อต้องการให้เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งภาพในโซเชียลมีเดีย เราก็จะเห็นว่าผู้สนับสนุนวัดพระธรรมกายจะพยายามใส่ข้อมูลว่า เจ้าหน้าที่ทำร้ายพระ เพราะประเด็นนี้เป็นประเด็นที่อาจจะทำให้เกิดการจุดติดของสถานการณ์ และเรียกคนมาเพิ่มได้ เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าเจ้าหน้าที่เสียเปรียบ ถ้าเป็นม็อบอื่นๆ เจ้าหน้าที่อาจจะใช้ความรุนแรงได้มากกว่านี้ หรือใช้แรงปะทะได้อย่างมีความชอบธรรมมากกว่านี้ แต่ตอนนี้มีโล่พระ  โล่ผู้หญิงมานั่งสวดมนต์ ถ้าเกิดการปะทะก็จะกลายเป็นภาพว่าเจ้าหน้าที่โจมตีพระสงฆ์ ซึ่งธรรมกายก็พยายามจะขยายผลให้มันมากกว่านั้นจนเคลมว่าเจ้าหน้าที่กำลังทำร้ายพระพุทธศาสนา ซึ่งจริงๆ แล้วธรรมกายไม่สามารถเคลมตัวเองให้เป็นตัวแทนของพุทธได้ทั้งหมด”

ถ้ารัฐบาลต้องการจะแสดงเจตจำนงว่าต้องการจะให้เรื่องนี้ยุติโดยสงบ
ก็แสดงอะไรสักอย่างสิ ถอยสักก้าวหนึ่งสิ ยกเลิกมาตรา 44
แล้วเรามาคุยกันสิว่าคุณต้องการจะค้นอะไร
ไม่ใช่ยืนกรานด้วยการจะใช้มาตรการที่แข็งกร้าว แล้วปราบ กำราบอย่างเดียว

มาตรา 44 กับการจัดการคนคนเดียว รัฐทำเกินไปหรือไม่

เมื่อถามถึงกรณีการใช้มาตรา 44 ที่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จกับเจ้าหน้าที่ในการจัดการกับวัดพระธรรมกาย ทั้งพระมหาไพรวัลย์ และนักวิชาการด้านศาสนาอย่างดนัยมองตรงกันว่า ไม่เห็นด้วย

โดยพระมหาไพรวัลย์ระบุเหตุผลว่า “การใช้อำนาจต้องมีขอบเขต แล้วโดยหลักแล้วรัฐไม่มีอำนาจในการไปก้าวก่ายความเชื่อ หรือการปฏิบัติตามความเชื่อของพลเมือง ซึ่งรัฐธรรมนูญให้การปกป้องไว้ได้ นี่ถือเป็นความผิดพลาดของรัฐบาลอย่างหนึ่งที่ก่อนหน้าที่ท่านนายกรัฐมนตรีก็ออกมาพูดชี้นำว่า สำนักโน้นเป็นอย่างนี้ สำนักนี้เป็นอย่างโน้น ทั้งที่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของท่านในฐานะของผู้ใช้อำนาจตามกฎหมาย ท่านพูดเรื่องแบบนี้ไม่ได้

“ส่วนตัวอาตมาไม่เห็นด้วยเลยกับการใช้มาตรา 44 เพราะอาตมายังไม่เห็นเป้าหมายที่ชัดเจนของรัฐ หลังจากที่ทางวัดเขาเปิดให้ค้นแล้ว เมื่อยังไม่พบตัวพระธัมมชโยแล้วยังมีการตรึงกำลังอยู่อย่างนี้ โดยที่ไม่ยอมจัดการหรือดำเนินการใดๆ ต่อไป อาตมามองว่าจะยิ่งทำให้สถานการณ์มันยืดเยื้อและส่งผลกระทบต่อคนอื่นๆ”

ด้านดนัย มองว่ามาตรา 44 เป็นเครื่องมือพิเศษที่ควรใช้ในสถานการณ์ไม่ปกติ ซึ่งรัฐควรจะหาเครื่องมือ หรือกลไกอื่นๆ ในการจัดการกับคณะสงฆ์ให้ดูงดงามกว่านี้

“รัฐควรปล่อยให้ศาสนาบริหารจัดการกันเองได้ แต่ตอนนี้อย่างที่เราเห็นก็คือมหาเถรสมาคมก็ปล่อยให้กรณีนี้ดำเนินมาเนิ่นนาน จนในที่สุดรัฐต้องใช้กำลังเข้ามาจัดการ ซึ่งถ้ามหาเถรสมาคมทำงานได้ดีกว่านี้ ภาพแบบนี้อาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ มันก็แสดงว่าคณะสงฆ์เองก็มีปัญหาในการจัดการตัวเองเหมือนกัน

“ส่วนรัฐเองพอใช้มาตรา 44 ก็ทำให้เกิดคำถามเหมือนกันว่ามาตรฐานของการใช้มันควรจะอยู่ที่ตรงไหน แล้วมาตรา 44 จะต้องใช้ในกรณีอะไรบ้าง ตอนนี้มันไม่มีหลักเกณฑ์เลย ก็ทำให้สังคมตั้งคำถามได้ โดยเฉพาะฝ่ายธรรมกายที่มองว่าถูกรัฐรังแก”

นอกจากนี้ทั้งพระมหาไพรวัลย์ และดนัยยังมองตรงกันด้วยว่า ธรรมกายกำลังเป็นปัญหาที่มากกว่าแค่การรักษากฎหมายตามปกติ เพราะนอกจากเรื่องคดีของพระธัมมชโยแล้ว การปฏิบัติการครั้งนี้ยังมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยดนัยแสดงทัศนะว่า

“การที่ศาสนา หรือกลุ่มชน หรือลัทธิอะไรก็ตามที่เริ่มมีความเข้มแข็ง มีมวลชนสนับสนุน มีกำลังทุน ถ้าเราสวมหมวกของรัฐ เราก็ต้องรู้สึกเป็นธรรมดาว่ากลุ่มคนกลุ่มนี้อาจจะกระด้างกระเดื่อง หรือทำให้เกิดการปกครองที่ยากขึ้น ทีนี้การที่รัฐจะสวมหมวกรัฐเข้าไปจัดการมันก็เป็นเรื่องปกติของรัฐทั่วไป อาจจะไม่ใช่กรณีธรรมกายอย่างเดียว ถ้าในอนาคตจะมีอะไรทำนองนี้ เราก็คงจะได้เห็นกระบวนการที่รัฐจะเข้าไปจัดการเช่นเดียวกัน”

ส่วนพระมหาไพรวัลย์มองว่าความผิดพลาดของวัดพระธรรมกายที่นำมาสู่ปฏิบัติการของรัฐในวันนี้เกิดจากความใกล้ชิดกับกลุ่มก้อนทางการเมืองในช่วงเวลาที่ผ่านมา

“ประเด็นที่แท้จริงของธรรมกาย คือธรรมกายเองมีความใกล้ชิดกับพรรคการเมือง มีการใช้อำนาจทางการเมืองในการสร้างความเติบโต หรือสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับสำนักตัวเอง ซึ่งเราปฏิเสธความจริงข้อนี้ไม่ได้ ในรัฐบาลยุคก่อนๆ เราก็จะเห็นว่ามีนักการเมืองหลายคนที่เข้าวัดพระธรรมกาย แล้ววัดเองก็พยายามจะใช้อำนาจรัฐ หรืออำนาจของมหาเถรสมาคมในการขยายฐานความยิ่งใหญ่ของตัวเอง ซึ่งนี่คือความผิดพลาดที่ธรรมกายทำ รัฐบาลปัจจุบันจึงอาจมองได้ว่าธรรมกายเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ

“แต่ถ้าใช้หลักนิติรัฐจริงๆ คุณจะไปจัดการเขาได้อย่างไร คุณจะไปล้มล้างเขาได้อย่างไร ถ้าสิ่งที่เขาทำมันไม่ได้เป็นการปลุกระดมให้คนต่อต้านรัฐ หรือเป็นภัยต่อความมั่นคง หรือพยายามซ่องสุมกำลัง ถ้าเขาเป็นแบบนั้น หรือทำตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์เสียเอง ก็น่าจะใช้กำลังในการจัดการ หรือล้างบางได้ แต่วิถีทางของเขา เราต้องยอมรับว่าเขาสอนให้คนมีความสงบ ไม่ได้เป็นในวิถีทางของความรุนแรง มันจึงไม่มีความชอบธรรมที่รัฐจะสามารถเอาความรุนแรงไปปราบเขาได้”

วัดพระธรรมกายสามารถแปรรูปบุญให้มันเป็นเหมือนการลงทุนข้ามชาติภพ
มันตอบโจทย์ความว้าเหว่ของคนชั้นกลางที่อาจจะเข้าถึงวัดอื่นๆ ไม่ได้

อื้อฉาวแต่ศรัทธายังเหนียวแน่น

แม้ที่ผ่านมาจะมีข่าวอื้อฉาวมากมายที่เกี่ยวเนื่องกับวัดพระธรรมกาย และพระธัมมชโย ทั้งคดีที่ยังไม่ได้สะสาง การบุกค้นวัดที่พบสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายจนยากจะเชื่อว่าเป็นที่พำนักของพระสงฆ์ที่ละวางทางโลก หรือแม้แต่ความก้าวร้าวของพระบางรูประหว่างที่มีการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่

แต่ดูเหมือนว่าจนถึงตอนนี้ศรัทธาที่ผู้คนนับล้านมีต่อวัดพระธรรมกายจะยังไม่เสื่อมสลายหายไปไหน ถึงจะมีความพยายามปิดกั้นพื้นที่ไม่ให้ใครเข้าไปสมทบเพิ่มเติม แต่ศิษยานุศิษย์ผู้ศรัทธาแนวคำสอนของวัดพระธรรมกายก็มีความพยายามจะเข้าไปในพื้นที่อยู่ตลอดเวลา ตรงกับที่พระภาสุระให้ข้อมูลยืนยันว่า “ที่ผ่านมาพระในวัดไม่ได้เรียกโยมเข้ามา หลายคนปีนกำแพงเข้ามาเองเลยด้วยซ้ำ เพราะทุกคนคิดว่านี่คือวัดของฉัน”

คำถามคืออะไรคือเหตุผลที่ทำให้ศรัทธาของวัดพระธรรมกายยังคงเหนียวแน่น ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ ให้คำอธิบายว่า

“ถ้าพูดกันตามตรงก็คงมีหลายเหตุผล เพราะความศรัทธาบางทีเราก็อธิบายไม่ได้ว่ามันเกิดจากอะไร แต่เหตุผลหนึ่งถ้าจะมองโดยภาพรวม ธรรมกายสามารถตอบโจทย์คนชั้นกลางที่อยู่ในยุคทุนนิยมได้ ธรรมกายสามารถจัดวัดให้สะอาด มีระเบียบ แตกต่างจากวัดทั่วไปที่อาจจะสกปรก มีขี้หมาเลอะเทอะ แต่วัดพระธรรมกายสามารถจัดองค์กรให้ดูสะอาดสะอ้าน มีระบบระเบียบ บวกกับลักษณะของทุนนิยมที่นำมาใช้ เช่น ทำบุญแล้วจะรวย หลายๆ แคมเปญมันตอบโจทย์ และอาจจะไม่ต่างจากคนที่นับถือตุ๊กตาลูกเทพ เพราะมองว่ามันจะทำให้เขารวยได้ ผมคิดว่าส่วนหนึ่งคือวัดพระธรรมกายสามารถแปรรูปบุญให้มันเป็นเหมือนการลงทุนข้ามชาติภพ มันตอบโจทย์ความว้าเหว่ของคนชั้นกลางที่อาจจะเข้าถึงวัดอื่นๆ ไม่ได้ แต่เขาเข้าถึงวัดนี้ได้แล้วมันตอบโจทย์ความโหยหาบางอย่างในใจเขาได้ นั่นเป็นเหตุผลทำให้ธรรมกายสามารถระดมคนมากมายขนาดนี้ได้

“ส่วนในสถานการณ์ตอนนี้ผมมองว่ามันคล้ายๆ กับเรื่องการเมืองที่ผ่านมา ซึ่งเราจะเห็นว่าแต่ละฝ่ายเองก็มีความเชื่อ หรืออาจจะเรียกว่าโดนล้างสมองก็ได้ถ้าจะพูดแบบนั้น คนที่เคยรักสีไหน ก็จะรักสีนั้นอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู จนทุกวันนี้ข้อเท็จจริงบางอย่างออกมาแล้ว คนที่เห็นตรงกันข้ามก็ยังไม่สามารถล้างความเชื่อแบบเดิมได้ ฉะนั้นนี่เป็นหลักการเดียวกันแหละครับ

“เวลาคนเราเชื่อในเรื่องอะไรมากๆ เมื่อมีการกระตุ้น การผลิตซ้ำความเชื่อไปเรื่อยๆ มันก็ทำให้เกิดการฝังหัวความเชื่อนั้นเข้าไป และแปรเปลี่ยนความคิดนั้นยาก อาจจะมองว่าเป็นการล้างสมองก็ได้ แต่คนที่เขาเชื่อเขาก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองถูกล้างสมองไง เขาแค่รู้สึกว่าเขามีเหตุผล วัดก็มีคำสอนที่มีเหตุผล เหมือนคนเมาที่มักจะบอกว่าตัวเองไม่เมา เป็นเรื่องปกติ”

นอกจากศิษยานุศิษย์จำนวนมากของวัดพระธรรมกายที่ยังคงศรัทธาไม่แปรเปลี่ยนแล้ว ด้านคณะสงฆ์เองก็ดูเหมือนว่าแทบไม่มีใครออกมาโจมตีวัดพระธรรมกายในช่วงเวลานี้ ซึ่งพระไพรวัลย์ให้เหตุผลว่า

“ในภาพรวมคณะสงฆ์ส่วนใหญ่เขาค่อนข้างจะยอมรับธรรมกายได้ เพราะธรรมกายเองก็สังกัดอยู่ในมหานิกาย แล้วพระมหานิกายส่วนใหญ่เขาก็เห็นว่าธรรมกายมีคุณูปการกับพระพุทธศาสนาในหลายๆ ด้าน ถ้าเราไม่พูดถึงเฉพาะตัวคน หรือหลวงพ่อธัมมชโยเพียงอย่างเดียว

“เวลาพูดถึงวัดพระธรรมกาย คนมักจะโฟกัสแต่ความไม่ดีของเขา แต่ในความดีเขาก็มีไม่น้อย โดยเฉพาะคุณูปการที่เขามีต่อพระพุทธศาสนาในหลายด้าน เช่น การให้การอุปถัมภ์กับพระใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งบางทีรัฐเองก็ปล่อยปละละเลย การพยายามบูรณะปรับปรุงวัดร้างที่ไม่มีใครดูแล หรือแม้แต่การที่เขาสอนให้คนบางส่วนสามารถหันหลังให้กับอบายมุขกลายมาเป็นคนถือศีล รู้จักการเข้าวัด ฟังธรรม ซึ่งเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ดี อย่างน้อยก็ดีกว่าในหลายๆ วัดซึ่งมีแนวทางตรงกันข้ามกับวัดพระธรรมกายเลย

“ถ้าธรรมกายไม่ดีจริงพระส่วนใหญ่คงไม่เอาด้วย หรือถ้าไม่ดีจริงโดยพื้นฐาน คนก็ไม่เข้าวัดกันเยอะขนาดนั้นหรอก”

สถานการณ์ตอนนี้ผมมองว่ามันคล้ายๆ กับเรื่องการเมืองที่ผ่านมา
ซึ่งเราจะเห็นว่าแต่ละฝ่ายเองก็มีความเชื่อ
หรืออาจจะเรียกว่าโดนล้างสมองก็ได้ถ้าจะพูดแบบนั้น
คนที่เคยรักสีไหน ก็จะรักสีนั้นอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู

เรื่องนี้ควรจบลงอย่างไร

นับจากนาทีนี้เป็นต้นไปคงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดว่า สุดท้ายแล้วมาตรการต่อไปของทางดีเอสไอ และเจ้าหน้าที่รัฐจะเป็นไปในทิศทางไหน ซึ่งการใช้ความรุนแรงคงเป็นมาตรการสุดท้ายที่เชื่อว่าไม่มีใครอยากจะเห็น

แต่แม้สถานการณ์จะดูเข้มข้นขึ้น ทางออกอื่นๆ ของเรื่องนี้ก็น่าจะยังพอมีอยู่ ซึ่งดนัยเสนอว่ามหาเถรสมาคมควรมีบทบาทสำคัญในการจัดการกับเรื่องนี้

“ผมเสนอไปหลายครั้งแล้วว่ามหาเถรสมาคมยังมีฟังก์ชันอยู่ คือท่านควรจะรับบทบาทเป็นเจ้าภาพไปเจรจากับพระธัมมชโยและดีเอสไอ เพราะยังไงพระธัมมชโยในเวลานี้ก็ยังเป็นพระที่สังกัดกับพระมหาเถรสมาคม แล้วเรามีสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ มีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งเป็นปราชญ์ของแผ่นดินในพระพุทธศาสนาที่คนไทยส่วนใหญ่ยอมรับในความรู้และความสามารถ ท่านน่าจะมาเป็นตัวกลาง มาเป็นผู้วินิจฉัยถูกผิดเรื่องนี้ และจัดการให้เรื่องนี้จบลงได้อย่างสันติ มันจะดีกว่าปล่อยให้เกิดการปะทะ และเกิดการนองเลือดขึ้น”

ด้านพระมหาไพรวัลย์ทิ้งท้ายว่า

“อยากจะให้มันไม่เกิดความรุนแรงด้วยวิธีแบบไหนก็ได้ อาตมาไม่อยากเห็นความรุนแรง อยากให้จบโดยภาพฝันว่าหลวงพ่อธัมมชโยจะยอมมอบตัว แล้วรัฐก็ให้การผ่อนผันในการใช้สิทธิประกันตัว ซึ่งจะสร้างความพึงพอใจให้กับทั้งสองฝ่าย แล้วรัฐก็ไม่ต้องไปก้าวก่ายในส่วนอื่นๆ ของวัดพระธรรมกาย ไม่ไปยุ่งกับศรัทธาความเชื่อของเขา ปล่อยให้ธรรมกายเป็นอย่างธรรมกายไป แต่ก็ควบคุมไม่ให้ทำผิดกฎหมาย ให้ธรรมกายเป็นสำนักหนึ่งในลัทธิความเชื่อของพระพุทธศาสนาที่อยู่ภายใต้กฎหมาย และเคารพกฎหมายเหมือนวัดอื่นๆ ถ้าเป็นอย่างนั้นทุกอย่างก็น่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น”

ไม่ว่าเหตุการณ์นี้จะจบลงแบบไหน แต่สุดท้ายนี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยที่น่าจะทำให้ชาวพุทธหลายคนได้ย้อนกลับมาสำรวจศรัทธาของตัวเองอีกครั้ง

Photo: Jorge Silva, Reuters/Profile

Tags: ,