จากกรณีข้อกล่าวหาว่ารัสเซียได้ล่วงรู้และมีหลักฐานว่า ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ อยู่กับหญิงค้าประเวณีหลายคนในรัสเซียที่โรงแรม Ritz-Carlton ในกรุงมอสโกว์ และรัสเซียได้นำข้อมูลนี้ไปใช้ต่อรองกับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และรายงานฉบับเต็มทั้งหมดได้ถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ข่าว BuzzFeed จนเกิดเป็นข้อถกเถียงกันในวงกว้างถึงจริยธรรมของสื่อมวลชนในการเผยแพร่รายงานที่ยังไม่รับการยืนยัน

โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาจวก BuzzFeed ว่าเป็นสำนักข่าวปลอมและสื่อขยะ และได้ทวิตข้อความบนทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า

“หน่วยงานข่าวกรองต่างๆ ไม่ควรจะปล่อยให้ข่าวปลอมหลุดออกมาสู่สาธารณะได้ นี่เราอยู่ในเยอรมนียุคนาซีหรือเปล่า?”

รัสเซียได้ปฏิเสธข้อหานี้ว่า รัสเซียไม่ได้บันทึกภาพใดๆ ที่เกี่ยวกับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ด้านโฆษกประจำตัวประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ยังได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว BBC ว่า “รัสเซียไม่ได้เก็บ Kompromat”

‘Kompromat’ คือข้อมูลที่รัสเซียเก็บไว้ใช้ต่อรองกับคู่แข่งทางการเมืองหรือบุคคลสาธารณะ หรือเพื่อสร้างความเสื่อมเสียให้กับศัตรูทางการเมือง คนรัสเซียต่างคุ้นเคยและรู้ดีว่า Kompromat คืออะไร แต่หลายคนอาจยังไม่เคยได้ยินคำนี้มาก่อน และคำนี้ได้กลับมาปรากฏบนสื่ออีกครั้ง จากกรณีของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์

ลักษณะที่เข้าข่ายว่าเป็น Kompromat ต้องมีองค์ประกอบคือ
หนึ่ง กระจายข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลนั้นออกสื่อ
และสอง ข้อมูลนั้นต้องลดความน่าเชื่อถือของบุคคลนั้น หรือทำให้บุคคลนั้นเสื่อมบารมีในสังคม

Photo: Sputnik Photo Agency, Reuters/profile

 

Kompromat เครื่องมือทรงพลังของรัสเซีย

The Momentum ได้สัมภาษณ์อาจารย์พงศ์พันธุ์ จันทร์สุกรี ที่ปรึกษาศูนย์รัสเซียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงการใช้ข้อมูลหรือ Kompromat ในการต่อรองหรือเปิดโปงคู่แข่งทางการเมืองของรัสเซีย โดยอาจารย์พงศ์พันธุ์อธิบายที่มาของคำว่า Kompromat คือคำผสมของรัสเซีย แปลเป็นภาษาอังกฤษตรงตัวว่า Compromising Material

“จะเรียกว่าเครื่องมือประนีประนอมก็ว่าได้ ถูกใช้เพื่อลดความน่าเชื่อถือของคู่ต่อสู้ หรือคนที่องค์กรต้องการจำกัดออกไป ลักษณะที่เข้าข่ายว่าเป็น Kompromat ต้องมีองค์ประกอบคือ หนึ่ง กระจายข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลนั้นออกสื่อ และสอง ข้อมูลนั้นต้องลดความน่าเชื่อถือของบุคคลนั้น หรือทำให้บุคคลนั้นเสื่อมบารมีในสังคม”

Kompromat ถูกใช้อย่างแพร่หลายในสมัยโซเวียต ที่สมัยนั้นเป็นสังคมอุดมการณ์ ทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมที่จะกระทบต่ออุดมการณ์ของบุคคลสาธารณะนั้น มีอิทธิพลมากถึงขนาดทำให้คนคนนั้นพ่ายแพ้ได้ในเวทีการเมือง แต่พอมาถึงสมัยของประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน สังคมอุดมการณ์หมดความสำคัญลงไป การใช้ Kompromat จึงเปลี่ยนจากการใช้หลักฐานทางพฤติกรรมมาเป็นข้อกฎหมาย

“สมัยก่อนหลักฐานที่นำมาใช้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องทางสังคมอย่างความประพฤติที่ขัดกับอุดมการณ์ อยู่หรูหราเกินไป ทำตัวไม่เหมาะสม เช่น การลบหลู่อุดมการณ์ด้วยคำพูด แต่พอมาสมัยนี้ที่สังคมอุดมการณ์หมดไป การใช้ Kompromat จึงหันมาใช้ข้อกฎหมายเป็นเครื่องมือเช่นการชำระภาษี”

กรณีอื้อฉาวที่สุดที่ Kompromat เคยเปิดโปง
คือการเผยแพร่ภาพ ยูรี สกูราตอฟ (Yury Skuratov) อัยการสูงสุดของรัสเซีย
ขณะกำลังมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิง 2 คน ผ่านสถานีโทรทัศน์ทางการของรัสเซีย

มิคาอิล คอดอคอฟสกี้ (Mikhail Khodorkovsky) เจ้าของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ Yukos ในรัสเซีย
Photo: Axel Schmidt, Reuters/profile

นักการเมืองและบุคคลสำคัญในรัสเซียที่เคยตกเป็นเป้าหมายของ Kompromat

การใช้ข้อมูลไว้ต่อรองกับนักการเมือง นักธุรกิจ และบุคคลสำคัญภายในประเทศของรัสเซียเป็นสิ่งที่รัสเซียเชี่ยวชาญมาเป็นเวลานาน อาจารย์พงศ์พันธุ์อธิบายว่า “รัสเซียให้ความสำคัญกับสงครามข้อมูลข่าวสารอย่างมาก มีการจัดทำระบบอินเทอร์เน็ตทหารแยกออกจากพลเรือน ในรัสเซียมีแฮกเกอร์เยอะมาก และบางส่วนถูกกฎหมายด้วย รัสเซียมีระบบทะเบียนข้อมูลบุคคลที่เก็บมาตั้งแต่สมัยโซเวียตจนถึงทุกวันนี้”

กรณีที่รัสเซียเคยใช้ Kompromat เปิดโปงบุคคลสำคัญในประเทศในอดีต คือ มิคาอิล คอดอคอฟสกี้ (Mikhail Khodorkovsky) เจ้าของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ Yukos ที่ถูกรัฐบาลรัสเซียเปิดโปงพฤติกรรมการทุจริตในการชำระภาษี จนทำให้ มิคาอิล คอดอคอฟสกี้ หมดความน่าเชื่อถือ และต่อมาบริษัทน้ำมันถูกควบรวมกิจการน้ำมันของรัฐวิสาหกิจในปัจจุบัน

“เขาเป็นนักธุรกิจที่มีอิทธิพลสนับสนุนกลุ่มการเมืองอยู่ ขายน้ำมันแล้วเอาเงินไปไว้ต่างประเทศ จนปี 2002 วลาดิเมียร์ ปูติน ต้องการให้บรรดามหาเศรษฐีสนับสนุนรัฐด้วยการนำเงินกลับมาไว้ในประเทศ และไม่ส่งเสริมข้าราชการให้ทำคอร์รัปชัน อย่างการซื้อตัว หรือติดสินบน มหาเศรษฐีหลายคนยอม แต่เขาไม่ยอม และแสดงท่าทีเป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาล และพยายามจะเล่นการเมืองแข่ง” อาจารย์พงษ์พันธุ์อธิบายเพิ่มเติม

มิคาอิล คาสยานอฟ (Mikhail Kasyanov) อดีตนายกรัฐมนตรีรัสเซีย
Photo: MAXIM ZMEYEV, Reuters/profile

หรือกรณีที่สถานีโทรทัศน์ NTV สถานีโทรทัศน์ทางการของรัสเซียเคยเผยแพร่ภาพของอดีตนายกรัฐมนตรีรัสเซีย มิคาอิล คาสยานอฟ (Mikhail Kasyanov) ระหว่างมีความสัมพันธ์ทางเพศกับ นาตาเลีย เพเลวินา (Natalia Pelevina) ที่ปรึกษาส่วนตัว

นาตาเลีย เพเลวินา ให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่า “ภาพถูกบันทึกในอพาร์ตเมนต์ส่วนตัวโดยเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของรัสเซีย ดังนั้นคุณไม่ต้องสงสัยเลยว่าเป็นการกระทำที่จงใจทำให้เราเสื่อมเสีย”

กรณีอื้อฉาวที่สุดที่ Kompromat เคยเปิดโปง คือการเผยแพร่ภาพ ยูรี สกูราตอฟ (Yury Skuratov) อัยการสูงสุดของรัสเซีย ขณะกำลังมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิง 2 คน ผ่านสถานีโทรทัศน์ทางการของรัสเซียเช่นกัน วิดีโอถูกเผยแพร่หลังจากเขาเพิ่งถูกสอบสวนในข้อหาทุจริต และต่อมาภาพวิดีโอได้รับการยืนยันจากหน่วยงานมั่นคงของรัสเซีย ที่ขณะนั้นมี วลาดิเมียร์ ปูติน เป็นผู้อำนวยการสูงสุด ภาพวิดีโออื้อฉาวเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เส้นทางอาชีพของเขาจบสิ้น โดยผู้สนับสนุนเขาออกมาตอบโต้ว่าเป็นวิธีการพยายามหักหลังเขา และเรื่องดังกล่าวก็ถือเป็น ‘เรื่องส่วนตัว’

 

ปัจจุบันข้อมูลข่าวสารกระจายได้รวดเร็ว แต่ก็อย่าปักใจว่ารัสเซียจะจ้องทำร้ายยุโรปเสมอไป

Photo: Sputnik Photo Agency, Reuters/profile

 

รัสเซียกับการคร่ำหวอดในสงครามข้อมูลข่าวสารในเวทีการเมืองโลก

 

รัสเซียมีความเชี่ยวชาญในการใช้ข้อมูลมาสร้างเงื่อนไข หรือสถานการณ์กับบุคคลสำคัญในประเทศ และรัสเซียได้นำกลยุทธ์นี้มาใช้กับนักการเมือง และบุคคลสำคัญในต่างประเทศเช่นกัน อาจารย์พงศ์พันธุ์อธิบายให้ The Momentum ฟังว่า

“ในกรณีของอาหรับสปริงชี้ให้เห็นความสามารถของรัสเซียที่ช่วยทำให้ประธานาธิบดีของซีเรียไม่โดนโค่นล้มเหมือนผู้นำของหลายประเทศในอาหรับ และยังช่วยให้สามารถกลับมาด้วยคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างท่วมท้น”

และในกรณีที่ผู้ช่วยกงสุลใหญ่ของอังกฤษในเมืองเยคาเตรินเบิร์ก  (Yekaterinburg) ของรัสเซียถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง หลังจากมีการปล่อยภาพเขามีความสัมพันธ์ทางเพศกับหญิงค้าประเวณีหญิง 2 คนพร้อมกันออกสู่สาธารณะ โดยทางการอังกฤษปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ เพียงแต่บอกว่าทางการอังกฤษคาดหวัง ‘ศีลธรรมและจรรยาบรรณ’ จากข้าราชการระดับสูง

ส่วนในกรณีของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ นั้น รัสเซียได้ปฏิเสธชัดเจนว่า ไม่ได้มีข้อมูลอะไรเกี่ยวกับเขา และข้อแตกต่างจากหลายกรณีในอดีตข้างต้นที่สามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจนคือ ภาพวิดีโอของ โดนัลด์ ทรัมป์ นั้นไม่ได้มีปรากฏให้เห็นในสาธารณะ

ในปี 2017 โลกจะมีการเลือกตั้งสำคัญในยุโรป ทั้งฝรั่งเศส และเยอรมนี และก่อนหน้านี้เยอรมนีได้ออกมากล่าวหารัสเซียว่า รัสเซียได้แฮกข้อมูลของเยอรมนีเพื่อต้องการแทรกแซงผลการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ อาจารย์พงษ์พันธุ์ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า “เป็นไปได้มาก เพราะในปัจจุบันข้อมูลข่าวสารกระจายได้รวดเร็ว แต่ก็อย่าปักใจว่ารัสเซียจะจ้องทำร้ายยุโรปเสมอไป เพราะความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับยุโรปยังถือว่าดีกว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับอเมริกา”

ภาพประกอบ: Karin Foxx


อ้างอิง:

http://www.bbc.com/news/world-europe-38613979

http://www.bbc.co.uk/news/world-us-canada

– http://news.bbc.co.uk/2/hi/europe/299354.stm

Tags: , , ,