พจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดประกาศให้คำว่า Post-truth เป็นคำศัพท์แห่งปี ซึ่ง Post-truth คือคำขยายคำนาม (adjective) หมายถึง สถานการณ์ที่ความจริงมีอิทธิพลต่อการโน้มน้าวความคิดเห็นสาธารณะน้อยกว่าอารมณ์ แซงหน้าคำศัพท์ใหม่ๆ อย่าง Brexiteer, Latinx, Chatbot ฯลฯ ไปได้
ภาษาก็เหมือนแฟชั่นคือ มาๆ ไปๆ เกิดคำศัพท์ใหม่ หรือคำที่ไม่ได้ใช้นานแล้วก็กลับมาฮิตติดปากได้ ยิ่งในยุคที่เรามีโลกออนไลน์ที่ความคิดเห็นพรั่งพรูผ่านฟีดเฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ คำศัพท์บางคำก็ถูกใช้อย่างแพร่หลายในช่วงข้ามคืน
เช่นเดียวกับ Post-truth ที่คนทั่วโลกกลับมาใช้คำนี้มากขึ้นถึง 2000% ในปี 2016 เกิดอะไรขึ้น? ทำไมคำนี้จึงถูกนำมาใช้กระหน่ำในโลกออนไลน์?
เราอยู่ในยุคที่การเมืองเจือปนไปด้วยอารมณ์มากกว่าความจริง?
ในปี 2016 การเมืองโลกเจอกับเหตุการณ์ใหญ่ 2 ครั้ง นั่นคือ การทำประชามติให้อังกฤษอยู่หรือออกจากสหภาพยุโรป และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ทั่วโลกลุ้นไปพร้อมกันว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร และไม่รู้เป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ ที่เหตุการณ์ทางการเมืองทั้ง 2 ครั้ง มีแคมเปญหาเสียง และบทสุนทรพจน์ต่างๆ นั้นเจือด้วยอารมณ์มากกว่ายกความจริงหรือนโยบายมาโน้มน้าวผู้ลงคะแนนเสียง
และก็ดันได้ผลเสียด้วย…
จนทำให้คำว่า Post-Truth ที่ถูกใช้ครั้งแรกเมื่อปี 1992 และก็เหมือนจะไม่ค่อยมีใครใช้ในช่วงที่ผ่านมา กลับมาถูกใช้ใหม่มากขึ้นถึง 2,000% ในโลกออนไลน์ ระหว่างช่วงลงประชามติ Brexit ในเดือนกรกฎาคม 2016 และในตอนโดนัลด์ ทรัมป์ สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันได้
แคสเปอร์ แกรทโวห์ล (Casper Grathwohl) แห่งพจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดบอกว่า “จากการใช้คำ Post-truth ที่เพิ่มขึ้นและไม่มีแนวโน้มจะลดลง ผมไม่แปลกใจเลยว่าคำศัพท์นี้อาจจะเป็นอีกคำที่อธิบายยุคนี้ได้”
เพราะการใช้ภาษาย่อมสะท้อนพฤติกรรมและความสนใจของมนุษย์ในแต่ละช่วงเวลา Post-truth จึงอาจเป็นคำที่ทำให้เราเห็นภาพการเมืองในยุคนี้ได้ชัด
10 คำศัพท์เข้ารอบสุดท้ายชิง ‘คำศัพท์แห่งปี’
Post-truth แซงหน้าคำศัพท์อีก 9 คำ อย่าง Adulting, Alt-Right, Brexiteer, Chatbot, Coulrophobia, Glass Cliff, Hygge, Latinx, และ Woke ที่ถูกใช้บ่อยไม่แพ้กันไปได้ ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา คำศัพท์พวกนี้อาจจะผ่านตาใครหลายคน ซึ่งไม่ใช่คำศัพท์พื้นฐานที่เราได้เรียนกันสมัยมัธยม หรือเจอในหนังสือเรียน แล้วฝรั่งเขาใช้กันอย่างไร? ไปดูกัน
Post-Truth
– Politics in a post-truth age.
เราอยู่ในยุคที่การเมืองเพิกเฉยต่อความจริง
– American people are confronting the post-truth election.
ชาวอเมริกันกำลังเผชิญกับการเลือกตั้งที่อารมณ์อยู่เหนือความจริง
Adulting
พฤติกรรมเหมือนผู้ใหญ่ มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ มาจากคำว่า Adult ที่แปลว่าผู้ใหญ่
– I am so proud of you for adulting by spending money on things you need.
ฉันภูมิใจความเป็นผู้ใหญ่ในตัวเธอที่ใช้เงินไปกับสิ่งของที่จำเป็น
– You completed this task by yourself. Adulting!
เธอทำมันสำเร็จได้ เป็นผู้ใหญ่มาก!
Alt-Right
คำที่เอาไว้เรียกกลุ่มอนุรักษ์นิยม ปฏิเสธแนวคิดการเมืองกระแสหลัก และการใช้โซเชียลมีเดียในการถกเถียงในเรื่องต่างๆ
– The alt-right supports Trump’s policies.
กลุ่มอนุรักษ์นิยมสนับสนุนนโยบายของทรัมป์
Brexiteer
คนที่สนับสนุนให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป มาจากคำว่า Brexit (Britain+exit) แต่เติม eer เข้าไปเพื่อหมายถึงบุคคล
– David Cameron says, “I am no secret Brexiteer.”
เดวิด คาเมรอน ยืนยันว่าผมไม่ได้เป็นคนที่สนับสนุนให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปอย่างลับๆ
Chatbot
โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ถูกออกแบบให้สนทนากับมนุษย์ผ่านอินเทอร์เน็ต มาจากการผสมคำระหว่าง Chat กับ Robot
– She is addicted to chatbot.
เธอติดพูดคุยกับโปรแกรมแชตบอต
Coulrophobia
ความรู้สึกกลัวตัวตลกอย่างรุนแรงและไม่สามารถหาเหตุผลได้
– She suffers from coulrophobia. She is scared to death of clowns.
เธอกำลังเผชิญกับอาการกลัวตัวตลก เธอกลัวตัวตลกสุดๆ
Glass Cliff
ใช้อธิบายสถานการณ์ที่ผู้หญิงสามารถขึ้นไปเป็นหัวหน้าได้ แต่ยังต้องเผชิญกับความท้าทาย เพราะโอกาสล้มเหลวนั้นสูงกว่าผู้ชาย เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรหรือลูกน้องเท่าผู้ชาย Glass Cliff คือคำที่พัฒนาต่อจากคำศัพท์ Glass Ceiling หรือกำแพงกระจก ที่ถึงแม้ผู้หญิงจะสามารถทลายกำแพงกระจกขึ้นเป็นผู้นำได้แล้ว เธอก็ยังต้องเจอกับ Glass Cliff อยู่ดี
– The threat to women’s success is the glass cliff.
อุปสรรคของความสำเร็จของผู้หญิงคือการขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งหัวหน้า ที่มีโอกาสล้มเหลวสูงกว่าผู้ชาย
Hygge (ออกเสียงว่า hue-gah)
หมายถึงความสะดวกสบายที่ทำให้รู้สึกถึงการมีชีวิตที่ดี มีที่มาจากวัฒนธรรมของเดนมาร์ก
– Sitting by the fire on a cold night while drinking hot chocolate is hygge!.
การนั่งผิงไฟและดื่มช็อกโกแลตไปด้วยนี่ช่างรู้สึกสบาย!
– Your home’s decoration is so hygge!.
การตกแต่งบ้านของเธอดูแล้วอบอุ่นและสบายมาก
Latinx (ออกเสียงว่า La-teen-ex)
หมายถึงคนละตินทั้งหมดที่ไม่ได้แบ่งเป็นชายและหญิงอย่างคำว่า Latino หรือ Latina เพราะต้องการครอบคลุมไปถึงคนเพศที่สามด้วย ดังนั้นถ้าเห็นคำว่า Latinx จึงไม่ต้องแปลกใจว่าสะกดผิดหรือเปล่า
– Latinx people celebrated their pride in their LGBT community last night.
เมื่อคืนชาวละตินทุกเพศออกมาเฉลิมฉลองในสังคม LGBT
Woke
มีความหมายว่า รับรู้ เหมือนกับคำว่า aware แต่ใช้กับความรู้สึกตื่นตัวต่อสังคมที่ไม่ยุติธรรม การเหยียดเชื้อชาติ ถูกใช้ในกลุ่มคนแอฟริกัน-อเมริกัน มีความหมายเหมือนคำว่า aware
– Racism is on the rise. Stay woke!
การเหยียดเชื้อชาติกำลังมีให้เห็นมากขึ้น เราต้องไม่เพิกเฉย!
คำศัพท์ทั้ง 10 คำในปีนี้ จึงสะท้อนให้เราเห็นตั้งแต่เหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญๆ ของโลก ความเท่าเทียมทางเพศ บทบาทของผู้หญิงที่เพิ่มขึ้น การต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ รวมถึงการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ที่มากขึ้น
แต่คำศัพท์แห่งปี 2016 ก็คือ Post-truth
ที่น่าคิดต่อไป คือคำว่า Post-truth จะถูกใช้บ่อยแค่ในช่วงนี้ หรือเราจะได้เห็นการเมืองที่อารมณ์อยู่เหนือเหตุผลไปอีกสักพักใหญ่?