ใครบอกว่าสัตว์มหัศจรรย์จะต้องปรากฏตัวแต่ในโลกภาพยนตร์ หรือต้องเป็นมอนสเตอร์ในเกมชื่อดังเท่านั้น เพราะจากรายงาน สิ่งมหัศจรรย์แห่งลุ่มน้ำโขง (Species Oddity) ของ WWF หรือกองทุนสัตว์ป่าโลกกำลังบอกเราว่าโลกนี้ยังมีสิ่งมหัศจรรย์อีกมากมายที่รอให้มนุษย์อย่างเราได้ค้นพบ แถมสิ่งเหล่านั้นยังอยู่ใกล้ตัวกว่าที่เราคิด เพราะทั้งหมดถูกค้นพบที่ลุ่มแม่น้ำโขงนี่เอง

สิ่งมีชีวิต 163 ชนิดใหม่แห่งลุ่มน้ำโขง

จากการสำรวจที่ดำเนินการโดย WWF ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา พบว่ามีสัตว์และพืชสายพันธุ์ใหม่ที่ค้นพบในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงรวมกว่า 2,409 ชนิด

โดยรายงานสิ่งมหัศจรรย์ใหม่แห่งลุ่มน้ำโขงฉบับล่าสุดของ WWF ยังเผยให้เห็นการค้นพบอันน่าตื่นเต้นของทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบสัตว์และพืชสายพันธุ์ใหม่เพิ่มเติมอีกถึง 163 ชนิด แบ่งเป็นสัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก 9 ชนิด ปลา 11 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 14 ชนิด พืช 126 ชนิด และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีก 3 ชนิด โดยพื้นที่ที่ค้นพบสิ่งมหัศจรรย์เหล่านี้ ได้แก่ ประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย

“พื้นที่ลุ่มน้ำโขงเปรียบเสมือนสนามแม่เหล็กที่ดึงดูดนักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์จากทั่วโลกให้เข้ามาสำรวจและศึกษาถึงความหลากหลายทางชีวภาพอันน่ามหัศจรรย์ในพื้นที่ นักวิทยาศาสตร์เองก็เป็นเหมือนวีรบุรุษผู้อยู่เบื้องหลัง เพราะต้องทำงานอย่างหนักเพื่อแข่งขันกับเวลาที่เหลือน้อยลง เพื่อช่วยอนุรักษ์สัตว์หายากเหล่านี้” จิมมี โบราห์ (Jimmy Borah) ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์สัตว์ป่าของ WWF ประจำภูมิภาคลุ่มน้ำโขงให้ความคิดเห็น

งูหัวสีสายรุ้ง กิ้งก่าเขาหนาม ตุ๊กแกมังกร คือตัวอย่างสัตว์มหัศจรรย์ที่เพิ่งค้นพบ

สำหรับไฮไลท์ที่น่าสนใจของการค้นพบครั้งนี้มีหลากหลาย อาทิ

งูหัวสีสายรุ้งเหลือบเงิน หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Parafimbrios ที่สามารถค้นพบได้ตามพื้นที่หน้าผาสูงชันทางตอนเหนือของประเทศลาว โดยมีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าจะสามารถพบงูชนิดนี้ได้เพียงพื้นที่เดียว แต่ล่าสุดกลับค้นพบว่ามีงูหัวสีสายรุ้งเหลือบเงินอยู่ในพื้นที่อื่นด้วยเช่นกัน ถือเป็นการสร้างความหวังให้กับนักวิทยาศาสตร์ และเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดที่มากขึ้นของพวกมัน

ส่วนกิ้งก่าเขาหนามภูเก็ต หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ Acanthosaura Phuketensis ก็แทบไม่ต้องบอกว่ามันถูกค้นพบได้ในป่าของจังหวัดภูเก็ต จุดเด่นของมันคือแผงหนามที่ยาวจากหัวถึงกลางสันหลัง แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันพวกมันมีจำนวนลดลง โดยมีสาเหตุมาจากการสูญเสียที่อยู่อาศัย และตกเป็นเหยื่อของการลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย

อีกตัวที่มีความโดดเด่นไม่แพ้กันคือ ตุ๊กแกที่มีลักษณะคล้ายกับมังกร หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Gekko Bonkowskii โดยลักษณะเด่นของมันอยู่ที่ส่วนหางที่จะเป็นปล้องสีฟ้าอ่อนสลับกับปล้องสีดำ สามารถค้นพบได้ตามเทือกเขาที่ห่างไกลในประเทศลาว โดยมีนักวิทยาศาสตร์ผู้ศึกษาและสำรวจหินย้อยภายในถ้ำเป็นผู้ค้นพบ และเชื่อกันว่าอาจเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความเข้าใจที่มากขึ้นถึงวิวัฒนาการของสัตว์เลื้อยคลายในบริเวณเทือกเขาอันนัม

ส่วนเจ้าค้างคาว Murina Kontumensis ที่แม้จะมีหน้าตาน่ากลัว แต่มันก็ถือเป็นสัตว์หายาก เพราะมีลักษณะพิเศษอยู่ที่มีขนาดเล็กและมีขนหนาปกคลุมหัวและช่วงแขนด้านหน้า สามารถค้นพบได้บนที่ราบสูงตอนกลางของประเทศเวียดนาม

เช่นเดียวกับกะท่าง หรือจิ้งจกน้ำ ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Tylototriton Anguliceps ที่มีลักษณะเด่นอยู่ที่ผิวหนังสีส้มสลับดำนูนเป็นปุ่มเรียงเป็นทางยาว ค้นพบได้ในจังหวัดเชียงราย แต่น่าเสียดายที่หนังส่วนที่นูนขึ้นมานี้จะมีความอ่อนไหวอย่างมากต่อสารกำจัดศัตรูพืช ปัจจุบันพวกมันจึงกำลังอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากแหล่งที่อยู่อาศัยถูกทำลายลง

อีกตัวที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ อึ่งขนาดเล็ก ที่มีขนาดลำตัวยาวเพียง 3 เซนติเมตรเท่านั้น ชื่อวิทยาศาสตร์ของมันคือ Leptolalax Isos สามารถพบได้ในประเทศกัมพูชาและเวียดนาม แต่จากสถานการณ์การทำป่าไม้ การขยายพื้นที่เกษตรกรรม และการก่อสร้างโครงการพลังงานน้ำขนาดใหญ่ ทำให้จำนวนของอึ่งชนิดนี้ลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

นอกจากนี้ตามรายงานยังระบุถึงการค้นพบพืชพันธุ์หายากจำนวนมาก อาทิ กล้วยศรีน่าน หรือ Musa Nanensis กล้วยพันธุ์หายากที่พบได้บนที่ราบสูงตอนกลางของเวียดนาม ดอกไม้มีวงกลีบเลี้ยง 2 ด้าน ลักษณะคล้ายหูมิกกี้เมาส์ หรือ Kingdon-Wardii ที่ค้นพบได้บริเวณยอดเขาวิกตอเรีย ประเทศเมียนมา ฯลฯ

“นักสะสมสัตว์ป่าและพืชพันธุ์หายากยินยอมจ่ายเงินจำนวนหลายล้านบาท เพื่อให้ได้ครอบครองสัตว์ป่าและพืชพันธุ์ที่มีคุณค่าเหล่านี้ ตลาดใหญ่ที่สำคัญคือบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างประเทศจีน ลาว ไทย และเมียนมา จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องพัฒนาและปรับการทำงาน เพื่อปิดตลาดการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายเหล่านี้ให้หมดไป รวมถึงปิดฟาร์มเพาะเลี้ยงเสือและหมีที่คอยป้อนสัตว์ให้กับตลาดค้าสัตว์ป่า” จิมมี โบราห์ ให้ความเห็นเพิ่มเติม

แต่แม้จะไม่มีนักสะสมที่เป็นเสมือนนักล่าผู้เห็นแก่ได้เหล่านี้ ปัจจุบันภูมิภาคลุ่มน้ำโขงก็กำลังเผชิญความท้าทายจากกระแสพัฒนาโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการในพื้นที่ ทั้งการทำเหมือง การสร้างถนน ไปจนถึงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่มากมาย ซึ่งกำลังคุกคามความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่หลายหมื่นหลายพันที่อาจจะสูญหายไปก่อนที่จะได้รับการค้นพบ

หรือสุดท้ายแล้วพืชและสัตว์มหัศจรรย์เหล่านี้จะเหลือเพียงถิ่นที่อยู่เดียวที่มันจะอยู่อาศัยได้นานที่สุด นั่นคือ ในหน้าหนังสือประวัติศาสตร์เท่านั้น


อ้างอิง:
– http://www.wwf.or.th/en/newsroom/?288113/ScientistsDiscover163NewSpecies-in-GreaterMekongRegion

Tags: , ,