นับเป็นอีกย่างก้าวสำคัญของการเคลื่อนไหวไปสู่ความปรองดอง เมื่อคณะอนุกรรมาธิการ ปรองดองฯ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ แถลงผลการประชุมนัดแรก โดยกำหนดเป้าหมายการทำงานที่จะทำให้ความขัดแย้งระหว่างพรรคและกลุ่มการเมืองต่างๆ ยุติลง โดยจะนำนโยบายและมาตรการ 66/23 ในสมัยที่ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี มาเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนความปรองดองนับจากนี้

มาตรการ 66/23 คือคำสั่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2523 ในสมัยที่รัฐบาลขณะนั้นกำลังเผชิญหน้ากับสงครามกลางเมืองที่มีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นคู่ขัดแย้งหลัก

นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้เวลาผ่านไป 37 ปีแล้ว แม้แนวทางดังกล่าวจะได้รับผลสำเร็จอย่างมากในการยุติความขัดแย้งที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นชนวนเหตุสำคัญ และทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ล่มสลายไปในที่สุด จนสุดท้ายกลายเป็นผลงานอันโดดเด่นของ พล.อ.เปรม แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า เมื่อเวลาผ่านไปบริบทของสังคมก็เปลี่ยนแปลง

66/23 คืออะไร? แล้วจะนำไปสู่การปรองดองในบรรยากาศความขัดแย้งอันซับซ้อนในปัจจุบันได้จริงหรือไม่? The Momentum ได้พูดคุยกับ ผศ.ดร. บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อตอบคำถามเหล่านี้

ผมค่อนข้างเป็นห่วงว่าการประเมินและคิดว่าความขัดแย้งรูปแบบนี้จะเอาวิธีแบบ 66/23 มาใช้จะเกิดประโยชน์ อาจเป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้อง

66/23 ไม่ใช่ยาวิเศษที่รักษาความขัดแย้งได้ทุกโรค

หลักใหญ่ใจความสำคัญของคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เรื่องนโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ คือการพยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีที่เรียกว่า ‘การเมืองนำการทหาร’ โดยระบุว่าปัญหาคอมมิวนิสต์เกิดจากความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างชนชั้นระหว่างคนในเมืองกับคนในชนบทกว้างมากขึ้น อีกทั้งการปกครองแบบเผด็จการยังเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์เติบโตในประเทศไทย ดังนั้นการแก้ไขปัญหาคอมมิวนิสต์จึงต้องแก้ไขด้วยวิถีทางการเมือง โดยเชื่อว่าประชาธิปไตยจะเอาชนะคอมมิวนิสต์ได้

แม้จะมีเจตนารมณ์และแนวคิดในการแก้ปัญหาที่ดี แต่ลำพังคำสั่ง 66/23 อย่างเดียวก็อาจไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาคอมมิวนิสต์ในเวลานั้น เพราะอีกส่วนสำคัญที่ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยล่มสลายก็เนื่องมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งภายในพรรคคอมมิวนิสต์เอง และการเจรจากับรัฐบาลจีนเพื่อให้ตัดความช่วยเหลือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จนทำให้พรรคคอมมิวนิสต์อยู่ในภาวะระส่ำระสาย และกลายเป็นความสำเร็จที่เกิดจากปัจจัยหลายๆ อย่างรวมกัน

ผศ.ดร. บัณฑิต มองว่า “การประเมินผลสำเร็จของคำสั่ง 66/23 ต้องอย่าประเมินเกินจริง เพราะถ้าประเมินเกินจริงก็อาจจะทำให้เราเข้าใจอะไรผิดๆ ไปหมด

“ในช่วงเวลาที่คำสั่ง 66/23 ออกมามันอยู่ในเงื่อนไขของสงครามการเมืองจริงๆ คือมีการจับอาวุธสู้รบกับรัฐจริงๆ ความเสียหายก็มีอาณาบริเวณหลายจังหวัด คนที่ได้รับผลกระทบผมว่ามีแสนๆ ล้านๆ คนที่เห็นได้ชัด ขณะที่ความขัดแย้งในเวลานั้นมีคู่ขัดแย้งที่ชัดเจน คือมีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับรัฐบาลไทย และประชาชนที่ถูกรังแกในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่เข้าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

“เมื่อเทียบกับมิติการเมืองไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา แน่นอนว่าภาพมันไม่ได้เห็นเป็นความรุนแรงที่ชัดเจน และไม่ได้เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและจบลงในปีเดียวกัน แต่เป็นความขัดแย้งที่ก่อตัวมาอย่างซึมลึก เกิดจากการสั่งสมความเกลียดชัง ความคับข้องใจ ความไม่พอใจต่อโครงสร้างทางการเมืองที่เป็นอยู่ ด้านหนึ่งคือคนชั้นกลางในเมืองมีอำนาจทางเศรษฐกิจ มีที่ทางทางสังคมซึ่งมองว่าการเปลี่ยนแปลงในยุคทักษิณเป็นภัยต่อตัวเอง แต่คนจำนวนมากก็รู้สึกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2540 กำลังทำงานให้กับตัวเอง มุมมองเหล่านี้ไม่ได้เป็นมุมมองในเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองแบบพรรคคอมมิวนิสต์ แต่เป็นกระแสของความเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าทางสังคมที่เป็นเรื่องของเศรษฐกิจ การแข่งขัน การเมืองแบบประชาธิปไตย และการเมืองแบบอนุรักษ์นิยม มันมีความซับซ้อนกว่า มีหลายปัจจัยกว่าในหลายบริบท ซึ่งผมค่อนข้างเป็นห่วงว่าการประเมินและคิดว่าความขัดแย้งรูปแบบนี้จะเอาวิธีแบบ 66/23 มาใช้จะเกิดประโยชน์ อาจเป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้อง”

ทุกคนก็อยากจะปรองดองแหละครับ เพียงแต่ว่าโดยเงื่อนไขทางการเมืองขณะนี้ มันอนุญาตให้เราพูดคุยกันเรื่องนี้โดยไม่มีขีดจำกัด ในแบบที่ไม่มีใครเอาปืนมาจี้ให้เราไปคุยกันหรือเปล่า

 

66/23 ต่างกันอย่างไรกับนิรโทษกรรมแบบสุดซอย

อีกแนวคิดสำคัญของคำสั่ง 66/23 คือการเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์และมวลชนที่เข้าป่าไปจับปืนต่อสู้กับรัฐบาล ได้รับการนิรโทษกรรมในคดีการเมืองทั้งหมด และกลับมาใช้ชีวิตตามปกติในฐานะ ‘ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย’ และมองว่าผู้ที่เห็นต่างจากรัฐเป็น ‘ผู้หลงผิด’

นั่นกลายมาเป็นคำถามสำคัญว่าหากนำแนวคิดนี้มาใช้จริง นั่นอาจเป็นการเปิดทางไปสู่การนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งหรือไม่? ผศ.ดร. บัณฑิต ให้ความเห็นว่า

“อยากจะเตือนเหมือนกัน ถ้าจำกันได้จุดเริ่มต้นที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ได้รับการยอมรับและถูกต่อต้านอย่างรุนแรง คือนโยบายนิรโทษกรรมเหมาเข่งสุดซอย ขณะที่ 66/23 ก็เหมือนกับการให้คนที่จับปืนสู้รบกับรัฐบาลสามารถที่จะมาเข้าศูนย์การุณยเทพ ยอมรับผิด และเข้าสู่กระบวนการ โดยไม่มีคดีความใดๆ ซึ่งผมถามคำเดียวว่าต่างจากกรณีนิรโทษกรรมสุดซอยในยุคยิ่งลักษณ์หรือเปล่า”

ทั้งนี้นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการนำแนวคิดคำสั่ง 66/23 กลับมาใช้อีกครั้ง เพราะก่อนหน้านี้ในปี 2555 พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ เคยเสนอแนวคิดนี้เพื่อสร้างความปรองดองในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาแล้ว ซึ่งขณะนั้นก็เกิดข้อถกเถียงในการนิรโทษกรรมเช่นกัน โดยนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้นเสนอว่าควรนิรโทษกรรมเฉพาะผู้ชุมนุมที่ละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินเท่านั้น ส่วนในคดีอาญาอื่นๆ ไม่สมควรให้มีการนิรโทษกรรม

แต่ถึงอย่างนั้นก็คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าแนวทางการปรองดองที่กำลังจะเกิดขึ้นครั้งนี้จะมีการหยิบยกการนิรโทษกรรมมาใช้ด้วยหรือไม่ หรือใช้อย่างไร เพื่อให้คู่ขัดแย้งทุกฝ่ายได้ประโยชน์มากที่สุด

ทหารเป็นตัวละครสำคัญของความขัดแย้งและไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงในรอบหลายปีที่ผ่านมาด้วย ผมว่าเรื่องนี้ทหารต้องทำความเข้าใจตัวเองและสังคม จะมาเรียกร้องให้คนอื่นเข้าใจสังคม โดยที่คุณไม่ยอมมองว่าสังคมมันเปลี่ยน คุณจะปรองดองอย่างไร

 

บรรยากาศปรองดองไม่เกิด อย่าหวังว่าจะปรองดองได้

ความปรองดองคือสิ่งที่หลายคนต้องการจะเห็น แต่ปรองดองแบบไหน และจะปรองดองได้อย่างไร คือคำถามที่ยังมองไม่เห็นคำตอบในเวลานี้ ซึ่งในความเห็นของ ผศ.ดร. บัณฑิต มองว่าสิ่งที่สำคัญกว่าวิธีการ คือการสร้างบรรยากาศของความปรองดอง

“ผมคิดว่าทุกคนก็อยากจะปรองดองแหละครับ เพียงแต่ว่าโดยเงื่อนไขทางการเมืองขณะนี้ มันอนุญาตให้เราพูดคุยกันเรื่องนี้โดยไม่มีขีดจำกัด ในแบบที่ไม่มีใครเอาปืนมาจี้ให้เราไปคุยกันหรือเปล่า ถ้ามันอยู่ในเงื่อนไขแบบนั้น ผมว่าบรรยากาศการปรองดองจะเกิดขึ้น

“ทุกวันนี้คดีความที่ยังค้างคาอยู่ในศาลมีเป็นร้อยๆ คดี มีคนที่ติดคุกอยู่โดยที่กระบวนการยุติธรรมยังไม่ให้ความยุติธรรมกับเขาในแบบที่ควรจะเป็น หลายๆ ครั้งทหารก็เป็นคนแจ้งจับด้วยซ้ำ ฉะนั้นการปรองดองจากฝ่ายเดียวมันไม่มีทางเป็นไปได้ ถ้าเราดูประสบการณ์ของประเทศอื่นๆ จะเห็นว่าผู้ชนะจะเป็นผู้หยิบยื่นโอกาสในการปรองดองให้กับผู้แพ้ แต่ในกรณีนี้ผมคิดว่ายังห่างไกลจากความเป็นไปได้ โดยเฉพาะทัศนคติบางอย่างที่ต้องเปลี่ยน

“กลไกมันมีมากมาย วิธีการมีมากมาย จะเอาแบบไหนล่ะ ไม่ว่าวิธีไหนก็แล้วแต่มันต้องเริ่มด้วยการสร้างบรรยากาศการปรองดองก่อน คนที่โดนคดีทางการเมืองในวันนี้เขาอาจจะไม่ได้ต้องการความปรองดอง แต่เขาต้องการความยุติธรรมในการพิจารณาคดี หลายอย่างทำได้ง่ายๆ เลย แค่ยุติการดำเนินคดี ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร อย่างคดีเด็กนักศึกษาที่ไปตรวจสอบทุจริตอุทยานราชภักดิ์ก็ยกฟ้องไปเลยก็ได้ รวมถึงคดีของนักเคลื่อนไหว หรือนักกิจกรรมจำนวนมากที่ถูกรัฐบาล คสช. ฟ้อง ผมว่าแค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่จะสร้างบรรยากาศของการปรองดอง ถ้าไม่เริ่มด้วยกระบวนการเหล่านี้ อย่าหวังเลยครับที่จะปรองดอง”

อีกเรื่องที่รัฐบาล คสช. จำเป็นต้องยอมรับคือ ทหารเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งที่สำคัญ ไม่ได้เป็นเพียงคนกลางที่อยู่เหนือความขัดแย้งอย่างที่กล่าวอ้างกัน

“ถ้าคุณบอกว่าทหารไม่ใช่คู่ขัดแย้ง แต่เป็นผู้แก้ปัญหา หรือเป็นคนกลาง ผมคิดว่าประเด็นนี้ก็มองข้ามความจริงไปเหมือนกัน คือทหารเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง คุณปฏิเสธไม่ได้ แค่คุณถือปืนอยู่เท่านั้นเอง คนเขาก็เลยรู้สึกว่าไม่อยากจะพูด ถ้าพูดกันตามจริงคุณปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าคุณคือคนที่เสียงดังที่สุด และมีปืนอยู่ในมือ ทหารเป็นตัวละครสำคัญของความขัดแย้งและไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงในรอบหลายปีที่ผ่านมาด้วย ผมว่าเรื่องนี้ทหารต้องทำความเข้าใจตัวเองและสังคม จะมาเรียกร้องให้คนอื่นเข้าใจสังคม โดยที่คุณไม่ยอมมองว่าสังคมมันเปลี่ยน คุณจะปรองดองอย่างไร”

ล่าสุด ดูเหมือนว่าแนวคิดที่จะนำคำสั่ง 66/23 กลับมาใช้อีกครั้งอาจเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากขึ้น เพราะ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้ออกมาให้ความเห็นต่อข้อเสนอนี้ว่า “เรื่องนี้อยากให้ทุกคนกลับไปทบทวนให้ดี เพราะสูตรดังกล่าวเป็นคนละกรณีกัน ครั้งนั้นเป็นเรื่องการต่อสู้กัน มีทั้งการใช้กำลัง การใช้อาวุธสงคราม แบ่งฝ่ายต่อสู้กัน ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับตอนนี้ วันนี้เราไม่ได้แบ่งแบบนั้น สูตร 66/23 เป็นการนำคนกลับเข้ามาเพื่อเป็นกลุ่มพัฒนาชาติไทย แต่กรณีปัจจุบันเป็นคนละอย่าง และไม่ได้แบ่งกันเป็นคนละลัทธิ วันนี้อยู่ที่การจะทำให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้อย่างไรด้วยกลไกปกติ ซึ่งมันต้องมีวิธีการไ

สุดท้ายจะเลือกใช้วิธีไหนที่จะนำความปรองดองกลับคืนมาสู่สังคมไทย ก็อาจไม่สำคัญไปกว่าวันนี้ทุกฝ่ายในสังคมพร้อมที่จะปรองดองกันจริงๆ หรือยัง เพราะความปรองดองเกิดขึ้นจากฝ่ายเดียวไม่ได้ ไม่ว่าจะพยายามแค่ไหนก็ตาม

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai

Tags: ,