ปิดหัวข้อนี้ก็ทราบได้ทันทีว่าเอิ้นกำลังจะเขียนเรื่องอะไร

ตั้งแต่วันแรกที่เราสูญเสียพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คนไทยก็เข้าสู่สภาวะสูญเสียร่วมกันรวมทั้งเอิ้นด้วย

 

ตั้งแต่วันแรก เอิ้นก็ได้รับข้อความจากบรรดาแฟนเพจจำนวนไม่น้อยขอให้เขียนบทความเกี่ยวกับการจัดการกับความเศร้า แต่เอิ้นตั้งใจจะไม่เขียนในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ด้วยเหตุผล 3 ประการ

1. ความเศร้าของทุกคนในตอนนี้คือสิ่งธรรมชาติ เพราะเราต่างสูญเสียผู้เป็นที่รักที่สุดไป และไม่ควรปิดกั้นในช่วง 2-3 วันแรก เพราะจะกลายเป็นเก็บกด (คนไม่เศร้าจึงแปลก คนแสดงออกไม่เหมาะสมจึงดูป่วย)

2. เราเห็นพลังของความเศร้าที่มาก เราจึงเพิ่งได้ตระหนักกันว่าพ่อมีค่ากับชีวิตเราแค่ไหน

3. ก่อนแนะนำใคร เราก็ควรได้สัมผัสความทุกข์นั้นก่อนและพาตนเองพ้นทุกข์ได้ การแนะนำจึงจะมาจากความเข้าใจที่ลึกซึ้ง มิใช่แต่ทฤษฎีในตำรา

 

ด้วย 3 เหตุนี้ จึงปล่อยใจให้เห็นความเศร้า ก่อนช่วยพวกเราให้เดินหน้าตามรอยทางของพ่อไปพร้อมกัน ตอนนี้เอิ้นคิดว่าถึงเวลาที่เหมาะสมแล้วที่จะพาทุกคนไปเรียนรู้ ‘การอยู่กับความเศร้าอย่างที่พ่อเราภูมิใจ’

ตั้งแต่จำความได้ ภาพพระราชกรณียกิจที่เห็นจนชินตาในทุกๆ สองทุ่ม เมื่อถึงวัยเข้าเรียนก็ได้รับสมุดจดเป็นรูปพระองค์ท่าน จากภาพทางทีวีที่เห็น จากคำสอนผ่านหนังสือที่อ่าน จากคำบอกเล่าของพ่อแม่ที่บอก จากการได้สัมผัสสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่างๆ ที่พระองค์ท่านสร้างไว้ให้ แม้เอิ้นจะไม่เคยมีโอกาสเข้าเฝ้าพระองค์ท่านเลยแม้สักครั้ง แต่สิ่งต่างๆ ที่พระองค์ทรงทำกลับทำให้เอิ้นรู้สึกผูกพันแบบที่เคยถามตัวเองว่า “ไม่มีพระองค์ท่านแล้ว เราจะอยู่กันได้อย่างไร”  ก่อนนั้นแค่คิดขึ้นมาน้ำตาก็ไหลแล้ว แต่วันนี้เราสูญเสียในหลวงของเราไปแล้วจริงๆ การสูญเสียพ่อของแผ่นดินในครั้งนี้จึงตามมาด้วยความเศร้าที่ยิ่งใหญ่มหาศาล

 

ความเศร้าในรูปแบบของคุณเป็นอย่างไร? 

ที่ถามแบบนี้ เพราะเราต่างมีรูปแบบความเศร้าจากการสูญเสียแตกต่างกัน ทันทีที่เราทราบข่าวร้าย บางคนร้องไห้ฟูมฟายในทันที บางคนรู้สึกมึนงงเหมือนความฝัน บางคนยังคิดว่ามันไม่เป็นความจริง บางคนโกรธโชคชะตา บางคนยอมรับมันด้วยความจำยอม ทั้งหมดสามารถเกิดขึ้นกับเราได้ จะเกิดความรู้สึกใดก่อนก็ได้ เกิดเพียงแค่บางความรู้สึกก็ได้ ทั้งหมดมาจากความรู้สึกสูญเสีย อย่างเช่น วันแรกเอิ้นรู้สึกงง จริงหรือ วันที่สอง สาม เห็นใครพูดอะไรที่เกี่ยวกับพระองค์ท่านก็รู้สึกอยากจะร้องไห้ตลอดเวลา วันที่สี่ เริ่มยอมรับว่ามันเกิดขึ้นแล้ว แต่เรายังต้องมีชีวิตต่อไป และเป็นชีวิตที่ยังคงทำและถ่ายทอดตามสิ่งที่พระองค์ท่านสอนให้มากที่สุด

 

แล้วเราจะผ่านความเศร้าจากความรู้สึกสูญเสียครั้งนี้ไปได้อย่างไร? 

การสูญเสียในครั้งนี้ไม่ใช่แค่เพียงเราเท่านั้น แต่เป็นการสูญเสียของคนทั้งแผ่นดิน ดังนั้นเรามีความจำเป็นต้องตระหนักใน 2 ด้าน คือ ด้านของการดูแลจิตใจตัวเอง และด้านของการเป็นประชาชนที่ต้องทำให้แผ่นดินของพ่อสงบสุข

 

ด้านการดูแลใจของตัวเอง   

1. รับรู้อารมณ์ทุกอารมณ์ที่เกิดขึ้น และยอมรับว่าทุกอย่างมันเกิดขึ้นแล้วจริงๆ

2. แสดงออกถึงความเศร้าได้ (เพราะการปิดกั้นอาจทำให้กลายเป็นเก็บกด) บางคนร้องไห้ บางคนร้องเพลง บางคนเขียนลงนาม บางคนไปเป็นจิตอาสา บางคนสร้างกิจกรรมแสดงออกถึงความรัก เป็นต้น

3. สัมผัสคุณค่าและความหมายของสิ่งที่เราสูญเสีย เมื่อเราทบทวนเราจะพบว่า พระองค์ท่านทรงเป็นทั้งพ่อ แรงบันดาลใจ กำลังใจ ความอบอุ่น ความมั่นคง และทุกอย่างในชีวิตของเรา

4. เริ่มมองปัจจุบันและอนาคตว่าเราจะมีแนวทางในการดำเนินชีวิตอย่างไรเมื่อไม่มีพระองค์ท่านแล้ว เอิ้นเลือกที่จะบอกตัวเองว่า “เราจะเดินตามรอยทางแห่งแนวคิดที่พระองค์ทรงสอนไว้และถ่ายทอดสืบไปไม่ให้จางหาย”

5. เก็บความรู้สึกว่ามีพระองค์ท่านอยู่ในหัวใจของเราตลอดไป จากนี้เราจะไม่รู้สึกว่า พระองค์ประทับอยู่หัวหินหรืออยู่โรงพยาบาลศิริราช แต่พระองค์จะประทับอยู่กับเราตลอดเวลา

 

ด้านของการเป็นประชนที่ต้องทำให้แผ่นดินของพ่อสงบสุข

1. ใช้ห้วงเวลาของความเศร้าให้มีคุณค่า ในเวลาที่ความรื่นเริงหายไป เราจะพบว่าเราช้าลงเพื่อได้ทำอะไรอย่างไตร่ตรอง เราใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น (จากการงดสังสรรค์) เรามีเวลาอยู่กับคนที่เราควรอยู่มากขึ้น (เช่น พ่อแม่) เราได้ยินในสิ่งที่ควรได้ยิน (เรื่องราวและความรักของในหลวง) เราเห็นในสิ่งที่ควรเห็น (เห็นภาพความรักที่เป็นหนึ่งเดียว เห็นงานที่ในหลวงทรงทำเพื่อเรา)

2. หยุดกระตุ้น เช่น แสดงออกในทางตรงกันข้ามกับความรู้สึกของคนส่วนมาก โพสต์ข้อความที่ไม่เหมาะสม โต้เถียงเมื่อพบความคิดเห็นที่ขัดแย้ง (เพราะคนส่วนใหญ่ยังมีสภาวะจิตใจที่เศร้า จึงยากที่จะเห็นด้านบวก แต่ง่ายที่จะเห็นด้านลบ)

3. หยุดกล่าวโทษ ตอนนี้เราอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง อาจมีทั้งที่ถูกใจและไม่ถูกใจ ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะหาคนผิดตอนนี้ เช่น ทำไมหุ้นตก ทำไมงานยกเลิก ทำไมต่างชาติไม่เข้าใจ ทำไมๆๆๆๆๆๆๆ

4. หยุดส่งเสริม ในสถานการณ์นี้อาจมีบุคคลบางกลุ่มใช้เป็นลู่ทางในการสร้างจุดสนใจของตัวเอง โปรดมองการกระทำของพวกเขาด้วยความเฉยเมย (เมื่อเรียกร้องแล้วไม่ได้ เขาจะหยุดความเลวร้ายเอง)

หากเราดูแลจิตใจตัวเองได้ทั้ง 2 ด้านได้ดังนี้ เชื่อแน่ว่าชีวิตของเราและประเทศชาติของเราก็จะร่มเย็นเป็นสุขเสมือนว่าพระองค์ท่านทรงไม่ได้จากเราไปไหน เพราะความคิดของพระองค์อยู่ในความคิดของเรา และพระองค์ก็อยู่ในใจของเรา เมื่อพระองค์ท่านทอดพระเนตรลงมาเมื่อไร ก็ยังจะแย้มพระสรวลด้วยความภูมิใจในตัวเราเสมอ

Tags: , , , , , , ,