หลังรัฐบาลประกาศขอความร่วมมือสถานบันเทิงให้งดกิจกรรมรื่นเริงในที่สาธารณะ และขอให้โทรทัศน์งดออกอากาศเนื้อหาประเภทบันเทิงเป็นเวลา 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม ที่ผ่านมา เพื่อความเหมาะสมในช่วงที่คนไทยกำลังโศกเศร้า
งานรื่นเริงต่างๆ โดยเฉพาะงานอีเวนต์และคอนเสิร์ตจึงถูกเลื่อนออกไป รายการบันเทิงและละครและต่างๆ ซึ่งออกอากาศในช่วงเวลาที่มีเรตค่าโฆษณาสูงสุดต่างงดฉายเป็นเวลาหนึ่งเดือน
นอกเหนือจากรายการประเภทบันเทิงในโทรทัศน์ รัฐบาลยังขอความร่วมมือให้สื่อทุกประเภทพิจารณาความเหมาะสมของเนื้อหากันเอง ซึ่งครอบคลุมไปถึงรูปแบบและเนื้อหาของโฆษณาที่ปรากฏบนสื่อทุกประเภท ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ รวมถึงบิลบอร์ดสื่อออนไลน์อย่าง Facebook ตัดสินใจประกาศงดโฆษณาเพื่อความเหมาะสมกับสถานการณ์ โดยจะให้โฆษณาต่างๆ กลับมาปรากฏอีกครั้งตามปกติเมื่อวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ Facebook ยอมงดโฆษณา
แม้รัฐบาลจะประกาศว่า หลังจากครบกำหนด 30 วัน ผู้ประกอบการธุรกิจสามารถพิจารณาการโฆษณาและจัดงานได้อีกครั้งตามความเหมาะสม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ระหว่างช่วงเวลานับถอยหลัง 30 วัน ผู้จัดคอนเสิร์ตและอีเวนต์ รวมถึงเจ้าของสื่อทุกประเภท คือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ หรือกระทั่งเมื่อถึงคราวครบกำหนด คำว่า ‘ตามความเหมาะสม’ ที่รัฐบาลให้ไว้ ก็อาจกลายเป็นการเติมคำลงในช่องว่างที่ยากจะหาใครกล้าให้คำตอบ
ในวันที่อารมณ์ของสังคมยังอยู่ในความโศกเศร้า แต่เศรษฐกิจยังต้องดำเนินต่อไป The Momentum จะพาไปสำรวจความคิดเห็นของนายธนาคาร และผู้ประกอบการต่อทิศทางเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่งานรื่นเริงถูกเลื่อนออกไป เพื่อหาคำตอบว่า เมื่องานบางอย่างที่สร้างรายได้ต้องงด แล้วจะค้าขายอย่างไรเพื่อให้รอด และรัฐบาลควรมีท่าทีอย่างไรต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
เศรษฐกิจที่ยังต้องดำเนินไปในความโศกเศร้า
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานว่า เศรษฐกิจไทยค่อยๆ กลับมาฟื้นตัวขึ้นหลังจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองเมื่อ พ.ศ. 2557 ท่ามกลางการส่งออกสินค้าที่หดตัว และการค่อยๆ ฟื้นตัวจากธุรกิจท่องเที่ยวที่ช่วยพยุงไว้
และปีนี้คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศมากถึง 33 ล้านคน แต่เมื่อมีการประกาศให้งดงานรื่นเริงเป็นระยะเวลา 30 วัน คำถามใหญ่ที่ต้องหาคำตอบอย่างเร่งด่วนคือ จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่
สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัยหลักทรัพย์ จากบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) มองว่า การงดกิจกรรมรื่นเริงอาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวไปบ้าง แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบกับเศรษฐกิจมากนัก
“ผมคิดว่าตลาดหุ้นได้ผ่านช่วงที่มีความผันผวนสูง มีความไม่แน่นอนสูงไปแล้ว ช่วงนี้อาจมีการชะลอของเศรษฐกิจบ้าง แต่ด้วยปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจที่ฟื้นฟูมาอย่างต่อเนื่อง ก็คิดว่าผลกระทบคงไม่มาก”
ขณะที่ ‘หนุ่มเมืองจันท์’ หรือ สรกล อดุลยานนท์ คอลัมนิสต์ชื่อดัง เจ้าของคอลัมน์ ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ ใน นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับอารมณ์ของสังคมในช่วงนี้ว่า
“ตอนแรกผมนึกว่ารัฐบาลจะเคร่งครัดกว่านี้ รัฐบาลก็ผ่อนผันในเรื่องของสถานบันเทิง ไม่ได้สั่งให้ปิด เพียงแต่ขอให้ผู้ประกอบการพิจารณากิจกรรมให้เหมาะสมกับช่วงเหตุการณ์ ซึ่งผมก็มองว่าผู้ประกอบการก็เข้าใจได้กับอารมณ์ของสังคมในช่วงนี้ อารมณ์ของประชาชนเป็นอย่างไร และความพอดีมันอยู่ตรงไหน”
อย่างไรก็ตาม พันธนันท์ ชวชิวัฒนชัย เจ้าของธุรกิจร้านอาหารและบาร์ Barley Bistro&Bar เผยว่า ในมุมของผู้ประกอบการมองว่า แม้รัฐบาลจะไม่ได้สั่งปิดร้าน แต่การงดกิจกรรมและอีเวนต์ต่างๆ ก็มีผลกระทบต่อจำนวนคนเข้าร้าน ซึ่งส่วนตัวยินดีและเข้าใจว่าการจัดงานรื่นเริงอย่างเปิดเผยในช่วงเวลานี้ไม่เหมาะสม แต่อีกด้านหนึ่ง ก็ต้องยอมรับว่ากระทบต่อรายได้ที่จะต้องนำไปจ่ายให้กับลูกน้องและนักดนตรี
“เราต้องเลื่อนงานอีเวนต์ต่างๆ ที่เตรียมไว้ออกไปก่อน แม้รัฐบาลจะไม่ได้สั่งให้ปิดร้าน แต่พอเราไม่สามารถจัดกิจกรรมได้ตามปกติ ลูกค้าจึงเข้าร้านน้อยลงมากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งร้านประเภทบาร์อย่างเราได้รับผลกระทบเต็มๆ แต่คนบางส่วนเองก็อาจจะรู้สึกว่าไม่เหมาะสมด้วยที่จะมาสังสรรค์ในช่วงนี้”
การซื้อเสื้อดำทำเงินสะพัด แต่การสะสมธนบัตรอาจทำให้เงินหายจากระบบ
นอกจากนี้ รัฐบาลยังประกาศให้ข้าราชการแต่งกายไว้ทุกข์เป็นเวลาหนึ่งปี และคนส่วนใหญ่ที่แม้ไม่ได้เป็นข้าราชการก็เลือกใส่เสื้อผ้าสีดำหรือสีพื้น เพราะต้องการแสดงความไว้อาลัย ซึ่งหนุ่มเมืองจันท์ มองว่า กระแสการซื้อเสื้อดำในช่วงนี้จะทำให้เงินสะพัดในระบบ แต่สิ่งที่ต้องระวังคือการที่ผู้คนแห่กันซื้อธนบัตรมาสะสม
“ในมุมกลับกันที่จะเกิดขึ้นระหว่างการประกาศงดงานรื่นเริงและรายการบันเทิงในช่วง 30 วันนี้ ก็คือกระแสการซื้อเสื้อดำ ซึ่งผมมองว่าในเชิงธุรกิจก่อให้เกิดเงินสะพัดเยอะมากทีเดียว จากสินค้าที่คนไม่ได้ตั้งใจซื้อก็ต้องมาซื้อ ซึ่งมันดึงคนเข้าห้างสรรพสินค้า และพอคนเข้าห้างเขาก็ไม่ได้ไปซื้อเสื้อดำอย่างเดียว ร้านอาหารในช่วง 2-3 วันนี้คนแน่นมาก เงินมันก็สะพัดในระบบเศรษฐกิจ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังในตอนนี้คือ การที่คนเริ่มสะสมธนบัตร ถ้าคนเก็บธนบัตรเยอะมาก เงินจะหายจากระบบเยอะ และทำให้การใช้จ่ายเกิดภาวะฝืดเคือง”
แม้จากประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรีที่สั่งให้ผู้ประกอบการงดงานรื่นเริงในที่สาธารณะ และขอให้สื่อโทรทัศน์งดรายการบันเทิงทุกประเภทเป็นเวลา 30 วัน โดยให้พิจารณาถึงเนื้อหาตามความเหมาะสม แต่ทว่าในมุมหนึ่ง คำว่า ‘ความเหมาะสม’ ก็กลายเป็นการเติมคำลงในช่องว่างที่ยากจะหาใครกล้าให้คำตอบ
สำหรับประเด็นดังกล่าว หนุ่มเมืองจันท์เสนอว่า รัฐบาลควรให้ความชัดเจนเพื่อให้ผู้ประกอบการเกิดความมั่นใจ
“พวกคนจัดงานคอนเสิร์ตและอีเวนต์จะกลัวเกิดมาตรการที่แท้จริง เหมือนกับทีวีก็ไม่กล้ากลับมาฉายรายการตามปกติ รัฐบาลควรให้ความชัดเจนกับพวกเขา เพราะนักดนตรีหรือคนจัดงานเขาก็ยังต้องการรายได้ ซึ่งเรายอมรับได้ว่าความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ต้องเกิดผลกระทบบ้าง แต่เราจะยอมรับได้ประมาณไหน เพราะสุดท้ายเศรษฐกิจก็ยังต้องดำเนินต่อไป”
สอดคล้องกับพันธนันท์ ที่มองว่า อยากให้รัฐบาลให้ความชัดเจนกับผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจ เพราะตอนนี้ยังไม่กล้ากำหนดว่างานอีเวนต์ควรจะถูกเลื่อนออกไปถึงเมื่อไร เนื่องจากไม่แน่ใจว่าอนาคตจะเกิดการเปลี่ยนแปลงวันหยุดราชการ หรือมีงานอะไรอีกหรือไม่
“อยากให้รัฐบาลกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนกว่านี้ เพราะแม้รัฐบาลจะกำหนดให้งดงานรื่นเริง 30 วัน แต่เราก็ไม่กล้าวางแผนอะไรจนกว่าจะพ้นสิ้นปีอยู่ดี เผื่อว่าจะมีงานอะไร หรือมีการเปลี่ยนแปลงวันหยุดราชการ ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้เลย”
ในวันที่อารมณ์โศกเศร้าของสังคมยากจะจางหาย เหล่าผู้ประกอบการยินดีร่วมไว้อาลัยตามคำประกาศของรัฐบาล แต่ท้ายที่สุด เมื่อครบกำหนดวาระ 30 วันแล้ว รัฐบาลควรมีมาตรการที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้ประกอบการและเศรษฐกิจไทยเดินหน้าได้ต่อไป
อ้างอิง:
– Reuters
– http://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/EconomicConditions/Pages/default.aspx