นับเป็นเรื่องน่าใจหายไม่น้อย เมื่อ ราวีนา ซัมดาซานี โฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ OHCHR ได้ออกแถลงการณ์แสดงความผิดหวังที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติของไทย หรือ สนช. ได้ระงับการพิจารณาร่างกฎหมายเอาผิดทางอาญาต่อเจ้าหน้าที่ที่ทรมานหรือทำให้บุคคลหายสาบสูญ หรือ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ทางรัฐบาลไทยเคยให้คำมั่นสัญญาที่จะผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง
ในขณะที่อีก 2 สัปดาห์ทางคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เตรียมพิจารณารับฟังและประเมินรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยประจำปี 2016 ในวันที่ 13-14 มีนาคมที่จะถึงนี้ ที่สำนักงานใหญ่ UNHRC นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
คำถามที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ แท้จริงแล้วกฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญอย่างไรกับประเทศไทย ทำไมกฎหมายนี้จึงถูกระงับยับยั้ง และสิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนภาพความเป็นจริงด้านกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างไร
การซ้อมทรมานนับเป็นเครื่องมือของหน่วยความมั่นคงไทย
มาตั้งแต่ยุคสงครามเย็นจนถึงปัจจุบัน
แต่ถึงอย่างนั้นหน่วยงานรัฐไทยก็ไม่เคยยอมรับว่ามีการซ้อมทรมานเกิดขึ้น
อุ้มหาย-ซ้อมทรมาน ไม่ถือเป็นอาชญากรรม เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ
จากรายงานพิเศษของเว็บไซต์ prachatai.com เรื่อง 10 ปีประชาไท: 10 ปีกับการซ้อมทรมาน 10 ปีของความยุติธรรมที่หายไป ในโอกาสที่ประชาไทอายุครบ 10 ปี ในปี 2557 ระบุว่า การซ้อมทรมานนับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุดอย่างหนึ่ง และเป็นสิ่งที่ถูกห้ามอย่างเข้มงวดในกฎหมายระหว่างประเทศ เนื่องจากเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างร้ายแรง และมีผลกระทบที่ทำให้สังคมโดยรวมตกอยู่ในความหวาดกลัว
สำหรับในประเทศไทยนั้น การซ้อมทรมานนับเป็นเครื่องมือของหน่วยความมั่นคงไทยมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็นจนถึงปัจจุบัน แต่ถึงอย่างนั้นหน่วยงานรัฐไทยก็ไม่เคยยอมรับว่ามีการซ้อมทรมานเกิดขึ้น และยังไม่เคยมีการรวบรวมสถิติที่ชัดเจน
แต่จากข้อมูลในรายงานภาคประชาสังคมที่นำเสนอต่อสหประชาชาติ ที่จัดทำโดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และศูนย์ทนายความมุสลิมพบว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับคำร้องว่ามีการซ้อมทรมานมากถึง 134 คำร้อง การปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมต่อบุคคล 188 คน นับตั้งแต่ปี 2550-2556 จากทั่วประเทศ ส่วนศูนย์ทนายความมุสลิมเคยได้รับคำรองถึง 3,456 คำร้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่ง 393 กรณีเกี่ยวกับการซ้อมทรมาน หรือการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมระหว่างการถูกควบคุมตัว
ส่วนภาพรวมของการบังคับบุคคลให้สูญหายในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุว่ามีไม่ต่ำกว่า 82 คดี ซึ่งกรณีบังคับสูญหายที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดกรณีหนึ่งก็คือ คดีทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ และวันที่ 12 มีนาคมนี้กำลังจะครบรอบ 13 ปีเต็มของการหายไปของทนายสมชาย
ในระดับประเทศก็มีการใช้อำนาจตามมาตรา 44
ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทำตามคำสั่งหัวหน้า คสช.
ที่อนุญาตให้คุมตัวบุคคลโดยไม่ต้องตั้งข้อหาในสถานที่ที่ไม่ใช่ที่คุมตัวตามปกติ
คือไปคุมในที่ปิดลับ ไม่มีทนาย ไม่มีคนเข้าเยี่ยม
ซึ่งการคุมตัวในลักษณะนี้ตามกรอบกติการะหว่างประเทศ
ถือเป็นการบังคับบุคคลสูญหายเช่นกัน
อังคณา นีละไพจิตร ในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีบังคับให้บุคคลสูญหายระบุถึงความสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้กับ The Momentum ว่า
“ที่ผ่านมาเรื่องการทรมานและการบังคับสูญหายในไทยยังไม่ถือเป็นอาชญากรรม เพราะไม่มีฐานความผิดทางอาญามารองรับ โดยเฉพาะเรื่องการบังคับสูญหาย ที่เวลามีการก่ออาชญากรรมอย่างการลักพาตัว หรืออุ้มหาย ก็จะยังไม่สามารถเอาผิดกับใครได้ เนื่องจากไม่มีฐานความผิด และหลักกฎหมายไทยก็ระบุว่าถ้าไม่มีกฎหมายก็คือไม่มีความผิด ทำให้กลายเป็นช่องโหว่ของกฎหมาย
“ที่ผ่านมาอาจจะมีการใช้ความผิดฐานกักขัง หน่วงเหนี่ยว หรือฆาตกรรม แต่ปัญหาคือสมมติว่าบุคคลที่ถูกนำตัวไปไม่ทราบชะตากรรม ไม่รู้ที่อยู่ ไม่พบศพ กรณีนี้จะไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้เลย และไม่สามารถตั้งข้อหากับใครได้ เพราะไม่มีกฎหมายที่ชัดเจน”
นอกจากนี้ศาลฎีกายังเคยมีคำพิพากษาว่าครอบครัวไม่สามารถนับเป็นผู้เสียหายในการฟ้องร้องดำเนินคดีได้ เพราะไม่มีหลักฐานว่าผู้สูญหายบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตแล้ว ทำให้การฟ้องร้อง และหาตัวผู้กระทำผิดเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ด้าน สุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอชท์ ประจำประเทศไทย เปิดเผยกับ The Momentum ถึงความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ว่า
“ประเด็นเรื่องการซ้อมทรมานและการบังคับสูญหายเป็นประเด็นใหญ่ที่ทางสหประชาชาติพยายามเรียกร้องรัฐบาลไทยให้มีการผลักดันกฎหมายมาโดยตลอด และทุกครั้งที่มีการตรวจสอบพันธกรณีสิทธิมนุษยชนของไทย ประเด็นนี้ก็ถูกทวงถามความคืบหน้าทุกครั้งนับตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณเป็นต้นมา
“ในขณะที่สถานการณ์ในประเทศก็ยังมีการอุ้มหายเกิดขึ้นเป็นระยะๆ โดยเฉพาะในส่วนที่เกิดขึ้นในบริบทของการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น กรณีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ พ.ร.บ.ฉุกเฉิน ส่วนในระดับประเทศก็มีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทำตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่อนุญาตให้คุมตัวบุคคลโดยไม่ต้องตั้งข้อหาในสถานที่ที่ไม่ใช่ที่คุมตัวตามปกติ คือไปคุมในที่ปิดลับ ไม่มีทนาย ไม่มีคนเข้าเยี่ยม ซึ่งการคุมตัวในลักษณะนี้ตามกรอบกติการะหว่างประเทศถือเป็นการบังคับบุคคลสูญหายเช่นกัน มันก็สะท้อนว่าระหว่างที่เรายังไม่ยอมออกกฎหมายสักที รัฐก็ยังใช้วิธีบังคับสูญหายให้เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองประเทศ นอกจากนี้ยังมีข้อเรียกร้องเรื่องการซ้อมทรมานเกิดขึ้นอีกมากมาย โดยที่รัฐก็ปฏิเสธ และไม่เคยยอมให้มีการตรวจสอบอย่างเป็นอิสระ กลายเป็นว่ากฎหมายก็ยังไม่ออก ปัญหาก็สุมขึ้นมาเรื่อยๆ เป็นดินพอกหางหมู
“ถ้าหากกฎหมายฉบับนี้ผ่าน การควบคุมตัวบุคคลโดยไม่ตั้งข้อหาในสถานที่ปิดลับ การขัดขวางหรือไม่ให้ความร่วมมือกับการตรวจสอบเรื่องการซ้อมทรมานจะไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ นั่นหมายความว่าเจ้าหน้าที่จะใช้อำนาจอย่างที่เคยใช้ไม่ได้ ที่สำคัญจะมีการเอาผิดเกิดขึ้น แล้วเป็นการเอาผิดที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ตัวผู้กระทำเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้บังคับบัญชาและผู้มีส่วนร่วมรู้เห็นตามสายการสั่งการ คือเอาผิดไล่ตั้งแต่ล่างถึงบนได้เลย แล้วหลักการของกฎหมายฉบับนี้ในส่วนของการบังคับสูญหาย ภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า ongoing crime คือจนกว่าจะรู้ว่าอะไรเกิดขึ้น ความผิดก็จะยังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ และการสืบสวนก็จะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ มันก็จะไม่มีกรณีอย่างที่เกิดขึ้นกับทนายสมชาย หรือคุณบิลลี่ (พอละจี รักจงเจริญ) ที่มีการยุติการสอบสวนอีกต่อไป”
ส่วนในมุมมองของนานาชาติ สุนัยเปิดเผยว่ากฎหมายฉบับนี้นับเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญอย่างมากสำหรับประเทศอารยะทั่วๆ ไป แต่ในประเทศไทยหลายคนยังไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่ามีกฎหมายฉบับนี้ที่รอการพิจารณาอยู่
สมาชิก สนช. ส่วนใหญ่เป็นทหาร ตำรวจ
ขณะที่คนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทรมาน หรือบังคับให้บุคคลสูญหาย
ก็มักจะเป็นเจ้าหน้าที่ในส่วนงานความมั่นคง
ดังนั้นสมาชิก สนช. อาจจะมีความกังวลหรือเปล่าว่าหน่วยงานของตัวเองจะถูกดำเนินคดี
ความยุติธรรมที่เลือนหาย เพราะรัฐไม่ให้ความสำคัญ
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ กระแสข่าวการระงับกฎหมายดังกล่าวไม่ได้เป็นที่รับรู้ภายในประเทศมาก่อน จนกระทั่งสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ออกแถลงการณ์จนกลายเป็นประเด็นข่าวเกิดขึ้น ซึ่งสุนัยให้ความคิดเห็นว่า
“อย่างที่ทราบกันคืออีกสองสัปดาห์ประเทศไทยจะต้องเข้าสู่กระบวนการทบทวนพันธกรณีเรื่องสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองที่สหประชาชาติ แล้วองค์กรต่างๆ รวมถึงสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่ตั้งประเด็นสอบถามเรื่องนี้กับประเทศไทยเอาไว้ ถ้าให้คาดเดาเขาก็คงมีการตรวจเช็กกันเป็นการภายในว่าเรื่องที่เคยตั้งประเด็นไว้สถานะเป็นอย่างไร ซึ่งท่าทีของรัฐบาลไทยก็คงจะออกมาตรงกันข้ามกับที่เขาคาดหวังไว้ เลยเป็นที่มาของแถลงการณ์ดังกล่าว
“ทั้งที่จริงๆ แล้วก่อนหน้าที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจะออกแถลงการณ์ 1 วัน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเพิ่งไปแถลงที่ยูเอ็นว่าไทยจะทำเรื่องนี้ให้ดีที่สุด ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจมากสำหรับท่าทีของรัฐบาลไทย”
ทั้งนี้ภายหลัง OHCHR รับทราบท่าทีล่าสุดของรัฐบาลไทย ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ในฐานะต้นทางที่พยายามผลักดันกฎหมายฉบับนี้ได้ออกมาชี้แจงว่า กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขอยืนยันว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยการปฏิบัติตามพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศมาโดยตลอด รวมถึงอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฎิบัติหรือลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี
โดยที่ผ่านมาได้มีการปฏิบัติตามอนุสัญญาดังกล่าวหลายประการ เช่น การจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ การพัฒนามาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และการพัฒนากลไกเชิงนโยบายในการดูแลการอนุวัติตามอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ เป็นต้น
ศูนย์ทนายความมุสลิมเคยได้รับคำรองถึง 3,456 คำร้อง
เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ซึ่ง 393 กรณีเกี่ยวกับการซ้อมทรมาน
หรือการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมระหว่างการถูกควบคุมตัว
นอกจากนี้ในร่างรัฐธรรมนูญที่เพิ่งผ่านการลงประชามติยังได้มีการรับรองหลักการสิทธิมนุษยชนสำคัญในส่วนของการไม่เลือกปฏิบัติ การห้ามการทรมาน และความเท่าเทียมกันทางกฎหมายไว้อย่างชัดเจนด้วย
ด้าน อังคณา นีละไพจิตร แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า การที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เพิกเฉยต่อร่างกฎหมายดังกล่าวน่าจะเกิดจากความไร้วิสัยทัศน์ของสมาชิก สนช.
“เพราะสมาชิก สนช. ส่วนใหญ่เป็นทหาร ตำรวจ ขณะที่คนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทรมาน หรือบังคับให้บุคคลสูญหาย ก็มักจะเป็นเจ้าหน้าที่ในส่วนงานความมั่นคง ดังนั้นสมาชิก สนช. อาจจะมีความกังวลหรือเปล่าว่าหน่วยงานของตัวเองจะถูกดำเนินคดี เพราะดูแล้ว พ.ร.บ. ฉบับนี้มีประโยชน์มาก ช่วยพัฒนาการความก้าวหน้าของประเทศไทย ส่วนตัวรู้สึกผิดหวังมากๆ และประหลาดใจด้วยว่าทำไมกฎหมายดีๆ แบบนี้ที่รัฐบาลประกาศมาตลอดว่าจะให้ความสำคัญ และผ่านมติ ครม. ไปแล้วด้วย แต่พอสุดท้ายเมื่อไปถึงสภากลับไม่หยิบขึ้นมาพิจารณา”
สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … จะระบุให้การบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรมต่อเนื่องที่ไม่มีอายุความ ให้สิทธิ์ครอบครัวผู้สูญหายเป็นผู้เสียหายในคดี จะมีการตั้งคณะกรรมการที่เป็นอิสระในการตรวจสอบกรณีบังคับสูญหาย และนิยามให้การทรมานเป็นอาชญากรรม
ทางด้านองค์กรสิทธิมนุษยชน 5 องค์กร ได้แก่ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ได้รวมตัวกันออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ละเมิดพันธกรณีตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ และอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับสูญหาย พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเร่งสอบสวนข้อร้องเรียนว่ามีการทรมานหรืออุ้มหาย ปกป้องและคุ้มครองผู้ร้องเรียน และปฏิบัติตามอนุวัติการกฎหมายภายในให้เป็นไปตามพันธกรณี และกติการะหว่างประเทศอย่างเร่งด่วน
คงต้องจับตามองกันต่อไปว่าสุดท้ายแล้วกฎหมายดังกล่าวจะสามารถผ่านการพิจารณาและนำมาบังคับใช้ได้จริงหรือไม่ และไม่แน่ว่ามันอาจจะสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอยเช่นเดียวกับบุคคลที่ถูกอุ้มหาย หากว่าสังคมไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้เหมือนในช่วงเวลาที่ผ่านมา
Photo: PROTECTION International
อ้างอิง:
- prachatai.com/journal/2015/01/57307
- www.matichon.co.th/news/480855
- news.voicetv.co.th/thailand/465960.html