สิ่งที่การันตีว่าเราก้าวขึ้นเป็นผู้ใหญ่เต็มขั้น ก็คงหนีไม่พ้นการซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ และเริ่มต้นมีครอบครัว เพราะสิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า เรามีความรับผิดชอบมากขึ้นกว่าตอนวัยรุ่น และเราสามารถสร้างชีวิตตัวเองได้แล้วโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยพ่อและแม่อีกต่อไป
แต่วันนี้คนเจนวาย หรือคนในยุคมิลเลนเนียลส์นั้นกลับแต่งงานช้าลง และไม่สนใจการลงทุนซื้อสินทรัพย์อย่างบ้านเท่าไหร่นัก อาจไม่ใช่แค่เพราะพวกเขามีทัศนคติต่อเรื่องแต่งงานและชีวิตคู่ที่เปลี่ยนไป แต่เพราะพวกเขาไม่มีเงินมากพอที่จะเริ่มต้นชีวิต อย่างการแต่งงาน หรือการซื้อบ้าน
ในขณะที่คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ส และคนเจนเอ็กซ์ อาจจะเริ่มมีบ้านของตัวเองตั้งแต่วัย 20 ปลายๆ มาวันนี้คนเจนวายที่มีอายุ 30 จำนวนไม่น้อยที่ยังอาศัยอยู่กับพ่อและแม่ เพราะพวกเขาคิดว่ามันคือหนทางที่ประหยัดที่สุด
การประชุมสภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum (WEF) ในปีนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-20 มกราคม 2017 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (ซึ่ง The Momentum จะติดตามการประชุมครั้งนี้อย่างใกล้ชิด) ประเด็นเรื่องค่าแรงของคนเจนวาย เป็นอีกประเด็นที่จะถูกพูดถึงในการประชุม เนื่องจากรายงานของสภาเศรษฐกิจโลกเปิดเผยว่า ค่าแรงของคนเจนวาย หรือคนในยุคมิลเลนเนียลส์นั้นลดลงถึง 43% นั่นคือพวกเขามีรายได้น้อยกว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่
พิษเศรษฐกิจที่รุมเร้าเช่นนี้ทำให้พวกเขาสร้างเนื้อสร้างตัวได้ช้าขึ้น และเริ่มมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการทำงาน พวกเขามีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นคนรุ่นที่รู้สึกสับสนต่ออนาคตของตัวเองมากที่สุด และนี่คือประเด็นทางเศรษฐกิจที่น่ากังวลมากที่สุดในศตวรรษที่ 21
อเมริกา อังกฤษ และญี่ปุ่น
สามประเทศแรกที่พบว่าคนอายุระหว่าง 19-35 ปี ยังคงมีรายได้น้อยกว่าผู้ปกครองคือ อเมริกา อังกฤษ และญี่ปุ่น และครึ่งหนึ่งของคนญี่ปุ่นอายุตั้งแต่ 20-29 ปี ยังคงอาศัยอยู่กับผู้ปกครอง
ค่าจีดีพีของอังกฤษ อเมริกา และญี่ปุ่น นั้นคิดเป็นหนึ่งในสามของค่าจีดีพีของประเทศทั่วโลก แต่วัยทำงานของทั้งสามประเทศนี้กลับกำลังเผชิญกับข้อจำกัดทางเศรษฐกิจที่ไปกระทบต่อการพัฒนาศักยภาพของคนรุ่นใหม่ จนเกิดเป็นทัศนคติว่า ความพยายามของพวกเขานั้นอาจไม่คุ้มค่าในภาวะที่เศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นนี้
เด็กรุ่นใหม่จึงกลายเป็นเหยื่อของวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญกับการสูญเสียโอกาสครั้งใหญ่ ซ้ำร้ายพวกเขากำลังอยู่ในยุคที่ทักษะหลายๆ อย่างนั้นไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานมนุษย์แล้ว
คนเจนวายสร้างเนื้อสร้างตัวได้ช้าขึ้น
นอกจากนี้อุปสรรคของความเจริญก้าวหน้าของวัยรุ่นอเมริกันคือ วัยรุ่นอเมริกันส่วนใหญ่นั้นยืมเงินกองทุนเพื่อนำมาจ่ายค่าเล่าเรียน ทำให้เมื่อพวกเขาทำงาน เงินที่พวกเขาจะนำไปสร้างบ้านหรือเริ่มต้นครอบครัวนั้น ต้องนำมาจ่ายหนี้กองทุนก่อน และพบว่ารายได้ของชาวอเมริกันรุ่นมิลเลนเนียลส์นั้นต่ำกว่าชาวอเมริกันรุ่นเจนเอ็กซ์ ในปี 1995 ที่พวกเขากำลังอยู่ในวัยก่อร่างสร้างตัวถึง 43%
ฟากวัยรุ่นอังกฤษนั้นก่อร่างสร้างตัวได้ลำบากเช่นเดียวกับวัยรุ่นอเมริกัน นอกจากหนี้กองทุนเพื่อการศึกษาที่พวกเขาต้องจ่ายแล้ว ราคาบ้านที่สูงลิ่วในอังกฤษทำให้พวกเขาไม่สามารถซื้อบ้านที่เป็นอีกก้าวสำคัญในการเริ่มต้นชีวิตได้ โดยรายได้ของคนอังกฤษวัย 22-30 ปี ลดลง 8% และอัตราการว่างงานนั้นก็ยังสูงขึ้นเรื่อยๆ
แต่วัยรุ่นยุคมิลเลนเนียลส์ของญี่ปุ่น คือกลุ่มคนที่กำลังเผชิญกับปัญหานี้รุนแรงที่สุด การเจริญเติบโตของค่าจีดีพีของญี่ปุ่นซบเซามาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี คนญี่ปุ่นวัยทำงาน อายุระหว่าง 25-34 ปี กว่า 30% เป็นลูกจ้างชั่วคราว เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถหางานประจำได้ ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ของญี่ปุ่นหมดกำลังใจต่ออนาคตของตัวเอง และเชื่อว่าตัวเองจะต้องทำงานไปจนตาย ยิ่งโดยเฉพาะญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับปัญหาจำนวนคนสูงวัยล้นประเทศ
คนเจนวายไม่สนใจการเมือง เพราะรู้สึกว่าการเมืองคือที่ของคนรุ่นเก่า
ผู้นำของทั้งสามประเทศ ทั้งประธานาธิบดี บารัก โอบามา นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน และนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ เล็งเห็นปัญหานี้และได้พยายามแก้ปัญหาด้วยการส่งเสริมให้คนวัยนี้เข้ามามีส่วนในตลาดแรงงานมากขึ้น นอกจากนี้บทสุนทรพจน์และนโยบายของผู้นำเหล่านี้พยายามจะสื่อสารกับคนวัยนี้มากเป็นพิเศษ แต่แล้วก็พบว่าพวกเขาไม่ประสบความสำเร็จ เพราะสถิติระบุว่า จำนวนคนรุ่นใหม่ที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งนั้นลดลงเรื่อยๆ เพราะพวกเขารู้สึกว่าการเมืองนั้นเต็มไปด้วยคนรุ่นเก่า และรู้สึกว่าการเมืองทอดทิ้งพวกเขา ซึ่งก็ส่งผลให้คนรุ่นใหม่กับการเมืองนั้นห่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ
ด้านภาคธุรกิจพยายามปรับโครงสร้างองค์กรให้เข้ากับเด็กเจนวาย ด้วยการพยายามให้ชีวิตของพวกเขามีความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว อีกทั้งยังพยายามเตรียมตัวพวกเขาให้พร้อมสำหรับการขึ้นมาเป็นผู้นำ เมื่อคนทำงานรุ่นเบบี้บูมเมอร์สเกษียณ
สิ่งนี้สะท้อนว่าการสนับสนุนคนเจนวาย ไม่ว่าจะเป็น ด้านการให้คำปรึกษา การสื่อสาร และการส่งเสริมให้พวกเขาเป็นผู้นำนั้นยังไม่สามารถแก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้ หากความสามารถของพวกเขาถูกบดบังด้วยปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น ราคาบ้านที่แพงลิ่ว และหนี้กองทุนการศึกษาที่พวกเขาต้องชดใช้เกือบทั้งชีวิต
คนรุ่นใหม่ต้องกลับมารู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้กำลังเจอกับทางตัน ยิ่งโดยเฉพาะถ้าต่อไปโลกเปิดเขตการค้าเสรีมากขึ้น มีการแลกเปลี่ยนแรงงานกันมากขึ้น ซึ่งพวกเขาจะต้องเจอกับการแข่งขันมากขึ้นกว่าเดิม
และถ้าหากรัฐบาลของแต่ละประเทศ และคนกำหนดนโยบายไม่เร่งจัดการกับปัญหานี้
คนเจนวายจะกลายเป็นรุ่นคนที่สับสนและหลงทางในตลาดเศรษฐกิจมากที่สุด
cover: Jerry Maguire, Film and Freelance ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ, Film
อ้างอิง:
Tags: WorldEconomicForum, income, WEF, GenX, GenY