ไม่ต้องไปถามนักประชากรศาสตร์ เราทุกคนก็รู้ดีว่าผู้หญิงไทยแต่งงานน้อยลงและช้าลง
อัตราการเพิ่มของประชากรไทย ปี 2513 ที่เคยสูงถึงร้อยละ 2.7 ลดลงเหลือร้อยละ 0.4 ในปี 2558 จนมีการคาดการณ์ว่า หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ อีกภายใน 10 ปี อัตราการเพิ่มประชากรไทยจะเท่ากับร้อยละ 0.0 หรืออัตราการเกิดเท่ากับอัตราการตาย
ล่าสุด (8 ก.พ.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้แถลงข่าวโครงการ ‘ส่งเสริมสาวไทยแก้มแดง มีลูกเพื่อชาติ ด้วยวิตามินแสนวิเศษ’ โดยหนึ่งในกิจกรรมของโครงการดังกล่าวคือ การแจก ‘กล่องวิตามินแสนวิเศษ’ ที่ช่วยลดภาวะพิการแต่กำเนิดของทารก พร้อมแผ่นพับความรู้ให้คู่รักที่มาจดทะเบียนทั่วประเทศ ในวันที่ 14 ก.พ. หรือวันวาเลนไทน์ที่จะถึงนี้
ระหว่างที่ภาครัฐพยายามชักชวนคนไทยให้ ‘มีลูกเพื่อชาติ’ คำถามที่ตามมาคือ ชาติไทยพร้อมแค่ไหน ถ้าผู้หญิงคนหนึ่งคิดจะมีลูกขึ้นมาจริงๆ
The Momentum ต่อสายหา ผศ. ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของงานวิจัย ทัศนคติต่อการมีลูกของประชากรเจเนอเรชันวาย และบทความวิชาการเรื่อง ความอยู่ดีมีสุขของครอบครัวไทย เพื่อไขข้อสงสัยว่า โครงการ ‘มีลูกเพื่อชาติ’ เวิร์กแค่ไหน อะไรคือปัญหาที่ทำให้ผู้หญิงมีลูกน้อยลง หากอัตราการเกิดของประชากรเท่ากับศูนย์จะเกิดอะไรขึ้น
และถ้าไม่ใช่ปัญหาผู้หญิงไทยมีลูกลดลง อะไรคือปัญหาที่นักประชากรศาสตร์รุ่นใหม่ที่ศึกษาเรื่องเจนวายอย่างเขาเป็นห่วงมากที่สุด
วันนี้ค่าเดย์แคร์เดือนละสองหมื่นกว่าบาท ผมถามว่าพ่อแม่ต้องมีเงินเดือนเท่าไร
นี่ยังไม่นับครอบครัวที่มีลูกและมีคนแก่ด้วยนะ
มากกว่าการแจกวิตามิน คือไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป
การช่วยส่งเสริมสุขอนามัยของทารกด้วยการแจกวิตามินแก่พ่อแม่ที่พร้อมมีบุตรในโครงการ ‘ส่งเสริมสาวไทยแก้มแดง มีลูกเพื่อชาติ ด้วยวิตามินแสนวิเศษ’ แม้จะให้ผลดี แต่อาจไม่ได้ช่วยให้คนอยากมีบุตรมากขึ้น ผศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร มองว่า ปัญหาเรื่องการมีบุตรเป็นปัญหาใหญ่และลึกกว่านั้น
“ทุกวันนี้ถ้าอยากมีลูก คนที่อยากมีสามารถทำให้มีได้ คือคลินิกก็มี อะไรก็มี ไม่ต้องไปช่วยเขาในเรื่องนี้ แล้วก็ไม่ต้องไปช่วยเขาเรื่องภาษี ภาษีช่วยได้น้อยมาก วันหยุดวันลาอาจจะช่วยได้บ้าง แต่ว่าไม่ใช่ประเด็นปัญหาใหญ่
“ประเด็นเรื่องนี้อยู่ที่ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป” ผศ.ดร.ภูเบศร์ ระบุว่า การมีลูกวันนี้มีต้นทุนและความยุ่งยากที่เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะคนเจเนอเรชันวาย
คำถามคือทำไมต้นทุนการมีลูกถึงสูงขึ้น?
ผศ.ดร.ภูเบศร์ ฉายภาพให้เห็นว่า ทั้งหมดเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจ เมื่อสังคมมีความเป็นเมืองมากขึ้น ทำให้เกิดการเรียกร้องให้มีการจับจ่ายสิ่งของที่เมื่อ 20-30 ปีที่แล้วไม่เคยมีมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาที่มากขึ้น การแต่งตัวที่เพิ่มขึ้น หรือสุนทรียะต่างๆ ทั้งหลาย เช่น ความสวยความงาม ความบันเทิง รวมถึงความสะดวกสบายต่างๆ
ผศ.ดร.ภูเบศร์ กล่าวว่า “เวลาสังคมพัฒนาขึ้น มีความรู้และวิทยาการในทุกสิ่งมากขึ้น ได้ส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้นด้วย โทรศัพท์ที่สมาร์ตขึ้น บ้านที่สมาร์ตขึ้น และไลฟ์สไตล์ต่างๆ ที่แพงมากขึ้น
“รายได้ของคนไทยในระยะ 40 ปีที่ผ่านมา โตขึ้นประมาณ 15% แล้วประเทศไทยก็กลายเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงไปแล้วตั้งแต่ปี 2554 แต่รายจ่ายของคนไทยโตขึ้น 24% อันนี้เป็นเรื่องปกติของพัฒนาการทางสังคม พอสังคมพัฒนาขึ้น มันมีไอเท็มหลายอย่างที่แต่ก่อนไม่จำเป็นต้องซื้อต้องใช้ ก็จำเป็นต้องใช้ ทำให้ปริมาณเงินออมในปัจจุบันมีแนวโน้มลดลง
“เพราะฉะนั้นบางทีอาจไม่ใช่ความสำคัญของลูกที่ลดลง แต่ความสำคัญของอย่างอื่นนั้นเพิ่มขึ้น”
งานศึกษาอันหนึ่งของผมพบว่า คนทุกคนบอกว่าการเลี้ยงลูกแพงหมด
แม้กระทั่งคนรวยก็บอกว่าการเลี้ยงลูกแพง เพราะว่าคนรวยก็เลี้ยงลูกอีกแบบหนึ่ง
คนจนก็เลี้ยงลูกอีกแบบหนึ่ง
มีลูกหนึ่งคน มีเงินเท่าไรถึงจะพอ?
ชีวิตในสังคมเมืองที่ทุกสิ่งแพงขึ้น สมาร์ตขึ้น สินค้าและบริการที่มีสุนทรียะด้านความสะดวกสบาย ความบันเทิง ล้วนมีต้นทุนที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันกลไกการตลาดก็เพิ่มมูลค่าให้สิ่งเหล่านั้นมีมูลค่ามากกว่าที่ควรจะเป็น เช่นเดียวกับต้นทุนการใช้ชีวิต ต้นทุนการมีลูกก็สูงขึ้นเช่นกัน
“ผมเคยไปเก็บข้อมูลที่จอร์แดน ก็ยังเป็นบิ๊กแฟมิลี เพราะการอยู่กินยังไม่มีความซับซ้อนมาก แต่ทุกวันนี้พอสังคมมันพัฒนามากขึ้น คนเรามันซับซ้อนมากขึ้นนะ เสื้อก็ต้องแบบนี้ กินก็ต้องแบบนี้ เที่ยวก็ต้องแบบนี้ ไอ้ความซับซ้อนขึ้น คือแพงขึ้น เพราะฉะนั้นทำให้อยากมีลูกนะ แต่เอาคนเดียวก็พอ
“โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา ซึ่งการศึกษาในปัจจุบันนี้มันถูกกลืนโดยระบบทุนนิยม ทำให้พ่อแม่ทุ่มค่าใช้จ่ายเพื่อลูก และที่สำคัญในสังคมไทยยังไม่มีกลไกทางสังคมที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้เลย”
ผศ. ดร.ภูเบศร์ ให้ข้อสังเกตว่า ยิ่งสังคมมีพัฒนาการมากขึ้นเท่าไร คนยิ่งมีการศึกษามากขึ้นเท่านั้น โดยทุกวันนี้ชนชั้นกลางทั่วไปกว่าจะเรียนจบปริญญาโทก็ใช้เวลาโดยเฉลี่ยอย่างน้อยก็อายุประมาณ 30 ปี
“ผู้หญิงประมาณสามสิบ ผู้ชายประมาณสามสิบกว่า พอจะมีลูกหรือพร้อมมีลูก ก็มีลูกยากขึ้น แถมวันนี้บางคนมีก็ไม่มีเวลาดูลูก ต้องส่งให้เดย์แคร์หรือสถานรับเลี้ยงเด็กช่วย วันนี้ค่าเดย์แคร์เดือนละสองหมื่นกว่าบาท ผมถามว่าพ่อแม่ต้องมีเงินเดือนเท่าไร นี่ยังไม่นับครอบครัวที่มีลูกและมีคนแก่ด้วยนะ”
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ภูเบศร์ บอกว่า พ่อแม่เวลาสู้เพื่อลูก จะสู้จนบาทสุดท้าย
“ถึงตรงนี้ ผมขอยกตัวอย่างหนึ่ง คนที่รับผ้าผมไปซัก อายุประมาณสี่สิบกว่าๆ มีร้านซักผ้าสองสาขา กิจการก็ดี วันหนึ่งเขามายืมเงินผมทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยยืมมาก่อน เขาบอกค่าใช้จ่ายลูกแพง เพราะเพิ่งส่งลูกเรียนเซนต์ฟรังฯ ผมถามว่า ทำไมต้องไปเรียนแพงขนาดนั้น เขาบอกถ้าเรียนโรงเรียนทั่วไปกลัวว่าลูกจะสู้คนอื่นไม่ได้ เพราะภาษาก็ไม่ดี แต่พอมาดูหลักสูตรของเซนฟรังฯ เขาขอกัดฟันสู้”
เมื่อพ่อแม่พยายามทุ่มเทให้ลูกสู่ความเป็นเลิศ ผศ. ดร.ภูเบศร์ จึงชวนให้คิดว่า คนเป็นพ่อแม่ต้องมีเงินเดือนเท่าไรถึงจะพอ ซึ่งเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ
ความน่ากลัวเมื่ออัตราการเกิดเท่ากับตาย
หากอัตราการเพิ่มประชากรไทยเท่ากับร้อยละ 0.0 หรืออัตราการเกิดเท่ากับอัตราการตาย อะไรคือความน่ากลัวของเรื่องนี้ ผศ. ดร.ภูเบศร์ บอกว่า กลุ่มคนวัยแรงงานซึ่งควรจะมีมากที่สุดในสังคม เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีหน้าที่ในการผลิตสินค้าและบริการเพื่อดูแลวัยเด็กและผู้สูงอายุในสังคมจะลดลง ทำให้คนวัยแรงงานต้องพยายามหารายได้มากขึ้น
“พูดง่ายๆ คนหนึ่งคนจะต้องเลี้ยงดูคนแก่หนึ่งหรือสองคน และเลี้ยงดูลูกอีกหนึ่งคน คำถามคือคนคนนั้นจะต้องหาเงินมากขนาดไหน ในขณะที่เมื่อก่อนบ้านที่มีพี่น้องสี่คน พ่อแม่มีสองคน หรือบวกพ่อตาแม่ยาย คนวัยแรงงานที่มีสี่ห้าคนช่วยกันดูแล แล้วแต่ละคนก็ดูแลลูกได้
“ดังนั้นถ้าหากคนน้อยลง ไอ้คนวัยแรงงานต้องสมาร์ตขึ้น เช่น จะทำไร่ไถนาเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว หรือจากเดิมเงินเดือนสองหมื่นพอแล้ว แต่ต่อไปอาจต้องมีมากถึงแสนกว่าบาท เพราะต้องดูแลทั้งเด็กและพ่อแม่ คำถามคือจะทำยังไงให้คนคนนี้มีเงินเดือนเพิ่มขึ้นจากสองหมื่นเป็นแสนได้ ซึ่งประเทศไทยเรียกแผนจัดการตรงนี้ว่า ไทยแลนด์ 4.0” หลังพูดจบ ผศ. ดร.ภูเบศร์ ก็หัวเราะหลังประโยค
“นโยบายดังกล่าวคือ ต้องทำงานให้สมาร์ตขึ้น แต่…ทำอย่างไร? เพื่อทำให้รายได้มากขึ้น”
ทั้งนี้ ผศ. ดร.ภูเบศร์ มองว่า การเพิ่มรายได้คือวิธีหนึ่ง แต่ไม่ใช่วิธีที่ยั่งยืน
“เวลาเราวิ่งไล่ตามการเติบโตของค่าใช้จ่าย เราไม่มีวันที่จะวิ่งทัน นี่เป็นเรื่องที่นักเศรษฐศาสตร์รู้ เพราะรู้ว่าความปรารถนาของคนนั้นโตกว่าสิ่งที่ตนมีเสมอ
“งานศึกษาอันหนึ่งของผมพบว่า คนทุกคนบอกว่าการเลี้ยงลูกแพงหมด แม้กระทั่งคนรวยก็บอกว่าการเลี้ยงลูกแพง เพราะว่าคนรวยก็เลี้ยงลูกอีกแบบหนึ่ง คนจนก็เลี้ยงลูกอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นการวิ่งแซงค่าใช้จ่ายที่มันเพิ่ม มันยาก”
คำถามคือเราจะทำยังไงให้การเลี้ยงดูหรือว่าการโอบอุ้มลูกมี ‘ความพอดี’ ผศ. ดร.ภูเบศร์ บอกว่านี่คือโจทย์ที่รัฐบาลต้องคิด
“สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องมาร์กไว้ก็คือ คณะบริหารธุรกิจซึ่งเป็นคณะของผมเอง รวมถึงภาคธุรกิจต่างๆ ล้วนมีวิธีการในการสร้างแบรนด์ เพิ่มมูลค่าโน่นนี่นั่น แล้วทำให้ทุกอย่างแพงได้ หรือแค่ทำแพ็กเกจใหม่ยังก็ชาร์จราคาดับเบิลได้เลย ซึ่งนี่เป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้ทุกอย่างแพงขึ้น ดังนั้นรัฐบาลควรคิดว่าจะทำยังไงไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเยอะจนเกินไป ผมว่ารัฐบาลควรจี้จุดนี้
ทุกวันนี้คนทุกคนในครอบครัวอยู่กันกระจัดกระจายมาก
ครอบครัวหนึ่งมีพ่อแม่ลูก วันหนึ่งลูกออกจากบ้านไปเรียนหนังสือ
วันๆ ได้เจอกันน้อยมาก จากนั้นพอเรียนหนังสือจบก็ไม่กลับมาแล้ว
ความสุขในครอบครัวที่ลดลง ปัญหาที่น่าสะเทือนใจกว่าจำนวนประชากร
ในฐานะนักประชากรศาสตร์ อาจารย์มองไปในอนาคตอันใกล้ ถ้าไม่ใช่ปัญหาเรื่องผู้หญิงไทยแต่งงานน้อยลงและช้าลง อาจารย์ห่วงอะไร? The Momentum ถาม ผศ. ดร.ภูเบศร์
“ผมห่วงเรื่องความอยู่ดีมีสุขของครอบครัวมากที่สุด”
ผศ. ดร.ภูเบศร์ ในฐานะคนเขียนบทความวิชาการเรื่อง ความอยู่ดีมีสุขของครอบครัวไทย บอกว่า การเขียนเรื่องนี้ทำให้เขาสะเทือนใจ เพราะความอยู่ดีมีสุขของสังคมกำลังเปลี่ยนแปลงไป
ทุกวันนี้คนทุกคนในครอบครัวอยู่กันกระจัดกระจายมาก ครอบครัวหนึ่งมีพ่อแม่ลูก วันหนึ่งลูกออกจากบ้านไปเรียนหนังสือ วันๆ ได้เจอกันน้อยมาก จากนั้นพอเรียนหนังสือจบก็ไม่กลับมาแล้ว หลายคนทำงานที่ไหน แต่งงานที่นั่น แล้วในบ้านที่แยกออกไปอยู่ก็มีคนไม่กี่คน ทุกวันนี้เราทุกคนโดดเดี่ยวมากขึ้น
“วันนี้คนที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือคนแก่ที่อยู่ในเมือง แม้ว่าในเมืองจะอึกทึกครึกโครมแค่ไหนก็ตาม แต่กลับถูกทิ้งไว้อย่างโดดเดี่ยว ขณะที่คนแก่ในชนบทยังมีญาติพี่น้อง อยู่บ้านใกล้เรือนเคียง โผล่หน้ามาก็รู้จักกัน”
ถึงตรงนี้ ผศ. ดร.ภูเบศร์ เงียบไปสักพัก ก่อนจะยกตัวอย่างที่สะเทือนใจเขาอย่างมาก
“ครอบครัวไทยชนชั้นกลางครอบครัวหนึ่ง จ้างแม่บ้านมาเลี้ยง แม่บ้านคนนี้เป็นพม่าและมีลูก แต่แม่บ้านคนนี้ต้องส่งลูกตัวเองกลับไปที่พม่าให้พ่อแม่เลี้ยง เพื่อตัวเองจะได้ทำงานเลี้ยงลูกคนอื่น เพราะจะได้มีเงินส่งไปให้พ่อแม่เลี้ยงลูกตัวเอง ขณะเดียวกันเจ้าของบ้านนี้เป็นพ่อแม่คนไทย มีการศึกษา ก็ทิ้งลูกไว้ที่บ้าน แล้วออกไปทำงานหาเงินมาจ้างแม่บ้านพม่าเลี้ยงลูก
“ผมถามตัวเองว่า เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย?
ผศ. ดร.ภูเบศร์ ทิ้งท้ายว่า การเขียนงานชิ้นนี้ทำให้เขาเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในครอบครัวไทย ซึ่งสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปมากที่สุดไม่ใช่จำนวนเด็กที่เกิด ไม่ใช่ผู้หญิงที่แต่งงานน้อยลง ไม่ใช่รายจ่ายที่สูงขึ้น แต่คือความสงบสุขของคนในครอบครัวที่ลดน้อยถอยลงทุกวัน
ระหว่างที่ใครหลายคนกำลังตัดสินใจว่า จะมีลูกเพื่อชาติดีหรือไม่ คำถามหนึ่งที่ควรจะเป็นคำถามใหญ่กว่าการมีลูกน่าจะเป็นคำถามที่ว่า ถ้ามีแล้ว เราจะเลี้ยงเด็กคนนี้ต่อไปอย่างไรให้มีความสุข
ภาพประกอบ: Karin Foxx
Tags: ThaiPolicy