ถือเป็นข่าวที่สร้างความฮือฮาไปทั่วทั้งโลกกับเหตุการณ์ถนนยุบตัวกลางเมืองฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีสาเหตุมาจากท่อประปาขนาดใหญ่ใต้ดินที่มีการรั่วซึม ทำให้พื้นผิวถนนยุบตัวลงไปเป็นหลุมยักษ์ที่มีขนาดประมาณ 30 เมตร และลึกประมาณ 15 เมตร โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในเวลาประมาณ 5.00 น. ของวันที่ 8 พฤศจิกายน ตามเวลาท้องถิ่น

หลังจากที่ภาพความเสียหายของถนนดังกล่าวถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกจากสำนักข่าวต่างๆ ก็สามารถเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้ในระดับหนึ่ง แต่คล้อยหลังเพียง 7 วัน ภาพของถนนที่ซ่อมแซมเสร็จเรียบร้อย และคลิปวิดีโอที่แสดงให้เห็นถึงการทำงานอย่างหนักหน่วงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับสร้างความตื่นตะลึงและตามมาด้วยเสียงชื่นชมที่ดังกว่า จนหลายๆ คนอดไม่ได้ที่จะนำเหตุการณ์นี้ไปเทียบเคียงกับประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาลประเทศตัวเอง รวมทั้งคนไทยจำนวนมากด้วย

The Momentum ก็รู้สึกทึ่งจากเหตุการณ์นี้ไม่ต่างจากคุณ จึงเป็นที่มาของคำถามว่าคนญี่ปุ่นทำได้ยังไง? เหตุการณ์แบบนี้ถือเป็นเรื่องปกติไหมในญี่ปุ่น? แล้วคนไทยควรจะเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์ครั้งนี้บ้าง?

Photo: KYODO Kyodo, Reuters/profile

ทำงานรวดเร็วจนคนญี่ปุ่นเองยังทึ่ง

แม้จะเป็นผู้ติดตามข่าวสารจากประเทศญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด แต่ เกตุวดี Marumura อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย เจ้าของแฟนเพจ Japan Gossip และผู้เขียนหนังสือ Japan Gossip เมาท์ญี่ปุ่นให้คุณยิ้ม และ สุโก้ย! Marketingทำไมใครๆ ก็ติดใจญี่ปุ่น ได้เปิดเผยกับเราว่า รู้สึกแปลกใจไม่ต่างจากคนทั้งโลกที่เมืองฟุกุโอกะสามารถจัดการแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วขนาดนี้ แม้แต่คนญี่ปุ่นเองก็ยังรู้สึกชื่นชมเช่นกัน

“การแก้ไขปัญหาด้วยความรวดเร็วถือเป็นเรื่องธรรมดาของคนญี่ปุ่น แต่การใช้เวลาเพียง 7 วันถือว่าน่าชื่นชมมาก แต่ทั้งนี้คงไม่สามารถดูแค่จำนวนวันได้ แต่ต้องดูไปถึงความเสียหายด้วย อย่างตอนเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เขาก็ใช้เวลาในการฟื้นฟูเมืองประมาณ 50 วัน ซึ่งถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้วก็ยังถือว่าเร็วมากอยู่ดี”

ประโยชน์ของสาธารณะต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง

สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนญี่ปุ่นต้องทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำเพื่อแข่งกับเวลาจนถนนที่เคยเป็นหลุมขนาดใหญ่กลายเป็นถนนที่ราบเรียบเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น อาจมีที่มาจากแนวคิดเรื่องผลประโยชน์สาธารณะ ที่ได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กๆ ซึ่ง ฟูจิ ฟูจิซากิ พิธีกรรายการ ดูให้รู้ ทางช่อง Thai PBS เปิดเผยว่า

“คนญี่ปุ่นมักจะพูดกันบ่อยๆ ว่า ‘รายได้จะลดถ้าไม่รีบจัดการ’ คือเมื่อถนนตรงนั้นเกิดปัญหา ทำให้ประชาชน 6,500 คนได้รับผลกระทบ ธุรกิจดำเนินต่อไปไม่ได้ รายได้คนก็จะลดลง ด้วยวิธีคิดแบบนี้ทำให้ทุกคนต้องทำงานกันอย่างเร่งรีบ ไม่อย่างนั้นเขาจะรู้สึกอับอายมาก

“ยกตัวอย่างตอนที่ผมเคยอยู่ญี่ปุ่นสมัยเด็กๆ มีเด็กนักเรียนในโรงเรียนข้ามถนนตรงรางรถไฟแทนที่จะลอดอุโมงค์คนข้าม ทางเจ้าหน้าที่การรถไฟก็จะมาที่โรงเรียน มีการเรียกประชุมนักเรียนทุกคน แล้วพยายามพูดให้เรารู้สึกว่า ถ้าเกิดอุบัติเหตุแล้วรถไฟต้องหยุดวิ่ง จะส่งผลถึงคนในรถไฟกี่ร้อยคน ทุกคนจะต้องไปทำงานสาย เศรษฐกิจได้รับผลกระทบแค่ไหน คือมีการปลูกฝังเรื่องแบบนี้กันตั้งแต่เด็ก ทำให้เด็กทุกคนมีความรับผิดชอบ และนึกถึงคนอื่นอยู่เสมอ”

สอดคล้องกับความคิดเห็นของเกตุวดี ที่มองว่า “ที่เขาสามารถแก้ปัญหาได้รวดเร็ว เพราะเขามีจิตสำนึกในการคิดถึงคนอื่นเป็นอันดับแรก คือเขาจะรู้สึกว่าการที่ถนนยุบตัวอาจทำให้ประชาชนเสียขวัญกำลังใจ และทำให้การใช้ชีวิตประจำวัน การทำงานของคนได้รับความลำบาก ซึ่งนั่นเป็นปัจจัยให้เขาต้องรีบแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วที่สุด และต้องทำงาน 24 ชั่วโมงโดยไม่หยุดพัก”

แจกแจงปัญหา จัดลำดับการทำงาน

จากการติดตามข่าวสารของเหตุการณ์นี้อย่างใกล้ชิด ทั้งจากสำนักข่าวญี่ปุ่น แถลงการณ์ต่างๆ ของเมืองฟุกุโอกะ และบล็อกส่วนตัวของ โซอิชิโระ ทากาชิมะ (Soichiro Takashima) นายกเทศมนตรีเมืองฟุกุโอกะ เกตุวดีได้สรุปวิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ว่า

“วันแรกที่เกิดข่าว ทางการก็ออกมาประกาศเลยว่าใครบ้างที่จะได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์นี้ แล้วสิ่งที่เขาถ่ายทอดออกมาไม่ได้มีแค่ความเสียหายของประชาชน แต่รวมถึงความเดือดร้อนของภาคธุรกิจต่างๆ ด้วย เช่น บางบริษัทไม่มีน้ำประปา หรือไฟฟ้าใช้ ไม่สามารถติดต่อลูกค้าได้ จากนั้นเขาก็แจกแจงออกมาเป็นข้อมูลว่าสิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างไรบ้าง ซึ่งพอเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเห็นความเสียหายเหล่านี้ ก็กลายเป็นแรงกดดันให้ทุกคนต้องรีบทำหน้าที่ของตัวเองเพื่อทำให้ทุกอย่างกลับสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด”

นอกจากจะให้ข้อมูลเรื่องผลกระทบในด้านต่างๆ อย่างชัดเจนแล้ว สิ่งที่เด่นชัดจากเหตุการณ์นี้อีกเรื่องคือ การจัดลำดับความสำคัญว่าควรจะต้องแก้ไขปัญหาอะไรก่อนเป็นอันดับแรก

“การแบ่งหน้าที่ของเจ้าหน้าที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือการฟื้นฟูถนน แต่อีกส่วนเป็นการพยายามทำให้วิถีชีวิตของผู้คนกลับมาอยู่ในสภาพปกติอีกครั้ง ทั้งเรื่องไฟฟ้า น้ำประปา และแก๊ส ซึ่งสิ่งแรกที่เขาทำคือการนำซีเมนต์มาราดลงบนหลุมเพื่อให้ถนนมีความแข็งแรงในระดับที่รถซ่อมท่อประปาจะสามารถเข้าไปทำงานได้ จากนั้นจึงค่อยลงมือซ่อมถนนต่อ ซึ่งใช้เวลาเพียงแค่ 2 วันเท่านั้น สาธารณูปโภคก็กลับมาสู่ภาวะปกติ”

ไม่ใช่แค่แก้ไข แต่ต้องป้องกันด้วย

นอกจากระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพแล้ว อีกหนึ่งจุดเด่นของเหตุการณ์ครั้งนี้อยู่ที่ระบบตรวจสอบความปลอดภัย และประเมินคุณภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ซ้ำรอยอีกครั้ง ซึ่งเกตุวดีให้ข้อมูลว่า

“จุดเด่นของการแก้ไขปัญหาครั้งนี้อีกเรื่องคือ การระดมผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่างๆ มาประชุมกัน ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว ด้านภูมิศาสตร์ โดยมีนายกเทศมนตรีนั่งเป็นประธาน เพื่อประเมินร่วมกันว่าสิ่งที่ได้ทำการแก้ไขไปมีความปลอดภัยเพียงพอหรือยัง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญก็ต้องตรวจสอบจนแน่ใจถึงมีการแถลงเปิดให้ใช้ถนนตามปกติ

“อีกสิ่งที่รู้สึกว่าพิเศษมากๆ คือ พอเกิดเหตุการณ์ที่นี่ ทางการก็รีบส่งคนไปตรวจเช็กถนนเส้นอื่นๆ ด้วย ซึ่งเขามีข้อมูลระบุมาชัดเจนเลยว่า มีจุดที่ต้องตรวจเช็กทั้งหมด 543 จุด ขณะที่เหตุการณ์เกิดขึ้นเวลา 05.00 น. ตอนเย็นของคืนวันแรกเขาก็สามารถตรวจเช็กครึ่งหนึ่งของทั้งหมดคือประมาณ 280 จุด แล้ววันต่อมาก็ตรวจเช็กเพิ่มอีก 263 จุดจนครบทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าเขาต้องมีแผนการและข้อมูลที่พร้อมอยู่แล้วในมือถึงสามารถจัดการกับปัญหาได้เร็วขนาดนี้”

ด้าน ฟูจิ ฟูจิซากิ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ประเทศญี่ปุ่นมีการนำเทคโนโลยี ‘รถสแกนถนน’ มาใช้ในเมืองต่างๆ ด้วย ซึ่งรถดังกล่าวจะส่งสัญญาณลงไปใต้พื้นผิวถนน เพื่อตรวจสอบว่าบริเวณนั้นมีความกลวงมากน้อยแค่ไหน ก่อนจะดำเนินการซ่อมแซมต่อไปเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน

คนไทยควรเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์นี้

ไม่เพียงแค่ฉายภาพให้เห็นประสิทธิภาพในการทำงานของคนญี่ปุ่นเท่านั้น แต่เหตุการณ์นี้ยังสะท้อนถึงวิธีคิดหลากหลายแง่มุมที่คนไทยควรหยิบยกมาใช้ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วย โดยเกตุวดีให้ข้อสรุปว่า

“หนึ่ง คือคนญี่ปุ่นทำงานกันเป็นทีม พอเขาเห็นเป้าหมายร่วมกันว่าต้องทำให้เสร็จโดยเร็วที่สุด ทุกคนก็แบ่งหน้าที่กัน ต่างฝ่ายต่างลงมือทำงาน และมีการอัพเดตข้อมูลกันเสมอ

“สอง คือมีข้อมูลที่เพียงพอ เพราะเขามีข้อมูลผังเมือง มีตัวเลขต่างๆ อย่างชัดเจน พอเกิดเหตุการณ์ขึ้นก็รู้ได้เลยว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งการมีข้อมูลยังรวมไปถึงพนักงานในระดับต่างๆ ด้วย คือตอนเกิดเหตุหลายคนอาจแปลกใจว่าทำไมถึงไม่มีใครได้รับบาดเจ็บเลย นั่นเป็นเพราะเหตุเกิดตอนประมาณ 05.00 น. มีพนักงานก่อสร้างคนหนึ่งเห็นว่ามีน้ำรั่วซึมออกมาบนถนน เวลา 05.10 น. เขาก็จัดการกั้นไม่ให้คนเข้ามาในบริเวณนั้นเลย หลังจากนั้นตอน 05.15 น. ถนนก็ยุบตัวลงมาอย่างที่เห็น ฉะนั้นแปลว่าพนักงานก่อสร้างเองก็ต้องมีความรู้ และข้อมูลว่าอะไรที่จะเป็นอันตราย”

อีกประเด็นที่สำคัญและขาดไม่ได้ก็คือ วิสัยทัศน์ของนายกเทศมนตรีเมืองฟุกุโอกะ ที่มองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เหตุการณ์ถนนยุบตัวในเมืองเล็กๆ แต่เป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก อย่างที่เกตุวดีทิ้งท้ายไว้ว่า

“สิ่งหนึ่งที่เห็นจากวิสัยทัศน์ของนายกเทศมนตรีคือ เขาบอกเลยว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นแค่ในญี่ปุ่น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทั่วโลกกำลังจับตามองเราอยู่ว่าจะจัดการกับปัญหาอย่างไร เพราะฉะนั้นปัญหานี้จึงไม่ใช่แค่ถนนยุบกลางเมือง แต่เป็นปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศ เป็นการท้าทายเทคโนโลยีและศักยภาพของญี่ปุ่น ทำให้เขารู้สึกตลอดเวลาว่ามีคนคาดหวังและคอยจับตามองการทำงานของเขาอยู่”

 

ที่สุดแล้ว วิธีการและประสิทธิภาพในการทำงานอาจลอกเลียนแบบกันได้ยาก แต่เราคิดว่าวิธีคิดในการทำงานของคนญี่ปุ่นที่สะท้อนออกมาจากเหตุการณ์ครั้งนี้น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่บางครั้งเราก็ควรจะเลียนแบบมาใช้กับตัวเองบ้าง