เมื่อข่าวน้ำท่วมภาคใต้กลายเป็นกระแสความสนใจของผู้คนในวงกว้าง สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นคือความช่วยเหลือที่หลั่งไหลมาจากทั่วประเทศเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย
แม้การช่วยเหลือโดยเจตนาดีเป็นเรื่องที่ไม่มีถูก ไม่มีผิด แต่คงจะดีกว่าถ้าเจตนาดีมาพร้อมกับความช่วยเหลือที่ตรงกับความต้องการของผู้ประสบภัยจริงๆ
จากผลสำรวจของเอแบคโพลล์ เรื่อง สำรวจมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมโดยรัฐบาล ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 10 จังหวัดในปี 2554 พบว่า ร้อยละ 76.3 ระบุว่าการช่วยเหลือของรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ยังไม่ทั่วถึง ขณะที่ร้อยละ 68.6 ระบุว่าสิ่งของที่นำไปบริจาคตรงกับความต้องการของประชาชน แต่เกือบ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 31.4 กลับระบุว่ายังไม่ตรงกับความต้องการ
เพื่อทำให้ทุกความช่วยเหลือที่เกิดจากความตั้งใจดีไม่สูญเปล่า The Momentum ต่อสายคุยกับ ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งเคยมีประสบการณ์ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิภาคใต้ในปี 2548 และลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่จังหวัดลพบุรี เมื่อปี 2554 จนสามารถรับรู้ปัญหาที่ผู้ประสบภัยกำลังเผชิญ และกลั่นกรองเป็น 9 สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ คู่มือง่ายๆ สำหรับคนทั่วไปในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วม (ในช่วงที่เกิดภัยพิบัติ) ในเฟซบุ๊ก Chainarong Sretthachau
ของช่วยเหลือกระจุกตัว สิ่งที่ได้ไม่ตรงกับความต้องการ ปัญหาใหญ่ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ปัญหาที่พบบ่อยครั้งในการลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในมุมมองของ ดร.ไชยณรงค์ คือของบริจาคที่ไม่ได้กระจายไปถึงผู้รับผลกระทบที่ได้รับความเดือดร้อนจริงๆ เพราะบ่อยครั้งที่พบว่าของบริจาคเหล่านั้นกองอยู่ในศูนย์รับบริจาคมากมาย หรือถ้าลงไปถึงพื้นที่ประสบภัยจริงก็มักจะมีปัญหาที่ของบริจาคจะถูกกระจายไปในเฉพาะเครือญาติของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่
“อย่างตอนที่ผมเคยลงพื้นที่ในเหตุการณ์สึนามิที่ภาคใต้ ปัญหาเรื่องของบริจาคผมเรียกว่าเป็นสึนามิรอบ 2 ด้วยซ้ำ เพราะทำให้เกิดความแตกแยก และปัญหาตามมามากมาย หลายชุมชนต้องแตกหักกัน เพราะผู้มีอำนาจในพื้นที่เอาแต่ของดีๆ ไว้ ทำให้ผู้ประสบภัยส่วนใหญ่เกิดความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่น น้ำดื่มที่มีคุณภาพขวดใสๆ ก็จะถูกเก็บไว้เอง หรือเอาไว้แจกเครือญาติ หรือหัวคะแนนต่างๆ ส่วนน้ำดื่มขวดขุ่นๆ ที่ราคาถูกก็จะนำไปแจกชาวบ้าน เรื่องนี้เลยกลายเป็นผลกระทบด้านความรู้สึกที่เหมือนเป็นการซ้ำเติมผู้ประสบภัย”
นอกจากนี้ยังพบปัญหาในเรื่องของบริจาคที่ไม่ตรงกับความต้องการของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องอาหารที่ส่วนใหญ่มักจะมาในรูปแบบของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง หรือถ้าเป็นอาหารสดก็มักจะเสียระหว่างทางก่อนจะถึงมือผู้ประสบภัย
“ผู้บริจาคส่วนใหญ่เป็นคนเมือง พอคิดว่าจะบริจาคก็เลยมักจะคิดถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือปลากระป๋อง แต่อย่าลืมว่าอาหารเหล่านี้ชาวบ้านเขาไม่ได้กินกันในชีวิตประจำวัน หรือถ้าต้องกินทุกมื้อก็คงไม่ไหว อย่างที่ลพบุรี ชาวบ้านที่ผมทำงานด้วยก็ต้องส่งคืน หรืออีกเรื่องที่ไม่ค่อยระมัดระวังกันเท่าไหร่ อย่างกรณีสึนามิที่ผู้ประสบภัยส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ดังนั้นอะไรที่ไม่ใช่อาหารฮาลาลเขาก็กินไม่ได้ ดังนั้นก่อนบริจาคก็ต้องคำนึงด้วยว่าของที่ส่งไปมีประโยชน์กับผู้รับจริงๆ หรือไม่”
ซึ่ง ดร.ไชยณรงค์ยังแนะนำด้วยว่า ถ้าเป็นอาหารสดก็ควรเป็นอาหารที่สามารถเก็บไว้ได้ 1-2 วัน เช่น ข้าวหลาม ข้าวเหนียวสุก หมูทอด เนื้อทอด ปลาทอด ส่วนถ้าเป็นอาหารแห้ง สิ่งที่ควรจะบริจาคคือ ข้าวสาร และเครื่องเทศต่างๆ ที่ใช้ในการปรุงอาหาร เช่น พริกแห้ง กระเทียม มะนาว หรือผักสดที่เก็บไว้ได้หลายวัน ในกรณีที่ผู้ประสบภัยได้อพยพไปอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยแล้ว
ส่วนเรื่องการบริจาคเงิน ดร.ไชยณรงค์มองว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลเช่นกัน เพราะปัญหาใหญ่คือผู้บริจาคไม่สามารถตรวจสอบได้เลยว่าเงินที่ให้ไปจะถึงมือผู้รับปลายทางหรือไม่
“ผมไม่ค่อยแนะนำเท่าไหร่สำหรับการบริจาคเงิน เพราะบางคนเป็นนักการเมือง แต่เปิดบริจาคเข้ามูลนิธิของตัวเองแล้วบอกว่าจะนำเงินไปสมทบกับหน่วยงานรัฐต่างๆ คำถามคือเราจะเข้าไปตรวจสอบได้อย่างไรว่าสุดท้ายแล้วเงินก้อนนั้นไปอยู่ที่ตรงไหน หรือบางคนเปิดบัญชีส่วนตัว เพื่อรับบริจาคโดยเฉพาะ คนที่บริจาคก็ต้องการจะมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ แต่สุดท้ายชาวบ้านอาจไม่ได้ต้องการเงิน แต่ต้องการเป็นสิ่งของที่มีประโยชน์กับเขาจริงๆ ผมก็พูดไม่ถูกเหมือนกันว่าจริงๆ แล้วมันเป็นวิธีที่ดีหรือเปล่า
“ทางที่ดีที่สุดคือต้องสอบถามไปยังพื้นที่ประสบภัยว่าเขาต้องการอะไรบ้าง ซึ่งแต่ละพื้นที่มีความต้องการที่แตกต่างกันออกไป ถ้าสามารถเจาะจงไปได้เลยว่าพื้นที่ไหนต้องการอะไร ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก อย่างบางสะพานที่ตอนนี้มีเรือท้องแบนแค่ลำเดียว แทนที่จะบริจาคเป็นเงิน ก็ลงขันกันซื้อเรือท้องแบนเพิ่มจะดีกว่าไหม หรือสถานีโทรทัศน์บางช่องก็ใช้วิธีมอบวิทยุสื่อสารให้กับพื้นที่ที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติเอาไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน ซึ่งชาวบ้านก็มีใช้จนถึงทุกวันนี้ แค่อยากจะบริจาคอย่างเดียวคงไม่พอ แต่ต้องคิดถึงปลายทางด้วย”
เฉพาะหน้าคือการกู้ภัย ในระยะยาวคือการฟื้นฟู
สำหรับสถานการณ์ของผู้ประสบภัยจากมุมมองของคนที่เคยลงพื้นที่ช่วยเหลือจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกคือการกู้ภัย และช่วยชีวิตผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก ส่วนในระยะยาวต้องมองไปถึงเรื่องการฟื้นฟู
ในระยะแรกที่สถานการณ์ยังคงน่าเป็นห่วง หลายคนอยากลงพื้นที่เพื่อเป็นอาสาสมัคร แน่นอนว่าจิตอาสาเป็นเรื่องดี แต่ถ้าขาดทักษะ และประสบการณ์ จากจิตอาสาอาจกลายเป็นการเพิ่มภาระให้กับเจ้าหน้าที่โดยไม่รู้ตัว
“อาสาสมัครมี 2 ประเภท ประเภทแรกคือเข้าไปร่วมทำงานภายใต้องค์กรหน่วยกู้ภัยในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งคนที่จะอาสาก็ควรจะต้องมีความสามารถในระดับหนึ่ง ไม่ใช่อยากจะไป แต่พอไปแล้วทำอะไรไม่เป็น ก็จะกลายเป็นภาระของเจ้าหน้าที่เขาเปล่าๆ ซึ่งปกติเขาก็จะไม่ค่อยรับหรอกครับ
“อีกประเภทคืออาสาสมัครอิสระที่รวมกลุ่มกันขึ้นมาเอง อย่างคนรู้จักผมที่สงขลา เขาก็ตั้งเป็นกลุ่มอิสระ แล้วเขาก็ต้องการอาสาสมัครที่ลุยจริงๆ เป็นแรงงานอย่างเดียวก็ได้ ไม่มีความสามารถไม่เป็นไร แต่ไม่ใช่ว่าไปวันสองวันแล้วกลับ เพราะการเดินทาง หรือการที่ต้องเดินทางไปรับไปส่งอาจจะไม่คุ้ม คือถ้าอยากช่วยจริงๆ ก็ต้องเสียสละเวลาพอสมควร”
ส่วนระยะเวลาในการฟื้นฟู ดร.ไชยณรงค์มองว่าใครอยากช่วยก็สามารถไปช่วยได้ ต่อให้ไม่มีทักษะหรือประสบการณ์ เพราะงานส่วนใหญ่เป็นการใช้แรงงาน แต่ควรจะอาสาผ่านเครือข่ายองค์กรกู้ภัยต่างๆ
นอกจากนี้ยังมีปัญหาในเรื่องทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดในพื้นที่ที่มีความขาดแคลน ซึ่งเมื่อมีอาสาสมัครจำนวนมากเข้าไปทำงานในพื้นที่นั้นๆ เท่ากับว่าจำนวนคนที่จะใช้ทรัพยากรย่อมต้องมีเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“ลองคิดดูว่าในพื้นที่เหล่านั้น น้ำมันก็ขาดแคลนอยู่ อาหารการกินก็มีน้อยอยู่แล้ว มันเป็นเรื่องของทรัพยากรที่ต้องใช้ทั้งนั้นเลย และเป็นทรัพยากรที่เขามีอยู่จำกัดอยู่แล้ว แม้แต่ตอนนี้ที่นักข่าวลงไปทำข่าวแถวชุมพร อาหารการกินก็หายาก ต้องกินให้พออยู่รอดไปวันๆ แล้วถ้าไปพร้อมกันหลายๆ คนจะเป็นยังไง คำถามกว้างๆ ของผมก็คือเราไปแล้วจะช่วยอะไรได้บ้าง ถ้าไปคนเดียวโดยไม่วางแผน อย่าไปเลยครับ”
นอกจากนี้ทัศนคติของคนที่ลงไปช่วยเหลือก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้ทักษะ ซึ่ง ดร.ไชยณรงค์ ให้ข้อคิดไว้ว่า
“สำนึกของอาสาสมัครต้องเป็นสำนึกที่ไปช่วย ไม่ใช่ช่วยแบบที่คิดว่าเราเป็นคนที่เหนือกว่าแล้วไปช่วยเขา คิดแบบนั้นไม่ได้ แต่ต้องคิดว่าเรากำลังทำหน้าที่กู้ภัยจริงๆ ผมสนับสนุนว่าถ้าจะทำจริงๆ ก็ควรร่วมมือกับเจ้าหน้าที่กู้ภัยมืออาชีพ มีเครื่องมือพร้อม มีระบบการสื่อสารที่ดี มีการวางแผนก่อนลงพื้นที่ รู้ตำแหน่ง และพิกัดของผู้ประสบภัยเป็นอย่างดี ไม่ใช่อยู่ๆ นึกจะไปก็ไป แบบนั้นจะกลายเป็นภาระเปล่าๆ”
สิ่งสำคัญที่สุดเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการช่วยเหลือ คือการทำงานประสานงานกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ซึ่งจะทำให้การช่วยเหลือไม่กระจุกอยู่แต่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง และสามารถกระจายไปในพื้นที่ที่ขาดแคลนมากกว่าได้
น้ำท่วมใต้สะท้อนความไม่พร้อมในการเตรียมความพร้อม
สิ่งหนึ่งที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนจากสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ครั้งนี้ ในฐานะที่ศึกษาเรื่องการรับมือกับภัยพิบัติมาอย่างยาวนาน ดร.ไชยณรงค์ มองว่า สิ่งที่รัฐยังขาดแคลนมากที่สุดไม่ใช่ความช่วยเหลือ แต่เป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ
“ต่อให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้เป็น 10 ครั้ง ทุกครั้งก็จะไม่ต่างจากนี้ เพราะไม่เคยมีการฝึกฝนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง เช่น ชุมชนที่อยู่ท้ายเขื่อน แน่นอนว่าน้ำท่วมวงกว้างครั้งนี้เป็นภัยธรรมชาติ แต่ในพื้นที่วิกฤตต่างๆ ควรจะต้องมีการจัดทำแผนที่ และโฟกัสในบริเวณนั้นเพื่อจัดทำแผนรับมือกับภัยพิบัติในครั้งต่อไป ซึ่งต้องทำในระดับชุมชนขึ้นมา แต่บ้านเราไม่มีเลย มีแต่เครือข่ายชาวบ้านบางกลุ่มเท่านั้น อย่างเช่น ตำบลกรุงชิง กิ่งอำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่จากประสบการณ์ภัยพิบัติในปี 2554 ทำให้เขาฝึกฝนชาวบ้าน เช่น ฝึกโรยตัวเมื่อต้องอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่ปิดล้อม เป็นต้น
“ถ้ามองในแง่ร้าย ผมมองว่าราชการก็จะไม่ทำอะไรเหมือนเดิม เพราะบทเรียนจากสึนามิก็หนักกว่านี้นะครับ แต่เราก็ไม่เคยเอาบทเรียนนั้นมาบริหารจัดการความเสี่ยง ตอนนี้ระบบเตือนภัยสึนามิในบางหมู่บ้านก็ใช้ไม่ได้แล้วด้วยซ้ำ ซึ่งเราคงต้องพยายามผลักดันเรื่องนี้กันต่อไป”
นอกจากนี้ ดร.ไชยณรงค์ ยังมองว่าปัญหาของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย คือมุมมองในการแก้ปัญหาที่มักจะมุ่งเน้นไปที่โครงสร้างขนาดใหญ่อย่างการสร้างเขื่อน ขุดแม่น้ำสายใหม่ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าอย่างโครงสร้างทางสังคมที่เข้มแข็งกลับกลายเป็นเรื่องที่รัฐมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย
เมื่อภัยพิบัติเกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่เราควรจะทำทุกครั้งคือย้อนมองดูเหตุการณ์ที่ผ่านไป เพื่อจดจำและสกัดออกมาเป็นบทเรียนที่จะใช้รับมือกับเหตุการณ์ในอนาคต ซึ่งแน่นอนว่าเราไม่ได้หมายถึงผู้ประสบภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงผู้ให้ความช่วยเหลือที่เป็นคนไทยทั้งประเทศด้วย
Photo: สุรพัศ นนท์ภาษโสภณ
Tags: Flood