วันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา Mashable เว็บไซต์ข่าวด้านไอที ได้รายงานข่าวเกี่ยวกับประเทศไทย โดยระบุว่าเฟซบุ๊กได้ทำการบล็อกเนื้อหาบางส่วนต่อผู้ใช้งานในประเทศไทย และได้รับคำยืนยันว่าเฟซบุ๊กได้ร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการปิดกั้นเนื้อหาบางส่วนจริงๆ

ดูเป็นเรื่องน่าตกใจไม่น้อย เมื่อนึกย้อนไปถึงภาพที่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก จับมือกับตัวแทนรัฐบาลไทยในการประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 24 เมื่อปีที่แล้ว แล้วนำมาเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้

หรือรัฐบาลไทยจะควบคุมเฟซบุ๊กได้แล้ว!?

Facebook ยอมรับว่าปิดกั้นไม่ให้ผู้ใช้งานในไทยเห็นบางโพสต์จริง

Mashable ได้รายงานข่าวการปิดกั้นเนื้อหาบางโพสต์ของเฟซบุ๊กในประเทศไทย จากการตั้งข้อสังเกตของ แอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชลล์ (Andrew MacGregor Marshall) อดีตผู้สื่อข่าวของรอยเตอร์ ที่ระบุว่าโพสต์ของเขาบางโพสต์ไม่ปรากฏให้ผู้ใช้ภายในประเทศได้เห็น ขณะผู้ใช้งานนอกประเทศสามารถมองเห็นโพสต์ดังกล่าวได้ตามปกติ

ทั้งนี้ Mashable ได้ทำการสอบถามไปยังเฟซบุ๊กจนได้รับคำยืนยันว่า เฟซบุ๊กได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการนำโพสต์ออกจริง โดยอ้างอิงตามขอบเขตของกฎหมายไทย ซึ่งตัวแทนจากเฟซบุ๊กยังระบุด้วยว่า ทางบริษัทได้ดำเนินการจัดการกับโพสตที่มีคำร้องผ่านกระบวนการทางกฎหมาย และในปัจจุบันมีเนื้อหา 10 เรื่องแล้วที่ถูกปิดกั้นไม่ให้เผยแพร่ในประเทศไทยจากคำร้องขอของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

นับเป็นครั้งแรกที่มีการยืนยันจากเฟซบุ๊กในการร่วมมือกับรัฐบาลไทยเพื่อปิดกั้นเนื้อหาบางส่วน แต่ถึงอย่างนั้นเมื่อย้อนกลับไปดูในรายงาน Global Government Requests ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยกลับไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีการปิดกั้นเนื้อหา เพราะในครึ่งปีแรกของปี 2016 เฟซบุ๊กได้ทำการปิดกั้นเนื้อหาไปแล้วถึง 9,663 ชิ้น จากคำร้องขอของรัฐบาลทั่วโลก

เฟซบุ๊กกับการปิดกั้นเนื้อหาจากผู้ใช้งานทั่วโลก

การปิดกั้นเนื้อหาของเฟซบุ๊กจากผู้ใช้งานทั่วโลกไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะที่ผ่านมามีการดำเนินการในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งหลังของปี 2015 เฟซบุ๊กได้ทำการปิดกั้นเนื้อหารวมแล้วกว่า 55,827 ชิ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาที่มีความรุนแรงในช่วงที่เกิดการโจมตีจากผู้ก่อการร้ายในกรุงปารีส ในเดือนพฤศจิกายน 2015

ประเทศที่มีการปิดกั้นเนื้อหามากที่สุดในช่วงเวลาที่ผ่านมา จากรายงาน Global Government Requests ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2016 คือประเทศฝรั่งเศส 2,213 ชิ้น ตามมาด้วยอินเดีย 2,034 ชิ้น และเยอรมนี 1,093 ชิ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาที่ฝ่าฝืนกฎหมายของรัฐบาลประเทศนั้นๆ

อย่างฝรั่งเศสจะเป็นการปิดกั้นเนื้อหาที่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือภาพความรุนแรงจากเหตุการณ์การก่อการร้ายในปารีส ส่วนในเยอรมนีเนื้อหาที่ปิดกั้นจะเป็นเรื่องการใช้ความรุนแรงกับเด็ก หรือเนื้อหาที่เกี่ยวกับการสังหารหมู่ในประวัติศาสตร์ หรือในอินเดียที่มีการปิดกั้นเนื้อหาที่ต่อต้านคำสอนของศาสนา หรือการใช้เฮทสปีช ส่วนในประเทศรัสเซียที่เฟซบุ๊กได้ทำการปิดกั้นเนื้อหาจำนวน 130 ชิ้น ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงอย่างสุดโต่ง การทำร้ายร่างกายตัวเอง หรือการฆ่าตัวตาย

สำหรับในประเทศไทยเนื้อหาที่ทำการปิดกั้นทั้ง 10 ชิ้น เป็นเนื้อหาที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 ของกฎหมายไทย

นอกจากนี้ในรายงานของเฟซบุ๊กยังระบุด้วยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2016 เฟซบุ๊กได้รับการร้องขอให้เปิดเผยข้อมูลของผู้ใช้งานจากรัฐบาลทั่วโลกถึง 38,675 คำร้องขอ ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อมูลของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กรวม 67,129 บัญชี ซึ่งเฟซบุ๊กได้อธิบายขั้นตอนการดำเนินการเมื่อได้รับการร้องขอให้เปิดเผยข้อมูลของผู้ใช้งานว่า ทางเฟซบุ๊กจะทำการบันทึกภาพข้อมูลเหล่านั้นไว้ในเบื้องต้นก่อน แต่จะยังไม่ส่งให้รัฐบาลจนกว่าจะได้รับเอกสารยืนยันการดำเนินการทางกฎหมายอย่างเป็นทางการของแต่ละประเทศเสียก่อน

ส่วนในประเทศไทยมีการร้องขอข้อมูลผู้ใช้งานจากรัฐบาลไทยจำนวน 1 ครั้ง เกี่ยวข้องกับผู้ใช้งาน 3 บัญชี แต่ทางเฟซบุ๊กไม่ได้มีการมอบข้อมูลผู้ใช้งานที่รัฐบาลไทยร้องขอเลย นอกจากนี้เฟซบุ๊กยังระบุในรายงานดังกล่าวว่า ทางเฟซบุ๊กมีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะไม่ให้รัฐบาลสามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้งานผ่านระบบโดยตรงอย่างเด็ดขาด

Photo: Stephan Lam, Reuters/profile

เฟซบุ๊กพยายามสร้างเครื่องมือปิดกั้นเนื้อหา เพื่อปูทางกลับจีน

ในช่วงปลายปีที่ผ่านมายังมีกระแสข่าวว่าเฟซบุ๊กกำลังพยายามสร้างเครื่องมือชิ้นใหม่ที่จะทำหน้าที่ปิดกั้นเนื้อหาเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เข้มงวดของแต่ละประเทศด้วย โดยระบบดังกล่าวจะเป็นการเซ็นเซอร์เนื้อหาโดยอัตโนมัติตามภูมิประเทศของผู้ใช้งานที่แตกต่างกัน

โดยเจ้าหน้าที่ของเฟซบุ๊กได้เปิดเผยข้อมูลกับ The New York Times ว่า เครื่องมือดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา เพื่อทำให้บริษัทสามารถกลั่นกรองเนื้อหาในพื้นที่ที่เจาะจง โดยมุ่งเน้นไปที่ประเทศจีน ที่เฟซบุ๊กถูกทางการจีนแบนไปตั้งแต่ปี 2009 และพยายามหาทางกลับไปเจาะตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกนี้อีกครั้ง

“เราเคยพูดกันมานานแล้วว่าเราสนใจประเทศจีน และใช้เวลาอย่างยาวนานเพื่อทำความเข้าใจ และเรียนรู้เกี่ยวกับจีนให้มากยิ่งขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังไม่ได้มีการตัดสินใจใดๆ ในเรื่องที่จะกลับไปให้บริการในประเทศจีนอีกครั้งหรือไม่” โฆษกของเฟซบุ๊กกล่าว

ใครที่คิดว่าอินเทอร์เน็ตคือโลกเสรีภาพที่ไร้กฎเกณฑ์คงต้องคิดกันใหม่ เพราะสุดท้ายตัวอย่างอย่างเฟซบุ๊กก็แสดงให้เห็นแล้วว่า แม้จะเป็นโลกเสมือน แต่เมื่อต้องเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก กฎของการอยู่ร่วมกันในสังคมของแต่ละประเทศก็ยังเป็นเรื่องจำเป็นอยู่ดี

อ้างอิง:

Tags: ,