ปกติแล้วในการทำงานระหว่างทำเนียบขาวกับสื่อมวลชน ก่อนที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะแถลงข่าวหรือตอบคำถามสื่อมวลชนต่อหน้ากล้อง สื่อมวลชนจะได้ข้อสรุปแบบสั้นๆ จากทำเนียบขาว และจะเป็นช่วงถาม-ตอบกับโฆษกของรัฐบาล ซึ่งในสหรัฐฯ จะเรียกกันว่าช่วง ‘Gaggle’

แต่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (24 กุมภาพันธ์ 2017) นับเป็นครั้งแรกที่สื่อบางสำนักถูกทำเนียบขาวสั่งห้ามเข้าร่วม ‘Gaggle’ หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศกร้าวว่า “สื่อหลายสำนักเป็นศัตรูกับชาวอเมริกันเอง” แต่นี่ไม่ใช่สงครามระหว่างรัฐบาลทรัมป์กับสื่อมวลชนครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้เขาเองก็เคยออกมากล่าวหา CNN และ BuzzFeed ว่าเป็นสื่อขยะ

แต่ครั้งนี้ร้อนระอุกว่าครั้งก่อนๆ เพราะรัฐบาลของทรัมป์เลือกปฏิบัติอย่างชัดเจนว่า สื่อบางสำนักเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้พูดคุยกับโฆษกรัฐบาล ขณะที่สื่ออย่าง BBC, The Guardian, New York Times, CNN, BuzzFeed, Daily Mail, Al Jazeera และ Politico นั้นไม่ได้รับอนุญาตให้ซักถามโฆษกรัฐบาล

ในประวัติศาสตร์ไม่เคยมีสิ่งนี้เกิดขึ้นที่ทำเนียบขาว
จากการที่เราทำงานร่วมกับหลายรัฐบาลที่มาจากหลายๆ พรรคก่อนหน้านี้

Photo: Kevin Lamarque, Reuters/Profile

สื่อสำนักไหนบ้างที่รัฐบาลทรัมป์สั่งห้ามและได้รับอนุญาต

เมื่อวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2017 ทำเนียบขาวสั่งห้ามบางสำนักข่าวเข้าร่วมการซักถามกับโฆษกรัฐบาล ทั้ง BBC, The Guardian, New York Times, CNN, BuzzFeed, Daily Mail, Al Jazeera และ Politico ซึ่งหลายสำนักข่าวข้างต้นถูกประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวหาว่าเป็น ‘สำนักข่าวปลอม’ ขณะที่สื่ออย่าง Breitbart News, The One America News, The Washington Times, CBS, NBC, ABC, และ Fox ได้รับอนุญาตให้ซักถามโฆษกรัฐบาล โดย Breitbart News นั้นเคยมีผู้บริหารเป็น สตีฟ แบนนอน (Steve Bannon) กุนซือคนปัจจุบันของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

ด้านสื่ออย่าง AP (The Associated Press) และ Time ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุม แต่ AP กับ Time ตัดสินใจไม่เข้าร่วมการซักถามครั้งนี้ เพราะมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน

การตัดสินใจครั้งนี้ของทำเนียบขาวเกิดขึ้นในไม่กี่ชั่วโมง หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่า สื่อหลายสำนักเป็น ‘ศัตรูของชาวอเมริกัน’

ด้านสมาคมสื่อมวลชนประจำทำเนียบขาวออกมาประท้วงต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อสื่อของรัฐบาลสหรัฐฯ “เราต้องการให้สื่อที่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมการประชุมนั้นแบ่งข้อมูลให้สื่อที่ถูกทำเนียบขาวสั่งห้ามด้วย” เจฟฟ์ เมสัน (Jeff Mason) นายกสมาคมสื่อมวลชนประจำทำเนียบขาวกล่าวในแถลงการณ์ อย่างไรก็ตามเขาเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้การทำงานระหว่างสื่อมวลชนกับรัฐบาลของ โดนัลด์ ทรัมป์ นั้นถือว่ามีความสัมพันธ์ที่ดี เรามีโอกาสได้ถามหลายคำถามกับทั้งประธานาธิบดีเอง และ ฌอน สไปเซอร์ โฆษกรัฐบาล แต่การตัดสินใจครั้งล่าสุดนั้นกลับสวนทางกับสิ่งที่เคยเป็นมา และเขาต้องการให้รัฐบาลรักษาการให้ความร่วมมือกับสื่อมวลชนทุกสำนัก

ดีน บาเควต์ (Dean Baquet) บรรณาธิการอาวุโสของ The New York Times ระบุว่า “ในประวัติศาสตร์ไม่เคยมีสิ่งนี้เกิดขึ้นที่ทำเนียบขาว จากการที่เราทำงานร่วมกับหลายรัฐบาลที่มาจากหลายๆ พรรคก่อนหน้านี้” ขณะที่สื่อจากฝั่งอังกฤษอย่าง BBC เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาชี้แจงเหตุผลในการสั่งห้ามสื่อบางสำนักเข้าร่วมการประชุม เช่นเดียวกับผู้สื่อข่าวจาก The Guardian ที่ถือ hard pass หรือใบอนุญาตที่สามารถเข้าทำเนียบขาวได้ทุกวัน ถูกสั่งห้ามเข้าร่วมการประชุมแม้ว่าจะมีใบอนุญาตก็ตาม

ส่วน CNN สำนักข่าวที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เคยจวกว่าเป็นสื่อขยะนั้นพูดถึงการตัดสินใจครั้งนี้ของรัฐบาลว่า “เป็นการกระทำของทำเนียบขาวที่ไม่สามารถยอมรับได้ชัดเจนว่านี่เป็นวิธีที่รัฐบาลตอบโต้สื่อเวลาที่สื่อรายงานสิ่งที่พวกเขาไม่ชอบ แต่พวกเราจะยังทำหน้าที่รายงานข่าวต่อไป”

สถานีโทรทัศน์ ABC เป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีชาวอเมริกันมากที่สุด (67%)
มองว่า เป็นสื่อมี ‘ความน่าเชื่อ’ ถึงมี ‘ความน่าเชื่อถือสูง’
ขณะที่สื่ออย่าง CNN ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มักกล่าวหาว่าเป็น ‘สำนักข่าวประจำตัวฮิลลารี คลินตัน’
นั้นได้รับความไว้วางใจจากชาวอเมริกันในจำนวนระดับกลาง

Photo: Yuri Gripas, Reuters/Profile

ชนวนที่ทำให้ โดนัลด์ ทรัมป์ สั่งแบนบางสำนักข่าว

สื่อที่ถูกทำเนียบขาวสั่งห้ามเข้าร่วมการซักถาม คือสื่อที่ออกมาเปิดเผยว่า ทีมงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้พยายามพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ FBI เพื่อไม่ให้ FBI ออกมาเปิดเผยรายงานการสืบสวนว่าด้วยเรื่องที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับรัสเซียหรือไม่ ซึ่งทำเนียบขาวได้ออกมาโจมตีการรายงานข้อมูลนี้ของสื่อ และนำไปสู่การสั่งห้ามสื่อบางสำนักเข้าร่วมการประชุม ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กล่าวถึงการรายงานข้างต้นว่า สื่อไม่ควรได้รับอนุญาตให้ใช้แหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผย (anonymous source) และจะสั่งควบคุมเสรีภาพการแสดงออกทางความคิดเห็น

“รายงานข่าวของพวกคุณจะไม่ได้รับการเปิดเผยอย่างที่พวกคุณไม่เคยเห็นมาก่อน อย่างที่พวกคุณเห็นมาตลอดจนถึงเดี๋ยวนี้ว่า ข่าวปลอมเหล่านั้นไม่ใช่ความจริง”

สื่อที่ไม่มีความซื่อสัตย์…เราจะต้องทำอะไรสักอย่างกับพวกเขา
ผมไม่ได้ต่อต้านสื่อมวลชนทั้งหมด
แค่สำนักข่าวปลอมบางสำนักที่กุเรื่องและแหล่งข่าวขึ้นมา

ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อความน่าเชื่อถือของแต่ละสำนักข่าว

ตั้งแต่ช่วงระหว่างการรณรงค์หาเสียงจนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เราจะเห็นชัดเจนมากว่า ประชาชนมีช่องทางการรับข้อมูลข่าวสารที่มากขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งในช่วงที่โลกกำลังถูกแบ่งแยกออกเป็นฝั่งขวาและซ้ายชัดเจนมากขึ้น สื่อแต่ละสำนักจึงต่างถูกคาดการณ์ วิพากษ์วิจารณ์ รวมไปถึงจัดหมวดหมู่ว่า สื่อสำนักไหนถูกจัดว่าอยู่ฝั่งซ้าย หรือสื่อสำนักไหนถูกจัดว่ามีความคิดโอนเอียงไปทางขวา แม้ว่าสื่อบางสำนักจะไม่เคยออกตัวก็ตาม

และเราจะเห็นชัดเจนมากว่า พฤติกรรมการรับข้อมูลข่าวสารของคนนั้นสะท้อนความแบ่งแยกอย่างชัดเจน หากเราดูการตอบโต้ของประชาชนต่อข้อมูลเดียวกันที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว

Morning Consult ศูนย์สำรวจความคิดเห็นออนไลน์ของสหรัฐฯ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกันจำนวน 1,605 คน ต่อความน่าเชื่อถือของสำนักข่าวแต่ละสำนักเมื่อเดือนธันวาคม 2016

ซึ่งสถานีโทรทัศน์ ABC เป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีชาวอเมริกันมากที่สุด (67%) มองว่า เป็นสื่อมี ‘ความน่าเชื่อ’ ถึงมี ‘ความน่าเชื่อถือสูง’ ขณะที่สื่ออย่าง CNN ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มักกล่าวหาว่าเป็น ‘สำนักข่าวประจำตัวฮิลลารี คลินตัน’ นั้นได้รับความไว้วางใจจากชาวอเมริกันในจำนวนระดับกลาง คือน้อยกว่า ABC, CBS, และ NBC แต่มากกว่า Fox และ MSNBC

ด้านสื่อออนไลน์อย่าง InfoWars และ Breitbart นั้นรั้งอันดับท้าย โดย Breitbart เป็นสื่อที่มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นสื่อที่สนับสนุนความคิดอนุรักษ์นิยมและนโยบายฝั่งขวา และยังเป็นสื่อที่ สตีฟ แบนนอน กุนซือของทรัมป์คนปัจจุบันเคยนั่งเก้าอี้ผู้บริหาร โดยชาวอเมริกันเกือบครึ่งที่ Morning Consult ทำการสำรวจความคิดเห็นนั้น ไม่รู้จัก 2 สำนักข่าวอย่าง InfoWars และ Breitbart โดยที่ผ่านมาสำนักข่าวทั้งสองคือสำนักข่าวที่รายงานอาชญากรรมที่ก่อโดยผู้ลี้ภัยในยุโรปอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาสั่งห้ามประชาชนจาก 7 ประเทศมุสลิมเข้าประเทศก่อนหน้านี้

ในยุค Post-truth ที่ทั้งนักการเมืองและสื่อมวลชนมักเล่นกับอารมณ์ของคนในสังคม จนเกิดเป็นความสับสนในข้อมูล และนำไปสู่ความแบ่งแยก และความอดทนของคนในการเปิดรับข้อมูลหลายด้านที่ต่ำลง เสรีภาพของสื่อมวลชนเองจึงต้องมาพร้อมกับจรรยาบรรณในการรายงานข่าว และความขยันขันแข็งในการตรวจสอบทั้งภาครัฐและเอกชน ขณะที่ภาครัฐเองก็ต้องไม่ปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมวลชน ซึ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวล่าสุดว่า “สื่อที่ไม่มีความซื่อสัตย์…เราจะต้องทำอะไรสักอย่างกับพวกเขา ผมไม่ได้ต่อต้านสื่อมวลชนทั้งหมด แค่สำนักข่าวปลอมบางสำนักที่กุเรื่องและแหล่งข่าวขึ้นมา”

และนี่คงจะเป็นเรื่องยากสำหรับประชาชนในยุค Post-truth มากขึ้นไปอีกว่า ข้อมูลที่ปรากฏบนหน้าฟีดนั้น ข้อมูลไหนคือ ‘ข้อเท็จจริง’ และข้อมูลไหนคือเรื่องโกหกที่กลายเป็น ‘ข้อเท็จจริงทางเลือก’

อ้างอิง:

Tags: , ,