เมื่อทุกวันที่ 11 ตุลาคมของทุกปีได้ชื่อว่าเป็นวัน National Coming Out Day อย่างเป็นทางการของสหรัฐอเมริกาทั้งที ชาว LGBT ไทยอาจอยากใช้โอกาสนี้ประกาศก้องให้โลกรู้ว่าคุณเป็นใคร
ไม่ว่าจะเป็นเกย์ เลสเบี้ยน ไบเซ็กชวล หรือคนข้ามเพศ นอกจากจะต้องรวบรวมความกล้าเฮือกใหญ่แล้ว ยังมีอีกหลายสิ่งที่คุณต้องเผชิญหน้า
หากอยากจะเปิดตัวว่าคุณ ‘เป็น’และนี่คือตัวอย่างจากคนที่เคยผ่านประสบการณ์ come out มาแล้ว
โจโจ้-ทิชากร ภูเขาทอง และ เจนนี่ ปาหนัน-วัชระ สุขชุม
กลุ่ม Trasher Bangkok
ถ้าชายจริงหญิงแท้เป็นคนไม่ดี ก็แค่ไม่ดี แต่ถ้าเป็นตุ๊ด เกย์ ทอมแล้วเป็นคนไม่ดี
จะโดนสังคมด่าแบบดับเบิล คือเกิดมาเป็นตุ๊ดแล้วยังเลวอีก
เพราะฉะนั้นมันเลยบีบบังคับกลายๆ ให้เราต้องเอาความดีมากลบปมด้อย
ทั้งๆ ที่เราไม่ได้คิดว่ามันเป็นปมด้อยเลยด้วยซ้ำ
นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นนักจัดปาร์ตี้ที่สนุกสุดเหวี่ยงสำหรับชาว LGBT และชายจริงหญิงแท้แล้ว ในหลายครั้งพวกเขายังใช้พื้นที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ Trasher , Bangkok บอกเล่าทัศนคติส่วนตัวต่อเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับสังคม LGBT รวมทั้งยังสร้างสรรค์ซีรีส์ GayOK Bangkok เพื่อลบภาพจำเดิมๆ ของชายรักชายอีกด้วย
- ถ้าชายจริงหญิงแท้เป็นคนไม่ดี ก็แค่ไม่ดี แต่ถ้าเป็นตุ๊ด เกย์ ทอมแล้วเป็นคนไม่ดี จะโดนสังคมด่าแบบดับเบิล คือเกิดมาเป็นตุ๊ดแล้วยังเลวอีก เพราะฉะนั้นมันเลยบีบบังคับกลายๆ ให้เราต้องเอาความดีมากลบปมด้อย ทั้งๆ ที่เราไม่ได้คิดว่ามันเป็นปมด้อยเลยด้วยซ้ำ
- สังคมไทยยังไม่เปิดรับความหลากหลายอย่างแท้จริง อย่างเราก็เคยโดนกับตัว อย่างเช่น การเข้าห้องน้ำ ทั้งห้องน้ำชายและห้องน้ำหญิง ถึงแม้เราจะแต่งตัวเป็นผู้หญิง แต่พอเข้าห้องน้ำหญิง ผู้หญิงเขาก็จะมองแบบแปลกๆ พอเราเข้าไปก็กลายเป็นว่าทุกคนระแวง หรือถ้าเข้าห้องน้ำชาย ผู้ชายก็จะมองว่าต้องการเข้ามาดูอะไรหรือเปล่า
- สิทธิขั้นพื้นฐานในการใช้ชีวิตของเรายังขลุกขลัก บางทีถูกมองว่าเป็นตัวตลก หรือเจอเด็กๆ มายืนชี้หน้าแล้วล้อว่า “กะเทยๆ” ทั้งๆ ที่พวกเขาเป็นเด็กประถม มีการศึกษาแล้ว ได้รับการสั่งสอนมาแล้วยังเป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้นสังคมไทยยังไม่ใช่สังคมที่พร้อมหรอก
- เวลาคนมอง LGBT ในหนังจะมีภาพจำอะไรบ้างนอกจากตลก ไม่ก็เป็นคู่จิ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบเลย เพราะเขาเป็นตัวละครที่ไม่ได้มีชีวิตจิตใจนอกจากจะออกมาเสริมจินตนาการให้ผู้หญิงหรือแฟนคลับเท่านั้น
- ที่เราเห็นว่าทุกวันนี้มีสื่อชายรักชายเยอะขึ้น ไม่ต้องดีใจไปนะว่าสังคมจะเปิดรับ แต่เป็นเพราะมันขายได้เท่านั้นแหละ จะเปิดรับได้จริงก็ต่อเมื่อละครไทยตอน 2 ทุ่ม จะมีตัวนำเป็นผู้ชายสองคน
- เอาเป็นว่าผู้ชายสองคนแต่งงานกันแล้วไม่เป็นข่าวฮือฮาขึ้นหน้าหนึ่ง แค่นั้นก็ถือว่าดีขึ้นแล้ว
Photo: Punsiri Siriwetchapun
โน้ต-พงษ์สรวง คุณประสพ
ผู้ก่อตั้ง Dudesweet และนิตยสารออนไลน์ Third World
ถ้าสังคมไทยยอมรับเพศทางเลือกจริง
เราก็น่าจะเห็นอาชีพที่มี LGBT ทำเยอะกว่านี้
ต้องเห็นตำรวจเป็นเลสเบี้ยนบ้าง มีครู
หรือข้าราชการตำแหน่งใหญ่ๆ เป็นกะเทยบ้าง
หลายคนรู้จักเขาในชื่อ โน้ต Dudesweet นักจัดปาร์ตี้รุ่นแรกๆ ของไทย แต่นอกจากนั้นเรายังรู้จักเขาในฐานะนักวิพากษ์วิจารณ์สังคมที่ขึ้นชื่อเรื่องความชัดเจน พ่วงด้วยสไตล์การจิกกัดแบบเป็นเอกลักษณ์ พิสูจน์ได้จากเนื้อหาใน THIRDWORLD นิตยสารออนไลน์สุดแสบที่หยิบจับเรื่องกลืนไม่เข้าคายไม่ออกในสังคมไทยมาล้อเลียนจนกลายเป็นความขำขัน ดังนั้นเมื่อเขาพูดถึงประเด็น LGBT เราจึงคิดว่าคุณเองก็ควรฟัง
- เราคิดว่าสังคมไทยไม่ได้เปิดจริงๆ หรอก แค่ยอมรับได้บ้าง เป็นเพื่อนกันได้ แต่ลองดูพาดหัวข่าวเวลาที่มีข่าวเกี่ยวกับ LGBT สิ ถ้าเป็นผู้ชายฆ่าผู้หญิง ก็อาจจะเห็นพาดหัวว่า ‘หนุ่มแทงสาวดับ’ แต่ถ้าเหตุการณ์เดียวกันแต่เปลี่ยนตัวละครเป็นเกย์ พาดหัวข่าวก็จะกลายเป็น ‘เกย์โรคจิตแทงคู่ขาดับ’
- ถ้าสังคมไทยยอมรับเพศทางเลือกจริง เราก็น่าจะเห็นอาชีพที่มี LGBT ทำเยอะกว่านี้ ต้องเห็นตำรวจเป็นเลสเบี้ยนบ้าง มีครู หรือข้าราชการตำแหน่งใหญ่ๆ เป็นกะเทยบ้าง เอาง่ายๆ สมมติกะเทยคนหนึ่งอยากจะเป็นช่างซ่อมรถ ถ้าไปสมัครพร้อมผู้ชาย คิดว่าเขาจะรับใคร ซึ่งถ้ามองในแง่นั้นเราก็คิดว่ายังไม่ได้เปิดกว้างขนาดนั้น
- ครั้งหนึ่งเราเคยแต่งตัวเป็นมาสคอตไปงานปาร์ตี้ พอคนเห็นว่าเราเป็นมาสคอต คนก็จะไม่เคารพเรา เขาจะไม่สนใจสิ่งที่อยู่ข้างใน นึกจะกระชากไปถ่ายรูปก็กระชาก ซึ่งตอนนี้ LGBT โดยเฉพาะกะเทยแปลงเพศกำลังเหมือนคนสวมมาสคอตที่ถูกมองว่าเป็นตัวตลกที่จะแกล้งยังไงก็ได้
- เราอยากให้เป็นเหมือนในเพลง Girls and Boys ของ Blur ที่บอกว่า ‘Always should be someone, you really love.’ คือคุณรู้สึกอยากจะเป็นใครก็ควรจะได้เป็นแบบนั้น ต้องเข้าใจว่าเกย์ไม่ได้อยากเป็นผู้หญิง ทอมบางคนก็ไม่ได้อยากเป็นผู้ชาย กะเทยคือเพศเพศหนึ่ง อยากแต่งตัวแบบไหนก็ควรจะได้แต่ง คือการยอมรับต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจก่อน และเราจะทำให้เกิดความเท่าเทียมไม่ได้หรอก ถ้าเรายังไม่เห็นว่าคนแต่ละคนมีความแตกต่างกันอย่างไร
- เราควรจะเริ่มต้นจากการเคารพซึ่งกันและกัน เคารพความแตกต่าง นี่คือปรัชญาในการใช้ชีวิตของเราเลยก็ว่าได้ และความต่างในที่นี้ก็หมายรวมไปถึงฐานะ เชื้อชาติ ความสมบูรณ์ของร่างกาย หรือแม้แต่เรื่องเพศด้วย
มุก-คาณัสนันท์ ดอกพุฒ
นักกิจกรรมทรานส์แมน กลุ่ม FTM Bangkok
ผมคิดว่าถ้าทุกคนให้เกียรติผู้อื่น สังคมก็น่าจะน่าอยู่ขึ้น
ผมไม่แคร์หรอก ถ้าคุณจะใส่กระโปรง ทาลิปสติกมา แล้วคุณบอกว่าคุณเป็นผู้ชาย ผมก็พร้อมจะปฏิบัติกับคุณเหมือนผู้ชาย
ถ้ามองภายนอก ‘มุก’ ก็ดูไม่ต่างจากผู้ชายทั่วๆ ไป นอกจากคำนำหน้าว่า ‘นางสาว’ ที่ระบุไว้บนบัตรประชาชน กว่าจะผ่านการเปลี่ยนแปลงตัวเองจนมาถึงวันนี้ เขาเคยผ่านประสบการณ์ และความยากลำบากมามากมาย ทั้งในรั้วโรงเรียน ไปจนถึงชีวิตการทำงาน สิ่งที่เขาเปิดเผยให้เราได้รู้ จึงยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าประเทศไทยเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศแค่ไหน
- หลายคนบอกว่าประเทศไทยเปิดกว้างสำหรับ LGBT แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ เขาอาจจะไม่ทำร้ายร่างกายเรา หรือแสดงความเกลียดชังอย่างออกนอกหน้า แต่เขาจะรู้สึกว่าเราควรถูกจำกัดสิทธิบางอย่าง
- เราไม่เคยสอนเรื่องสิทธิมนุษยชนในโรงเรียน เราจึงไม่ค่อยรู้ว่าในฐานะมนุษย์เรามีสิทธิ
- อะไรบ้าง หลายคนมองว่าการละเมิดเป็นเรื่องธรรมดา เราไม่เคยถูกสอนให้ปฏิบัติกับคนอื่นอย่างเท่าเทียม อย่างในวิชาสอนมารยาท เราก็เรียนเรื่องการกราบไหว้ แต่ไม่เคยเรียนเรื่องมารยาทในการปฏิบัติตัวกับคนอื่น ปัญหาทุกอย่างมาจากการศึกษาที่ยังไม่ตรงจุด ทำให้คนไทยไม่รู้จักวิธีการปฏิบัติกับผู้อื่นด้วยความเคารพ
- สิ่งแรกที่ควรจะเปลี่ยนคือการกำหนดเพศของคนด้วยอวัยวะเพศ ไม่ว่าคุณจะมีอวัยวะเพศตามกำเนิดเป็นอย่างไร เพศก็คืออัตลักษณ์ที่ขึ้นอยู่กับจิตใจ เราควรสามารถเลือกเป็นเพศไหนก็ได้ ไม่ว่าจะมีรูปลักษณ์ภายนอกแบบไหนก็ตาม
- ที่จริงมีหลายๆ อย่างที่ควรจะต้องเปลี่ยนแปลง เช่น คำนำหน้าชื่อ ซึ่งเป็นอุปสรรคหลายๆ อย่างในชีวิต บางทีไปธนาคาร จะเบิกเงินก็ต้องไปตอบคำถาม คนอื่นไปเบิกเงินเขาใช้แค่บัตรประชาชนใบเดียว ผมต้องใช้ทั้งใบขับขี่ บัตรประชาชน พาสปอร์ต บางทีก็อยากจะพาแม่ไปยืนยันด้วย ถ้าปรับคำนำหน้าได้ เราก็จะได้รับสิทธิเหมือนผู้ชายทั่วไป และตรงนั้นน่าจะเปลี่ยนอะไรได้หลายๆ อย่าง
เคท ครั้งพิบูลย์
ผู้ร่วมก่อตั้ง และคณะทำงาน เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย
ถ้าเป็นกะเทยก็ต้องเหมือนผู้หญิงมากๆ
ถ้าเป็นผู้ชายข้ามเพศก็ต้องเหมือนผู้ชายมากๆ
หรือถ้าเป็นเกย์ก็ต้องผิวดี มีกล้าม ฐานะดี
ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องชนชั้นและกรอบวิธีคิดเรื่องเพศที่คับแคบของคนไทย
จากคนที่ไม่เคยสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ถึงวันหนึ่งที่เริ่มเข้ามาศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังทำให้เธอรู้ว่าประเทศไทยยังมีความไม่พร้อมในหลากหลายด้าน ตั้งแต่สิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ไปจนถึงสิทธิของชาว LGBT ที่ผ่านมาเธอเคยถูกปฏิเสธให้บรรจุเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยทั้งที่สอบผ่านข้อเขียนแล้ว เนื่องจากเหตุผลที่ว่า ‘พฤติกรรมไม่เหมาะสม’ ภาพที่เธอฉายให้เราเห็นถึงความไม่เท่าเทียมของชาว LGBT ในสังคมไทย จึงล้วนกลั่นกรองออกมาจากประสบการณ์จริง
- การถูกเลือกปฏิบัติอาจจะไม่ได้พบเจอต่อหน้า แต่จริงๆ กะเทยก็ถูกเลือกปฏิบัติอยู่ในหลายช่วงของชีวิต ตั้งแต่การเรียน การทำงาน ทำให้คนที่เป็น LGBT ต้องหาวิธีเอาตัวรอดเอาเอง เช่น ต้องเป็นคนตลก คุยเก่ง หรือเป็นคนดีมีศักยภาพ หรือแม้แต่การถูกมองด้วยสายตาก็ทำลายความมั่นใจของเรามาก เช่น กะเทยมักจะถูกมองบนรถไฟฟ้า ตามถนน หลายคนอาจจะคิดว่าเขามองเพราะสวย หรือแต่งตัวดี แต่จริงๆ ไม่ใช่แบบนั้นเลย แล้วถ้ากะเทยคนหนึ่งต้องรับมือกับเรื่องเหล่านี้ทุกวัน ต้องเจอมอเตอร์ไซค์รับจ้างแซวทุกวัน จะมีใครแข็งแกร่งมากพอที่จะปลอบใจตัวเองว่าไม่เป็นไรได้หรือเปล่า
- เรามักจะเห็นการยอมรับมากๆ ในกลุ่มคนที่มีชื่อเสียงในสังคม หรือคนที่เข้าถึงทรัพยากรได้มากกว่าคนทั่วไป เช่น เราอาจจะให้เกียรติกะเทยที่สวยมากๆ มีตำแหน่ง มีมงกุฏ ไม่มีใครต้องมาถามเธอว่าเธอเคยถูกเลือกปฏิบัติยังไงบ้าง แต่สำหรับกะเทยไม่สวยก็จะมีชุดคำด่า เช่น กะเทยควายทำไมไม่ทำศัลยกรรม คือสังคมจะมีวิธีคิดหรือแพตเทิร์นของการเป็น LGBT สูงมาก ถ้าเป็นกะเทยก็ต้องเหมือนผู้หญิงมากๆ ถ้าเป็นผู้ชายข้ามเพศก็ต้องเหมือนผู้ชายมากๆ หรือถ้าเป็นเกย์ก็ต้องผิวดี มีกล้าม ฐานะดี ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องชนชั้น และกรอบวิธีคิดเรื่องเพศที่คับแคบของคนไทย
- อย่างแรกที่ชาว LGBT ควรจะทำคือการลดการตีตราตัวเอง ถ้าอยากให้สังคมมีภาพมุมมองใหม่ๆ แต่คนในแวดวง LGBT เองยังผลิตซ้ำในเรื่องเดิมๆ เสียงเรียกร้องก็คงไม่มีประโยชน์ อย่างที่สองก็ต้องพยายามสื่อสารในเชิงบวกเพื่อให้สังคมมองเห็นมุมมองใหม่ๆ หรือเรื่องราวใหม่ๆ ของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จากประสบการณ์ตรงที่เราทำงานด้านนี้มาก็คือ มันจะได้ผลก็ต่อเมื่อเราพยายามให้เกียรติ
สุดท้ายสิ่งสำคัญจริงๆ อาจไม่ได้อยู่ที่การออกมา come out หรือยอมรับกับใครต่อใครว่าคุณ ‘เป็น’ LGBT หรือไม่ เพราะตราบใดที่เรื่องเหล่านี้ยังคงมีอยู่ในสังคมไทย ความกล้าที่ต้องใช้ในการ come out ก็คงดูเล็กน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับความกล้าที่คุณต้องใช้กับการดำเนินชีวิตประจำวันในฐานะมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจคนหนึ่ง
ภาพประกอบ: Karin Foxx