แม้ร่างไร้วิญญาณของ ชัยภูมิ ป่าแส ประธานเครือข่ายเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมืองชาวลาหู่ จะถูกฝังลงดินไปแล้วในพิธีกรรมทางศาสนาเมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนเงื่อนงำและปริศนาการเสียชีวิตจากกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐได้ทำการวิสามัญโดยอ้างว่าชัยภูมิมียาเสพติดในครอบครอง และต่อสู้ขัดขืนการจับกุมของเจ้าหน้าที่จะยังคงเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนและประชาชนจำนวนมากอย่างที่ไม่น่าจะฝังได้มิด

ยิ่งนับวันก็ยิ่งมีความเคลื่อนไหว พยานแวดล้อม และหลักฐานใหม่ๆ ที่อาจทำให้เชื่อได้ว่าคดีนี้น่าจะมีอะไรซุกซ่อนอยู่มากกว่าสิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐพยายามสื่อสารออกมา

The Momentum จึงขอทำหน้าที่นำเสนอข้อมูลหลากหลายด้านที่เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการคลี่คลายปริศนาในการเสียชีวิตครั้งนี้

เจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ต่างก็มีปืน มีอำนาจ และสามารถใช้อำนาจได้โดยไม่มีใครตรวจสอบ จึงน่าตั้งคำถามว่าการทำงานในลักษณะนี้มีความชอบธรรมมากน้อยแค่ไหน

ความท้าทายในคดีวิสามัญ คือความยากในการเข้าถึงพยานหลักฐาน

สำหรับความคืบหน้าล่าสุดของคดีดังกล่าว สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความจากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณารับทำคดีนี้ระบุว่า จากที่ได้พูดคุยสอบถามจากพนักงานสอบสวนพบว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสอบพยานไปแล้ว 2 ปาก คือคุณแม่ของชัยภูมิ รวมถึงเจ้าหน้าที่ทหารที่ก่อเหตุซึ่งเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ยังมีการออกหมายเรียกคนที่มีชื่อเป็นเจ้าของรถ Honda Jazz ที่พบในที่เกิดเหตุแล้ว แต่ยังไม่มีข้อมูลว่ามีการสอบสวนไปแล้วหรือไม่ ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นพบว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นของชัยภูมิ แต่ยังไม่ได้มีการโอนกรรมสิทธิ์อย่างถูกต้อง เนื่องจากชัยภูมิเป็นบุคคลที่ไม่มีสัญชาติ จึงไม่สามารถทำเรื่องโอนทะเบียนรถได้

เช่นเดียวกับหลักฐานต่างๆ ที่พบในที่เกิดเหตุ เช่น ระเบิด มีด ปลอกกระสุน รวมถึงปืนกระบอกที่ยิงน้องชัยภูมิจนเสียชีวิตที่ได้ถูกส่งไปที่กองพิสูจน์หลักฐานเรียบร้อยแล้ว ที่สำคัญคืออยู่ในระหว่างการรอผลการชันสูตรพลิกศพอย่างเป็นทางการจากเจ้าหน้าที่ทางนิติเวชซึ่งยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป

ด้านพงศนัย แสงตะหล้า อายุ 19 ปี คนขับรถที่เดินทางมาพร้อมกับชัยภูมิก่อนที่จะเกิดเหตุ เว็บไซต์ประชาไทเปิดเผยว่าขณะนี้มีการจับกุม และฝากขังอยู่ที่คุกเชียงใหม่ และศาลเรียกเงินประกัน 2 ล้านบาท แต่ญาติยังไม่มีเงินประกันตัว ซึ่งทางทนายสุมิตรชัย เปิดเผยว่าขณะนี้อยู่ในระหว่างการติดต่อผู้ปกครองของพงศนัยเพื่อเข้าเยี่ยม และให้ความช่วยเหลือต่อไป

ในฐานะที่เคยเป็นทนายในการต่อสู้คดีวิสามัญฆาตกรรมมาแล้ว 3 คดี ทนายสุมิตรชัยมองว่าคดีของน้องชัยภูมิมีความน่าสนใจตรงที่เป็นกรณีที่มีการวิสามัญโดยใช้ความรุนแรงอย่างมาก และที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีแค่กรณีนี้เพียงกรณีเดียว ทำให้เกิดคำถามว่ารัฐบาลจะมีทีท่าอย่างไรต่อไปเพื่อทำให้ข้อเท็จจริงมีความกระจ่างชัดมากยิ่งขึ้น

ส่วนความท้าทายของคดีลักษณะนี้ ทนายสุมิตรชัยเปิดใจว่า ความยากลำบากในการเข้าถึงพยานหลักฐานนับเป็นอุปสรรคสำคัญในการทำคดี เพราะการชันสูตรพลิกศพส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยที่ญาติของผู้เสียชีวิตไม่สามารถเข้าร่วมการชันสูตรได้ ดังนั้นการรวบรวมพยานหลักฐานที่จะนำมาต่อสู้คดีจึงค่อนข้างเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสถานที่เปลี่ยว หรืออยู่ไกลจากชุมชน การหาพยานหลักฐานก็จะยิ่งยากมากขึ้น

“จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ไม่ว่าคนก่อเหตุจะเป็นตำรวจ หรือทหาร ผมคิดว่ามันเป็นคดีที่มีความยากอยู่แล้วในแง่ของการทำคดี เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งอาจจะมีคนเห็น แต่ก็ยากที่จะมีใครได้เห็นชัดๆ ใกล้ๆ รวมถึงสภาพศพของผู้เสียชีวิตที่ตำรวจหรือทหารเป็นคนที่ดูแลพื้นที่ ดังนั้นมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการเซตอัพองค์ประกอบต่างๆ ก่อนมีการชันสูตรพลิกศพ

“ในความเป็นจริงเราก็ไม่รู้ว่าตกลงเหตุการณ์จริงๆ มันเป็นยังไง เพราะหลังจากที่น้องเขาเสียชีวิตแล้ว ก็กลายเป็นว่าหลักฐานทั้งหมดเจ้าหน้าที่ต้องเป็นคนรวบรวมและนำเสนอ มันก็ยากอยู่แล้วในแง่การไต่สวนการตาย ลองย้อนไปดูเถอะครับ ถ้าเป็นคดีวิสามัญส่วนใหญ่จะยากเหมือนกันหมด”

นอกจากนี้ทนายสุมิตรชัยยังเปิดเผยว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยจะได้ลงนามและให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ที่ระบุว่า ภาระในการพิสูจน์อยู่ที่เจ้าหน้าที่รัฐ ที่จะต้องพิสูจน์ว่าเขาไม่ได้ซ้อมทรมาน หรือวิสามัญฆาตกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งนับเป็นข้อกำหนดที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวัง เช่น มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดในสถานที่สอบสวน หรือบริเวณด่าน น่าจะทำให้เกิดความโปร่งใสในการทำงานได้มากขึ้น

“แต่ตอนนี้เรายังไม่มีอะไรเหล่านี้เลย นอกจากหลักฐานที่อ้างว่าตกอยู่ในที่เกิดเหตุ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็สามารถเล่าได้ว่าเรื่องราวเป็นแบบนี้แบบนั้น น้องจะขว้างระเบิดใส่ แต่ก็เป็นฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่เล่าอยู่ฝ่ายเดียว แต่ส่วนอื่นๆ กลับไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบรายละเอียดได้ กล้องวงจรปิดก็ไม่มี

“นอกจากนี้ด่านดังกล่าวยังมีปัญหาในเรื่องที่ทำให้เกิดบรรยากาศความไม่ไว้วางใจระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้านมานาน ถ้าจะทำให้เกิดความมั่นใจของประชาชนจริงๆ ก็น่าจะติดกล้องวงจรปิด หรือทำอะไรสักอย่างที่จะทำให้การทำงานเกิดความโปร่งใส เรื่องเหล่านี้อาจจะเป็นข้อเสนอกว้างๆ ในมุมของคนทำงานที่อยากจะให้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้าน”

ตอนนี้เรายังไม่ได้บอกว่าเจ้าหน้าที่ผิดหรือถูก แต่สิ่งที่เราอยากรู้คือข้อเท็จจริง และอยากให้มีกระบวนการที่เป็นธรรม

อิสระและปราศจากอคติ กุญแจสำคัญในการคลี่คลายคดี

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ตั้งข้อสังเกตว่าคดีดังกล่าวมีที่มาจากปัญหาการใช้อำนาจตรวจค้นบุคคล ซึ่งเข้าใจดีว่าการปราบปรามสิ่งเสพติดเป็นสิ่งที่รัฐจำเป็นต้องทำ แต่การใช้เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งไม่มีข้อมูลการปราบปรามยาเสพติด ไม่มีระบบการจัดการที่รัดกุม และไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องดังกล่าวโดยตรงอาจทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงในการละเมิดสิทธิมนุษยชน

“การใช้ทหารมาตั้งด่านตรวจยาเสพติดถือเป็นเรื่องน่ากังวล เพราะเราก็ไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่ทหารได้ประสานงานร่วมกับ ป.ป.ส. หรือเปล่า ก็ได้แต่ตั้งข้อสังเกตเขาอาจจะทำไปโดยพลการ แล้วถ้าบังเอิญตรวจพบจะต้องมีการจัดการอย่างไรต่อไป ถ่ายรูปเป็นหลักฐานไว้หมด ใครต้องเป็นคนทำหน้าที่ค้นรถ ใครเป็นคนจับของกลาง จับโดยใช้ถุงมือหรือเปล่า คือมันมีรายละเอียดในการจับกุมที่ต้องระมัดระวังเยอะมาก ถ้าเกิดเป็นเจ้าหน้าที่ที่ไม่มีความรู้ ไม่มีความเชี่ยวชาญ ที่สำคัญคือเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ต่างก็มีปืน มีอำนาจ และสามารถใช้อำนาจได้โดยไม่มีใครตรวจสอบ จึงน่าตั้งคำถามว่าการทำงานในลักษณะนี้มีความชอบธรรมมากน้อยแค่ไหน”

นอกจากนี้พรเพ็ญยังเรียกร้องให้มีการเปิดเผยหลักฐานที่ตรวจพบออกมาให้ชัดเจนมากที่สุด และที่สำคัญคือจะต้องมีคนที่มีหน้าที่และมีความเป็นอิสระเพียงพอที่จะตรวจสอบในเรื่องนี้ได้ ไม่ใช่แค่มีหน้าที่ แต่ไม่เป็นอิสระ หรือมีอคติบางอย่าง ซึ่งคงไม่ยากเกินความสามารถของผู้มีอำนาจ หากอยากจะให้ความเป็นจริงปรากฏต่อสาธารณชนอย่างแท้จริง

เช่นเดียวกับวิไลลักษณ์ เยอเบาะ กองเลขาเครือข่ายเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง และผู้ประสานงานเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ที่ระบุว่า

“ตอนนี้เรายังไม่ได้บอกว่าเจ้าหน้าที่ผิดหรือถูก แต่สิ่งที่เราอยากรู้คือข้อเท็จจริง และอยากให้มีกระบวนการที่เป็นธรรม มีความยุติธรรมตามกฎหมาย ถ้ามองจากแค่ข้อมูลที่เรามี ก็ทำให้เกิดคำถามขึ้นในใจได้เหมือนกันว่าเจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุหรือเปล่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ยังไม่รู้ว่าปัญหามันเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะตัวเราก็อยู่นอกพื้นที่เกิดเหตุ ดังนั้นจึงเป็นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ที่จะต้องคลายข้อสงสัยที่เกิดขึ้นกับสื่อ และประชาชนทั่วไป”

นอกจากนี้วิไลลักษณ์ยังเปิดเผยด้วยว่าการสื่อสารแบบเหมารวมที่มักจะมีการเชื่อมโยงกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ กับเรื่องของยาเสพติด และความรุนแรงนับเป็นปัญหาที่ทำให้ชนเผ่าอยู่ในสังคมนี้ได้ลำบาก

“ดิฉันคิดว่ายาเสพติดมีอยู่ทั่วประเทศ ไม่ใช่ว่าเป็นเผ่านี้ถึงจะต้องมีประวัติ ไม่ควรตีตราว่าเผ่านั้นเผ่านี้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดแน่นอน เพราะเป็นเรื่องของตัวบุคคลมากกว่า และยังมีด้านดีๆ ของชนเผ่าอีกมากที่ไม่เคยถูกนำเสนอ”

พร้อมตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า “ถ้าน้องชัยภูมิไม่ได้เป็นคนที่สาธารณะรู้จักอย่างกว้างขวาง เราก็ไม่รู้ว่าเรื่องมันจะกลายเป็นยังไง เพราะก่อนหน้านี้เครือข่ายชนเผ่าฯ ก็ได้รับแจ้งในหลายๆ คดีว่ามีเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายชนเผ่า อย่างกรณีการหายตัวไปของบิลลี่ หรือกรณีของน้องจากชนเผ่าลีซู ที่ถูกกระทำจากด่านเดียวกัน ตอนนั้นทางญาติก็ได้ร้องเรียนไปที่ศูนย์ดำรงธรรมเชียงใหม่ และส่งเรื่องมาที่เครือข่ายชนเผ่าว่าอยากให้เข้ามาตรวจสอบ ซึ่งน้องๆ เหล่านั้นไม่ได้มีพื้นที่ทางสังคม ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ต่างจากน้องชัยภูมิที่ทำงานด้านสังคม และทำงานกับหลายๆ องค์กร ทำให้กรณีของชัยภูมิเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง”

นอกจากนี้วิไลลักษณ์ยังเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐออกแนวทางที่ชัดเจนในการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่สีแดง หรือจุดชายแดนต่างๆ เพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับทั้งเจ้าหน้าที่ และประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น

คำกล่าวอ้างจากฝั่งทหาร

ทั้งนี้ในวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา สำนักข่าว The MATTER ได้เผยแพร่บทความ “ไว้อาลัย ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ เด็กหนุ่มชาวเผ่าลาหู่ นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเรื่องบุคคลไร้สัญชาติ” ในเฟซบุ๊ก www.facebook.com/thematterco ซึ่งภายหลังมีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Nawin Jirapitisajja ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นโดยอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจดังกล่าว พร้อมเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการวิสามัญจากฝั่งเจ้าหน้าที่ทหาร

The Momentum จึงได้ทำการติดต่อผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวเพื่อขอสัมภาษณ์ โดยเบื้องต้น Nawin Jirapitisajja ปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ และไม่ขอระบุตัวตนโดยขอให้เจ้าหน้าที่ไปให้การทุกอย่างในชั้นศาล แต่ภายหลังกลับเปิดเผยข้อมูลกับ The Momentum ว่า ตนเองเป็นเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ที่ด่าน แต่ขณะเกิดเหตุเป็นช่วงที่ตนเองพักอยู่ แต่เมื่อเกิดเหตุจึงออกมาดูเหตุการณ์ และรับฟังเรื่องราวจากเพื่อนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่

โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นขณะที่เจ้าหน้าที่ต้องทำการถ่ายรูปขณะปฏิบัติหน้าที่เพื่อส่งงานกับผู้บังคับบัญชา ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่ชัยภูมิและเพื่อนขับรถผ่านมาพอดี เลยขออนุญาตตรวจค้นตามปกติ โดยขณะที่กำลังจะเปิดกระโปรงรถ น้องชัยภูมิเดินเข้ามาประชิดตัวเจ้าหน้าที่ และพอเจ้าหน้าที่จะเปิดที่กรองอากาศ น้องชัยภูมิบอกกับเจ้าหน้าที่ว่า “ไม่มีอะไรหรอกครับพี่” เจ้าหน้าที่ก็เลยเปิดดูจนพบของกลางเป็นยาเสพติดที่ถูกซุกซ่อนไว้ หลังจากนั้นเหตุการณ์จึงจบลงด้วยการต่อสู้ขัดขืนการจับกุม และเกิดการวิสามัญฆาตกรรมตามข่าวที่ปรากฏ นอกจากนี้ยังยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำเกินกว่าเหตุแน่นอน และเจ้าหน้าที่ก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่าชัยภูมิเป็นนักกิจกรรม

ผู้สื่อข่าว The Momentum ได้พยายามให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวระบุตัวตน แต่เจ้าตัวปฏิเสธ พร้อมให้เหตุผลว่ากังวลเรื่องความปลอดภัย เพราะจากการที่เคยโพสต์เรื่องนี้ในที่สาธารณะกลับมีคนในพื้นที่ละแวกนั้น add friend มามากมาย พร้อมกับขู่ว่าให้ระวังตัวเอาไว้ให้ดี ทั้งนี้ Nawin Jirapitisajja ได้ทำการส่งภาพเหตุการณ์ให้กับทีมข่าว The Momentum 3 ภาพ โดยอ้างว่าเป็นภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ส่งกันในกลุ่มตามปกติ

ขณะที่ข้อมูลจากพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ระบุว่า ก่อนหน้านี้เคยมีกรณีที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวชาวลาหู่ได้เดินทางไปที่ค่ายทหาร เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการทำร้ายร่างกายเด็กในชุมชน และสุดท้ายได้ถูกเจ้าหน้าที่สั่งฟ้องในความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ โดยเจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้กล่าวหาว่านักเคลื่อนไหวคนดังกล่าวนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทหาร แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรณีชัยภูมิโดยตรง แต่ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งที่ทำให้เกิดการใช้กำลังอาวุธในครั้งนี้

ล่าสุดคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่ามีมติรับกรณีชัยภูมิไว้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว โดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมาธิการด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ที่มีนายชาติชาย สุทธิกลม เป็นประธาน ติดตามกรณีที่เกิดขึ้นแล้ว และหลังจากนี้จะมีการเรียกเอกสารที่เกี่ยวข้อง ทั้งข้อมูลการจับกุม รวมถึงข้อมูลการชันสูตรศพมาตรวจสอบอีกครั้ง

ขณะที่หลากหลายองค์กรสิทธิมนุษยชนได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการดำเนินการสอบสวนกรณีดังกล่าวอย่างเป็นอิสระ และให้ความคุ้มครองพยาน ชาวบ้านในชุมชน และครอบครัวของผู้เสียหายจากการข่มขู่คุกคามใดๆ จากเจ้าหน้าที่รัฐด้วย

นักกิจกรรมที่ชื่อ ‘ชัยภูมิ’

จากข้อมูลของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่า ชาวลาหู่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีภาษาเฉพาะและอาศัยอยู่กระจายตัวทั้งในประเทศไทย จีน เวียดนาม เมียนมา และลาว โดยในประเทศไทยมีชาวลาหู่อยู่ประมาณ 150,000 คน ส่วนใหญ่ดำรงชีพเป็นเกษตรกรทางตอนเหนือของประเทศ

ส่วนชัยภูมิ ป่าแส หรือ ‘จะอุ๊’ เป็นนักเรียนอายุ 17 ปี ของโรงเรียนเชียงดาววิทยาคม โดยเขามักเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมและประเพณีของชาวลาหู่ รวมทั้งกิจกรรมของกลุ่มรักษ์ลาหู่และยังมีบทบาทในการจัดทำภาพยนตร์หลายชิ้นเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนและสังคมที่ส่งผลกระทบต่อชาวลาหู่ รวมทั้งประเด็นสภาวะไร้สัญชาติ ยาเสพติด และสิทธิในที่ดิน เขายังแต่งเพลงเกี่ยวกับปัญหาที่กระทบต่อชุมชนชาวลาหู่ และเป็นผู้นำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเต้นรำแบบพื้นเมืองชาวลาหู่

อีกทั้งชัยภูมิถูกสังหารเพียงไม่กี่วันหลังการเข้าร่วมงานแถลงข่าวเปิดโครงการ ‘เด็กและเยาวชนส่งเสียงเพื่อสื่อสารสังคม’ ที่จัดขึ้นโดยสถาบันเด็กและเยาวชน (สสย.)

ถึงวันนี้ดูเหมือนว่าจะยังไม่มีใครรู้ว่าเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร สิ่งที่ทำได้ในตอนนี้ก็คือการติดตามกระบวนการที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้อย่างใกล้ชิด และหวังว่ากรณีนี้จะไม่ใช่การ ‘ตายฟรี’ ในแบบที่เกิดขึ้นกับหลายๆ กรณีที่ผ่านมา

Photo: www.youtube.com/watch?v=mqo51Nisg94

อ้างอิง:

Tags: ,