หลังจาก กรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกาศจะยุติการให้บริการรถประจำทางด่วนพิเศษ (Bus Rapid Transit หรือ BRT) ลงในช่วงปลายเมษายนที่จะถึงนี้ ทำให้หลายฝ่ายโดยเฉพาะประชาชนต่างพากันแสดงความคิดเห็นทั้งบวกและลบ บางรายเริ่มลงชื่อในเว็บไซต์ Change.org สนับสนุนให้ขึ้นค่าโดยสารแทนการยกเลิก โดยมองถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ใช้งานประจำราว 25,000 คน

ทีมงาน The Momentum ได้สัมภาษณ์ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ฝ่ายโยธาและจราจร และ รศ. ดร.พนิต ภู่จินดา หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงความคิดเห็นในการปิด BRT ลงในครั้งนี้

บริการขนส่งมวลชนโดยภาครัฐต่างขาดทุน
แต่ก็ต้องเปิดให้ใช้บริการเพื่อพันธกิจสาธารณะที่ต้องมอบให้ประชาชน
โจทย์หลักที่แท้จริงจึงควรเป็นการบริหารให้ขาดทุนน้อยที่สุด

เดินต่อ เพิ่มค่าโดยสาร ปรับปรุงประสิทธิภาพ

ดร.สามารถ ยืนกรานสนับสนุนให้วิ่งรถ BRT ต่อไป โดยเน้นย้ำถึงกระแสที่มองปัญหาขาดทุน 500,000 บาทต่อวันว่า ต้องมองเทียบถึงขนส่งมวลชนตัวอื่นที่ขาดทุนด้วย อย่างเช่นรถไฟฟ้าสายสีม่วงสาหัสกว่าถึง 7 เท่า ในทางหนึ่งบริการขนส่งมวลชนโดยภาครัฐต่างขาดทุน แต่ก็ต้องเปิดให้ใช้บริการเพื่อพันธกิจสาธารณะที่ต้องมอบให้ประชาชน โจทย์หลักที่แท้จริงจึงควรเป็นการบริหารให้ขาดทุนน้อยที่สุด พร้อมกล่าวว่า นับตั้งแต่ตุลาคมที่ผ่านมา กทม. เริ่มเดินมาถูกทางแล้วหลังเพิ่มค่าโดยสารขึ้นหากมีการข้ามโซน เม็ดเงินก็ได้สูงขึ้น 27%

อดีตรองผู้ว่าฯ ชี้ถึงประสิทธิภาพในการบริการ BRT อีกว่า มีหลายอย่างที่สามารถพัฒนาเพื่อดึงดูดใจผู้ใช้งานได้อีก ไม่ว่าจะเป็นการปรับตั๋วให้สามารถใช้ได้กับรถไฟฟ้าอื่นๆ ติดตั้ง Wi-Fi และจัดแสดงตารางเวลารถ นอกจากนี้ควรมีมาตรการกวดขันจับกุมผู้ที่ฝ่าฝืนเข้าไปในช่องทาง BRT และอำนวยความสะดวกปรับสัญญาณไฟจราจรที่เอื้อต่อการบริการ BRT ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ยังเพิ่งส่งหนังสือให้ กทม. สอดรับต่อมาตรการนี้เองด้วย หาก กทม. ตัดสินที่จะรื้อที่กันเลนออกเพื่อเปิดเลนเพิ่ม ยิ่งทำให้มีการใช้รถส่วนตัวมากขึ้นก็ยิ่งติดมากขึ้น

ดร.สามารถ สรุปว่า เนื่องจากยังสามารถปรับปรุงได้อีก สามารถลดการขาดทุนได้ และมีฐานผู้โดยสารประมาณ 25,000 คนอยู่แล้ว

การตัดสินใจที่จะยุติโครงการลงจึงควรเป็นสิ่งสุดท้าย

การบริการ BRT ด้วยการปิดเลนหนึ่งๆ ตลอด 24 ชั่วโมง
ทำให้สภาพการจราจรมีปัญหาขึ้น ซ้ำยังไม่สามารถให้วิ่งบริการได้ตามกำหนด
ทำไมไม่ใช้การเปิดเลนทั้งหมดแล้วผลักดันรถเมล์มาแทนที่

ไม่ถูกหลัก ปิดเส้นทางสัญจร

อย่างไรก็ตาม รศ. ดร.พนิต ภู่จินดา จากภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง มองถึงหลักการว่า BRT ไม่ได้ถูกวางแผนขึ้นให้สอดรับต่อบริเวณพื้นที่ เพราะอันที่จริงแล้วการวางแผนสร้างขนส่งมวลชนจำเป็นต้องดูว่าพื้นที่นั้นๆ อยู่ในวงชั้นใด เป็นพื้นที่วงใน วงกลาง หรือวงนอก

สำหรับพื้นที่วงในที่ความหนาแน่นสูงก็ไม่ควรให้ผู้คนใช้รถส่วนตัวสัญจรเข้ามา จะต้องผลักขนส่งมวลชนขึ้นเป็นอันดับแรก ก่อนไล่ระดับความหนาแน่นออกมา โดยที่การบริการ BRT อยู่ในพื้นที่ลักษณะกลางกึ่งนอก แผนขนส่งแบบนี้ไม่ได้สอดรับกับพื้นที่ตั้งแต่แรก

“ผู้คนไม่สามารถไปขึ้น BRT ได้ก็จำเป็นต้องพึ่งพามอเตอร์ไซค์รับจ้างก่อนด้วยราคาที่ตก 40-50 บาท แล้วจึงต่อ BRT ที่ราคาไม่สูงนัก หรือต่อให้ฟรีก็ตามแต่ ประชาชนอาจต้องขึ้น BTS เพื่อสัญจรไปตามสถานที่ต่างๆ อีกด้วย ประเมินค่าใช้จ่ายที่ตกราว 5,000 บาท เงินในส่วนนี้หลายคนจึงอาจมองว่าเอาไปผ่อนรถดีกว่า”

นอกจากนี้ปัญหาที่เผชิญอยู่อย่างการวิ่งในเลนพิเศษทำให้ต้องลดเส้นทางจราจรรถอื่นๆ ไป ทำให้ถนนที่ยิ่งติดอยู่แล้วรุนแรงกว่าเดิม บางครั้งรถยนต์ทั่วไปเข้ามาวิ่งในเลน BRT จนทำให้รถไม่สามารถวิ่งได้ตามความเร็วที่ควรจะเป็น ถ้าเช่นนั้น การบริการ BRT ด้วยการปิดเลนหนึ่งๆ ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้สภาพการจราจรมีปัญหาขึ้น ซ้ำยังไม่สามารถให้วิ่งบริการได้ตามกำหนด ทำไมไม่ใช้การเปิดเลนทั้งหมดแล้วผลักดันรถเมล์มาแทนที่

ตามสถิติแล้วแม้ขนส่งมวลชนตัวนี้จะรองรับผู้ใช้งานราวๆ 25,000 คนต่อวัน แต่ รศ.พนิต เปิดเผยว่า มีคนใช้งานมากๆ ในช่วงเช้าและเย็นเท่านั้น กลางวันแทบไม่มีคน การปิดเส้นทางสัญจรตลอดเวลาเพื่อรับรองการใช้งานเพียงเท่านี้จึงไม่คุ้ม

หนึ่งในต้นเหตุของปัญหารถติด กทม. คือสัดส่วนถนน กทม. น้อยเกินไป

นอกเหนือไปจากประเด็น BRT แล้ว ทีมงานได้สอบถาม รศ. ดร.พนิต ถึงปัญหารถติดในกรุงเทพฯ เพิ่มเติม ซึ่งอาจารย์ชี้ปัญหาว่ามาจากบล็อกขนาดใหญ่ (Super Blog) โดยปกติแล้วเมืองหนึ่งๆ มีพื้นที่ 100% สัดส่วนของถนนควรอยู่ที่ 30% อย่างมหานครนิวยอร์กมีถึง 38% แต่ในขณะที่กรุงเทพมหานครมีเพียง 3.76% และหากจำเป็นต้องขยายสัดส่วนนี้ให้ถึงอย่างน้อย 10% บ้านเรือนทุกๆ หลังจำเป็นต้องสูญเสียพื้นที่ราว 30% ด้วย แต่ก็ไม่ใช่การแก้ปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้นเลย เพราะเพิ่งมีการเชื่อมต่อถนน 9 เส้นไป

“การสัญจรในเมืองแห่งนี้ทำให้ผู้คนต้องพึ่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูงขึ้น เพราะมันขึ้นได้เพียงหนึ่งคน แต่หากสนับสนุนให้นั่งรถสองแถวหรือรถกระป๋อง ก็จะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายและขนส่งผู้คนจำนวนมากขึ้นได้”

การแก้ปัญหาในตอนนี้ไม่ต่างจาก ‘เจ๊กตื่นไฟ’ ถ้าขนส่งมวลชนจำเป็นจริงๆ ต้องทำให้ทุกคนไม่ว่าจะยากดีมีจนก็จ่ายไหว ไม่ใช่ขึ้นทะเบียนคนจนเพื่อรับสิทธิฟรี แต่ควรทำให้ขนส่งมวลชนเข้าถึงได้ทุกระดับ ซึ่งทางแก้ในตอนนี้อาจารย์เสนอถึงแผนร่างเก็บภาษีแนวรถไฟฟ้าที่กระทรวงการคลังเพิ่งพูดถึง แล้วใช้เงินในส่วนนี้ชดเชยรายจ่ายของขนส่งมวลชน เพื่อให้ค่าโดยสารถูกลงในระดับหนึ่ง

อ้างอิง:

Tags: ,