Photo: Gus Ruelas, Reuters/profile

ในแต่ละปี มีเยาวชนกว่า 800,000 คน ในประเทศกำลังพัฒนาเสียชีวิตจากปัญหาห้องน้ำไม่สะอาดและสุขอนามัยที่ไม่ดี โดยสาเหตุหลักมาจากปัญหาห้องน้ำไม่เพียงพอ (เชื่อหรือไม่ว่าประชาชนกว่า 1 พันล้านคนยังไม่มีห้องน้ำ!) และห้องน้ำที่มีอยู่ก็ไม่สะอาด (เกือบ 3 พันล้านคนเผชิญกับปัญหาการกำจัดของเสียไม่ถูกสุขลักษณะ) ซึ่งนำไปสู่การปนเปื้อนของเชื้อโรคในอาหารและน้ำ จนก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ

บิล เกตส์ คือผู้ที่เล็งเห็นปัญหานี้มาตลอด เขาจึงพยายามสร้างห้องน้ำที่ดีขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อลดการเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากเชื้อโรคในน้ำและอาหาร แต่จากการเดินทางรอบโลกก็ทำให้เขาตระหนักว่า แม้จะมีห้องน้ำเพิ่มขึ้น ก็อาจไม่ใช่หนทางแก้ปัญหา เพราะถ้าห้องน้ำส่งกลิ่นเหม็นก็จะไม่มีใครเข้ามาใช้อยู่ดี

โครงการนี้จึงมาพร้อมกับวันห้องน้ำโลก ที่องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันที่ 19 พฤศจิกายน ของทุกปี เพื่อสร้างความตระหนักรู้ต่อปัญหาสาธารณสุขจากการขาดแคลนห้องน้ำ

น้ำหอมเฉพาะที่สั่งการให้สมองไม่รับรู้กลิ่นไม่พึงประสงค์

เราคงจะนึกภาพส้วมหลุมกันออก ที่แม้จะอยากเข้าห้องน้ำแค่ไหน แต่พอเจอสภาพห้องน้ำแบบนี้ เราก็อาจจะชะงัก เช่นเดียวกับหลายพื้นที่ในประเทศยากจนที่ห้องน้ำส่วนใหญ่เป็นส้วมหลุม ซึ่งจะส่งกลิ่นเหม็นอย่างรวดเร็ว และสุดท้ายก็จะไม่มีคนอยากเข้าไปปลดทุกข์ และไม่มีใครมาทำความสะอาด

“ผมเห็นห้องน้ำในประเทศยากจนมาว่าเป็นอย่างไร และผมก็ได้ใช้ห้องน้ำเหล่านั้นด้วย ซึ่งกลิ่นมันแย่มาก” บิล เกตส์ ให้สัมภาษณ์กับ Co.Exist “ผมจึงเล็งเห็นว่าเราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ในขณะที่เราก็ช่วยรัฐบาลของประเทศเหล่านี้สร้างห้องน้ำใหม่เพื่อให้พวกเขามีระบบสาธารณสุขที่ดีขึ้นไปด้วย”

บิล เกตส์ จึงปิ๊งไอเดียว่า เขาควรจะทำให้ห้องน้ำมีกลิ่นหอม เพื่อแก้ปัญหาคนไม่ยอมเข้าห้องน้ำ จึงตัดสินใจร่วมงานกับ Firmenich บริษัทผลิตน้ำหอมจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่ผลิตน้ำหอมมากว่า 120 ปี และยังเป็นผู้ช่วยผลิตน้ำหอม Hugo Boss, Ralph Lauren และสินค้าบำรุงผิวอีกมากมาย แต่คราวนี้การทำงานร่วมกันระหว่าง บิล เกตส์ และ Firmenich จะสร้างกลิ่นหอมด้วยวิธีที่ไม่เคยทำมาก่อน โดยศึกษาว่าโมเลกุลใดในห้องน้ำที่สร้างกลิ่นเหม็นบ้าง และกลิ่นใดที่ทำให้คนใช้ห้องน้ำรู้สึกเหม็น จากนั้นจึงออกแบบส่วนผสมของเคมีที่ดับกลิ่นเหม็นนั้น เพื่อให้ผู้ใช้ห้องน้ำไม่รับรู้ถึงกลิ่นไม่พึงประสงค์ดังกล่าว ซึ่งกลิ่นที่พวกเขาผลิตออกมาได้ มักจะมีกลิ่นผลไม้ ดอกไม้ หรือกลิ่นออกมะนาวและส้ม

Photo: Thomas Mukoya, Reuters/profile

การศึกษากลิ่นจากห้องน้ำทั่วโลกเพื่อให้ได้กลิ่นน้ำหอมที่ดีที่สุด

บิล เกตส์ เปรียบเทียบการใช้ทฤษฎีกลิ่นกับทฤษฎีที่ใช้กับที่อุดหู ที่จะสร้างคลื่นเสียงออกไปรอบๆ เพื่อดับเสียงรอบข้าง เช่นเดียวกับน้ำหอมดับกลิ่นในห้องน้ำนี้ ที่มันจะส่งกลิ่นที่ช่วยทำให้สมองของผู้ใช้ห้องน้ำไม่รับรู้ถึงกลิ่นไม่พึงประสงค์ดังกล่าว

บริษัท Firmenich ได้ทำการศึกษาในพื้นที่และเก็บตัวอย่างกลิ่นจากอินเดีย แอฟริกา สหรัฐอเมริกา และสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อหาว่าแบคทีเรียชนิดใดที่ส่งกลิ่นเหม็นในห้องน้ำ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า กลิ่นในห้องน้ำประกอบไปด้วยส่วนประกอบของสารเคมีมากกว่า 200 ชนิด แต่ไม่ใช่ทุกชนิดที่จะส่งกลิ่นเหม็น มีเพียงแค่ 4 ชนิดที่ส่งกลิ่นเหม็น คือ Indole กลิ่นที่มาจากอุจจาระ, p-Cresol กลิ่นเหมือนในโรงยุ้งข้าว, Dimethyl Trisulfide กลิ่นเหมือนกับในน้ำเน่าเสีย และ Butyric Acid กลิ่นอาเจียน หรือกลิ่นชีส

และในที่สุดห้องทดลองของบริษัท Firmenich ในเจนีวาก็ได้ส่วนผสมของสารเคมีที่ดับกลิ่น 4 ตัวนี้ได้สำเร็จ

“ผมได้กลิ่นดอกไม้แทนกลิ่นเหม็นที่ผมเคยได้กลิ่นก่อนหน้านี้” บิล เกตส์บอกหลังจากได้เข้าห้องน้ำที่ได้ฉีดน้ำหอมแล้ว

Photo: Mike Hutchings, Reuters/profile

เป้าหมายต่อไปคือการทำให้สเปรย์น้ำหอมถูกและซื้อได้ทั่วไป

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่บริษัท Firmenich ต้องแก้ต่อไปคือ การทำให้ราคาของสเปรย์น้ำหอมนี้มีราคาย่อมเยา และวางขายอย่างกว้างขวาง ซึ่งอาจจะทำออกมาในรูปแบบแป้งหรือยาดับกลิ่นแบบแขวน ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

“เป้าหมายของเราคือการทำงานช่วยคนจน และพวกเขาคือลูกค้าของเรา” ดูไลย์ โคเน (Doulaye Kone) ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการน้ำสะอาดและสุขอนามัยประจำมูลนิธิเกตส์ บอกถึงเป้าหมายของโครงการทำสเปรย์ดับกลิ่นครั้งนี้

ก่อนหน้านี้ บริษัท Firmenich ยังทำงานร่วมกับบริษัทสบู่ เผื่อผลิตสบู่ต้านแบคทีเรียในประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้บริษัทยังเป็นสมาชิกคณะร่วมมือเพื่อสร้างสุขลักษณะที่ดีของห้องน้ำ ที่มีบริษัท Unilever และบริษัท Kimberly-Clark รวมถึงรัฐบาลและหน่วยงานสาธารณสุขของหลายประเทศเป็นสมาชิกเช่นกัน Geneviève Berger หัวหน้าฝ่ายวิจัยของ Firmenich บอกว่า “มันไม่มีประโยชน์อะไร หากสิ่งที่เราผลิตไม่สามารถไปถึงคนส่วนใหญ่ที่จำเป็นต้องใช้มัน

“นี่เป็นสิ่งที่เราไม่เคยทำ เนื่องจากปัญหานี้แตกต่างจากปัญหาสาธารณสุขที่เราเคยจัดการ ซึ่งมันเป็นตัวอย่างการแก้ปัญหาที่ดีของเรา ที่เราพยายามจะเสนอทางออกของปัญหาหลายทาง ไม่ใช่แค่เพียงทางเดียว”

และมูลนิธิเกตส์ของเขากำลังใช้กลยุทธ์นี้กับปัญหาอื่นๆ อย่างไข้มาลาเรียที่ไม่เพียงแต่มอบมุ้งให้กับพื้นที่เสี่ยง แต่ยังสนับสนุนการวิจัยผลิตวัคซีนด้วย

บางทีบางปัญหาก็เป็นเพียงแค่เส้นผมบังภูเขา…