หลายครั้งที่เราเดินสวนกับกลุ่มนักธุรกิจผมทองบนถนนที่แสนจอแจในย่านสีลม หรือนั่งซดซุปกิมจิในร้านอาหารเกาหลีแถวอโศกที่อาจมีสาวเกาหลีเป็นเจ้าของร้าน จนเกิดเป็นความสงสัยว่า ‘ชาวต่างชาติ’ เหล่านี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร

นี่คือชาวต่างชาติ 3 คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ มานานหลายปี กับเรื่องราวและมุมมองของพวกเขาที่มีต่อเมืองหลวงอันแสนวุ่นวายที่ชื่อ ‘กรุงเทพมหานคร’

JOHN LINDGREN

บรรณาธิการอิสระ หนังสือพิมพ์ Pattaya Today, สวีเดน, อยู่เมืองไทยมาแล้ว 28 ปี

เรื่อง: พิมพ์อร นทกุล ภาพ: วงศกร ยี่ดวง

BANGKOK & I

“ผมมากรุงเทพฯ ครั้งแรกเพื่อทำงานให้กับบริษัทท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง คอยดูแลลูกค้าที่มาจากประเทศแถบสแกนดิเนเวีย มีกำหนดการที่ต้องอยู่กรุงเทพฯ 3 เดือน แล้วค่อยย้ายไปแอฟริกาใต้ แต่ผมเลือกจะอยู่ที่นี่ต่อ ส่วนหนึ่งก็เพราะผมได้เจอภรรยา

“กรุงเทพฯ ในยุค 80s น่าตื่นตาตื่นใจไม่เหมือนตอนนี้ สมัยนั้นยังไม่มีเครื่องแฟกซ์ ยังใช้โทรศัพท์มือหมุนโบราณอยู่เลย ห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ก็ยังไม่ก่อตั้ง จำได้ว่ามาบุญครองเพิ่งมาใหม่ๆ วันหยุดเราก็ไปเที่ยวย่านริมแม่น้ำบ้าง สวนลุมพินีบ้าง ถ้าอยากดูหนังก็มีโรงหนังใหญ่ๆ อย่างสกาลากับลิโด้ให้ดู

“แม้กรุงเทพฯ จะเป็นศูนย์รวมของเศรษฐกิจและเทคโนโลยี แต่กรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทย เพราะมันไม่มีอะไรบ่งบอกถึงวัฒนธรรมเลย แต่พอออกไปนอกกรุงเทพฯ สักหน่อย เราจะเริ่มเห็นความเป็นชนบท เห็นวัฒนธรรมชัดเจนขึ้น หรือไม่ต้องไปนอกเมืองก็ได้ ไปแถวริมแม่น้ำเจ้าพระยา แถวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เราก็จะเริ่มสัมผัสความเป็นไทยและความเป็นกรุงเทพฯ ที่แท้จริงได้ชัดเจนขึ้น

“สุดท้ายแล้วกรุงเทพฯ ก็ต้องการความเป็นไทย ส่วนประเทศไทยก็ต้องการความทันสมัยและความเป็นศูนย์กลางของกรุงเทพฯ ซึ่งทั้งสองต่างก็เกื้อหนุนกันไปอย่างสมดุล”

BANGKOK VS. STOCKHOLM

“กรุงเทพฯ กับสตอกโฮล์มดูเผินๆ แทบไม่มีอะไรเหมือนกันเลย อากาศก็ไม่เหมือนกัน หน้าตาผู้คนก็ไม่เหมือนกัน อาหารก็ต่างกัน คุณกินข้าว เรากินมันฝรั่ง คุณไม่กินขนมปัง เราชอบขนมปัง แต่สิ่งที่เหมือนกันคือจิตวิญญาณของคนรุ่นใหม่นี่แหละ เรามีสถาปนิกเก่งๆ คุณก็มีสถาปนิกเก่งๆ หรือคุณมีดีไซเนอร์รุ่นใหม่เจ๋งๆ เราก็มีเหมือนกัน อย่างแบรนด์ IKEA ที่คนไทยคุ้นเคยกันดี คุณต้องออกเสียงว่า ‘อิเกีย’ นะ อย่าออกว่า ‘ไอเกีย’ นั่นเป็นการออกเสียงแบบอเมริกัน” (หัวเราะ)

MY BANGKOK

“ ‘Never ending. Ever changing.’ คือคำนิยามความเป็นกรุงเทพฯ ที่ดีที่สุดสำหรับผม มันไม่เคยมีจุดสิ้นสุด และยังเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอด” (ยิ้ม)

ZOOEY KIM

คอลัมนิสต์ นิตยสาร Around, เกาหลีใต้, อยู่เมืองไทยมาแล้ว 5 ปี

เรื่อง: มิ่งขวัญ รัตนคช ภาพ: วงศกร ยี่ดวง

BANGKOK & I

“5 ปีก่อน ฉันปรารถนาที่จะไปลองใช้ชีวิตที่ต่างประเทศสัก 2-3 เดือน มิชชันนารีที่ฉันรู้จักแนะนำให้มาประเทศไทย ฉันจึงตัดสินใจมาโดยแทบจะไม่มีการเตรียมตัวพิเศษใดๆ ในตอนนั้นฉันมีแค่ตั๋วเครื่องบินไปกลับโซล-กรุงเทพฯ ระยะเวลา 3 เดือน แต่หลังจากอยู่ท่องเที่ยวจนครบกำหนดที่ต้องกลับ ฉันก็ตัดสินใจทิ้งตั๋วขากลับเกาหลี และเริ่มต้นอาศัยอยู่ในประเทศไทย

“คำพูดของ ฟรีดริช นิตเช ที่ฉันชอบมากคือ ‘ความคิดดีๆ มักเกิดขึ้นในระหว่างก้าวเดิน’ ฉันคนเก่าเมื่อ 5 ปีที่แล้วที่เกาหลี คือคนที่อยู่ในกฎเกณฑ์ และมักจะเชื่อในสิ่งที่คนเขาพูดกันว่าอันไหนถูกหรือผิดโดยไม่มีเงื่อนไข แต่เมื่อมาใช้ชีวิตที่นี่ ได้พบเจอผู้คนมากมาย ได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างจากคนไทย รวมถึงความช่วยเหลือที่มีให้เสมอ ทำให้ฉันเปิดใจและเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ตัวฉันเปลี่ยนแปลงไปมากจนฉันแทบไม่เชื่อตัวเองเหมือนกัน”

BANGKOK VS. SEOUL

“ชีวิตของฉันที่เกาหลีนั้นแสนวุ่นวายและยุ่งเหยิงด้วยการทำงานหนัก ฉันละทิ้งความวิตกเหล่านั้นไว้ที่เกาหลี เพื่อมาใช้ชีวิตที่นี่ ที่ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างที่ฉันพบเจอล้วนนำไปสู่การดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายที่สุด วัฒนธรรมอาหารการกินของเรายังคล้ายกันอย่างไม่น่าเชื่อ อาหารไทยและเกาหลีมีรสเผ็ดร้อนซ่อนเค็มเหมือนกัน โดยเฉพาะส้มตำที่รสชาติคล้ายกิมจิมาก จนฉันสามารถกินส้มตำแทนกิมจิได้เลย” (หัวเราะ)

MY BANGKOK

“ตลอด 5 ปีที่ฉันอาศัยอยู่ กรุงเทพฯ เปลี่ยนไปค่อนข้างมากทีเดียว โดยเฉพาะการก่อสร้างตึกสูงและห้างสรรพสินค้าที่ดูจะผุดขึ้นมาเรื่อยๆ จนฉันเริ่มเป็นห่วงว่ากรุงเทพฯ จะค่อยๆ กลายเป็น ‘Matchbox City’ หรือเมืองที่มีกล่องสี่เหลี่ยมมาเรียงต่อกัน ไม่มีชีวิตชีวาเหมือนที่โซลบ้านเกิดของฉัน”

GREGOIRE GLACHANT

บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร BK, ฝรั่งเศส, อยู่เมืองไทยมาแล้ว 12 ปี

เรื่อง: มิ่งขวัญ รัตนคช ภาพ: มณีนุช บุญเรือง

BANGKOK & I

“ช่วงแรกผมไปเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่จังหวัดภูเก็ต แต่หลังจากนั้น 2 ปีผมก็ค้นพบว่า ตัวเองไม่ได้ชอบการสอนภาษาอังกฤษขนาดนั้น (หัวเราะ) คือผมก็ชอบภูเก็ตนะ จากปารีสสู่เกาะสวรรค์ทางใต้ของไทย คงเป็นเหมือนฝันแน่ๆ แต่หลังจากที่ผมเห็นต้นมะพร้าวและชายหาดอุ่นๆ อยู่ร่วม 2 ปี ผมก็ตระหนักได้ว่า ผมคิดถึงการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ ผมจึงย้ายจากทางใต้มาใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ

“ในช่วงแรกของการอาศัยในกรุงเทพฯ นับเป็นการสร้างแรงผลักดันในการใช้ชีวิตได้ดีทีเดียว เพราะทุกอย่างเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่ล้วนดูน่าตื่นตาตื่นใจ จากนั้นผมก็เริ่มค้นพบว่าประเทศไทยมีความน่าสนใจกว่าฝรั่งเศสเสียอีก โดยเฉพาะรูปแบบความคิดแบบไทยๆ ที่เป็นเอกลักษณ์มาก”

BANGKOK VS. PARIS

“มองเผินๆ ชาวปารีเซียงจะมีความหยาบกว่าในเรื่องการใช้ภาษากายและรูปแบบการสื่อสารต่างๆ อย่างเมื่อคืนก่อน ผมนั่งอยู่ที่ร้านอาหารแล้วมีคนเปิดประตูร้านทิ้งไว้ ชายชาวฝรั่งเศสซึ่งนั่งอยู่ตรงนั้นก็ตะโกนขึ้นมาว่า “ประตู!” ซึ่งคนไทยจะไม่พูดจาห้วนๆ แบบคนฝรั่งเศสแน่นอน มีเรื่องตลกที่บางครั้งเพื่อนชาวไทยหรือแม้กระทั่งเพื่อนชาวเอเชียไปเที่ยวฝรั่งเศสแล้วกลับมาบ่นให้ฟังถึงความตรงไปตรงมาของคนฝรั่งเศส ซึ่งบางครั้งคนไทยจะรู้สึกว่ามันหยาบและห้วนไปหน่อย” (ยิ้ม)

MY BANGKOK

“ ‘FUNCTIONAL and DISFUNCTIONAL’ คือ คำจำกัดความกรุงเทพฯ ในความคิดของผม เพราะกรุงเทพฯ มีความย้อนแย้งในตัวเองสูงมาก แม้จะมีอะไรใหม่ๆ และสร้างสรรค์เกิดขึ้นทุกวันในเมืองแห่งนี้ แต่สำนักงานกรุงเทพมหานคร (BMA) กลับมีอยู่อย่างไร้ตัวตนในแง่การจัดการปัญหาต่างๆ ผมใช้ชีวิตอยู่ในเมืองที่ฝนตกเล็กน้อยก็ทำให้น้ำท่วมได้ ไหนจะทางด่วนและโครงสร้างต่างๆ ที่ถูกทิ้งร้างกระจายอยู่ทั่วเมือง ที่ผมว่าตลกมากคือ ตรอกซอกซอยต่างๆ บางซอยไม่เชื่อมต่อถึงกัน ทั้งๆ ที่ห่างกันไม่กี่เมตร (หัวเราะ) ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากนายกเทศมนตรีของนิวยอร์กหรือปารีสที่มีอำนาจมากพอที่จะจัดการและวางแผนการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้อย่างเป็นระบบ แต่เสน่ห์ของกรุงเทพฯ คือปัญหาบางอย่างกลับไม่ใช่อุปสรรคในการดำรงชีวิตของคนไทย นี่คือสิ่งที่ทำให้ชาวตะวันตกทึ่งครับ”