ตลอดทั้งเดือนที่ผ่านมา หากใครมีโอกาสได้ไปเดินตามห้างร้านต่างๆ ก็คงจะได้เห็นต้นไม้ประดับไฟ กล่องของขวัญ พวงหรีดช่อฮอลลี่แขวนประตู ลุงซานต้าพุงโย้ใส่ชุดแดงขาว เลื่อนเทียมกวางเรนเดียร์ เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าวันคริสต์มาสได้เวียนมาบรรจบอีกครั้งแล้ว

แต่นอกจากของประดับประดาเหล่านี้แล้ว ยังมีสัญลักษณ์วันคริสต์มาสอีกอย่างที่เราอาจไม่ได้เห็นบ่อยนักในเมืองไทย แต่เป็นที่รู้จักกันกว้างขวางและถือเป็นสัญลักษณ์ที่โรแมนติกสำหรับชาวตะวันตก นั่นก็คือช่อ mistletoe นั่นเอง

 

ธรรมเนียมการจูบ

หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนาม mistletoe (อ่านว่า มิสเซิลโท ตัว t ใน mistle ไม่ออกเสียง คล้ายกับในคำว่า castle และ fasten) จากเพลงของ Justin Bieber หรือเคยเห็นในภาพยนตร์ Harry Potter

 

ฟังเสียงคำว่า mistletoe >>>

พอถึงช่วงคริสต์มาส หลายคนจะแขวนช่อ mistletoe นี้ให้ห้อยลงมาจากบนเพดานในช่วง มีธรรมเนียมอยู่ว่าหากคนสองคนดันมาบังเอิญยืนใต้ช่อ mistletoe ด้วยกัน ฝ่ายหนึ่งมีสิทธิ์ขอจูบอีกฝ่ายได้ แต่ถ้าไม่ยอมให้จูบก็จะมีโชคร้ายมาเยือน เป็นการบังคับกลายๆ ว่าต้องยอมให้จุ๊บนั่นเอง (แนวคิดเรื่อง consent อาจยังไม่แพร่หลายเหมือนในปัจจุบัน)

บางที่ก็บอกว่า เมื่อจูบแล้วให้เด็ดลูก mistletoe จากช่อด้วยหนึ่งลูก ถ้าช่อไหนถูกเด็ดจนไม่เหลือลูก ก็จะถือว่าหมดพลัง คู่ต่อไปที่มายืนใต้ช่อนั้นก็ไม่จำเป็นต้องจูบกันแล้ว

 

กิ่งขี้

แม้ชื่อ mistletoe จะมีคำว่า toe ในชื่อ แต่ต้นไม้ชนิดนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับนิ้วเท้าแต่อย่างใด

คำว่า mistletoe นั้น มีที่มาจากภาษาอังกฤษเก่า มาจาก tan ที่แปลว่า กิ่งไม้ มารวมกับ mistel ที่บางสำนักบอกว่าเป็นชื่อของ mistletoe นี่แหละ แต่บางสำนักก็บอกว่า อันที่จริงแล้ว mistel เป็นคำ Angle-Saxon แปลว่า ขี้ รวมกันได้ความหมายว่า กิ่งขี้

ที่ขี้มาเกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์ที่แสนจะโรแมนติกนี้ได้ก็เพราะ mistletoe แพร่พันธุ์ด้วยการที่นกกินลูกเบอร์รี่จากต้น mistletoe แล้วบินไปขี้ทิ้งไว้ตามต้นไม้อื่น เมล็ดไปแหมะลงที่ต้นไหนก็จะไปงอกที่นั่น เป็นกาฝากดูดน้ำดูดสารอาหารจากต้นไม้ผู้เคราะห์ร้ายนั่นเอง

 

อาวุธฆาตกรรม

แม้ mistletoe จะเป็นสัญลักษณ์ของความรัก แต่ในตำนานนอร์สนั้น ต้น mistletoe ที่เป็นแค่กาฝากต้นกระท่อนกระแท่นดูไร้พิษสงกลับเคยถูกใช้เป็นอาวุธฆาตกรรมมาแล้ว

เรื่องราวมีอยู่ว่าเทพบอลเดอร์ (Balder) ซึ่งเป็นบุตรของเทพโอดิน (Odin) และเทพีฟริกก์ (Frigg) และเป็นพี่น้องกับธอร์ (Thor) อยู่ๆ ก็เริ่มฝันร้าย ในฝันเห็นวันโลกาวินาศ เห็นหมาป่ายักษ์กลืนกินพระอาทิตย์และพระจันทร์ ผู้คนมีแต่ความทุกข์ทรมาน พี่น้องเข่นฆ่ากันเอง จึงไปปรึกษาปวงเทพทั้งหลาย

เมื่อเทพโอดินได้ยินเข้า จึงควบม้าแปดขาคู่ใจออกเดินทางเก้าวันเก้าคืนไปยังหลุมศพของสตรีผู้ว่ากันว่าทำนายฝันได้ พอไปถึงก็เรียกวิญญาณขึ้นมาถามไถ่ ได้ความว่าบอลเดอร์กำลังจะหมดวาระบนโลกแล้ว

เมื่อได้ยินเช่นนั้น โอดินก็หนักใจ ควบม้าพร้อมข่าวร้ายกลับไปยังแอสการ์ด พอฟริกก์ผู้เป็นแม่ของบอลเดอร์ ได้ยินข่าวก็นึกขึ้นได้ว่า ถ้าลูกจะตายจริงก็เป็นเพราะต้องมีสิ่งเข้ามากล้ำกรายสิ พอนึกได้เช่นนั้นก็ออกเดินทางทั่วทุกสารทิศ ขอทุกสรรพสิ่งทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตให้สาบานว่าจะไม่ทำร้ายบอลเดอร์ ไม่ว่าจะเป็นนกน้อยไปจนถึงหมีตัวใหญ่ หรือแม้แต่ก้อนหินดินทรายหรือโรคภัยไข้เจ็บ ฟริกก์ก็ขอให้ให้คำมั่นทั้งหมด

เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว ทวยเทพจึงทดสอบ ลองโยนก้อนหินใส่บอลเดอร์ พอหินจะกระทบโดนตัวก็ไม่ระคาย โยนค้อนขวานอะไรใส่ก็กระดอนออกหมด ปวงเทพเห็นเช่นนั้นก็ดีใจ ฉลองกันยกใหญ่ว่าบอลเดอร์ ผู้เป็นที่รักของทวยเทพจะไม่เป็นอะไรแล้ว

มีอยู่คนเดียวที่ไม่ค่อยจะมีความสุขกับชาวบ้านเขา นั่นก็คือ โลกิ เทพแห่งความโกลาหล โลกิเห็นเช่นนี้ก็เลยแปลงกายเป็นหญิงแก่ หลอกถามฟริกก์ว่าแน่ใจแล้วนะว่าทุกสรรพสิ่งบนโลกสาบานแล้วครบถ้วน ฟริกก์รู้เท่าไม่ถึงการณ์เลยเผยไปว่า ไม่ได้ขอให้ mistletoe สาบาน เพราะเห็นเป็นแค่พืชกาฝากปวกเปียก คงทำอะไรบอลเดอร์ ไม่ได้อยู่แล้ว

โลกิได้ยินเช่นนั้นจึงไปนำ mistletoe มาเหลาเป็นลูกดอก แล้วนำไปให้โฮเดอร์ที่เป็นแฝดตาบอดของบอลเดอร์ แล้วบอกโฮเดอร์ว่า ที่ได้ยินเสียงปวงเทพเฮฮามีความสุขก็เพราะตอนนี้ทุกคนสนุกกับการเขวี้ยงอาวุธใส่บอลเดอร์ ที่ฟันแทงไม่เข้า โฮเดอร์ควรจะร่วมวงกับเขาบ้าง

ว่าแล้ว โลกิก็จับลูกดอก mistletoe ใส่มือโฮเดอร์ แล้วบอกทิศให้ขว้าง โฮเดอร์ก็ขว้างออกไปสุดกำลัง แต่แทนที่จะได้ยินเสียงคนโห่ร้องดีใจ กลับได้ยินเสียงกรีดร้องร่ำไห้ เพราะลูกดอกนั้นปักเข้าตรงหัวใจบอลเดอร์

บางตำนานเล่าต่อไปว่า พอฟริกก์เห็นบอลเดอร์สิ้นใจต่อหน้าก็ร้องไห้ น้ำตาหยดลงบนกิ่ง mistletoe กลายเป็นเม็ดเบอร์รี่สีขาว และทำให้บอลเดอร์ฟื้นคืนชีพ พอเห็นเช่นนั้นจึงประกาศให้ mistletoe เป็นสัญลักษณ์แห่งความรักและให้ผู้ที่ยืนใต้กิ่ง mistletoe ได้รับจุมพิตและแคล้วคลาดจากภยันตราย

นี่จึงเป็นที่มาของธรรมเนียมการจูบกันใต้ต้น mistletoe นั่นเอง

 

บรรณานุกรม
d’Aulaire, Ingri. D’Aulaires’ Book of Norse Myths. The New York Review of Books: New York, 1995.
Forsyth, Mark. The Etymologicon: A Circular Stroll Through the Hidden Connections of the English Language. Icon Books: London, 2011.
Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.
Gaiman, Neil. Norse Mythology. W.W. Norton & Company: New York, 2017.
Green, Roger Lancelyn. Myths of the Norsemen. Puffin Books: London, 2013.
Shipley, Joseph T. The Origins of English Words: A Discursive Dictionary of Indo-European Roots. John Hopkins University Press: Maryland, 1984.

Tags: , , , ,