นับว่าท็อปฟอร์ม ตอบยาก และถ้าตอบได้ปังก็จะปังมาก กับ 5 คำถามในรอบตัดสินของเวที Miss Universe 2018 ที่เห็นได้ชัดว่ากองประกวดโดย WME/IMG ตั้งใจเน้นไปที่ประเด็นสำคัญในสังคมโลกช่วงสองสามปีให้หลังมานี้ ตั้งแต่เรื่อง เสรีภาพสื่อ ประเด็นเกี่ยวกับผู้อพยพ กัญชา และเฟมินิสม์ ทั้งประเด็น #MeToo และ แนวคิดเรื่องการประกวดความงาม

“Why is freedom of the press important?” หรือ “เหตุใดเสรีภาพสื่อจึงสำคัญ” คำถามแรกนี้ตกเป็นของสาวงามจากเปอร์โต ริโก แน่นอนว่าเสรีภาพสื่อเป็นอีกประเด็นใหญ่ในปีนี้ อย่างที่นิตยสารไทม์ได้มอบตำแหน่งบุคคลแห่งปีให้กับบรรดาสื่อมวลชนที่พยายามสื่อสารความจริงและวิพากษ์ผู้มีอำนาจ จนถูกคุกคามถึงชีวิต และคำตอบของมิสเปอร์โต ริโก ก็คือ “อาชีพของพวกเขาคือรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลก พวกเขาจึงควรมีอิสระอย่างเต็มที่เพื่อบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงคืออะไร โดยไม่ลืมว่าพวกเขาควรมีความเห็นอกเห็นใจในมนุษย์ เพราะมีผู้คนมากมายที่ประสบปัญหาซึ่งแตกต่างกันบนโลกใบนี้”

“Do you think the #MeToo Movement has gone too far?” หรือ “คุณคิดว่า #MeToo มันไปไกลเกินเหตุแล้วไหม” คำถามได้ย้อนกลับไปตั้งคำถามถึงความเคลื่อนไหวที่จุดขึ้นด้วยมุมมองสตรีนิยม และภายหลังได้ส่งผลตีกลับ มีการวิจารณ์ว่าบางกรณีกลายเป็นการล่าแม่มดและเป็นเครื่องมือของผู้หญิงในการแสวงหาผลประโยชน์ โดยสาวงามจากเวียดนามตอบว่า “ฉันไม่คิดว่ามันไปไกลเกินเรื่อง การปกป้องผู้หญิงและสิทธิของพวกเธอเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ฉันหมายถึงผู้หญิงต้องการการปกป้องคุ้มครองและสิทธิ ขอบคุณค่ะ”

“What is your opinion on the legalization of marijuana?” หรือ “คุณคิดอย่างไรกับการทำให้กัญชาถูกกฎหมาย” ล่าสุดนี้แคนาดากับอุรุกวัยได้อนุญาตให้คนใช้กัญชาได้อย่างถูกกฎหมาย โดยมองมันในแง่ ‘ยารักษา’ เป็นสำคัญ ขณะที่อีกหลายประเทศยังจัดให้กัญชาเป็น ‘ยาเสพติด’ และเป็นข้อถกเถียงกันใหญ่ในสังคม คำถามนี้เป็นของมิสฟิลิปปินส์ ผู้ได้รับมงกุฎไปครอง ซึ่งเธอตอบว่า “ฉันสนับสนุนกัญชาในฐานะยารักษาโรค แต่ไม่สำหรับการใช้เพื่อความสำราญ แต่อันที่จริงถ้าคนจะถกเถียงกันเรื่องนี้ แล้วแอลกอฮอล์หรือบุหรี่ล่ะ? ฉันว่าทุกอย่างมันดีหมดถ้าใช้ในปริมาณที่พอดีค่ะ”

“Do you think countries should limit the number of refugees allowed across the borders?” หรือ “แต่ละประเทศควรจำกัดจำนวนผู้อพยพที่จะอพยพข้ามชายแดนหรือไม่” นี่น่าจะเป็นอีกหนึ่งคำถามสุดหิน โดยเฉพาะถ้าหวยออกที่สาวงามจากประเทศที่มีปัญหาเรื่องผู้อพยพนี้ด้วย และคำถามนี้ก็ตกเป็นของมิสแอฟริกาใต้ ที่แน่นอนว่าประสบปัญหานี้อยู่เช่นกัน คำตอบของเธอก็คือ “ทุกประเทศควรมีกฎข้อบังคับของตัวเอง แต่เพื่อสังคมที่เจริญก้าวหน้า เราทั้งหมดควรร่วมมือกัน เราควรเข้าใจว่าทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกัน เราควรเปิดกว้างพอที่จะรักกันและกัน ยอมรับกันและกัน มันไม่สำคัญหรอกว่าใครแต่ละคนมาจากไหน”

“What do you say to someone who believes pageants are archaic and against the feminist movement?” หรือ “คุณจะพูดอย่างไรกับคนที่มองว่าเวทีนางงามนั้นยืนอยู่ตรงข้ามกับเฟมินิสต์” นี่คือการเปิดโอกาสให้นางงามดีเฟนด์ตัวเอง และไม่ว่าเธอจะตอบอย่างไร เวทีก็ต้องการประกาศว่าพวกเขาเล็งเห็นคำถามข้อนี้เช่นกัน ซึ่งมิสเวเนซูเอลาก็ตอบว่า “ทุกวันนี้เราอยู่ในยุคที่ทุกอย่างเปิดกว้าง การประกวดนางงามไม่ใช่แค่เรื่องของความสวยความงาม แต่มันยังเกี่ยวกับความละเอียดอ่อนและการมีหัวใจ ในการประกวดเราสามารถแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงอย่างฉันเอง สามารถทำตามฝันแบบไหนก็ได้ที่เรามีบนโลกใบนี้”

สำหรับสามสาวงามที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ก็คือแคทรีโอนา เกรย์ มิสฟิลิปปินส์, ทามารีน กรีน มิสแอฟริกาใต้ และ สเธฟานี กูติเอเรซ มิสเวนาซูเอลา ซึ่งทั้งสามจะต้องตอบคำถามเดียวกันอีกครั้งหนึ่ง และคำถามนั้นก็คือ “อะไรคือบทเรียนที่สำคัญที่สุดในชีวิตคุณ และคุณใช้มันในการประกวดมิสยูนิเวิร์สอย่างไรบ้าง” นับเป็นคำถามที่ย้อนกลับมาสู่ ‘ความงามภายใน’ ของตัวนางงามเอง

มิสเวนาซูเอลาตอบว่า เธอเติบโตมาในครอบครัวที่เต็มไปด้วยผู้หญิงที่สอนกันว่าการทำงานหนัก รวมถึงความมุ่งมั่นและความแข็งแกร่งจะทำให้ฝันของพวกเธอสำเร็จ / มิสแอฟริกาใต้เล่าถึงการเห็นภาพความเหลื่อมล้ำมาตลอดชีวิต เธอยืนยันว่าทุกคนเท่าเทียมกัน ทุกคนต้องการความรัก ต้องการเป็นส่วนหนึ่ง และต้องการถูกมองเห็น ดังนั้นเราควรปฏิบัติต่อกันอย่างนั้น / ส่วนมิสฟิลิปปินส์เล่าถึงการทำงานเพื่อสังคมในสลัม เธอเล่าถึงการมองเห็นด้านสวยงามของทุกสิ่ง เช่นในสลัมที่ยากจนและแออัด เธอเห็นความงามในแววตาเด็กๆ และเธอก็จะนำมุมมองอย่างนั้นมาใช้ในการประกวด นั้นคือพยายามมองหา ‘silver lining’ ในเมฆหมอกทึมเทานั่นเอง

 

 

ที่มาภาพ: Lillian SUWANRUMPHA / AFP

ที่มา:

Tags: , , , ,