เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวว่า คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ออกมาแถลงเรียกร้องให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 600-700 บาทต่อวัน  ต่อมา ทั้งปลัดกระทรวงแรงงาน และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยนั้นแสดงความเห็นแย้งว่า อัตราค่าจ้างที่เสนอมาเป็นเรื่องที่ ‘เป็นไปไม่ได้’ ในขณะนี้ เพราะไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ ขณะที่ในโลกอินเทอร์เน็ต ข้อเสนอดังกล่าวก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง

ค่าจ้างขั้นต่ำคืออะไร?

โดยทั่วไปแล้ว ‘ค่าจ้างขั้นต่ำ’ หมายถึง ค่าจ้างต่ำสุดที่นายจ้างสามารถจ่ายให้แก่ลูกจ้างได้โดยไม่ขัดกับกฎหมายแรงงาน ในประเทศไทยนั้น ประกาศกระทรวงแรงงานนิยามว่า ค่าจ้างขั้นต่ำ “เป็นอัตราค่าจ้างที่เพียงพอสําหรับแรงงานเพื่อพัฒนาฝีมือ 1 คนให้สามารถดํารงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก่สภาพเศรษฐกิจและสังคม โดยมีมาตรฐานการครองชีพที่เหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น” ทั้งนี้ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทยนั้นไม่ได้มีแค่อัตราเดียว แต่มีหลายอัตราซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ปัจจุบัน อัตราค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดอยู่ที่ 310 บาทต่อวัน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ภูเก็ต สมุทรปราการ และสมุทรสาคร

ความเชื่อที่ว่า ค่าจ้างที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นเท่ากับการลดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ ความเชื่อเช่นนี้อาจจะถูกต้องในอดีต แต่อาจจะไม่เป็นจริงอีกแล้วในปัจจุบัน

 

ตามกฎหมายแรงงาน การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นคณะกรรมการสามฝ่าย อันประกอบด้วยกรรมการจากฝ่ายรัฐบาล ตัวแทนฝ่ายนายจ้าง และตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายละ 5 คน  โดยคณะกรรมการค่าจ้างจะพิจารณากำหนดค่าจ้างจากอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่น เช่น อัตราเงินเฟ้อ และผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ

การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่ผูกอยู่กับอัตราค่าจ้างเดิมเป็นหลัก ทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี ก่อนหน้า ‘นโยบายค่าจ้าง 300 บาท’ ในปี 2555 งานศึกษาบางชิ้นพบว่า ในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 นั้น การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำไม่ทันกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น กล่าวคือ แม้ว่าแรงงานจะได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น แต่ราคาข้าวของเครื่องใช้นั้นกลับเพิ่มขึ้นเร็วกว่า จึงทำให้อำนาจการซื้อของแรงงานลดลง นอกจากนี้ ค่าจ้างขั้นต่ำยังไม่ได้ปรับเพิ่มไปตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จากข้อมูลจะพบว่า ช่องว่างระหว่างอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกับผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัวนั้นกว้างขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหมายความว่าความเหลื่อมล้ำระหว่างแรงงานระดับล่างกับคนในสังคมโดยรวมกำลังเพิ่มสูงขึ้น

มีคำอธิบายจำนวนมากว่า ทำไมการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ผ่านมาจึงเป็นไปอย่างพอเพียงเท่านั้น คำอธิบายหลักๆ อยู่ที่โครงสร้างของคณะกรรมการค่าจ้างที่ไม่เอื้อต่อฝ่ายแรงงานซึ่งรวมตัวกันยากกว่า และมีอำนาจต่อรองน้อยกว่า ขณะที่คำอธิบายอีกชุดหนึ่งเห็นว่า การกดค่าจ้างขั้นต่ำนั้นเข้ากันดีกับการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยอาศัย ‘แรงงานราคาถูก’ เป็นเครื่องมือสำคัญ การกดค่าจ้างเกิดขึ้นบนความเชื่อที่ว่า ค่าจ้างที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นเท่ากับการลดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ส่งออก ความเชื่อเช่นนี้อาจจะถูกต้องในอดีต เมื่อประเทศยังเน้นการผลิตในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น แต่อาจจะไม่เป็นจริงอีกแล้วในปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อความได้เปรียบเรื่องค่าแรงราคาถูกหมดไปเพราะประเทศอื่นๆ เช่น จีน อินเดีย และเวียดนาม ล้วนมีค่าแรงถูกกว่าไทย.

ทางเดินที่คุ้นชิน: QWERTY

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตสามารถกำหนดทางเดินในชีวิตของคนเราได้อย่างน่าอัศจรรย์ และในหลายๆ ครั้งก็ทำให้การเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งอื่นที่อาจมีประสิทธิภาพมากกว่าเป็นไปได้ยาก นักสังคมศาสตร์บางกลุ่มเรียกสภาวะเช่นนี้ว่า ‘ทางเดินที่คุ้นชิน’ (path dependence) ตัวอย่างคลาสสิกของทางเดินที่คุ้นชินซึ่งหลายๆ คนคงรู้จักดีคือ QWERTY

QWERTY เป็นชื่อรูปแบบคีย์บอร์ดมาตรฐานที่ใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน โดยเรียกตามอักขระหกตัวที่เรียงกันอยู่ทางซ้ายมือแถวบนของแป้นพิมพ์ ก่อนหน้าการถือกำเนิดของ QWERTY นั้น การเรียงอักขระบนแป้นพิมพ์นั้นไม่ได้เป็นแบบที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ คีย์บอร์ดแบบ QWERTY ได้รับการคิดค้นขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1873 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ หรือความเร็วในการพิมพ์ โดยนายคริสโตเฟอร์ โชลส์ (Christopher Sholes) นักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน การพัฒนารูปแบบคีย์บอร์ดนี้เกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญของเครื่องพิมพ์ดีดในขณะนั้น ซึ่งก็คือ ก้านพิมพ์ขัดกันในขณะพิมพ์ นายโชลส์เชื่อว่า การเรียงอักขระแบบใหม่ (ในขณะนั้น) จะช่วยลดปัญหาก้านพิมพ์ขัดกัน และเมื่อก้านพิมพ์ขัดกันน้อยลงก็จะทำให้ผู้ใช้สามารถพิมพ์ได้เร็วขึ้น ในเวลาต่อมา คีย์บอร์ดแบบ QWERTY ก็ได้รับความนิยมแพร่หลาย และกลายเป็นคีย์บอร์ดมาตรฐานในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะไม่มีคีย์บอร์ดแบบอื่นๆ โผล่ขึ้นมาท้าทายคีย์บอร์ดแบบ QWERTY รูปแบบคีย์บอร์ดทางเลือกรูปแบบหนึ่งที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ Dvorak Simplified Keyboard (DSK) ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นโดย ดร.ออกัสต์ ดโวแร็ก (Dr.August Dvorak) นักจิตวิทยาการศึกษาชาวอเมริกันเมื่อปี ค.ศ. 1936  คีย์บอร์ดแบบ Dvorak มักถูกอ้างถึงในฐานะคีย์บอร์ดที่ทำให้ผู้ใช้พิมพ์สัมผัสได้เร็วขึ้น หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการพิมพ์  ดร.ดโวแร็ก ออกแบบการเรียงอักขระที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น การกำหนดให้ตัวอักษรที่ใช้บ่อยวางอยู่บนแป้นพิมพ์แถวกลาง ตัวอักษรที่เป็นพยัญชนะต้องพิมพ์ด้วยมือขวา ส่วนตัวอักษรที่เป็นสระพิมพ์ด้วยมือซ้าย เพื่อให้การพิมพ์เป็นจังหวะมากขึ้น และลดการพิมพ์ผิดลง อย่างไรก็ตาม คีย์บอร์ดรูปแบบนี้ไม่ได้รับความนิยมเท่ากับคีย์บอร์ดแบบ QWERTY ซึ่งแพร่หลายมาก่อนหน้า

โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ไปกว่า 150 รอบ ปัจจุบันคงมีคนจำนวนไม่มากนักที่ยังใช้เครื่องพิมพ์ดีดแบบเดิมอยู่ จากเครื่องพิมพ์ดีดเปลี่ยนไปเป็นเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้า เปลี่ยนไปเป็นคีย์บอร์ดที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ และเปลี่ยนไปเป็นคีย์บอร์ดบนหน้าจอแบบสัมผัส เมื่อเวลาผ่านไป เครื่องพิมพ์ดีดแบบมีก้านพิมพ์จึงล้าสมัย และการจัดการปัญหาเกี่ยวกับก้านพิมพ์ก็หมดความสำคัญลง  แต่ความคุ้นชินทำให้คีย์บอร์ดแบบ QWERTY ยังคงยืนหยัดอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง

ค่าจ้างเพื่อชีวิต: ออกจากทางเดินที่คุ้นชิน

การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำในไทยเกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 และเมื่อเวลาผ่านไปกว่าครึ่งศตวรรษ นโยบายเกี่ยวกับ ‘ค่าจ้างขั้นต่ำ’ และการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการส่งออกโดยอาศัย ‘แรงงานราคาถูก’ ก็กลายเป็นทางเดินที่คุ้นชินในสังคมไทย ประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับค่าจ้าง ไม่ว่าจะเป็นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่แท้จริง หรืออัตราค่าจ้างตามระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน รวมถึงปัญหาเรื่องแรงงานต่างด้าว ล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของค่าจ้างขั้นต่ำและแรงงานราคาถูกทั้งสิ้น ความคุ้นชินกับนโยบายเช่นนี้เป็นอุปสรรคแก่การเปิดพื้นที่ให้ข้อถกเถียงใหม่ๆ รวมถึงแนวคิดเรื่อง ‘ค่าจ้างเพื่อชีวิต’ (living wage)

‘ค่าจ้างเพื่อชีวิต’ เป็นแนวคิดที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่แรงงานที่ได้รับค่าจ้างในระดับต่ำสุด การยกระดับคุณภาพชีวิตนั้นหมายความว่า ค่าจ้างที่ได้รับต้องทำให้แรงงานสามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีระดับมาตรฐานการครองชีพที่อยู่ได้อย่างภาคภูมิใจ  ต่างจากค่าจ้างขั้นต่ำของไทยที่ทำให้แรงงาน 1 คนสามารถดํารงชีพอยู่ได้ตามสมควรเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจึงน้อยกว่าค่าจ้างเพื่อชีวิตมาก านศึกษาของ ปกป้อง และพรเทพ (2556) เสนอว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามหลักเกณฑ์ของค่าจ้างเพื่อชีวิต คือ 378 บาท สำหรับแรงงานและคู่สมรส 483 บาท สำหรับแรงงานคู่สมรสและบุตร 1 คน และ 588 บาท สำหรับแรงงานคู่สมรสและบุตร 2 คน ซึ่งใกล้เคียงกับข้อเสนอค่าจ้างขั้นต่ำของ คสรท. และ สรส.

‘ค่าจ้างเพื่อชีวิต’ เป็นแนวคิดที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่แรงงานที่ได้รับค่าจ้างในระดับต่ำสุด

 

แม้ว่าในปัจจุบันไทยจะก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับบนแล้ว แต่เมื่อดูจากอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะพบว่า ไทยอาจประสบปัญหาที่เรียกว่า ‘กับดักประเทศรายได้ปานกลาง’ (middle-income trap) กล่าวคือ เศรษฐกิจไทยกำลังโตน้อยลงเรื่อยๆ จนอาจทำให้ไม่สามารถพัฒนาขึ้นไปเป็นประเทศรายได้สูงได้ นอกจากนี้ ตัวชี้วัดด้านความเหลื่อมล้ำก็แทบไม่ดีขึ้นเลยเช่นกัน ดังนั้น โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่การริเริ่มนโยบายการพัฒนาใหม่ที่จะช่วยให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ นโยบายใหม่ที่ไม่ใช่การกดค่าแรงเพื่อเน้นการส่งออกและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบเดิมๆ ค่าจ้างเพื่อชีวิตอาจเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบ เพราะนอกจากจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำแล้ว ค่าจ้างเพื่อชีวิตยังจะช่วยเพิ่มอำนาจซื้อของแรงงาน ซึ่งหมายถึงการเพิ่มระดับการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ข้อเสนอที่หลายฝ่ายบอกว่า ‘เป็นไปไม่ได้’ อาจเป็นเพราะว่าเป็นข้อเสนอที่ขัดกับความคุ้นชิน  แน่นอนว่าในระยะสั้น การปรับเพิ่มค่าจ้างจะกระทบกับต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องไปถึงราคาสินค้าและบริการ แต่การใช้แรงงานราคาถูกไม่ใช่นโยบายค่าแรงที่ยั่งยืน ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัว และเร่งเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน ‘ค่าจ้างเพื่อชีวิต’ และ ‘แรงงานราคาแพง’ ไม่ได้อยู่บนทางเดินที่เราคุ้นชิน แต่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว

Tags: , , , , , , , , , , ,