สีชมพูเป็นสีที่ชวนให้นึกถึงความอ่อนหวาน ไม่ว่าจะเป็นสีชมพูซีดคารามายที่เห็นได้ในยุค 1950s ที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของสีพาสเทล หรือสีชมพู Hot Pink ในยุค 1980s ที่เต็มไปด้วยสีสัน แม้แต่ครึ่งแรกของยุค 1990s ก็ยังมีสีชมพูสดใสรวมอยู่

มาถึงยุคนี้ ไม่ว่าจะสีชมพูเฉดไหนก็คงต้องหลีกทางให้ ‘มิลเลนเนียลพิงค์’ (Millennial Pink) ที่ยังคงมาแรงอย่างต่อเนื่องนับแต่ปี 2014 เป็นต้นมา

มิลเลนเนียลพิงค์ คือสีอะไร?

สีมิลเลนเนียลพิงค์อาจเป็นสีชมพูที่อธิบายแบบเจาะจงได้ยาก เรียกว่าเป็นสีเบจที่เจือด้วยสีแดงเรื่อ เหมือนจะอยู่ตรงกลางระหว่างสีแอปริคอตกับเกรปฟรุ๊ต แต่ก็ไม่ใช่เสียทีเดียว ชื่อสีที่คนเรียกติดปากที่เข้าข่ายมิลเลนเนียลพิงค์มากที่สุด ก็คงจะเป็นสี Rose Gold หรือ Pale Dogwood

หรืออาจบอกว่า สีมิลเลนเนียลพิงค์ไม่ได้มีค่าสีมาตรฐานเดียวกันสำหรับทุกคน แต่ขึ้นกับความรู้สึกส่วนตัวพอสมควร

มิลเลนเนียลพิงค์ เริ่มต้นอย่างไร?

เราอาจจะไม่ค่อยได้เห็นการจับคู่ ชมพูฟ้า ในยุคหลัง 2000s อาจเพราะกระแสนิยมของมินิมอลลิสม์ และก็ไม่ได้มีการระบุแน่ชัดว่าการกลับมา (หรือการกำเนิด) ของสีชมพูในยุค 2010s นี้มาอย่างไร บ้างก็ว่าครั้งแรกที่สีชมพูถูกนำกลับมาใช้และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก คือจากหนังเรื่อง Grand Budapest Hotel ของผู้กำกับสุดเท่ เวส แอนเดอร์สัน

แอนเดอร์สันเป็นผู้กำกับที่คุมโทนของหนังแต่ละเรื่องได้เก่งกาจ เขาเลือกใช้สีที่น่าสนใจ หนังแต่ละเรื่องของเขาจะมีโทนสีที่ต่างกันค่อนข้างชัดเจน และเรื่อง Grand Budapest Hotel ก็มีธีมสีหลักคือชมพูควบคู่ไปกับฟ้าและม่วงที่แอนเดอร์สันทำได้อย่างสวยงามลงตัว พร้อมทั้งให้บรรยากาศและมุมมองใหม่ต่อสีชมพู จากที่เคยให้ความรู้สึกอ่อนหวาน กลายเป็นสีที่ดูมีจริตและร้ายลึก ซึ่งอาจจุดประกายเทรนด์คู่สีนี้ขึ้นมาก็เป็นได้

อีกจุดที่ทำให้สีมิลเลนเนียลพิงค์กลายเป็นที่จับตามองของคนทั้งโลก ก็คือการเปิดตัว iPhone สี Rose Gold ในปี 2015 ที่หลายคนสงสัยอยู่ในใจว่า ทำไมถึงเลือกสีชมพูมาเป็นตัวเลือกต่อจากสีขาวดำและเงิน แต่แน่นอนว่า iPhone สี Rose Gold กลายเป็นสีที่ทำให้หลายคนคลั่งไคล้และเลือกซื้อสมาร์ตโฟนสีนี้

ต่อมา สีชมพูก็เริ่มมีบทบาทในวงการแฟชั่นและอุตสาหกรรมมากขึ้น แม้บ้านเราจะได้รับอิทธิพลของสีชมพูนี้ค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับฝั่งตะวันตก แต่การที่บริษัทสี Pantone ประกาศให้สี Rose Quartz และ Serenity เป็น Color Of The Year ของปี 2016 ก็เป็นปรากฎการณ์ที่ทำให้ผู้คนและเหล่าดีไซเนอร์ตื่นตะลึงพอควร เพราะเป็นครั้งแรกที่มีสีประจำปีสองสี นำเสนอด้วยการไหลรวมกันระหว่างสีคู่ตรงข้ามโทนร้อนและเย็น ผลลัพธ์ก็ออกมาดูชื่นใจสบายตาตามความมุ่งหวังที่ต้องการให้เกิดการเชื่อมเข้าหากันของผู้คน ที่นำมาซึ่งความสุขสงบใจ

มิลเลนเนียลพิงค์ กับ โซเชียลมูฟเมนต์

หลังจากการเปิดตัวให้เป็นสีประจำปี 2016 สี Rose Quartz และ Serenity ก็แทรกซึมไปทุกหย่อมหญ้า การกลับมาเฉิดฉายอีกครั้งของสีชมพูยังมีนัยยะซ่อนอยู่ที่มากกว่าแค่อารมณ์ความรู้สึกที่สัมผัสผ่านการมองเห็น

การนำเสนอคู่สี Rose Quartz และ Serenity ให้เป็นสีประจำปี ถือเป็นการท้าทายและแหวกขนบเดิมที่เหล่าบริษัทสีเคยทำมา ผู้คนทั้งคาดหวังและคลางแคลงใจว่า สีแห่งปีนี้จะประสบความสำเร็จอย่างสีประจำปีก่อนๆ หรือไม่ ผลลัพธ์ก็คือในปี 2016 ห้างร้านต่างๆ เต็มไปด้วยคู่สีนี้ ยืนยันความสำเร็จของบริษัทสี Pantone ที่กล้าลุกขึ้นมาฉีกกฎเกณฑ์เดิมๆ ได้เป็นอย่างดี

ในขณะเดียวกัน ความหมายเบื้องหลังที่มากกว่าการฉีกขนบเดิมของบริษัทสี ก็คือสภาพสังคมที่กำลังตระหนักถึงเรื่อง gender blur หรือลักษณะเพศสภาพที่เข้ามาเหลื่อมทับกัน จากสมัยก่อน คนมักแบ่งแยกเสื้อผ้าชัดเจนระหว่างชายหญิง รวมไปถึงการเลือกใช้สี ที่สีชมพูแสดงถึงความเป็นเพศหญิงมากกว่า ส่วนสีฟ้าแสดงถึงเพศชาย แต่ทุกวันนี้ก็ไม่มีกฎเกณฑ์แล้วว่าผู้ชายจะหันมาใส่สีชมพูไม่ได้

สี Rose Quartz และ Serenity เกิดขึ้นเพื่อมารองรับกับทัศนคติและอุดมการณ์ของกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อความทัดเทียมทางเพศ (Gender Equality) รวมถึงการเลื่อนไหลทางเพศ (Gender Fluidity) ได้อย่างเหมาะเจาะ

หนุ่มสาวในยุคมิลเลนเนียลมีแนวโน้มที่จะใช้สีในการแสดงออกและนำสีมาใช้เป็นสัญลักษณ์แทนอุดมการณ์มากขึ้น ทั้งยังเป็นกลุ่มคนที่ไม่ค่อยกังวลกับการถูกเหมารวมหรือแปะป้าย ทำให้มีมุมมองเปิดกว้าง ต้อนรับข้อมูล และเปิดโอกาสใหม่ๆ ในการใช้สี นี่จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การหลอมรวมกันของ Rose Quartz และ Serenity ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม แถมทั้งสองสีก็ดูน่ารักและสดชื่นมากทีเดียว

สี Rose Quartz เป็นจุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์มิลเลนเนียลพิงค์ ที่ยังคงความหมายเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ กลายมาเป็นสีรวมเพศหรือเป็น androgenous โดยสมบูรณ์ แม้ไม่มองนัยที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง ตัวสีเองก็แสดงออกถึงความหมายได้เป็นอย่างดี ด้วยเฉดและโทนที่กลางๆ (neutral) ไม่ได้ดูฉูดฉาดหรือหวานจ๋อย ทำให้สีมิลเลนเนียลพิงค์ สามารถนำไปจับคู่กับสีอื่นได้หลากหลาย ไม่ว่าจะสีขาว ดำ เทา สีเงินหรือทอง

ความน่ารักแปลกใหม่ของสี มิลเลนเนียลพิงค์ เป็นที่ถูกตาต้องใจของสาวๆ แน่นอน แต่ที่มากไปกว่านั้นคือ ดูเหมือนว่าไม่ว่าเพศใดก็ให้การยอมรับสีมิลเลนเนียลพิงค์ มีเสื้อผ้า เครื่องใช้ ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้หญิงออกมาด้วยเช่นเดียวกัน และสีมิลเลนเนียลพิงค์ ทำให้ทุกคนรู้สึกสบายใจที่จะสวมใส่ หรืออยู่ในพื้นที่ที่แต่งแต้มด้วยสีนี้ พร้อมทั้งยังดูทันสมัยและมีเสน่ห์ดึงดูดควบคู่ไปด้วยกัน

ถึงแม้ว่าปรากฎการณ์สีมิลเลนเนียลพิงค์ อาจจะเริ่มซาลงไปแล้วบ้างในปี 2018 แต่เราก็ยังพบเห็นร้านคาเฟ่ แพ็คเกจผลิตภัณฑ์หรือเสื้อผ้าที่มีสีชมพูอยู่เรื่อยๆ น่าแปลกที่ว่า แม้จะผ่านมานานพอสมควรแล้ว สีมิลเลนเนียลพิงค์ ก็ยังดึงดูดผู้คนให้เข้าหาได้เป็นอย่างดี ยิ่งเป็นที่ย้ำเตือนว่า สังคมทั่วโลกในยุคมิลเลนเนียลยังคาดหวังและมุ่งตรงเข้าหาการรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่แบ่งแยกเพศ กลุ่มพรรคพวก ที่นำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

 

อ้างอิง:

  • https://www.pantone.com/color-of-the-year-2016
  • https://www.domain.com.au/living/androgynous-and-ironic-how-millennial-pink-came-to-define-a-generation-20170328-gv845x/

 

Fact Box

  • ในตอนแรกที่ยังไม่มีชื่อเรียกออกมาเป็นคำว่ามิลเลนเนียลพิงค์ หรืออาจจะไม่ได้เข้าใจตรงกัน บางทีจะเรียกกันว่าสีถุงช็อปปิ้งของแบรนด์ Acne Studio จากสต็อกโฮล์ม สวีเดน (ก่อตั้งในปี 1996) เพราะสีอัตลักษณ์ของแบรนด์นี้คือสีชมพูที่ใกล้เคียงสีมิลเลนเนียลพิงค์มากที่สุด
  • สีประจำปี 2018 ที่ประกาศโดยบริษัท Pantone คือสี Ultra Violet แม้ในบ้านเราอาจจะยังไม่ได้รับอิทธิพลของสีม่วงมากนัก แต่เทรนด์สีม่วง (และแดง) กำลังจะกลับมา และมีโอกาสที่จะกลบอิทธิพลของสีมิลเลนเนียลพิงค์ ไปได้พอสมควร
Tags: ,