ในรอบหลายปีมานี้ แทบไม่มีงานเขียนบทกวีร่วมสมัยเล่มใดจะได้รับความนิยมต่อเนื่องและท่วมท้นจากนักอ่านมากมายเท่า milk and honey อีกแล้ว

รูปี กอร์ (rupi kaur) นักประพันธ์ ศิลปิน และผู้ลี้ภัยชาวแคนาดาเชื้อสายอินเดีย วัย 24 ปี เริ่มใช้สื่อสมัยใหม่ในโซเชียลมีเดียสื่อสารความคิดผ่านงานเขียนและภาพวาด จนได้รับความนิยมอย่างสูง โดยเฉพาะอินสตาแกรมที่มีผู้ติดตามกว่า 3.3 ล้านคน ผลงานของรูปีสร้างวงกระเพื่อมให้แวดวงการเขียนและการอ่าน ถึงขั้นมีคำบัญญัติเรียกรูปแบบงานเขียนของรูปีว่า บทกวีอินสตาแกรม (Instapoetry / Instagram Poet) เลยทีเดียว

ผลงานของรูปี ได้รับการตีพิมพ์รวมเล่มในชื่อ milk and honey ว่าด้วยความรัก ความสูญเสีย ความบอบช้ำทางใจ การเยียวยา และความเป็นหญิง กลายเป็นหนังสือขายดีติดอันดับ The New York TIME Bestseller ตลอด 129 สัปดาห์ทันที และมียอดขายไปแล้วกว่า 1.5 ล้านเล่ม

รูปีเปรียบเปรยงานเขียนชิ้นนี้ไว้ว่า “นุ่มนวลดั่งน้ำนม และหนักแน่นราวน้ำผึ้ง” มาจากของเหลวทั้งสองชนิดนี้ที่สำคัญต่อวิถีชีวิตคนในบ้านเกิดของรูปี ซึ่งปรากฏอยู่ในตำรายาและคัมภีร์ศาสนามากมาย ในฐานะส่วนผสมของยาที่ช่วยรักษาบาดแผลและเยียวยามนุษย์

ขณะเดียวกัน หากอ่านจากมุมมองวิทยาศาสตร์ ของเหลวทั้งสองก็ได้ซ่อนอำนาจของผู้หญิงไว้ผ่านอุปลักษณ์อย่างน่าสนใจ กล่าวคือ น้ำผึ้งคือผลผลิตจากผึ้งงาน (ตัวผู้) ที่นำมาเลี้ยงนางพญาในรัง ส่วนน้ำนมนั้นคือผลิตผลทางชีวภาพที่ยังสิทธิ์แก่เพศผู้ให้กำเนิดเท่านั้นจะหลั่งรินออกมาได้

หนังสือแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ รวดร้าว (the hurting), หลงรัก (the loving), เลิกรา (the breaking) และ เยียวยา (the healing) ประกอบด้วย :

    รวดร้าว (the hurting)  บอกเล่าความรุนแรงทางเพศ การล่วงละเมิด การต่อสู้และโต้กลับการคุกคามที่เกิดขึ้นจากเพศชายซึ่งเป็นคนใครครอบครัว บทกวีที่เจือความขม เพราะพยายามส่องไฟไปที่มุมมืดของปัญหา อาจต้องฝืดฝืนอ่านเพื่อให้ผ่านไปได้อย่างยากเย็น

p.46

ฉันดูไม่ออกเลยว่าที่แท้

แม่หวาดหวั่นหรือรักพ่อกันแน่

มันแลดูเหมือนกันไปหมด

 

p.47

ฉันสะดุ้งเมื่อคุณถูกเนื้อต้องตัว

เพราะกลัวว่าจะเป็นเขา

    หลงรัก (the loving) แทนช่วงวัยที่ทุกคนเติบโตมา บทกวีอมหวานส่วนนี้ช่วยย้ำเตือนผู้คนที่มีคู่ทั้งหลายให้กลับมาทบทวน สืบหาเหตุผลของความรัก และชั่งน้ำหนักของการอยู่ร่วมกัน

p.69

คุณไม่ใช่รักแรกของฉัน

แต่คุณคือคนรักผู้บันดาลให้

ความรักครั้งก่อนๆ ไร้ความหมาย

 

p.71

คุณทำเช่นไรกัน

ไฟป่าลุกลามอย่างฉัน

จึงหลอมละลาย

กลายเป็นสายน้ำ

    เลิกรา (the breaking) หวนคืนสู่ด้านมืดอีกครั้ง รูปีเปิดบาดแผลสดของคนที่หัวใจสลาย พร้อมย้ำว่าการเลิกราคือเรื่องปกติของความสัมพันธ์ ประโยชน์อะไรจะยึดยื้อสิ่งที่จากไปแล้วให้กลับมา ถือเป็นบทกวีส่วนที่เศร้าที่สุด แต่ก็จริงที่สุด และเชื่อมโยงกับคนส่วนใหญ่ได้มากที่สุด

 

p.117

เป็นคนอารมณ์รุนแรงนั้นดี

ตรงที่เวลารักใคร ฉันจะพาเขาโบยบิน

แต่แท้จริงแล้ว

นั่นอาจไม่ใช่เรื่องน่าพิสมัยนัก

เพราะคนรักมักจากลา

และใครได้มาเห็นย่อมรู้ว่า

ยามร้าวรานใจ

ไม่เพียงเศร้าสลด

ฉันแหลกสลาย

 

p.134

ผู้คนจากไป

เป็นธรรมดา

แต่วิธีการจากลา

ยังคงอยู่มิรู้ลืม

    เยียวยา (the healing) เหมือนวัตถุประสงค์ของรูปีจะถ่ายเทน้ำหนักมาที่ส่วนนี้เกือบหมด บทกวีส่วนสุดท้ายนี้คล้ายจะโอบกอดผู้อ่านทุกคน โดยเฉพาะผู้หญิง เพื่อให้ลุกขึ้นมาโอบกอดตัวเอง เดินไปข้างหน้าอีกครั้ง ก้าวข้ามแผลในอดีต และเติมเต็มพลังชีวิตด้วยน้ำผึ้งและน้ำนมจากคนที่เคยผ่านประสบการณ์เดียวกัน

p.164

เราเกิดมา

อ่อนแอพอที่จะล้ม

เราก็ย่อม

เข้มแข็งพอที่จะลุก

 

p.194

เรารักตัวเองเช่นไร

เท่ากับสอนผู้อื่น

ให้รักเราเช่นนั้น

เอ็มม่า วัตสัน นักแสดงฮอลลีวูดที่มีจุดยืนต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี ให้สัมภาษณ์ ชื่นชมงานเขียนของรูปีว่าเป็นงานที่ดูเหมือนเข้าถึงง่าย (เพราะเจตนาไม่ปิดซ่อนความหมาย หรือใช้ความคลุมเครือเหมือนบทกวี) แต่เลือกจะปล่อยฮุกหมัดแก่ผู้อ่าน แต่หัวข้อที่ยกขึ้นมากลับไม่ใช่เรื่องที่ง่าย ในประเด็นที่มีความอ่อนไหว แต่จับใจคนทั่วโลก ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย การจะเข้าถึงปัญหาที่มีความซับซ้อนแบบนี้ ต้องอาศัยหัวใจที่กล้าและบ้าบิ่นมากพอเท่านั้น

แม้นักวิจารณ์จำนวนไม่น้อยจะมีความเห็นเชิงลบ ต่อสถานะของงานเขียนเล่มนี้ว่าไม่ใช่บทกวี เพียงเพราะ

งานเขียนและภาพลายเส้นของรูปี “เข้าถึงง่าย” (accessible) เพราะขาดความลุ่มลึก และชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ รูปีเคยโต้แย้งในประเด็นนี้ว่า เธอไม่เชื่อว่าภาษาเข้าใจยากเท่านั้นจะนำมาซึ่งความหมายที่ทรงพลัง การเขียนที่เรียบเรียงจาก “ประสบการณ์ตรง” ของเธอ ของแม่ ของยาย หรือของผู้หญิงอีกมากมายในครอบครัว ในหมู่บ้านสังคมอินเดีย ในทวีปเอเชียใต้ และในส่วนต่างๆ ของโลกนี้ต่างหาก ที่เชื่อมร้อยตัวเธอเข้ากับนักอ่านทั่วโลก

ในอีกมุมหนึ่ง คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร หากภาษาและท่าทีเรียบง่าย (simplicity) จะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ (new normal) ทางสุนทรียะของชาวเน็ต โดยเฉพาะเมื่อตัวบทกวีถ่ายทอดประเด็นที่มีความซับซ้อน (complexity) เปิดเปลือยความอ่อนไหวของผู้หญิงผ่านประสบการณ์ตรง ความเจ็บปวดทางกาย ความบอบช้ำทางใจ การจัดการตัวตนกับความต้องการของผู้ชายและแม้แต่ของตนเอง ความรุนแรงทางกายภาพ และทางวัฒนธรรมที่กดทับผู้หญิงทั่วโลกได้อย่างตรงไปตรงมา

เรื่องน่าเสียดายคือ การต่อสู้เชิงอัตลักษณ์ใน milk and honey หล่นหายไปหลังจากแปลข้ามภาษา ซึ่งเป็นเจตนาของรูปีที่ต้องการใช้ภาษาอังกฤษตัวพิมพ์เล็ก (lowerletter) ในการเขียนเท่านั้น ความคิดดังกล่าวเกิดจากการซึบซับภาษาปัญจาบี (punjabi) ภาษาแม่ของเธอ และพยายามถ่ายทอดหัวใจของภาษานี้ซึ่งไม่มีอักขระตัวใหญ่หรือเล็ก ทุกตัวเท่าเทียมกันอย่างเรียบง่าย เน้นความมีเอกภาพและสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา

การกระทำเล็กๆ น้อยๆ ผ่านการทำลายกฎเกณฑ์ไวยากรณ์ของภาษาอังกฤษนี้ ก็พึงพอใจแล้วสำหรับเธอและกลุ่มสตรีชาวปัญจาบ ผู้ลี้ภัยในโลกภาษาอังกฤษ ที่จะได้เขียนประวัติศาสตร์ของตัวตน ผ่านมรดกในงานเขียนของเธอเอง

แม้หนังสือ milk and honey จะไม่ใช่งานเขียนที่อ่านเพื่อเสพรสสัมผัสทางวรรณศิลป์ แต่ก็เป็นงานเขียนที่มีมิติการเมืองเรื่องเพศ สตรีนิยม และสร้างแรงกระเพื่อมแก่นักอ่านในโลกออนไลน์อย่างที่ไม่เคยมีบทกวีร่วมสมัยเล่มไหนทำได้มาก่อน ทั้งพลังการเชื่อมโยงผ่านแฮชแท็ก การรับรู้ของผู้คนผ่านเอนเกจเมนต์ (ไลก์ / คอมเมนต์ / แชร์) ยังไม่รวมจำนวนอิมเพรสชั่นที่จะปรากฏซ้ำไปอีกไม่รู้จบ

 

อ้างอิง

https://www.piqd.com/global-finds/emma-watson-s-interview-with-rupi-kaur

https://rupikaur.com/faq

Tags: , ,