เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2562 นายไมเคิล ปอมเปโอ (Michael Pompeo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐเมริกา กล่าวปาฐกถาและถามตอบคำถามอย่างสั้นในประเด็นด้านต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จุดยืนของรัฐบาลทรัมป์ต่อเอเชีย 

การเดินทางมาประเทศไทยครั้งนี้ ปอมเปโอเข้าร่วมประชุมระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และสหรัฐ วันที่ 1-3 สิงหาคมนี้ และนับเป็นการเดินทางมาไทยครั้งแรกในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

เอเชีย ยังคงเป็นยุทธศาสตร์สำหรับสหรัฐอเมริกา

ปอมเปโอกล่าวเริ่มต้นว่า ความสัมพันธ์ของไทยและสหรัฐอเมริกามีมาอย่างยาวนานถึง 2 ศตวรรษ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสานต่อไปยาวนาน โดยความสำคัญที่สุดคือเรื่องของความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ มีส่วนในการขับเคลื่อนความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจโดยตลอด ทั้งในไทยและเอเชีย ความสัมพันธ์เหล่านี้เริ่มต้นขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากที่ภูมิภาคนี้ต้องเจอกับความไม่มั่นคงทางด้านการเมืองและภูมิศาสตร์การเมืองมาตลอด เช่น การแยกตัวของสิงคโปร์และมาเลเซีย ความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวัน รวมถึงการหลุดออกจากอาณานิคมของอินเดียจากอังกฤษ 

เขากล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียสามารถเติบโตได้จนแข็งแกร่งในทางเศรษฐกิจ และเป็นฐานสำนักงานใหญ่ในภูมิภาคให้กับบริษัทต่างๆ ของสหรัฐอเมริกา ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้เพราะการค้าและเสรีภาพ และบทบาทของสหรัฐฯ ในการรักษาความมั่นคงทางทหารในภูมิภาค รวมถึงบทบาทในการลงทุนที่มีส่วนในการทำให้ภูมิภาคนี้เติบโต เขากล่าวว่าในท้ายที่สุดแล้ว การเติบโตที่มีรัฐเป็นผู้นำนั้น จะไปได้ถึงระดับหนึ่ง แต่ถ้ารัฐเลือกที่จะถอยออกมา (เพื่อเปิดให้กลไกตลาดและท้องถิ่นทำงาน- กองบรรณาธิการ) จะทำให้การเติบโตเกิดขึ้นได้ในระยะยาว และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคเติบโตได้ ด้วยแนวคิดเหล่านี้ทั้งสิ้น

รัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงยึดถือหลักการที่เขาเคยกล่าวในเวทีการประชุม Global Entrepreneurship Summit 2019 ที่เชื่อว่า หลักการนี้ ทั้งเรื่อง (1) ทรัพย์สินส่วนบุคคล (2) หลักนิติธรรม (Rule of Law) (3) ภาษีต่ำ และ (4) การควบคุมที่ต่ำที่สุดของรัฐบาล เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโต 

สิ่งเหล่านี้จะทำให้ประเทศในเอเชียเติบโตได้อย่างดีมาก และสหรัฐอเมริกาก็อยู่เคียงข้างการเจริญเติบโตเหล่านี้มาตลอด รวมถึงทั้งการลงทุนในมนุษย์ การลงทุนทางการเงิน ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งทำให้สหรัฐอเมริกามีบทบาทอย่างมากในภูมิภาคนี้ และไม่มีภูมิภาคไหนที่สหรัฐอเมริกามีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งเท่ากับเอเชีย และเงินของสหรัฐอเมริกาก็ฝังรากอยู่ในภูมิภาคนี้ เติบโตมาคู่กับความเจริญของภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง

ปอมเปโอกล่าวว่า กรณีของประเทศไทย อัตราความยากจนลดลงจาก 67% จากปี 1986 เหลือ 7.8% ในปี 2017 และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 21 ของโลก ซึ่งสหรัฐอเมริกาเล็งเห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านี้ และเชื่อว่าหลักการทั้งสี่จะทำให้ประเทศเติบโตขึ้น

ความเชื่อในหลักการทั้งสี่ ทำให้รัฐบาลของโดนัล ทรัมป์ ลงทุนในเรื่องของอำนาจอธิปไตย (sovereign) และความรุ่งเรืองในทุกประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงส่งเสริมและกระชับมิตรภาพให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เขาขอให้อย่าเชื่อคนที่พูดว่า สหรัฐอเมริกาไม่สนใจภูมิภาคเอเชีย ประธานาธิบดีทรัมป์เองส่งเสริมความร่วมมือกับภูมิภาคนี้มากยิ่งขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว และนี่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐบาลสนับสนุนร่างรัฐบัญญัติบิลด์ (BUILD Act) ที่สนับสนุนการให้องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร สามารถให้สินเชื่ออเนกประสงค์โดยใช้ที่อยู่อาศัยเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน (mortgage loans) เพื่อไม่แสวงหาผลกำไร และเพิ่มประสิทธิภาพในภาคการเงินของสหรัฐฯ

ไทย จีน และทิศทางที่จะดำเนินไป

รัฐบาลสหรัฐอเมริกาชื่นชมรัฐบาลไทยที่กลับสู่ประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ และเรายังเชื่อในสิทธิมนุษยชน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฮ่องกงล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เสียงของผู้อยู่ใต้ปกครองนั้นต้องได้ยินและถูกรับฟังเสมอ เขากล่าวย้ำว่ารัฐบาลสหรัฐฯ เชื่อว่าการค้าเสรีที่เท่าเทียมกัน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โลกเติบโตขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคนี้ซึ่งกำลังเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนในสิ่งเหล่านี้ก็เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ

เขาเรียกร้องให้ตั้งคำถามว่า ระหว่างการลงทุนของประเทศที่เคารพอำนาจอธิปไตย กับการลงทุนจากประเทศอื่นที่ไม่เคารพในประเด็นดังกล่าว ใครให้ผลที่ดีกว่ากัน การลงทุนที่เกิดจากภาคเอกชนกับบรรษัทที่มีรัฐสนับสนุน ใครก่อให้เกิดความรุ่งเรืองกว่ากัน และใครที่ส่งเสริมการพึ่งตัวเองกับการต้องพึ่งพาคนอื่น การส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีทางเลือก กับการติดกับดัก

ปอมเปโอกล่าวว่า เวลานี้ สหรัฐอเมริกามีระบบเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก ในขณะที่จีนกลับเติบโตได้ช้าที่สุด และการเปิดสงครามการค้ากับจีน ก็ทำให้โลกรวมถึงประเทศจีนเอง เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายในประเทศ รัฐบาลสหรัฐฯ มีความพยายามที่จะตกลงและให้ข้อพิพาททางการค้าเหล่านี้จบลงโดยเร็วที่สุด และสิ่งที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เรียกร้องมากที่สุดคือการแข่งขันที่เป็นธรรมของจีนในการแข่งกับตลาดโลก ซึ่งจะทำให้ทุกคนได้ประโยชน์มากที่สุด ภายใต้สมการและความเชื่อที่เราเชื่อมาโดยตลอด

เขากล่าวว่า เคยมีการวิเคราะห์โดยสหประชาชาติว่า ในปี 2020 เศรษฐกิจของเอเชียจะเติบโตอย่างมากเทียบเท่ากับส่วนอื่นๆ ของโลกรวมกัน และถือเป็นการเติบโตที่สำคัญมากตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา สิ่งนี้มาพร้อมกับการเติบโตของชนชั้นกลางในเอเชียที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก สหรัฐฯ เชื่อในการเติบโตนี้ และถึงเวลาที่เราต้องปกป้องการเติบโตนี้ด้วยการค้าขายที่เป็นธรรม มีเสรี และโปร่งใส พร้อมกับการลงทุนที่มีมาตรฐานสูงด้วย

สำหรับประเทศไทยที่มีเสรีภาพและเป็นเอกราชมาโดยตลอด สหรัฐฯ สนับสนุนการเติบโตของประเทศนี้มาอย่างต่อเนื่อง ในปี 1834 หมอบรัดเลย์ (Bradley) เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในฐานะส่วนหนึ่งของคณะธรรมทูตเผยแพร่ศาสนาจากสหรัฐอเมริกา สิ่งที่นำมาด้วยคือพัฒนาการทางการแพทย์จากโลกตะวันตก และนำเข้ามาสู่พระราชวัง ต่อมาก็ได้นำการพิมพ์ภาษาไทยเข้ามาและหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์ (Bangkok Recorder) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของประเทศ สิ่งที่หมอบรัดเลย์ทำ แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของสหรัฐอเมริกาที่ต้องการสร้างสิ่งยั่งยืนให้กับประเทศต่างๆ ที่สหรัฐอเมริกาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง และรัฐบาลนี้ก็เชื่อเช่นนั้นเหมือนกัน

จุดยืนไม่เปลี่ยนแปลง – การทูตและการค้าเป็นสิ่งคู่กัน

หลังจากการกล่าวปาฐกถาจบลง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าช่วงถาม-ตอบ กับทางสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) โดยมีรายละเอียดดังนี้

แม้รัฐบาลสหรัฐจะสนับสนุนการสร้างสัมพันธภาพและการส่งเสริมมิตรภาพกับเอเชีย แต่ท่าทีของประธานาธิบดีทรัมป์ที่จะขึ้นภาษีสินค้าจากประเทศจีนอีก 10% ผ่านทางทวิต ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? เกิดอะไรขึ้นในการเจรจาที่เกิดขึ้น?

ภาษีดังกล่าวจะเริ่มจัดเก็บในเดือนกันยายน เรายังเชื่อว่าประเทศจีนเอาเปรียบทางการค้ากับหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งจีนเคยตกลงกันได้ระดับหนึ่ง แต่เลือกที่จะล้มข้อตกลงเอง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับบริษัทแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่เกี่ยวข้องกับภาพรวมของการค้าที่ควรจะเป็น สิ่งที่เราทำคือการบอกว่า ประเทศอื่นควรทำในสิ่งที่อยากให้ประเทศอื่นทำ ไม่ใช่การเอาเปรียบ ถ้าเราสามารถหาข้อตกลงเหล่านี้ได้ เอเชียก็จะเติบโต แม้ราคาที่ต้องจ่ายอาจจะสูง แต่นั่นเป็นผลกระทบที่มาจากการเอาเปรียบนานนับทศวรรษของจีน

บริษัทที่จีนกว่า 170 แห่ง เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นการส่งข้อความที่ผิดหรือไม่ให้กับบริษัทเหล่านี้ ที่สนใจในการลงทุนในสหรัฐอเมริกา?

เรายินดีสำหรับการลงทุนที่จะเข้ามาในสหรัฐอเมริกา สิ่งที่เราสนใจคือการลงทุนที่เป็นธรรมกับภาคเอกชนของสหรัฐอเมริกา และในเวลาเดียวกัน การลงทุนนั้นจะต้องไม่เป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาด้วย ซึ่งนั่นก็เป็นมาตรฐานขั้นต่ำของทุกประเทศทั่วโลก เราเปิดกว้างกับการลงทุนที่ยึดตามหลักการที่เรายึดถือ และไม่มีแรงผลักดันในทางการเมืองคอยสนับสนุน

ปัญหาทั้งหมดเกิดจากการที่สหรัฐอเมริกา มองจีนผิดไปหรือไม่ ทั้งที่จีนเองก็พัฒนามามากกว่าที่จะเป็น?

ผมไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไร แต่เมื่อหลายวันก่อนผมได้เจอ ดร.คิสซิงเจอร์ (Kissinger – นักการทูตและนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศชื่อดัง) ในโอกาสฉลองครบรอบ 230 ปีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ผมบอกกับคิสซิงเจอร์ว่า สิ่งที่เขาคาดว่าจีนจะเปิดกว้างในทางเศรษฐกิจนั้นยังไม่เกิดขึ้น และนั่นคือสิ่งที่เราพยายามจะทำให้เกิดขึ้น

ถ้าจีนจะต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อแก้ไขปัญหาทางการค้าที่กำลังเกิดขึ้น สิ่งแรกที่ท่านจะแนะนำคืออะไร?

ผมไม่ใช่คนที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง อย่างไรก็ตามตอนนี้มีข้อตกลงที่ดีแล้ว และจีนควรที่จะกลับมาทำตามกรอบเจรจาที่ได้ตกลงกันไว้ก่อนหน้า

ท่านได้พูดถึงกรณีของฮ่องกงระหว่างการปาฐกถา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความจำเป็นของรัฐบาลฮ่องกงที่จะต้องฟังเสียงประชาชน แต่ในตอนนี้ที่ทางการจีนเตรียมทหารเอาไว้ริมชายแดนแล้ว จะทำอย่างไรดี?

อย่างที่ท่านประธานาธิบดีทรัมป์ได้กล่าวไปแล้ว ขอให้ทางการจีนกระทำการในสิ่งที่ถูกต้อง สหรัฐอเมริกาเชื่อในสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ดังนั้นแล้ว ในจีนก็ต้องเป็นแบบนั้นเช่นกัน และขอให้ไม่ใช้ความรุนแรง ดำเนินไปในทางที่สร้างสรรค์ไม่ว่าจะฝ่ายสนับสนุนหรือค้าน แต่เราจะยังไม่มีความเห็นว่าเราจะเข้าไปมีส่วนในเหตุการณ์นี้หรือไม่

ในกรณีเกาหลีเหนือ ท่านประธานาธิบดีทรัมป์มีบทบาทอย่างมาก จนถึงขั้นออกคำเชิญอย่างไม่เป็นทางการให้ประธานาธิบดีของเกาหลีเหนือเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา แต่ขณะที่ท่านเดินทางมา เกาหลีเหนือกับทดลองมิสไซล์ต่างๆ ท่านคิดยังไงบ้าง?

ผมกำลังคิดว่าท่านอาจจะประเมินสถานการณ์ผิดไป การพบกันระหว่างท่านประธานาธิบดีทรัมป์และประธานาธิบดีเกาหลีเหนือ เป็นเรื่องของทางการทูตเพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุดในสิ่งที่พยายามทำกันมาอย่างยาวนาน เรายังหวังว่าทางเกาหลีเหนือจะกลับมาเจรจากับเรา และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเองก็มีมาตรการกำกับและควบคุมที่เข้มงวดมากสำหรับมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ เพื่อทำให้ทุกอย่างดำเนินไปในแนวทางที่ควรจะเป็น ซึ่งรวมถึงการยุติการพัฒนานิวเคลียร์ในท้ายที่สุด ซึ่งทั้งเราและชาติอื่นๆ กำลังพยายามอย่างเต็มที่ในการเจรจากับเกาหลีเหนือ ผมเองอยากคุยกับเกาหลีเหนือในการเดินทางมาประชุมอาเซียนในครั้งนี้ จีนเองก็มีส่วนอย่างมากในประเด็นนี้ ผมมีโอกาสคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนในประเด็นนี้ด้วย และก็เน้นย้ำถึงจุดยืนทางการทูตที่มีต่อประเด็นเกาหลีเหนือ

กรณีของอิหร่านที่สหรัฐพยายามจัดการอยู่ โดยเฉพาะการคว่ำบาตร แต่ประเทศในเอเชียหลายประเทศยังมีความสัมพันธ์ที่ดี เราทำอะไรไปบ้าง?

รัฐบาลสหรัฐฯ ติดตามเรื่องนี้มาตลอด และการคว่ำบาตรก็สามารถใช้ได้ตลอด ซึ่งในปัจจุบันเราก็คว่ำบาตรประเทศที่มีความสัมพันธ์กับอิหร่านอย่างชัดเจน เช่น บริษัทแห่งหนึ่งในจีนถูกประกาศคว่ำบาตรจากทางการสหรัฐฯ สิ่งที่เราพยายามทำคือการบ่งชี้ว่า รัฐบาลสหรัฐจะไม่นิ่งเฉยกับความพยายามของอิหร่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดหาทรัพยากรเพื่อเสริมประสิทธิภาพด้านนิวเคลียร์

 

ที่มาภาพเปิดบทความ: Jonathan Ernst/REUTERS

 

หมายเหตุ: ทางกองบรรณาธิการขออภัยในข้อผิดพลาด โดยแก้ไขชื่อบทความจาก “ปาฐกถา ‘ไมค์ ปอมเปโอ’ รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ เชื่อไทยกลับสู่ประชาธิปไตยเต็มที่” เป็น “ปาฐกถา ‘ไมค์ ปอมเปโอ’ รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ เชื่อไทยกลับสู่ประชาธิปไตย” เมื่อเวลา 21.29 น. ของวันที่ 4 สิงหาคม 2562

Fact Box

ไมเคิล ปอมเปโอ (Michael Pompeo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐเมริกา เดินทางมาประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมประชุมระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และสหรัฐ วันที่ 1-3 สิงหาคม 2562

Tags: , , ,