มหาเศรษฐีอย่าง ‘จอร์จ โซรอส’ ดูจะแย่งซีน โดนัลด์ ทรัมป์ ไปได้สำเร็จ จากปาฐกถาที่เขาพูดที่ดาวอสเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว แถมยังเปิดแผลเหวอะที่ยักษ์ใหญ่ไอทีอย่างกูเกิลและเฟซบุ๊กสร้างไว้กับสังคมโลก

ในมื้ออาหารเย็นของการประชุมเวิลด์อีโคโนมิกฟอรั่ม ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา (25 ม.ค.) ‘จอร์จ โซรอส’ มหาเศรษฐีสหรัฐฯ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิโอเพนโซไซตี้ กล่าวปาฐกถาวิพากษ์ผู้นำโลกอย่างวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย และโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ

“นี่เป็นช่วงเวลาที่น่าเจ็บปวดในประวัติศาสตร์” เขากล่าวว่าโลกนี้มีเผด็จการและรัฐมาเฟียหลายรูปแบบ และรัฐบาลแบบทรัมป์จะเป็นอันตรายต่อโลกนี้

“แต่ผมเห็นว่ามันจะเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราวที่จะหายไปภายในปี 2020 หรืออาจจะก่อนหน้านั้น” เขายังมองแง่ดีว่าประชาธิปไตยจะได้ชัยชนะถล่มทลายในการเลือกตั้งกลางเทอมในปี 2018

“ในสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีทรัมป์ก็อยากจะสร้างรัฐมาเฟีย แต่เขาทำไม่ได้หรอก เพราะสถาบันต่างๆ รัฐธรรมนูญ และภาคประชาสังคมที่ตื่นตัว จะไม่ยอมให้เป็นแบบนั้น”

โซรอสยังแสดงความกังวลถึงภัยใหญ่ๆ ของโลก เช่น สงครามนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และประเด็นสำคัญที่เขาย้ำคือปัญหาที่มาจากพฤติกรรมการผูกขาดของยักษ์ใหญ่วงการไอทีอย่างกูเกิลและเฟซบุ๊ก เขาบอกว่า ปัญหานี้จะส่งผลกระทบต่อสังคมนานยิ่งกว่าปัญหาทรัมป์เสียอีก

เขากล่าวถึงอำนาจที่ไร้การตรวจสอบของกูเกิ้ลและเฟซบุ๊ก ซึ่งโซรอสเรียกว่าเป็นอำนาจอันมหึมา (monolithic power) ที่ใช้โน้มน้าวและล่อลวงผู้บริโภค ผลสุดท้ายก็คือการควบคุมแบบเบ็ดเสร็จ

“บริษัทเหล่านี้ชอบถือบทว่าตัวเองมีนวัตกรรมและจะปลดแอกจากกฎเกณฑ์ แต่ยิ่งเฟซบุ๊กและกูเกิลมีอำนาจผูกขาดมากขึ้นเท่าไร ตัวมันเองจะกลายมาเป็นอุปสรรคต่อนวัตกรรม และเป็นต้นเหตุของปัญหามากมาย ที่ตอนนี้เราเพิ่งเริ่มจะรู้สึก”

“บริษัทต่างๆ ทำกำไรจากการทำลายสิ่งแวดล้อมของตัวเอง ธุรกิจเหมืองและน้ำมันทำลายสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ส่วนบริษัทโซเชียลมีเดียก็ทำลายสภาพแวดล้อมในสังคม นี่เป็นความเลวร้ายเพราะโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อความคิดและการกระทำโดยที่ผู้คนไม่ทันได้ตระหนัก และยังส่งผลด้านกลับต่อการทำงานของระบอบประชาธิปไตยไปอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องหลักการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง”

ชายชรามหาเศรษฐีูผู้ผันตัวมาทำงานการกุศลกล่าวว่า เฟซบุ๊กและกูเกิลครอบครองรายได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้โฆษณาบนอินเทอร์เน็ตทั่วโลก เพื่อให้ยังได้เป็นผู้นำในตลาด แพลตฟอร์มทั้งสองก็ต้องขยายครือข่าย แย่งความสนใจจากผู้ใช้ ที่ในตอนนี้ก็ทำโดยการให้ผู้ใช้ได้ใช้แพลตฟอร์มที่สะดวก ยิ่งผู้ใช้ใช้มากเท่าไร ก็ยิ่งเพิ่มมูลค่าให้แก่บริษัท

ส่วนผู้ให้บริการเนื้อหา หรือ content providers ก็ต้องไปช่วยสร้างรายได้ให้บริษัทเหล่านี้ เพราะไม่สามารถปฏิเสธที่จะไม่ใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้ได้ แถมยังต้องยอมรับเงื่อนไขใดๆ ก็ตามที่แพลตฟอร์มกำหนด

กำไรมหาศาลที่กูเกิลและเฟซบุ๊กได้รับ ส่วนใหญ่ก็มาจากทั้งการหลบเลี่ยงความรับผิดต่อเนื้อหาใดๆ และหลีกเลี่ยงที่จะจ่ายค่าเนื้อหาที่อยู่บนแพลตฟอร์มของตัวเอง

โซรอสกล่าวด้วยว่า กูเกิลและเฟซบุ๊กชอบอ้างว่าตัวเองไม่ได้เป็นผู้เผยแพร่ข้อมูล แต่ในความเป็นจริงคือ ตัวเองแทบจะเป็นเหมือนสายส่งที่ผูกขาด ซึ่งที่จริงก็ควรจัดตัวเองว่าเป็นบริการสาธารณูปโภคที่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน นวัตกรรม และการเข้าถึงที่เป็นธรรมและเปิดกว้าง

“บริษัทโซเชียลมีเดียเหล่านี้วางแผนอย่างแยบยลเพื่อให้คนเสพติดบริการ ดูแล้วก็ บริษัทไอทีเหล่านี้ก็คล้ายคาสิโน ที่พัฒนาเทคนิคเพื่อให้เหล่านักพนันจะลงเงินมาเรื่อยๆ แม้จะไม่มีเงินเหลือแล้ว” โซรอสกล่าว

เขาเสริมว่า บริษัทโซเชียลมีเดียยังทำให้ผู้คนยอมละทิ้งอิสรภาพ ทั้งที่มันเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความพยายามอย่างมากที่จะยืนยันและปกป้องในสิ่งที่ จอห์น สจ๊วต มิลล์ เรียกว่า ‘The Freedom of mind’ หรือ เสรีภาพทางใจ ที่ถ้าเสียไปแล้ว – โดยเฉพาะในเด็กรุ่นใหม่ที่โตมาในยุคดิจิทัล – ก็ยากจะเรียกกลับคืน นี่อาจสร้างผลกระทบทางการเมือง เพราะผู้คนที่ไม่มีเสรีภาพทางใจก็ง่ายแก่การถูกชักจูง

น่าสนใจด้วยว่ามหาเศรษฐีนักการเงิน พูดถึงเงินสกุลดิจิทัล เขาเห็นว่า มันเป็นฟองสบู่ มูลค่าก็ไม่เสถียร แต่โซรอสไม่คิดว่ามันจะพัง เพราะระบบอำนาจนิยมทั่วโลกก็หันมาใช้เงินสกุลนี้

“ตราบที่เผด็จการกำลังขาขึ้น มันก็มีจุดจบที่ต่างออกไป เพราะผู้คุมกฎในประเทศต่างๆ จะหันไปใช้บิทคอยน์เพื่อสร้างทรัพย์สินในต่างแดน” โซรอสกล่าว

อย่างไรก็ดี โซรอสมองเทคโนโลยีบล็อคเชนในแง่ดี ซึ่งมูลนิธิโอเพนโซไซตี ก็ใช้เทคโนโลยีนี้มาช่วยเหลือผู้อพยพด้วย

สำหรับ จอร์จ โซรอส อายุ 87 ปี เป็นนักการเงินและมหาเศรษฐีสหรัฐฯ เชื้อสายฮังการี เขาถูกขนานนามว่าเป็นพ่อมดการเงิน และถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โจมตีค่าเงินบาทและเงินหลายสกุล จนเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตต้มยำกุ้ง อีกด้านหนึ่ง เขาเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิโอเพนโซไซตีที่ให้ทุนสนับสนุนการทำงานด้านประชาธิปไตยแก่องค์กรจำนวนมากในหลายประเทศ

 

ที่มา:

https://qz.com/1189960/george-soros-goes-after-facebook-fb-and-google-goog-at-davos/https://www.newyorker.com/news/our-columnists/how-george-soros-upstaged-donald-trump-at-davoshttps://www.cnbc.com/2018/01/25/george-soros-bashes-facebook-and-google-at-davos.htmlhttps://www.bloomberg.com/news/articles/2018-01-25/george-soros-says-trump-administration-is-danger-to-the-world

Tags: , , , ,