ตั้งแต่เมื่อไรไม่รู้ที่เกาหลีใต้กลายเป็นหนึ่งในฐานที่มั่นสำคัญในการเดินทางไปท่องเที่ยวของทัวร์ริสต์ชาวไทยค่อนประเทศ หรือต่อให้คุณเก็บตัวอยู่แต่ในประเทศ วัฒนธรรมเกาหลีก็ได้ทำการแทรกซึมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ ทั้งแฟชั่น และสารพันความบันเทิงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนัง เพลง ซีรีส์ ที่ติดกันหนึบหนับทั้งบ้านทั้งเมืองมาตั้งแต่สมัยแดจังกึมโน่นแล้ว ล่าสุด กระแสธารแห่งเกาหลีได้ไหลลามไปสู่แวดวงวรรณกรรม ที่เดี๋ยวนี้สำนักพิมพ์ทั้งเล็กใหญ่พากันทยอยแปลนิยายและเรื่องสั้นดีๆ สัญชาติเกาหลีสู่สายตาผู้อ่านอย่างต่อเนื่อง
Mi in April, Sol in July เป็นหนึ่งในวรรณกรรมเกาหลีเล่มล่าสุดที่เราเพิ่งอ่านจบ และชีวิตของบรรดาตัวละครต่างๆ จากเรื่องสั้นคัดสรรแห่ง Koreana นิตยสารรายสามเดือนของ Korea Foundation ทั้ง 7 เรื่อง ก็ยังคงอวลๆ อยู่ในห้วงคำนึง แม้จะอ่านจบไปแล้วหลายวัน คงเพราะรายละเอียดต่างๆ ในแต่ละเรื่องเป็นสถานการณ์ที่จับต้องได้ในชีวิตประจำวัน บวกกับคุณสมบัติของการเป็นเรื่องสั้นร่วมสมัยที่ถูกเขียนขึ้นระหว่าง ค.ศ. 2003 – 2014 จึงทำให้ผู้อ่านเองก็อยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านของอะไรหลายๆ อย่างไม่ต่างจากนักเขียนชาวเกาหลีทั้ง 7 ท่านในเล่ม
ยกตัวอย่างเรื่อง ฉันไปร้านสะดวกซื้อ ที่เล่าย้อนกลับไปในช่วงปี 2003 ที่กรุงโซลเองก็ถูกกองกำลังร้านสะดวกซื้อยึดพื้นที่ทุกหัวมุมถนน ไม่ต่างอะไรกับปริมาณร้านสะดวกซื้อจำนวนมากในกรุงเทพฯ ในยุคเดียวกัน พลอยทำให้การเข้าร้านสะดวกซื้อกลายเป็นกิจวัตรของคนเมืองโดยไม่รู้ตัว ทั้งการเข้าไปจับจ่ายข้าวของเพราะความจำเป็น หรือเข้าร้านสะดวกซื้อด้วยความเคยชินก็ตาม หญิงสาวในเรื่องเป็นตัวแทนที่ทำให้เราฉุกคิดถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย (หรือพนักงานคิดเงินในร้าน) ได้ดี ว่าเราต่างมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันมากน้อยแค่ไหน ตลอดจนได้ลองคิดเล่นๆ แบบเดียวกับเธอว่า สิ่งที่ทำให้เราสบายใจทุกครั้งที่ไปร้านสะดวกซื้อ อาจไม่ใช่การได้ไปซื้อของ แต่เป็นการซื้อชีวิตประจำวันของตัวเองต่างหาก
ทุกคนชอบเกิลส์เจเนอเรชั่น เป็นอีกเรื่องเล่าในเล่มที่เต็มไปด้วยอรรถรส ราวกับได้ดูหนังลุ้นๆ สักเรื่องที่ว่าด้วยปฏิบัติการตามหาห้องน้ำเพื่อปลดทุกข์ฉุกเฉินของชายหนุ่มคนหนึ่ง ที่มีนัดทานข้าวเย็นกับคู่เดทในร้านหรู โชคร้ายที่วันนั้นของปีนั้นเป็นปีที่เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมสุดยอดผู้นำ G20 พอดี ถนนหนทางและร้านรวงต่างๆ ในห้างสรรพสินค้าต่างก็ทยอยปิดเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ท่านผู้นำจากทั่วโลก ร้อนถึงกระทาชายนายนี้ที่เดินหาห้องน้ำทั่วย่านนั้นจนขาแทบขวิด ส่วนจะเกี่ยวอะไรกับเกิลส์เจนฯ ไอดอลสาวใน พ.ศ. นั้น คงต้องหาคำตอบกันเอาเองในเล่ม ซึ่งถ้าลองแทนที่ด้วยแบล็กพิ้งค์ในยุคนี้ ก็แฟนตาซีดีไปอีกแบบ
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศอินเดียของคู่รักชาวเกาหลี ที่เผอิญได้ผูกมิตรกับเพื่อนนักเดินทางสุดอินดี้ชาวญี่ปุ่น ผู้ที่มาเปลี่ยนชีวิตของทั้งคู่ไปตลอดกาลในเรื่อง อย่างน้อยก็ครึ่งหนึ่งของฮารูโอะ ที่สะท้อนภาพการสะพายเป้ออกไปท่องโลกของหนุ่มสาวในยุคประกาศตัวตนผ่านโซเชียลอย่างในปัจจุบันนี้ได้เป็นอย่างดี, เรื่องราวย้อนยุคในเรื่อง เมื่อเคียวเห่า ก็ทำหน้าที่บอกเล่าความย้อนแย้งของการเมืองที่แฝงอยู่ในทุกวงการได้อย่างแนบเนียนและคมคาย เมื่อตัวเองของเรื่องทำอาชีพรับจ้างคัดลอกหนังสือด้วยลายมือ และไปได้สวยในวิชาชีพนี้ แม้จะเป็นชนชั้นล่างที่ไม่รู้หนังสือเลยก็ตาม ซึ่งนั่นกลับเป็นผลดีแก่ตัวเขาเอง เพราะหนังสือที่เขากำลังตวัดพู่กันลอกลายตัวเขียนให้เหมือนต้นฉบับอยู่นั้นว่าด้วยเรื่องลับๆ ภายในราชสำนัก ดังนั้น หากเขารู้ความหมายของอักษรแม้เพียงตัวเดียว กลับจะยิ่งเป็นภัยต่ออาชีพคนทำหนังสือเสียเอง
ส่วนเรื่องสั้นในชื่อเดียวกับเล่มอย่าง มี ในเมษายนฯ ก็เจือไปด้วยกลิ่นอายของอารมณ์เหงาๆ เศร้าๆ ที่เคลือบด้วยอารมณ์ขันบางๆ ว่าด้วยความสัมพันธ์ของน้าสาวกับหลานชายที่พาผู้อ่านร่วมกันสำรวจชีวิตรักของน้าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งก็พลอยทำให้เราอยากลองตั้งใจฟังเสียงฝนกระทบหลังคาดูบ้าง ว่าจะต้องตกอยู่ในห้วงรักลึกสักแค่ไหน ถึงจะได้ยินเสียงสายฝนหล่นเป็นเสียงดนตรี มี ฟา ซอล ลา ที โด กับเขาบ้าง
Fact Box
มี ในเมษายน ซอล ในกรกฎาคม (Mi in April, Sol in July)
คิมย็อนซู และคนอื่นๆ เขียน
อิสริยา พาที แปล
สำนักพิมพ์ ไจไจ books
ราคา 250 บาท