ถ้าคุณเป็นนักดนตรีแล้วอัลบั้มแรกของคุณได้ความนิยมจนได้ชิงรางวัลแกรมมี่อวอร์ดหลายรางวัล อัลบั้มต่อไปคุณจะทำเพลงอย่างไร? หนึ่ง – เดินตามรอยความสำเร็จเดิม อะไรที่คนชอบควรเก็บไว้ หรือสอง – โนสนโนแคร์ ฉันจะทำเพลงอะไรก็เรื่องของฉัน

ถ้าคุณตอบข้อสอง เชิญรับลูกกวาดกล่อมโสตที่ช่องสองกับ MGMT — วงดนตรีไซคีเดลิกป๊อปที่มีชื่อย่อมาจาก The Management

MGMT ไม่ใช่ชื่อใหม่สำหรับคนฟังเพลง เมื่อสิบปีที่แล้ว พวกเขาดังเป็นระเบิดนาปาล์มจากอัลบั้มชุดแรก Oracular Spectacular เพลงที่ทุกคนรู้จักกันดีอย่าง Kids กลายเป็นเพลงชาติของคนฟังเพลงอินดี้และนักปาร์ตี้ทั่วโลก เปิดเพลงนี้เมื่อไหร่ คนก็ยังเต้นยับกันอยู่จนถึงตอนนี้

และเหมือนเรื่องราวของวงดนตรีทั่วไป MGMT คือวงดนตรีที่เกิดขึ้นจากเพื่อนสองคนที่อยู่มหาวิทยาลัยเดียวกัน แอนดริว แวนวินการ์เดน (Andrew VanWyngarden) และเบน โกลด์แวสเซอร์ (Ben Goldwasser) พวกเขาทำเพลงด้วยกันขำๆ และออก EP แรกในชื่อ Time To Pretend เมื่อปี 2005 มีเพลงเอกชื่อเดียวกันกับอัลบั้ม ซึ่งพวกเขาได้แรงบันดาลใจขณะเต้นเพลงของเดอะ แคลช (The Clash) อยู่ในปาร์ตี้ แน่นอนเนื้อเพลงเป็นการล้อเลียนเรื่องราวของร็อกสตาร์และชีวิตนักดนตรีที่ใฝ่ฝันจะทำเพลงให้โด่งดัง ได้ย้ายไปอยู่ปารีส ฉีดเฮโรอีนเข้าเส้น และมีเซ็กซ์กับนางแบบและดารา

อีพี Time To Pretend ทำให้พวกเขาได้ออกทัวร์กับวงออฟ มอนเทรียล (Of Montreal —เคยมาเล่นที่เมืองไทยเมื่อสักปี 2016) และมันก็เป็นไปอย่างทุลักทุเล การแสดงสดในตอนนั้นเข้าขั้นขั้นหายนะ ไม่ต่างจากความรู้สึกไปฟังเพื่อนร้องคาราโอเกะ แต่สุดท้ายพวกเขาก็ทัวร์กับออฟ มอนเทรียลจนจบ และสรุปกันว่าต่อไปนี้จะไม่มี MGMT อีก

เบนตัดสินใจกลับไปอยู่บ้านกับพ่อ ส่วนแอนดริวตัดสินใจเป็นมือกีต้าร์ให้ออฟ มอนเทรียลแบบฐาวร แต่โปรเจ็กต์การแยกทางกันก็มาล่มสลายเอาตอนที่พวกเขาได้รับโทรศัพท์จาก Columbia Records ค่ายเพลงภายใต้สังกัดของ Sony ที่เคยดูแลศิลปินยักษ์ๆ อย่างเดวิด โบวี่, มารายห์ แครี, ฟาร์เรล วิลเลียม และ เดอะ แคลช ฯลฯ ค่ายเพลง Columbia ได้ฟังอีพี Time To Pretend แล้วอดใจไม่ไหวที่จะชวนพวกเขามาทำอัลบั้มเต็มด้วยกัน พ่อของทั้งสองพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามันคงเป็นอะไรที่โง่มาก ถ้าพวกเขาจะปฎิเสธโอกาสนี้

แน่นอนพวกเขาไม่ปฎิเสธ และผลิตอัลบั้มแรก Oracular Spectacular ที่ผสมผสานดนตรีไซคีเดลิคหลอนประสาทเข้ากับอิเล็กโทรป๊อปติดหู ทำให้จากวงที่เกือบจะตาย กลายเป็นวงดนตรีที่ทุกเฟสติวัลเรียกหา MGMT เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ค่ายเดินเกมการตลาดกับวงอินดี้ต่อ และมีวงดนตรีอินดี้เกิดขึ้นต่อมากับ Columbia มากมาย อย่างคัลตส์ (Cults), แพชชัน พิท (Passion Pit) และ แชร์ลิฟต์ (Chairlift)

เบน (ด้านซ้าย) และแอนดริว (ด้านขวา) ในคราบป๊อปสตาร์สายปาร์ตี้

ผลงานเพลงของ MGMT เกิดจากการทำงานแบบสุดขั้ว ด้วยคาแร็กเตอร์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงของทั้งสอง เบนเป็นตัวแทนของเด็กเนิร์ดนักวิเคราะห์ ส่วนแอนดริวเป็นเหมือนนักท่องเที่ยวที่ตามหาจิตวิญญาณแถวเอเชีย บางครั้งระหว่างการทำงานพวกเขาไม่พูดกันเลยเป็นอาทิตย์ นอกจากเมื่อมีไอเดียอะไรมาโยนใส่กัน อาจเหมือนคู่รักผัวเมียที่เบื่อหน่าย แต่สุดท้ายก็มีเซ็กซ์ยอดเยี่ยมด้วยกัน

พวกเขาเริ่มทำอัลบั้มชุดที่สอง Congratulations ด้วยความกดดันจากความสำเร็จของอัลบั้มแรก แต่สุดท้ายด้วยความบ้า พวกเขาช่างแม่ง แล้วเริ่มทำเพลงจากอะไรที่พวกเขาต้องการมากกว่า พวกเขาทิ้งซาวนด์อิเล็กโทรป๊อปติดหูไปแทบทั้งหมด หลงเหลือเพียงแต่ซาวนด์กล่อมประสาทแบบไซคีเดลิค ที่ปั่นเข้ากับซาวนด์ดนตรีเซิร์ฟป็อป จนในที่สุดอัลบั้มชุดที่สองก็เสร็จสิ้นสมบูรณ์

ในตอนแรกพวกเขาตั้งใจว่าจะไม่มีซิงเกิ้ลตัดออกมา ด้วยความบ้าคลั่งที่เกินกว่าแฟนเพลงเก่าๆ จะยอมรับได้ พวกเขาคิดว่ามันคงเป็นการดีกว่าที่แฟนเพลงจะฟังแบบเต็มๆ ทั้งอัลบั้ม ถ้าไม่รักก็เกลียดแม่งไปเลย แต่สุดท้ายด้วยเหตุผลทางการตลาด พวกเขาปล่อย Flash Delirium ออกมาเป็นซิงเกิ้ลแรก และทำให้แฟนเพลงเก่าๆ ถึงกับเหวอแดกกับซาวนด์ที่ไม่ติดหูเอาซะเลย

“ยังมีหลายๆ คน หวังว่าเราจะกลับไปทำเพลงแบบ Kids บางทีเราก็อยากทำเพลงที่มันป๊อปมากๆ ขึ้นมาอีกเหมือนกัน แต่จุดหนึ่งในอาชีพของพวกเรา เราไม่สามารถแต่งเพลงป๊อปแบบนั้นได้อีกแล้ว พวกเราเคยลอง แต่สุดท้าย มันจบที่เราไม่อยากให้เพลงเราเป็นแบบนั้น เราเปลี่ยนมันจนกว่าเราจะพอใจ และจนกว่ามันจะกลายเป็นเพลงแบบที่เราต้องการจริงๆ” แอนดริวผู้รับบทฟร้อนต์แมนและคนแต่งเพลงทั้งหมดพูดถึงเหตุผล

ยอดขายอัลบั้ม Congratulations ตกลงอย่างชัดเจน แต่พวกเขาหาได้แคร์มันเท่าไหร่ ความใจร้ายคือพวกเขาทำอัลบั้มชุดที่สามชื่อเดียวกับวง MGMT และทิ้งแฟนเก่าที่คอยดนตรีแบบเดิมไปอย่างไร้เยื้อใย MGMT ทำเพลงแบบไซคีเดลิคอย่างเต็มตัว อัลบั้ม MGMT ได้แรงบันดาลใจมาจากเพลงของวง R.E.M. ที่เพิ่มความเมา มึน และหลอนเข้าไป แบบที่คนฟังครั้งแรกยังไงก็ไม่เก็ต “พวกเราอยากมีแฟนเพลงที่พร้อมจะฟังอะไรใหม่ๆ มากกว่าพวกบ้าปาร์ตี้ ที่ต้องการแค่เพลงจะเต้นสักเพลง”

ไม่ต้องสงสัยยอดขายของพวกเขาน้อยลงกว่าเดิมไปอีก แต่เรื่องพวกนั้นเป็นปัญหาของค่ายเพลง MGMT ไม่สนว่าพวกเขาจะได้ต่อสัญญาหรือไม่ ยังไงก็แล้วแต่ พวกเขาก็เริ่มมาจาการเป็นเด็กมหา’ลัยที่แต่งเพลงขำๆ เกี่ยวกับวงการเพลงร็อก การขายได้ล้านก็อปปี้ มันถือเป็นโบนัสที่เกินฝันเอามากๆ

ในปี 2018 พวกเขากลับมากับอัลบั้มล่าสุด Little Dark Age ที่ทิ้งช่วงกว่าห้าปีจากอัลบั้มชุดที่สาม และเป็นเหมือนเป็นอัลบั้มที่ครบรอบสิบปีที่พวกเขาดังระเบิดขึ้นมาในวงการเพลง

Little Dark Age คือการกลับไปเกี่ยวก้อยกับซาวนด์ดนตรีอิเล็กโทรที่พวกเขาเริ่มต้น แต่ไม่ได้ป๊อปตลาดแตกแบบที่จะเปิดมาแล้วทุกคนเต้นได้ตั้งแต่ท้องแม่ พวกเขายัดซาวนด์ดนตรีอิเล็กโทร-นิวเวฟดาร์กๆ แบบ 80’s เข้ากับซาวนด์ไซคีเดลิคที่เป็นลายเซ็นของวง ถ้าพวกเขาคือนักเคมีวิทยา นี่คือการผสมผสานสูตรที่ลงตัวที่สุดอีกครั้ง ไม่ยากเกินไปแบบชุดที่สองและสาม และไม่โป๊งชึ่งเกินไปแบบชุดที่หนึ่ง

อัลบั้มชุดที่สี่ Little Dark Age บรรจุเพลงน่าฟังไว้หลายรส แบบที่กลมกล่อมและฟังทั้งอัลบั้มได้แบบเนียนๆ ไม่สะดุดหู ถ้าคุณรักนีโอ-ไซคีเดลิค แน่นอนต้องรัก When I Die, She Work Out To Much, Hand It Over ถ้าชอบซาวนด์ดนตรีซินธ์พ็อพติดหู Little Dark Age, Me & Michael, Days That Got Away ก็คือแทร็คเด็ด หรือถ้าผสมทั้งซาวนด์เมาๆ มึน ที่ยังฟังแล้วทั้งติดหู ก็ต้อง TSLAMP และ James

ถ้าเพลงคือยาเสพติดชนิดนึง เพลงของ MGMT ก็คือยากล่อมประสาทที่มาในรูปแบบลูกกวาดที่หวานแวว แต่แฝงไปด้วยความมึนเมาแบบถูกหู ที่สำคัญพวกเขาคือศิลปินที่น่านับถือ ศิลปินที่ตั้งใจทำเพลงในแบบที่พวกเขาต้องการจะเป็น มีผลงานในแบบที่ต้องการจะทำ โดยไม่สนว่าตลาดต้องการอะไร แต่เป็นคนฟังเพลงต่างหาก ที่ต้องก้าวผ่านความจำเจ และมาเสพย์ในสิ่งที่พวกเขาต้องการจะสื่อสารจริงๆ

Tags: , , ,