ถ้าส่องจาก Google Maps ภาพที่มองลงไปในพิกัดของเขาหลัก เมอร์ลิน รีสอร์ทเราจะเห็นต้นไม้ปกคลุมหนาแน่นจนมองแทบไม่เห็นตัวห้องพักที่แทรกตัวอยู่ใต้เงาไม้เขียวทึบ กระทั่งเมื่อได้ไปถึงรีสอร์ทจริงๆ จึงได้คลายสงสัยว่าทำไมภาพที่เห็นจากแผนที่จึงเป็นเช่นนั้น 

ไม้ใหญ่อายุมากกว่าครึ่งศตวรรษ ยืนตระหง่านอยู่ท่ามกลางห้องพักและพื้นที่ส่วนกลาง ยอดไม้ใบหนาเชื่อมกิ่งก้านเข้าหากันจนกลายเป็นร่มเงาจากธรรมชาติที่แสงแดดแทบลอดลงมาไม่ถึง ต้นไม้เหล่านี้อยู่มาตั้งแต่ก่อนรีสอร์ทจะลงมือก่อสร้าง และยืนตัวไล่สลับกันมาบนเนินสูงตามภูมิทัศน์แต่ดั้งเดิมของป่านี้ 

ไม่กี่นาทีที่ยืนอยู่ตรงนั้น กระรอกสามสี่ตัวก็เยี่ยมหน้ามาให้เราเห็น กระโดดจากกิ่งนั้นไปกิ่งนี้ กิ้งก่าบินพองเหนียงเป็นปีกพึ่บพั่บอยู่ข้างลำต้น เสียงนกจิ๊กจั๊กบินโฉบไปมาบ้างเกาะกิ่งเอียงคอ นี่เป็นภาพที่เห็นเป็นปกติหากเดินสำรวจในพื้นที่โรงแรม นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้เราอยากคุยกับเจ้าของถึงการดูแลสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์จนไม่เห็นข้อตำหนินี้ เพราะนอกจากการรักษาสภาพป่า การจัดการน้ำเสีย การจัดการขยะ ไปจนถึงการใช้พลังงานของรีสอร์ทแห่งนี้ ล้วนทำเชื่อมโยงกันทั้งระบบ ตั้งแต่ก่อนที่คำว่า sustainability จะเป็นที่คุ้นหู และเป็นจุดขายที่น่าสนับสนุนสำหรับผู้ประกอบการที่มองเรื่องความยั่งยืนเป็นแก่นสำคัญ 

ด้วยแนวคิดที่สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นก่อตั้ง และยังคงสานต่อมาจนรุ่นปัจจุบัน ทำให้โรงแรมนี้ได้รับรางวัล Travelife Gold Certified for Accommodation Sustainability ในปี 2019 และเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว ที่ต้องการอยู่ร่วมธรรมชาติที่ไม่เสแสร้งในวันพักผ่อน 

ทายาทรุ่นสาม กับโรงแรมสายอนุรักษ์ที่ริเริ่มมาตั้งแต่รุ่นคุณตา

แชมป์ชานน วงศ์สัตยนนท์ หนึ่งในผู้บริหารรุ่นสามของเขาหลัก เมอร์ลิน เล่าให้ฟังว่า โรงแรมนี้สร้างเสร็จเมื่อปี 2003 โดยการริเริ่มของคุณตา ซึ่งสภาพแวดล้อมเดิมเป็นป่าเป็นส่วนใหญ่อยู่แล้วคล้ายกับอุทยานเขาหลักลำรู่ ซึ่งอยู่ใกล้กัน ครั้นจะสร้างโรงแรมโดยปรับดินให้โล่งแล้วก่อสร้างใหม่ คุณตาของเขาก็อดเสียดายป่าไม่ได้ การก่อสร้างโดยเคลียร์ต้นไม้ให้น้อยที่สุด จึงเป็นความตั้งใจโดยไม่คิดว่าจะทำป่าในโรงแรมให้เป็นจุดขายแต่อย่างใด

แชมป์ชานน วงศ์สัตยนนท์

อาก๋งก็เลยสร้างห้องพักให้เลื้อยไประหว่างต้นไม้ ปรับดินน้อยมาก ทำให้โรงแรมมีความเป็นเนินแบบธรรมชาติ และเราได้ประโยชน์มากจากตอนสึนามิ เพราะคลื่นซัดขึ้นมาไม่ถึงตัวอาคารที่อยู่บนเนินแชมป์เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์คราวนั้น ที่ธรรมชาติได้เป็นปราการให้โรงแรมอยู่รอดปลอดภัย แม้กระทั่งต้นไม้หน้าหาดที่บิดทรวดทรงจนดูคล้ายยีราฟนั้นก็ไม่ได้เสียหาย กระทั่งมาเจอมรสุมเอาภายหลัง

เมื่อตั้งใจทำโรงแรมให้เป็นป่า วิธีคิดที่ตามมาคือทำอย่างไรจะมีน้ำเพียงพอในการดูแลต้นไม้เหล่านี้ คุณตาของเขาจึงวางระบบบ่อบำบัดน้ำขึ้น เพื่อให้น้ำที่ใช้แล้วในรีสอร์ท กลับเข้าสู่ระบบบำบัด และส่งออกไปตามลำรางที่คดเคี้ยว ได้ใช้ประโยชน์ในการดูแลต้นไม้โดยไม่ต้องปล่อยสู่ภายนอก 

การที่เราได้รางวัล Travelife Gold มา ก็ทำให้เราเชื่อในแนวทางที่ทำกันมาตลอด เรามีระบบบำบัดน้ำเสีย ประหยัดพลังงาน ลดขยะพลาสติกในโรงแรม รีไซเคิลทุกอย่างที่ทำได้ เวลาที่มีมรสุมแล้วต้นไม้ล้ม เราก็มีต้นกล้าที่เพาะเอาไว้อยู่แล้วเพื่อเอามาลงใหม่ เรามีปุ๋ยหมักที่ทำเองจากเศษอาหารและเศษใบไม้ นั่นเท่ากับเราไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนที่ต้องปลูกต้นไม้เพิ่มหรือดูแลต้นไม้เลย การที่เรามีต้นไม้ที่สมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างที่เห็น เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา และตีเป็นมูลค่าไม่ได้

คนมักคิดว่า sustainability กับผลกำไรอยู่คนละทางกัน ต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง ผมเชื่อว่าไม่ถูกต้อง มันเชื่อมกันได้ ยกตัวอย่างที่นี่เราวางคอนเซ็ปต์ตั้งแต่แรกว่าจะไปในแนวอนุรักษ์ เราไม่ได้ลงทุนอะไรมากเท่าไรเลยนอกจากระบบบำบัดน้ำเสีย พอเราทำแบบนี้ เราได้ธรรมชาติที่ค่อนข้างสมบูรณ์ และกลายเป็นจุดดึงดูดให้เรามีแฟนพันธุ์แท้ของแขกที่กลับมาพักตลอด การลงทุนของเราในตอนต้นกลายเป็นความยั่งยืน และเห็นผลกำไรในระยะยาว เพราะธรรมชาติไม่ใช่สิ่งที่จะเห็นมูลค่าได้ทันที” 

ไม้ใหญ่ที่ต้องอยู่ กับการดูแลที่ถ่ายทอดโดยกลุ่ม Big Trees 

มรสุมเมื่อต้นปีทำให้มีไม้ใหญ่ล้มตามแรงลม เพราะต้นไม้ที่อายุมาก ย่อมเป็นไปได้ที่จะมีปัญหาทางสุขภาพไม่ต่างจากคน เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางโรงแรมจึงติดต่อผู้เชี่ยวชาญการดูแลไม้ใหญ่อย่างกลุ่ม Big Trees เข้ามาให้คำปรึกษา ดูแลต้นไม้ และฝึกพนักงานเพื่อให้สามารถดูแลต่อเองได้อย่างถูกหลักเกณฑ์และปลอดภัย 

ต้นตะเคียนทอง

ที่นี่เรามีต้นตะเคียนทองเก่าแก่อยู่หลายต้น และต้นอื่นๆ อีกมากที่อายุหลายสิบปี เราติดต่อ Big Trees เพื่อขอให้เป็นหมอต้นไม้ เขาจะไต่ขึ้นต้นไม้สูงเพื่อดูว่ามีโพรงมั้ย มีเชื้อราหรือเปล่า สุขภาพดีหรือเปล่า เพราะถ้าป่วยรากต้นไม้จะหด ต้องทำการรักษา กิ่งไหนที่ดูแล้วว่าถ้าหน้ามรสุมมาจะมีปัญหาแน่ รุกขกรก็จะช่วยตัดกิ่งออกอย่างปลอดภัย

สุขภาพของต้นไม้ส่วนใหญ่ในโรงแรมยังค่อนข้างดีมากเพราะได้ระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ส่วนหนึ่งที่เป็นเช่นนี้เพราะว่ามีการเว้นพื้นที่ระหว่างต้นให้รากได้หายใจ พื้นที่โรงแรมกว่า 30 ไร่ มีจำนวนห้องพักเพียง 236 ห้อง เพราะบริเวณที่มีต้นไม้ใหญ่จะถูกเว้นพื้นที่ไม่สร้างห้องพักเลย เมื่อก่อสร้างโรงแรมเสร็จ ต้นไม้อื่นๆ ก็ขึ้นตามธรรมชาติ ที่ขึ้นหนาไปก็แยกออกไปอยู่ที่โล่ง บางจุดไม้ล้มก็เอากล้าลงแทน หากจะเทียบสัดส่วนกันแล้ว พื้นที่ป่ากับพื้นที่ห้องพัก จึงมีสัดส่วนใกล้เคียงกันราว 50:50 เลยทีเดียว 

แต่เป็น 50:50 ที่ไม่แยกโซนกัน เพราะไม่อย่างนั้นจะจัดการยาก การอยู่แบบแซมกันไปจึงดีกว่าแชมป์บอกถึงเหตุผล 

ต้นไม้หน้าหาดที่บิดทรวดทรงจนดูคล้ายยีราฟ 

การปรากฏตัวของนางอายที่แสนจะขี้อาย และการทำงานกับ Love Wild Life

เรียกได้ว่า เขาหลัก เมอร์ลิน นั้นป๊อปในหมู่นักท่องเที่ยวเยอรมัน สแกนดิเนเวียน และอังกฤษ ซึ่งพื้นฐานของคนกลุ่มนี้นิยมชมชอบการได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติเป็นทุนเดิม จนกลายเป็นแขกประจำที่กลับมาพักทุกปี และตั้งกลุ่มในเฟซบุ๊กขึ้นเพื่ออวดกันว่าปีนี้แต่ละคนเจอสัตว์อะไรกันบ้าง ซึ่งจากการสำรวจนั้นมีสัตว์สายพันธุ์ต่างๆ พักพิงอาศัยอยู่นับร้อยชนิด รวมถึงนกที่อพยพหนีหนาวมาจากพื้นที่อื่น 

กิจกรรมดูนก

และราวสองปีที่แล้วนี้เองที่นักท่องเที่ยวคนหนึ่งถ่ายภาพนางอายได้จากในโรงแรม แชมป์จึงติดต่อไปยังมูลนิธิ Love Wild Life เพื่อขอคำปรึกษา และทำงานร่วมกันในการเรียนรู้และอนุรักษ์นางอาย ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่รุกรานกัน

เราเห็นว่ามีสัตว์ในโรงแรมเยอะมาก และเราก็อยากจะคงสภาพแวดล้อมแบบนี้เอาไว้ แต่เราก็ไม่ได้รู้จักสัตว์มากขนาดนั้นเพราะเราเป็นผู้ประกอบการโรงแรม พนักงานซึ่งเป็นคนในพื้นที่ทั้งหมดเองก็ไม่ได้มีความรู้ในเชิงวิชาการ เราเลยอยากให้มีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยเรื่องการอนุรักษ์ เพื่อที่นี่จะได้เป็นพื้นที่ป่าที่สัตว์สามารถอาศัยอยู่ได้ตลอด และได้ให้ข้อมูลสำหรับแขกว่าสัตว์เหล่านี้ไม่ได้เป็นอันตรายและไม่มีผลกระทบอะไรกับการเข้ามาพักผ่อน

นกอีแพรดแถบอกดำ และนกกินเปี้ยว ภาพจาก Love Wildlife Foundation

อีกอย่างคือนางอายเป็นสัตว์ลึกลับ จะอาศัยอยู่บนต้นไม้บางประเภท กินผลไม้บางประเภท ทาง Love Wild Life ก็ยังไม่ได้รู้ทุกประเด็นเกี่ยวกับนางอาย เราเลยอยากจะช่วยกันทำวิจัยเพราะนางอายเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ และเราเองก็จะได้รู้ว่าควรจะดูแลพื้นที่ในโรงแรมยังไงเพื่อให้เป็นมิตรต่อนางอาย

นกเค้าแมว และนกแขกเต้า ภาพจาก Love Wildlife Foundation

นางอาย ภาพจาก Love Wildlife Foundation

นางอายเป็นสัตว์เคลื่อนไหวเชื่องช้า และเดินทางโดยอาศัยยอดไม้ที่เชื่อมถึงกัน แต่ในพื้นที่โรงแรมก็ยังไม่ได้มีเรือนยอดที่แผ่ถึงกันทั้งหมด เราจึงได้เห็นบางช่วงของยอดไม้มีการขึงเชือกเชื่อมกันเพื่อให้นางอายเดินทางได้โดยไม่ต้องลงมายังพื้น ที่อาจจะไม่ปลอดภัยสำหรับนางอายเอง

ออกสำรวจอย่างเคารพในความต่างสายพันธุ์

ด้วยความสมบูรณ์ที่มากพอจะทำให้ที่นี่เป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติ กิจกรรมดูสัตว์จึงเป็นหนึ่งในสิ่งควรทำเมื่อมาถึงที่นี่ เราเดินตามเส้นทางของโรงแรมที่พาลัดเลาะเข้าไปยังส่วนต่างๆ ทั้งส่วนหน้าหาดและป่าที่อยู่แซมระหว่างห้องพัก หากตื่นเช้าสักหน่อย กิจกรรมดูนกจะเหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนชอบดูนก เพียงแต่ต้องมีกล้องส่องทางไกล หรือโปรกว่านั้นหน่อยก็เป็นกล้องส่องนกอย่าง field scope ที่จะทำให้เห็นชัดไปจนถึงสีสันและพฤติกรรม ไม่น่าเชื่อว่าที่นี่จะทำให้เราได้เห็นนกหลากชนิด ทั้งนกตีทอง นกโพระดก เหยี่ยวแดง นกกินเปี้ยวปีกสีฟ้า นกอีแพรดแถบอกดำ ฯลฯ ไปจนถึงนกเค้าแมวตัวโตจนเห็นชัดด้วยตาเปล่าแม้จะจับอยู่บนยอดไม้ไกลลิบ

ความสนุกสำหรับครอบครัวโดยเฉพาะเด็กๆ  คือกิจกรรม Khaolak Merlin Explorer ที่โรงแรมจะมีการติดตั้งป้ายให้ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ซึ่งพบบ่อยในแต่ละโซน โดยนักท่องเที่ยวจะออกสำรวจพร้อมแผ่นสำหรับแสตมป์ตามจุดต่างๆ เมื่อแสตมป์ครบจะได้รับประกาศนียบัตรกลับไปเป็นที่ระลึก เป็นกุศโลบายหนึ่งที่จะชวนให้เด็กได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืนของธรรมชาติ

กิจกรรมส่องสัตว์ตอนกลางคืน 

ส่วนกลางคืนนั้นมีกิจกรรมส่องสัตว์ ที่เราต้องใช้เสียงให้น้อยเพื่อรบกวนสัตว์ให้น้อยที่สุด โดยมี Bat Detector เป็นอุปกรณ์ช่วยจับสัญญาณว่ามีสัตว์อยู่ตรงไหนบ้าง เราเริ่มจากริมหาดที่ต้นไม้บางต้นมีนกอาศัยเป็นที่หลับนอน ปูเสฉวนออกเดินบนสนามหญ้าหน้าหาด กบและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอื่นๆ ปรากฏตัวให้เห็นอยู่ตลอดเส้นทาง

จนถึงไฮไลต์ของคืนนี้ที่บนยอดไม้สูง เมื่อนักสำรวจในกลุ่มซึ่งคาดไฟฉายดวงจิ๋วไว้บนศีรษะมองขึ้นไปบนยอดไม้ แสงกระทบเข้ากับดวงตาวาวๆ และร่างที่เคลื่อนไหวเชื่องช้าอยู่บนนั้น ทั้งที่เราไม่ได้คาดหวังว่าจะได้เจอ เพราะนางอายนั้นค่อนข้างจะมีชีวิตที่ซับซ้อน แต่เราก็โชคดี และโชคดีเป็นสองเท่า เมื่อออกจากจุดนั้นไปยังจุดอื่น เรายังพบนางอายอีกตัวบนยอดไม้อีกต้น

ป้ายให้ความรู้เกี่ยวกับสัตว์

เมื่อถามถึงแนวทางในอนาคตว่าทำอย่างไรจึงจะป้องกันปัญหาสัตว์จากการถูกรบกวน จากแขกบางคนที่อาจไม่มีความรู้ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในการร่วมกิจกรรมส่องสัตว์เช่นนี้ แชมป์เล่าถึงเจตนาของเขาให้ฟังว่า

ผมไม่คิดอยากให้ที่นี่เป็นสวนสัตว์ ไม่อยากให้เป็นซาฟารี เราจึงต้องควบคุม เราไม่สร้างจุดขายว่ามาที่นี่มาให้อาหารสัตว์ เพราะเราอยากให้สัตว์ได้อยู่ตามธรรมชาติ ป่าในโรงแรมมีไม้ดอกไม้ผลที่เป็นอาหารของสัตว์ได้เพียงพอ เราจึงติดป้ายห้ามให้อาหารสัตว์เอาไว้หลายจุด การเดินสำรวจจะเป็นการเดินเพื่อศึกษา ไม่ใช่เทรนด์การท่องเที่ยว เพราะในมุมของผมมองว่าการทำกิจกรรมให้ข้อมูล จะทำให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้และรักธรรมชาติมากขึ้น และมันจะได้ประโยชน์กับนักท่องเที่ยวเอง

ป้ายห้ามให้อาหารสัตว์

ปุ๋ยหมัก ขยะรีไซเคิล

ทาง Love Wild Life ก็ได้จัดเทรนนิ่งให้พนักงานโรงแรม ในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมนางอายและวิธีส่องนางอายโดยไม่เกิดผลกระทบหรือเกิดความรู้สึกเครียด เราจะใช้แสงสีแดงในการส่อง เพื่อไม่ให้นางอายแสบตาและรบกวนการเป็นอยู่ของนางอาย” 

ลำรางน้ำที่ใช้ดูแลต้นไม้

อุปกรณ์ Bat Detector

ด้วยคอนเซ็ปต์อนุรักษ์ที่วางไว้จากรุ่นหนึ่ง และส่งผลที่สอดรับกับเทรนด์ของความยั่งยืนที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ เขาหลัก เมอร์ลิน รีสอร์ท จึงเป็นตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นภาพได้ชัด ว่าการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืนและเคารพกัน สร้างผลลัพธ์ในอนาคตได้อย่างไร 

Tags: