อาจต้องยอมรับกันตรงๆ ว่าพระราชบัญญัติยาปัจจุบันที่ใช้งานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 ถือว่าค่อนข้างเก่า ล้าสมัย และจำเป็นต้องแก้ไข ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามแก้ไขหลายครั้ง เพียงแต่ว่า นอกจากเนื้อหาที่จำเป็นต้องแก้ไขจริงแล้ว ก็ยังถูกพ่วงไปด้วยวาระอื่นๆ ที่น่ากังวล
คัดค้านมาแล้วหลายครั้ง สู่ความคืบหน้าล่าสุด
มาลองย้อนดูกันว่า ที่ผ่านมา ความพยายามแก้ไขเกิดขึ้นมากี่ครั้งและมาจากใคร
สมัยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ มีการรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ยา (ฉบับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา -อย.) เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ 2549 แล้วส่งต่อให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) พิจารณา แต่ผ่านไปกว่าทศวรรษก็ไม่มีความคืบหน้า
จนเมื่อปี พ.ศ. 2555 มีการนำเสนอ ร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ…(ฉบับประชาชน) แต่กระบวนนี้ก็ชะงักไปเพราะเกิดรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 ซึ่งหลังรัฐประหารเพียง 21 วัน กระทรวงสาธารณสุขก็นำร่างที่ผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (เรื่องเสร็จที่ 1017/2557) ออกมาเผยแพร่
จากร่างฉบับดังกล่าว มีเสียงคัดค้านจากเครือข่ายเภสัชกรหลายครั้ง คือ
- สภาเภสัชกรรมเคยมีหนังสือถึงหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2557 ไม่เห็นด้วยกับร่างฉบับนี้
- ต่อมา 9 ตุลาคม 2557 เครือข่ายเภสัชกรนัดแต่งชุดดำและรวมตัวกันยื่นแถลงการณ์คัดค้าน พร้อมยื่นรายชื่อ 7,600 รายชื่อ ณ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ขอให้ตัวแทนภาคประชาชนได้ร่วมหารือเพื่อแก้ไขร่างกฎหมาย
- 21 มีนาคม 2559 เครือข่ายเภสัชกรจากทั่วประเทศ ยื่นหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้นำร่าง พ.ร.บ.ก่อนหน้านี้ที่เป็นการพิจารณาร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรสหสาขาวิชาชีพใช้แทน
ส่วนร่างกฎหมายฉบับที่คัดค้านกันในตอนนี้ เป็นร่างอีกฉบับหนึ่งซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดทำขึ้นเมื่อมกราคม พ.ศ. 2561 โดยปรับเนื้อหาจากร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ… ฉบับกระทรวงสาธารณสุข และเติมหมวดว่าด้วยกระบวนการอนุญาตตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 77/2559 เรื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น เตรียมจะเสนอต่อรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเตรียมเสนอ สนช. ประกาศใช้กฎหมายให้ทันภายในตุลาคม 2561 ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในปี 2562
ประเด็นคัดค้านที่ไม่เปลี่ยนแปลง
เรื่องสำคัญที่มีการคัดค้านมาตลอดจากเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมคือ การแก้กฎหมายเพื่อเปิดให้คนที่ไม่ใช่เภสัชกรสามารถจ่ายยาได้ โดยร่างกฎหมายเสนอให้มีการจัดแบ่งประเภทยาใหม่
กฎหมายปัจจุบัน แบ่งยาออกเป็น 3 ประเภท คือ (1) ยาควบคุมพิเศษ ซึ่งเป็นยาที่เภสัชกรจ่ายโดยใช้ใบสั่งแพทย์ ทันตแพทย์ หรือสัตวแพทย์ (2) ยาอันตราย ซึ่งเป็นยาที่ให้อำนาจเภสัชกรในการพิจารณาจ่ายยา หรือยาที่ผู้ป่วยต้องได้รับคำแนะนำจากเภสัชกรในการจ่ายยาในร้านยา และ (3) กลุ่มยาสามัญประจำบ้าน ยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ ซึ่งในกลุ่มนี้ ประชาชนสามารถซื้อหาได้โดยทั่วไป
แต่ร่าง พ.ร.บ. ฉบับปี 2561 นี้ แบ่งประเภทของยาใหม่ เป็น (1) ยาที่ต้องจ่ายตามใบสั่งยา ซึ่งเภสัชกรจ่ายได้โดยใบสั่งของแพทย์ (กลุ่มเดิมคือ ยาควบคุมพิเศษ) (2) ยาที่ต้องจ่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพ ซึ่งระบุให้อำนาจแก่แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ นักกายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และเภสัชกรเป็นผู้พิจารณาจ่ายยา และ (3) ยาสามัญประจำบ้าน
เรื่องสำคัญที่มีการคัดค้านมาตลอดคือ การแก้กฎหมายเพื่อเปิดให้คนที่ไม่ใช่เภสัชกรสามารถจ่ายยาได้
การแบ่งประเภทยาใหม่นี้ เปิดให้คนกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่เภสัชกรสามารถจ่ายยาได้ ซึ่งกลุ่มเภสัชกรเห็นว่าเรื่องนี้จะส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค เปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่มีความรู้เรื่องยาอย่างเพียงพอมีบทบาทในการสั่งใช้ยาหรือจ่ายยาได้ อีกทั้งยังไม่คำนึงถึงหลักการแยกหน้าที่เพื่อให้เภสัชกรตรวจสอบการใช้ยา และไม่สอดคล้องกับการแบ่งประเภทยาตามหลักสากลซึ่งแบ่งประเภทยาออกเป็น ‘ยาที่ต้องจ่ายตามใบสั่งยา’ ‘ยาที่เภสัชกรเป็นผู้สั่งจ่าย’ และ ‘ยาที่ประชาชนเลือกใช้ได้เอง’
การผสมยา ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ อนุญาตให้บุคลากรทางสาธารณสุขอื่นๆ สามารถ ‘ผสมยา’ ที่เคยมีการขึ้นทะเบียนยาแล้วให้แก่ผู้ป่วยเฉพาะราย ซึ่งกลุ่มวิชาชีพเภสัชกรเห็นว่า การผสมยาที่พบในโรงพยาบาลทั่วไปนั้น อาจเรียกได้ว่าเป็น “การเตรียมยาให้พร้อมใช้” ไม่ใช่การผสมยา เพราะการผสมยายังต้องคำนึงถึงสารอื่นๆ ที่อยู่ในยาอีก ซึ่งต้องมีการทดสอบและกำหนดมาตรฐานการผลิตยา และต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านยาหรือเภสัชกรในการผสมยา เพื่อป้องกันอันตราย
การแบ่งบรรจุยา ร่างพ.ร.บ.ใหม่เปิดโอกาสให้บุคคลอื่นนอกจากเภสัชกรสามารถแบ่งบรรจุยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วให้กระทำได้ กลุ่มวิชาชีพเภสัชกรเห็นว่า การแบ่งบรรจุภัณฑ์ต้องใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้แบ่งบรรจุยาได้ถูกต้อง
เสียงจากวิชาชีพอื่นๆ
ที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวในเรื่องร่าง พ.ร.บ.ยา เป็นเสียงที่มาจากฝั่งวิชาชีพเภสัชกรเป็นหลักที่แสดงความเห็นคัดค้าน เช่น ตัวแทนจากคณะเภสัชศาสตร์ในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ หรือชมรมเภสัชกรชนบท
แต่ความเคลื่อนไหวในรอบนี้ มีความเห็นจากวิชาชีพอื่นๆ ดังขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะพยาบาลที่ออกมาให้ความเห็นทั้งทางโซเชียลมีเดียและผ่านสื่อมวลชน หลังจากมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า พยาบาลไม่มีความรู้เพียงพอ พยาบาลจึงให้เหตุผลว่า สถานการณ์ที่ผ่านมา พยาบาลที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งบางพื้นที่ไม่มีเภสัชกรประจำ พยาบาลต้องจ่ายยาแทนเภสัชกรอยู่แล้ว ร่าง พ.ร.บ.นี้จึงสอดคล้องกับความเป็นจริงมากกว่า
ส่วนสมาพันธ์แพทย์ โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปฯ ก็ออกแถลงการณ์สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนเข้าถึงยาโดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน และไม่ทำให้ต้นทุนการเข้าถึงยาของผู้ป่วยเพิ่มขึ้น
เอื้อทุนขนาดใหญ่?
นอกจากการหยิบยกบทบาทของวิชาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่มีการกล่าวถึงกันมากก็คือ ร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่นี้จะเอื้อประโยชน์แก่ร้านสะดวกซื้อ โดยเฉพาะจากการโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นทางโซเชียลมีเดียของแพทย์ส่วนหนึ่ง เช่น การตีความว่าการแก้ พ.ร.บ.ยา ที่ให้วิชาชีพทางสุขภาพอื่นๆ จ่ายยาได้นั้นทำให้ธุรกิจร้านสะดวกซื้อหลายบริษัทที่กำลังมุ่งหน้าเปิดร้านขายยาด้วยนั้น สามารถจ้างบุคลากรสาธารณสุขซึ่งมีค่าแรงต่ำกว่าเภสัชกรมาจ่ายยาได้ และอยู่ร้านได้ 24 ชม. เพื่อลดต้นทุน
ขณะที่ นายแพทย์ วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ปฏิเสธเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2561 ว่า พ.ร.บ.ยา ฉบับนี้ไม่ได้เอื้อต่อร้านสะดวกซื้อ เพราะ พ.ร.บ.ฉบับปัจจุบัน และกฎกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องระบุชัดเจนว่า การเปิดร้านขายยาต้องมีเภสัชกร ไม่ว่าจะเป็นร้านเฉพาะหรือชั้นวางก็ตาม ทั้งนี้ เลขาธิการ อย. ระบุว่า ทุกข้อความในร่างกฎหมายใหม่ ยังเป็นเพียงความคิดเห็นเท่านั้น ยังไม่ใช่ข้อสรุป จึงยังสามารถปรับแก้ไขได้
ที่มา:
- https://www.hiso.or.th/hiso/picture/reportHealth/ThaiHealth2015/thai2015_19.pdf
- https://www.isranews.org/isranews-short-news/68524-isranewsdddww.html
- https://www.change.org/p/review-medicines-bill-protect-patient-s-right
- https://pharmacycouncil.org/share/file/file_2438.%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87_%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%9A.%E0%B8%A2%E0%B8%B2_%E0%B8%89%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%8F%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A12561.pdf
- https://www.dailynews.co.th/politics/662817
- https://www.tnmc.or.th/docs/MedicinePolicy.pdf
- https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/88200
- https://www.thairath.co.th/content/1365653