“ความสนุกของการแสดงละครที่นี่คือการได้พูดคุยและเจอเรื่องไม่คาดฝันจากเด็กๆ

อย่างในเรื่องมดง่ามกับจั๊กจั่น เนื้อหามันเล่าถึงมดง่ามที่ทำงานเก็บเกี่ยวเสบียงของตัวเองตลอดทั้งปี พอถึงหน้าหนาวก็มีอาหารกิน กับจั๊กจั่นที่เอาแต่ร้องเพลงเต้นรำ สุดท้ายก็ไม่มีอาหารกิน โดยจากตัวบทเดิมเขาจะสรุปว่า เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าเราควรแบ่งเวลาเล่นกับเวลาทำงาน แต่พอเราเอามาทำใหม่ เราก็ตั้งคำถามกับเด็กๆ ว่า “จั๊กจั่นไม่ทำงานจริงรึเปล่า” ซึ่งแทบทุกรอบเด็กจะตอบว่า จริง มันไม่ได้ทำงาน แล้วเราก็จะชวนให้เด็กคิดอีกมุมว่า แต่ศิลปะก็คือการทำงานนะ การที่มันร้องเพลงเต้นรำก็เพราะจั๊กจั่นเป็นศิลปิน ศิลปะก็เป็นการทำงานได้เหมือนกัน

       

แต่มันมีอยู่รอบหนึ่งที่มีเด็กผู้หญิงตัวเล็กคนหนึ่งตอบมาว่า “ไม่จริง” เด็กๆ ในโรงละครก็เลยเริ่มเถียงกันว่า จริง ไม่จริง จริง ไม่จริง แล้วน้องคนนี้ก็เลยพูดเสริมว่า “ถ้าจั๊กจั่นไม่ทำอะไรเลย แล้วจะมีจั๊กจั่นในเรื่องนี้ไปทำไม” ทุกคนก็ตกใจมาก เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดเลย แถมสิ่งที่เขาตอบมามันก็เป็นปรัชญามาก มันพูดถึงการมีอยู่ของสิ่งสิ่งหนึ่ง เพียงแค่น้องเขาไม่รู้ตัวว่าสิ่งที่พูดออกมามันคือสิ่งที่ใหญ่ ซึ่งพวกเสียงที่เด็กๆ พูดขึ้นมาระหว่างที่ทำการแสดงนี่แหละ คือสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราประสบความสำเร็จ เพราะเราได้สื่อสารกับเด็กๆ แล้ว”

นี่เรื่องราวที่ ‘ฟ้าใส—รพีพร มโนรัตน์’ หนึ่งในนักแสดงละครเวทีเรื่อง เพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่า For A Better Tomorrow Aesop’s Fables Cabaret 2019 (Tatiya) จากโรงละครมายาฤทธิ์ เล่าให้เราฟังด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม ซึ่งทำให้เราสนใจกลุ่มละครกลุ่มนี้ขึ้นมาทันที เพราะไม่บ่อยนักที่เราจะได้พบเห็นสื่อหรือการแสดงที่สนับสนุนให้เด็กได้ลุกขึ้นมาขยับร่างกาย ถกเถียง หรือตอบโต้กับผู้ใหญ่ มากไปกว่าการนั่งนิ่ง มีสมาธิ และตั้งอกตั้งใจดู เหมือนที่สังคมไทยปลูกฝังให้กับเด็กผ่านระบบการศึกษามาตลอดหลายปี

วันนี้เราจึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับ ‘โรงละครมายาฤทธิ์’ กลุ่มละครเวทีสำหรับเด็กที่ไม่ได้สร้างแค่ความสนุกสนานบันเทิง แต่มาพร้อมประเด็นสังคมอัดแน่น และกระบวนการ self empowerment ที่สนับสนุนให้เด็กกล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ และภาคภูมิใจในตัวเอง ซึ่งหลายครั้งคนที่ได้รับสิ่งเหล่านี้กลับไปก็ไม่ใช่เพียงเด็กๆ เท่านั้น

มายาฤทธิ์คืออะไร?

‘มายาฤทธิ์’ หรือ ‘กลุ่มละครมายา’ เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา ที่เลือกหยิบเอาละครเวทีมาใช้เป็นสื่อในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ก่อตั้งขึ้นในปี 2524 โดยในอดีต พวกเขาเลือกจัดแสดงละครเวทีสัญจรตามโรงเรียนหรือชุมชนแออัดเท่านั้น แต่หลังจากทดลองใช้สื่ออย่างละครเวทีมาอย่างช่ำชองตลอด 30 ปี จนมั่นใจว่าเครื่องมือนี้มีประสิทธิภาพในการให้ความรู้และสร้างพลังให้กับเด็กจริงๆ 

ในปี 2558 ทีมงานจึงตัดสินใจก่อตั้งโรงละครเด็กแห่งแรกของประเทศไทยอย่าง โรงละครมายาฤทธิ์ ขึ้นที่อาคาร JJ Outlet ด้วยความเชื่อที่ว่า การจะสร้างหรือรับสารจากสื่อสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่นั้นจำเป็นต้องมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และ ‘โรงละคร’ ก็คือสภาพแวดล้อมที่มายาฤทธิ์อยากมอบให้กับเด็กๆ โดย ‘อาจารย์สมศักดิ์ กัณหา’ ผู้จัดการโรงละครเล่าว่า

“เราทำละครเพราะเราเชื่อในศักยภาพของละคร คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยอาจจะมองว่าละครเป็นแค่การหลีกหนี เป็นแค่ความสนุกหรือความบันเทิงอย่างเดียว แต่เราเชื่อว่าละครมันมีศักยภาพมากกว่านั้น

“ละครมันเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างประสบการณ์ให้กับผู้ชม เมื่อผู้มาชมเรื่องราวต่างๆ ที่นำเสนอผ่านตัวละคร สิ่งหนึ่งที่เขาจะได้แน่ๆ คือสิ่งที่เรียกว่า ‘empathy’ หรือความเห็นอกเห็นใจที่จะตามมาหลังจากได้รับรู้เรื่องราวของตัวละคร นอกจากนี้ละครยังทำให้เราเรียนรู้ที่จะเข้าใจในคนที่แตกต่างจากเรา ซึ่งมันเป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญมากในสังคมปัจจุบันที่ทุกคนแยกกันอยู่ สังคมที่มีวาทกรรมมากมายซึ่งทำให้คนชังกัน และสุดท้ายคือละครจะฝึกให้คนดูตั้งคำถาม คิด วิเคราะห์ ประเมินคุณค่า และแสวงหาทางออกตามไปกับตัวละคร ส่วนความสนุกสนานหรือความประทับใจนั้นเป็นสิ่งที่ตามมาทีหลัง” 

แม้คำว่า ‘ละครเวทีสำหรับเด็ก’ จะฟังดูไม่ใช่สิ่งที่แปลกใหม่นักในประเทศไทย แต่ถ้าพูดถึงละครเวทีสำหรับละครเด็กที่เป็นมากกว่าความบันเทิงแต่ยังมาพร้อมกับแง่คิดต่างๆ ที่สื่อสารไปถึงคนทั้งครอบครัวในแง่มุมที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะที่ก่อตั้งขึ้นเป็นโรงละครเฉพาะทางเช่นนี้ คงจะนึกออกได้ไม่ง่ายนักในประเทศไทย แต่มายาฤทธิ์ทำสิ่งนี้อย่างต่อเนื่องมากว่า 5 ปี หรือ 9 โปรดักชั่นแล้ว และผลงานที่กำลังแสดงอยู่ก็คือ เพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่า For A Better Tomorrow Aesop’s Fables Cabaret 2019 (Tatiya) ละครเวทีที่หยิบเอานิทานอีสปมาเล่าในแบบคาบาเร่ต์ที่น่าตื่นตาตื่นใจเพื่อชักชวนให้เด็กๆ เกิดการคิดวิเคราะห์และตั้งคำถามว่า “ทำอย่างไร วันพรุ่งนี้ถึงจะดีกว่าวันนี้”

อีสปคาบาเร่ต์

อาจารย์สมศักดิ์กล่าวถึงสาเหตุที่เลือกนำเสนอผลงานชิ้นนี้ผ่านการแสดงแบบคาบาเรต์โชว์ ว่าเป็นเพราะคาบาเร่ต์นั้นเป็นการแสดงที่เน้นใช้การแสดงออกที่เกินจริงผลักให้โลกในละครและโลกแห่งความจริงมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน เพื่อให้คนดูสามารถคิดวิเคราะห์และถกเถียงในประเด็นที่มีความขัดแย้งได้ผ่านมุมมองของคนนอกโดยไม่เอาความรู้สึกไปผูกไว้กับความเคยชินของตัวเอง ซึ่งตรงกับจุดมุ่งหมายของละครเรื่องนี้ที่อยากชวนให้เด็กๆ คิดตาม มากกว่าจะรู้สึกตื้นตันไปกับความสมจริงของละคร

บ้านเราพอพูดถึงคาบาเร่ต์อาจจะนึกถึงการแสดงที่มีการแต่งตัวเป็นผู้หญิง และออกมาเต้นมาร้องเพลงกัน แต่คอนเซ็ปหลักจริงๆ ของคาบาเร่ต์ คือการใช้ความเกินจริงมานำเสนอประเด็นที่ controversial หรือประเด็นที่ทำให้คนลุกขึ้นมาตั้งคำถามและถกเถียงหาข้อโต้แย้งกัน เช่น อะไรคือความเป็นแม่, อะไรคือความรัก ฯลฯ ซึ่งมันจะนำเสนอออกมาผ่านโปรดักชั่นที่แปลกประหลาด ไม่สมจริง ไม่มีเพศ นำเสนอผ่านเพลง การเต้น ดังนั้นเมื่อมันมารวมกันแล้ว คนเราจะไม่หลุดเข้าไปอินหรือซาบซึ้งกับละคร เพราะมันจะมีการสร้างระยะห่างระหว่างละครและโลกแห่งความจริงอยู่ตลอดเวลา ก่อให้เกิดการคิดวิเคราะห์ตลอดเวลาว่าตัวละครทำอย่างนี้ไปเพื่ออะไรหรือเพราะอะไรถึงเจอกับเรื่องราวแบบนี้”

เมื่อได้ฟังไอเดียตั้งต้นเป็นที่เรียบร้อย เราสงสัยว่ากว่าจะออกมาเป็น ‘อีสปคาบาเร่ต์’ อย่างที่เราได้ชมกันนั้น เหล่านักแสดงต้องผ่านการเตรียมตัวอย่างไรบ้างในการแสดงแบบคาบาเรต์ ที่ค่อนข้างใช้ทักษะในการแสดงที่แตกต่างจากละครเพลงปกติ โดย ฟ้าใส-รพีพร หนึ่งในนักแสดงเป็นผู้ให้คำตอบกับเรา

“เราต้องการจะทำให้เด็กดูแล้วรู้สึกเหมือนเป็นความฝัน รู้สึกเหนือจริง ดังนั้นวิธีการแสดงออกของนักแสดง การขยับท่าทางมันก็จะเปลี่ยนไปจากละครเวทีทั่วไป ด้วยความที่เป็นคาบาเร่ต์ที่เราตั้งใจทำให้เหมือนฝัน มันจะมีมิติที่ซ้อนเข้าไปอีก คือเวลาเล่น เราจะไม่ได้คิดว่าเราเล่นเป็นสัตว์ตัวนี้ แต่เราจะคิดว่า เราเล่นเป็นตัวละครตัวหนึ่งที่เล่นเป็นสัตว์ตัวนี้อีกที ดังนั้นมันจะไม่ได้เหมือนเราเป็นสัตว์ตัวนั้นไปซะทีเดียว ดังนั้นการแสดงออกมันก็เลยแตกต่างกันมาก เพราะเราไม่จำเป็นต้องเหมือนสัตว์จริงๆ ถึงเป็นเสือเราก็ไม่ต้องคำรามก็ได้

นาฏการคือปัญญาวุธ

หากจะนิยามความเป็นมายาฤทธิ์ด้วยหนึ่งประโยค “นาฏการคือปัญญาวุธ” หรือคำนิยามของโรงละครย่อมเป็นประโยคที่เหมาะที่สุด เพราะเมื่อเราได้มีโอกาสไปชมละครเรื่องนี้ เราก็พบว่าพวกเขาไม่เพียงแค่นำนิทานอีสปมาตีความใหม่อย่างตั้งคำถามกับเด็กๆ อย่างสนุกสนาน แต่ยังสอดแทรกหลากหลายประเด็นสังคมและวิธีคิด ที่เป็นเสมือนอาวุธในการใช้ชีวิตในวันข้างหน้าให้กับเด็กๆ ผ่านรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทั้งในตัวบทละครและปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักแสดงและผู้ชม โดยอาจารย์สมศักดิ์เล่าว่า

“โปรดักชั่นที่ผ่านมา ถึงเราจะเคยพูดถึงหลากหลายประเด็น แต่ทุกประเด็นจะตั้งอยู่บนคำขวัญของโรงละครที่บอกว่า นาฏการคือปัญญาวุธ ดังนั้นคอนเซ็ปต์ของมันจึงเป็นการใช้ละครเพื่อเป็นเครื่องมือทางปัญญา โดยประเด็นที่เราชูในแต่ละเรื่องอาจแตกต่างกันไป แต่ประเด็นที่เราให้ความสำคัญมากที่สุดและจะขาดไม่ได้ในทุกๆ เรื่องก็คือ ‘การตระหนักรู้ในคุณค่าของตนเอง’ เราจึงออกแบบประสบการณ์และสภาพแวดล้อมหลายๆ อย่างเพื่อสนับสนุนประเด็นนี้ เช่น การจัดที่นั่งให้เด็กๆ ได้นั่งในที่ของตัวเองไม่ใช่บนตักพ่อแม่, การส่งเสริมเด็กได้เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจต่างๆ ในละคร, การเปิดโอกาสได้เด็กๆ ได้ลุกเดินหรือตอบโต้กับการแสดง รวมไปถึงการสอดแทรกแนวคิดที่ก่อให้เกิดกระบวนการ self empowerment ผ่านตัวบทละคร

“เช่น นิทานเรื่องราชสีห์กับหนู ในบริบทเดิมเขาจะสอนว่า เราต้องให้เกียรติคนที่อ่อนแอกว่าเพราะคนที่อ่อนแออาจกลายมาเเป็นคนที่ช่วยเหลือเราได้ในอนาคต แต่พอเราเอามาทำ เราเลือกจะสื่อสารกับเด็กว่า ถึงตัวเล็กก็สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ เพราะเราไม่ได้มองว่ามีใครที่อ่อนแอกว่าใคร เป็นเด็กก็ไม่ได้หมายความว่าจะอ่อนแอกว่าผู้ใหญ่” 

นอกจากนี้ทีมงานยังเล่าอีกว่า ด้วยความที่โรงละครนำเสนอประเด็นที่ต้องอาศัยสมาธิจากผู้ชมเป็นเวลาเกือบ 2 ชั่วโมง อีกสิ่งที่หนึ่งที่ตามมาก็คือการที่เด็กๆ ได้ฝึกการจับประเด็นและใช้สมาธิ 

“การพาเด็กมาชมละครมันไม่ได้มีแค่ตัวเนื้อหาเท่านั้นที่เด็กจะได้ มันเป็นการพาเด็กไปชมศิลปะ เหมือนพาเด็กไปมิวเซียม ไปแกลเลอรี โดยเฉพาะเมื่อละครเวทีเป็นประสบการณ์สดที่แตกต่างจากการดูในทีวี เด็กจะถูกสอนให้เข้าใจว่าถ้าอยากดูรู้เรื่องและเข้าใจ ตลอด 1 ชั่วโมงครึ่งในความมืด เราต้องอยู่กับมัน เราต้องเรียนรู้ที่จะเคารพและให้เกียรติผู้อื่นในขณะที่ชมละครร่วมกัน คุณพ่อคุณแม่ที่พาลูกมาชมหลายคนก็เลยให้ฟีดแบ็กว่า ลูกเขามีสมาธิและเรียนรู้เร็วขึ้นมาก แต่เราก็ไม่ได้การันตีนะว่ามันจะช่วย 100% มันก็แล้วแต่เด็กและครอบครัวด้วย” อาจารย์สมศักดิ์กล่าวเสริม

วันพรุ่งนี้ของละครเวทีโรงเล็ก

ในฐานะที่กลุ่มมายาฤทธิ์ทำงานกับการใช้ละครเวทีเพื่อสะท้อนปัญหาของสังคมและเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กมาตลอดหลายปี ฟ้าใส รพีพร เล่าถึงที่ทางและทิศทางของโรงละครในปัจุจุบันว่าในตอนนี้กลุ่มคนดูของมายาฤทธิ์ไม่ได้มีเพียงเด็กๆ เท่านั้น

“สำหรับผลงานเรื่องนี้ อีสปตติยะ เราก็สังเกตกันว่าครั้งนี้มีคนดูที่เป็นวัยรุ่น เป็นผู้ใหญ่ วัยเดียวกับพวกเรามาดูเยอะขึ้นมาก จากที่ปกติจะเป็นพ่อแม่มากับเด็ก คือเขาไม่ได้มีลูกแต่เขาตั้งใจมาดู แล้วพอมาดูเขาก็เอนจอยมาก คือเราเรียกตัวเองว่าโรงละครเด็กก็จริง แต่สิ่งที่เราเจอมาตลอดการเล่นคือมันดูได้ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ มันไม่ใช่เราไปเซ็ตความยากของเนื้อหาไว้ แต่ถ้าเด็กดูเด็กจะได้แบบหนึ่ง ผู้ใหญ่ดูผู้ใหญ่จะได้อีกแบบหนึ่ง แต่การที่เด็กคนหนึ่งดูแล้ว มันก็ไม่ได้หมายความว่าดูแล้วจบไป แต่วันหนึ่งถ้าเขาไปเจอเนื้อหาที่มันคล้ายกับอันนี้อีก เขาอาจจะกลับมามองเนื้อหาที่เขาเคยดูตอนเด็กใน อีกมุมมองหนึ่งก็ได้ เราก็เลยรู้สึกว่าตราบใดที่ยังมีคนผลิตและคนดูก็ค่อยๆ เยอะขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรมันก็ไม่หายไป แต่มันจะโตไปทางไหนหรือมีหน่วยงานไหนมาช่วยไหมก็อีกเรื่องหนึ่ง” 

ก่อนจากกัน ทีมงานยังได้ฝากให้ทุกคนเห็นความสำคัญของศิลปะและละครเวทีในแง่การพัฒนาเด็ก เพราะการปลูกสร้างความคิดในตัวเด็กก็ถือเป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาในวันข้างหน้าทั้งในระดับตัวบุคคลเองไปจนถึงระดับสังคม แต่ยังเป็นสิ่งที่ประเทศไทยขาดแคลนอยู่มาก หากเป็นไปได้มายาฤทธิ์จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้นโยบายนี้กลายมาเป็นวาระแห่งชาติเหมือนประเทศอื่นๆ เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญา​ว่าด้วยสิทธิเด็กข้อที่ 31 ซึ่งระบุเอาไว้ว่าเด็กควรต้องได้รับสื่อที่สร้างสรรค์และมีคุณภาพ

“ทางเราเองก็ไม่ได้มีทุนจากทางไหนโดยเฉพาะ ปกติทั้งทีมงานทั้งนักแสดงก็เป็นอาสาสมัครกันทั้งหมด ไม่ได้มีใครได้ค่าจ้างอะไร อย่างมากก็เป็นค่าสวัสดิการหรือค่าอาหาร เพราะรายได้ทั้งหมดของเรามาจากการขายตั๋วอย่างเดียวเลย ยังไงมันก็ไม่สามารถคุ้มทุนได้อยู่แล้วและตัวโปรดักชั่นเองก็มีค่าใช้จ่ายต่างๆ ขณะที่ถ้าเป็นในต่างประเทศ รัฐจะช่วยสนับสนุนเงินทุนตลอด เพราะเขามองว่าละครเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยพัฒนาเด็กซึ่งเป็นอนาคตของชาติ อย่างที่ออสเตรเลีย เขาจะมีนโยบายละครเด็กสำหรับแต่ละมลรัฐเลย เพื่อให้เด็กได้ชมละครปีละ 2-3 เรื่อง ทั้งในรูปแบบของละครที่มาจัดแสดงในโรงเรียน และละครที่จัดแสดงในโรงละครจริงๆ

“เราเองก็หวังให้ประเทศไทยได้เป็นแบบนั้นบ้าง ไม่ต้องเป็นเราทำก็ได้ ใครทำก็ได้ เราอยากให้มีโรงละครแบบนี้เยอะๆ ทั่วประเทศเลย เพราะแต่เราอยากให้เด็กๆ ทุกจังหวัดได้มีโอกาสเข้าถึงละครเวที และการที่เราก่อตั้งโรงละครมายาฤทธิ์ขึ้นมาก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่อยากจะส่งไปถึงภาครัฐเหมือนกัน” อาจารย์สมศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย

Fact Box

  • ละครเวที “เพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่า” เป็นละครเพลงคาบาเร่ต์ สำหรับเด็กและครอบครัว ประกอบด้วยนิทานอีสป 9 เรื่อง ที่ตีความใหม่ให้เหมาะแก่ศตวรรษที่ 21 ได้แก่ 1.อึ่งอ่างกับวัว 2.ลูกปูกับแม่ปู 3.ชาวสวนกับลูก 4.เด็กกับฝูงกบ 5.ลมเหนือกับดวงอาทิตย์ 6 .ภูเขาคลอดลูก 7.ค้างคาวกับเพียงพอน 8.เมื่อทหารแตรถูกจับเป็นเชลย และ 9.ลูกแกะในฝูงแพะ 
  • จัดแสดงที่โรงละครมายาฤทธิ์ ชั้น 3 อาคาร JJ Outlet จตุจักร (MRT กำแพงเพชร ทางออก 1)
    ทุกเสาร์-อาทิตย์ วันละ 2 รอบ คือ รอบ 13.00 น. และ รอบ 16.00 น. ตั้งแต่วันนี้ ถึง 1 กันยายน สามารถสำรองที่นั่งได้ที่ 091-821-2114 และ Line ID : @mayarith ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/mayariththeatre/
Tags: , , , ,