การมี Audrey Hepburn มามองบนอยู่ใกล้ๆ ชนิดได้เห็นแผงขนตาหนา เห็นคิ้ว ริมฝีปากอิ่ม และเส้นข้างมุมปากที่เกิดขึ้นเพราะเธอยิ้มกว้าง ช่างทำให้บ่ายวันเงื่องหงอยดูโลกสว่างขึ้นมาจริงๆ
มิสเฮปเบิร์นที่ 1 ทักทายเราที่หน้าประตูกระจกขนาดเล็ก มิสเฮปเบิร์นที่ 2 ทักทายกันอีกครั้งตรงบันไดไม้แคบๆ และเมื่อเดินขึ้นไปถึงโถงขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ เราก็ได้เห็นว่าบนผนังสีเทามีภาพมิสเฮปเบิร์นในกรอบขาวขนาดใหญ่แขวนอยู่ท่ามกลางภาพของใครต่อใคร ที่ต่อให้ไม่รู้จักทั้งคนในภาพและช่างภาพ เราก็รู้ว่าสิ่งที่จะได้เห็นจะอยู่ในใจเราไปอีกนาน
ห้องโถงนั้นเป็นส่วนหนึ่งของ ‘House of Lucie’ แกลเลอรีที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายในซอยเอกมัย หลังเปิดตัวเมื่อพฤศจิกายนปีที่แล้ว พื้นที่แสดงภาพถ่ายที่มีประตูทางเข้าเล็กหลบตาคนนี้ก็กลายเป็นที่พบปะของคนที่ชื่นชอบศิลปะภาพถ่าย
ผลงานกว่า 200 ชิ้น โดย 130 ศิลปินที่ใช้ชัตเตอร์กล้องต่างพู่กัน จนได้รับ Lucie Award รางวัลที่มอบเพื่อเป็นเกียรติแก่ช่างภาพ ‘ตัวจริง’ กันทุกปีในนิวยอร์ก ถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการ ‘Lucie Masters’ ซึ่งกำลังเปิดให้เข้าชมอยู่ขณะนี้
ถ้าสนใจโลกของคนถ่ายภาพอยู่แล้ว ชื่ออย่าง Elliott Erwitt, Lillian Bassman, Mary Ellen Mark, Duane Michales, Nick Ut คงน่าตื่นเต้นดึงดูดใจคุณ แต่ถ้าไม่ใช่ ลองนึกถึงภาพมิสเฮปเบิร์นที่บอก ภาพนางแบบดังระดับโลกสามคนที่ทำท่า ‘three wise monkeys’ ภาพสาวอัฟกันตาสวยหยุดโลกบนปก เนชั่นแนล จีโอกราฟิก (มิถุนายน 1985) ภาพบ็อบ มาร์เลย์ สูบยา ภาพสงครามหมอนบนเตียงของ The Beatles และภาพอีกมากมายที่คุณต้องคุ้นตา เนื่องจากแทบทุกชิ้นโด่งดังและเกือบจะเป็น icon ของศตวรรษที่ 20
สำหรับคนที่ปกติแล้วไม่สนเดินแกลเลอรี หรือที่ไปทุกทีก็เพราะมีคนบังคับให้ไปเป็นเพื่อน อยากบอกว่าแกลเลอรีที่แสดงภาพถ่ายน่าจะเป็นสถานที่ที่เดินได้ง่ายที่สุดแล้ว เพราะไม่ต้องคอยกังวลว่ากำลังอยู่ท่ามกลางผู้คนที่ดูเหมือนจะมีความรู้และรสนิยมทางศิลปะดีเลิศ ขณะที่เราไม่รู้และไม่เข้าใจอะไรเลยสักอย่าง
การค่อยๆ ดูภาพถ่ายมากมายในนิทรรศการแบบนี้ บางทีคุณอาจไม่เข้าใจเรื่องแสงเงา ไม่เข้าใจมุมกล้อง ไม่เห็นถึงความยากง่ายว่ากว่าที่ช่างภาพจะกดชัตเตอร์ให้ได้ภาพนั้นต้องอาศัยจังหวะระดับมาสเตอร์อย่างไร แต่สิ่งที่คุณจะได้เห็นและสัมผัสก็คือสิ่งที่ปรากฏชัดอยู่ในภาพ ผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก สัตว์ ต้นไม้ รอยยิ้ม น้ำตา ความหรูหรา ความยากจน ฯลฯ
ภาพชายผิวสีสูงวัยที่กำลังใส่สูทคงดูธรรมดา คุณอาจไม่รู้ว่า John H. White ผู้ถ่ายคือช่างภาพชาวอเมริกันที่ได้รางวัลพูลิตเซอร์ แต่เมื่อเริ่มสนใจ ข้อความสั้นๆ ใกล้รูปจะขยายนัยให้รู้ว่าภาพตรงหน้าคือ ‘Nelson Mandela ในบ้านของเขาที่แอฟริกาใต้ ครั้งแรก หลัง 27 ปีในคุก’
วันที่ไป มีโอกาสได้คุยกับเจ้าหน้าที่ผู้ดูแล ถามเธอว่ามีรูปใดน่าสนใจเป็นพิเศษ เธอก็ชี้และอธิบายให้ฟังอยู่หลายรูป เช่น รูปที่ถ่ายโดย Ralph Gibson ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องภาพอีโรติก ลึกลับ เซอร์เรียล ภาพถ่าย David Bowie ขนาดยักษ์ถ่ายโดย Albert Watson ภาพชื่อ ‘American Gothic’ โดย Gordon Parks แต่ที่ติดใจกลับเป็นรูปสาวผมแดงสูบบุหรี่ชำเลืองมองกล้อง หน้าตาไม่ยี่หระ ที่เจ้าหน้าที่อธิบายว่าเธอชอบเป็นพิเศษเช่นกัน เนื่องจากช่างภาพ Nan Goldin ชอบถ่ายรูปตัวเองแบบนี้มาตั้งแต่สมัยที่ผู้คนยังไม่ฮิตการเซลฟี่ และภาพลักษณะนี้ยังเรียกกันว่า self-portrait
นอกจากนิทรรศการ ‘Lucie Masters’ แล้ว ถ้าเดินต่อจากชั้นที่แสดงงานขึ้นไปข้างบน จะพบห้องแสดงงานเล็กๆ อีก 2 ห้อง ที่ตอนนี้มีผลงานของช่างภาพที่ได้รับรางวัล IPA หรือ International Photography Awards งานประกวดภาพถ่ายที่เหมือนเป็นลูกพี่ลูกน้องกับงานชั้นล่างจัดแสดงอยู่ สำหรับคนที่สนใจ ที่นี่ยังจัดกิจกรรมอื่นเกี่ยวกับภาพถ่ายขึ้นเนืองๆ เช่น One Shot One Minute กิจกรรมการแบ่งปันความรู้สึกและเรื่องราวที่มีต่อภาพที่คุณเป็นคนเลือกเองในเวลาสั้นๆ แค่ 1 นาที ซึ่งงานนี้จัดขึ้นทุกวันเสาร์ที่ 3 ของเดือน
อย่างที่บอกไปตอนต้นว่าที่นี่หายากอยู่สักหน่อย แต่ถ้าคุณรู้จักพิกัดของห้างใหญ่ต้นซอยเอกมัย อย่างไรคุณก็หาเจอ เพราะ House of Lucie อยู่ฝั่งเดียวกับบิ๊กซี เมื่อหันหน้าเข้า จงเดินมาทางซ้าย และตรงซอยเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยต้นไม้ซึ่งอยู่ติดกัน ตึกสีขาวประตูกระจกที่อยู่เยื้องๆ กับพี่วินมอเตอร์ไซค์นั่นละ เป้าหมายของคุณ
FACT BOX:
Lucie Masters
สถานที่: House of Lucie ซอยเอกมัย, https://www.facebook.com/HouseofLucie/
เปิดเข้าชม: อังคาร-เสาร์ เวลา 12.00-17.00 น., วันนี้ถึงสิ้นเดือนกันยายน