เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ผมเพิ่งพาภรรยาสุดที่รักไปจดทะเบียนสมรสที่สำนักเขตในกรุงเทพมหานคร

ผมไปจดทะเบียนสมรสตามคำแนะนำของญาติผู้ใหญ่ซึ่งทำงานด้านกฎหมาย แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าการที่คนสองคนรักกันและพร้อมจะอยู่กินด้วยกัน ทำไมภาครัฐ ซึ่งดูไม่น่าจะเกี่ยวข้องอะไรด้วย กลับต้องมาทำหน้าที่ ‘ผู้กำกับและบังคับใช้สัญญา’ โดยสถาปนาสถาบันการแต่งงาน ร่างกฎกติกาซึ่งต่อมากลายเป็นกฎที่กีดกันชีวิตคู่กระแสรอง เช่น การครองรักของกลุ่ม LGBT หรือเพศทางเลือกอื่นๆ

แต่ก่อนจะกล่าวถึงเหตุผลที่รัฐต้องเข้ามายุ่งกับเรื่องการแต่งงาน ผมขอแยกความสัมพันธ์ของการแต่งงานออกเป็น 2 องค์ประกอบคือ

1) ความสัมพันธ์แบบส่วนตัว ที่คนสองคนตกลงปลงใจอยู่ร่วมกัน โดยได้รับการยอมรับจากสถาบันทางศาสนา เช่น โบสถ์ในศาสนาคริสต์ หรือการยอมรับจากสังคม เช่น ญาติสนิทมิตรสหาย

2) ความสัมพันธ์เชิงกฎหมาย ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยออกใบทะเบียนสมรสให้เพื่อยืนยันสถานะทางกฎหมาย

 

แน่นอนว่ารัฐย่อมสนใจเพียงความสัมพันธ์เชิงกฎหมาย ซึ่งมีลักษณะเป็น ‘สัญญา’ ระหว่างสามีภรรยา ที่หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งละเมิดสัญญา ภาครัฐก็สามารถเข้ามาปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้เสียหายได้ตามที่กฎหมายระบุ นอกจากนี้ รัฐไทยยังมอบสิทธิพิเศษให้กับคู่สมรสตามกฎหมาย เช่น การยื่นภาษีร่วมกัน ซึ่งอาจช่วยแบ่งเบาภาระทางภาษีได้ สิทธิในการเป็นตัวแทนสามีหรือภรรยาในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย เช่น สามีโดนทำร้ายร่างกาย ภรรยาก็สามารถฟ้องร้องแทนได้ รวมถึงสิทธิในการรับผลประโยชน์ต่างๆ จากนายจ้างของคู่ชีวิต และการตัดสินใจทางการแพทย์ในกรณีที่อีกฝ่ายไม่ได้สติ นอกจากนี้ คู่สามีและภรรยาจะไม่ต้องโทษทางกฎหมายในกรณีกระทำความผิดบางประเภทซึ่งกันและกันอีกด้วย

ริชาร์ด เธเลอร์ (Richard Thaler) นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่เพิ่งรับรางวัลโนเบลไปเมื่อเร็วๆ นี้ กล่าวถึงประโยชน์ของการจดทะเบียนสมรสโดยรัฐว่า เป็นทางออกของมนุษย์ปุถุชนซึ่งมักจะมีปัญหาในการควบคุมความต้องการของตนเอง การจดทะเบียนสมรสจะทำให้การหย่าร้างยุ่งยากขึ้น และยิ่งกระบวนการหย่าร้างยุ่งยากมากเท่าไร ชีวิตสมรสก็มีแนวโน้มจะมีความมั่นคงมากขึ้นเท่านั้น

 

ยิ่งกระบวนการหย่าร้างยุ่งยากมากเท่าไร ชีวิตสมรสก็มีแนวโน้มจะมีความมั่นคงมากขึ้นเท่านั้น

 

เหมือนคำอวยพรที่ผมได้ยินตลอดงานแต่งงานว่า “หนักนิดเบาหน่อยก็ให้อภัยกัน” ทะเบียนสมรสจะเป็นกำแพงอีกหนึ่งชั้นที่ชะลอไม่ให้คู่สามีภรรยาใช้อารมณ์ชั่ววูบตัดสินใจแยกทางกันโดยลืมมองประโยชน์ร่วมในระยะยาวของครอบครัวและลูกๆ เพราะเมื่อมีทะเบียนสมรส การหย่าร้างก็ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ โดยการเก็บของยัดใส่กระเป๋าแล้วหนีไปเสียจากบ้านเพื่อมองหาคู่ครองคนใหม่

แต่อาจารย์เธเลอร์ก็แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า กลไกดังกล่าวอาจใช้ไม่ได้ผลนักในปัจจุบัน เพราะกระบวนการหย่าร้างนั้นทำได้ง่ายขึ้นมาก เช่นเดียวกับที่ผมได้ลองพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ซึ่งผมไปจดทะเบียนสมรสว่า สมัยนี้ บางคู่มาทำเรื่องหย่าร้างแค่ 5 นาทีก็เสร็จ ถ้างานยุ่งๆ เจ้าหน้าที่ก็ไม่อยากไกล่เกลี่ย เว้นแต่ว่าทั้งสองคนจะมีลูกที่ยังเล็กอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขเชิงสถิติในไทยที่มีการหย่าร้างเพิ่มขึ้นกว่า 33 เปอร์เซ็นต์ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ การกำกับกฎเกณฑ์เรื่องการแต่งงานแบบเสื้อฟรีไซส์ (ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้โดยไม่ต้องขออนุญาตเรา) ไม่สนใจว่าคู่สมรสแต่ละคู่อาจมีความต้องการเฉพาะตัวแตกต่างกัน ก็ชวนให้ตั้งข้อสงสัยว่าการให้ภาครัฐทำหน้าที่ดูแลสถาบันการแต่งงานนั้นยังคงจำเป็นหรือไม่ และมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายคือการทำให้ชีวิตครอบครัวนั้นมั่นคงได้จริงหรือเปล่า

แน่นอนว่าเรามีทางเลือกครับ นักเสรีนิยมรวมทั้งอาจารย์เธเลอร์เองก็สนับสนุนการเปลี่ยนการแต่งงานให้เป็นเรื่องของภาคเอกชน (Marriage privatization) โดยมองว่ารัฐไม่มีความจำเป็นจะต้องมาขีดเส้นแบ่งระหว่างคนที่แต่งงานกันและคนโสด รวมทั้งไม่ควรมีอำนาจมาจำกัดนิยามความสัมพันธ์ผ่านการสถาปนาสถาบันการแต่งงาน เนื่องจากเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกันในสังคม ก็รัฐธรรมนูญบอกอยู่โต้งๆ ว่าทั้งชายและหญิงเท่าเทียมกัน ทุกคนก็ควรมีสิทธิและเสรีภาพในการเลือกคู่ชีวิต (ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน) สิครับ!

การเปลี่ยนสถาบันการแต่งงานให้กลายเป็นเรื่องของภาคเอกชนทำได้ไม่ยาก เพียงรัฐเลิกเข้ามาเกี่ยวข้อง และเปิดโอกาสให้ภาคส่วนอื่นออกแบบสัญญาชีวิตคู่ตามความต้องการของตนเอง เช่น องค์กรศาสนาที่สามารถระบุสัญญาระหว่างคู่สมรสที่เคร่งครัดและปฏิเสธการรับรองการแต่งงานของคู่ชีวิตเพศเดียวกัน หรือข้อตกลงร่วมในแต่ละชุมชน ซึ่งอาจระบุเงื่อนไขทางวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มเข้าไปในสัญญาคู่ชีวิต แม้แต่การร่างสัญญาระหว่างกันของคู่สามีภรรยา ที่อาจเขียนแนบท้ายว่าสามีจะต้องเป็นคนทำความสะอาดบ้าน งดเล่น RoV และอบขนมปังในวันหยุดสุดสัปดาห์

เมื่อภาครัฐไม่ได้มากำกับดูแลการแต่งงาน สถาบันการแต่งงานจึงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป คู่สมรสจะไม่ได้เป็นสถานะทางกฎหมาย เหลือเพียงกลุ่มพลเรือน (Civil Union) ที่ผูกพันโดยสัญญาที่ออกแบบขึ้นเอง

 

คู่รักแต่ละคู่สามารถ ‘ออกแบบ’ เงื่อนไขการอยู่ด้วยกันที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง โดยที่รัฐไม่สามารถบังคับฝืนใจภาคเอกชน

แน่นอนว่าการปล่อยการกำกับสถาบันการแต่งงานของภาครัฐจะทำให้สัญญาคู่ชีวิตมีความแตกต่างหลากหลาย แต่ความหลากหลายเหล่านั้นย่อมนำพามาซึ่งประโยชน์ เพราะคู่รักแต่ละคู่สามารถ ‘ออกแบบ’ เงื่อนไขการอยู่ด้วยกันที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง โดยที่รัฐไม่สามารถบังคับฝืนใจภาคเอกชนให้รับรองการแต่งงานของคู่รักที่สถาบันนั้นๆ ไม่เห็นด้วย (เช่นกรณีที่ศาลประเทศเดนมาร์กบังคับให้โบสถ์ต้องจัดพิธีแต่งงานให้กับคู่รักเพศเดียวกัน แม้ว่าโบสถ์หลายแห่งจะไม่เห็นด้วยก็ตาม)

ส่วนเรื่องการบังคับใช้สัญญาแต่งงาน ก็ไม่ต่างจากสัญญาอื่นๆ ซึ่งเป็นนิติกรรมทางกฎหมาย เช่น การหยิบยืมเงินจากเพื่อนที่เพียงแค่ทั้งคู่ลงนามในเอกสารก็สามารถใช้เรียกร้องได้ตามกฎหมาย หรือการที่ผมและเพื่อนลงชื่อเพื่อรับค่าลิขสิทธิ์จากการพิมพ์เผยแพร่หนังสือ โดยทั้งสองกรณีไม่

เห็นจะต้องมีภาครัฐเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการทำสัญญา หรือมาจู้จี้จุกจิกว่าต้องเก็บดอกเบี้ยเท่าไหร่ หรือสัดส่วนค่าลิขสิทธิ์ต้องอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์

ความกังวลหนึ่งของการปรับให้การแต่งงานเป็นเรื่องของภาคเอกชนนั้น คือการปกป้องคุ้มครองคู่สมรสและเด็กเมื่อถูกอีกฝ่ายเอารัดเอาเปรียบ ภาครัฐอาจมีส่วนร่วมโดยการออกแบบแนวทางเบื้องต้นสำหรับการทำสัญญาชีวิตคู่ หรือเงื่อนไขขั้นต่ำเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเอาเปรียบอีกฝ่ายหนึ่งจนไม่เป็นธรรม อย่างไรก็ดี แม้ว่าสัญญาคู่ชีวิตจะจัดทำกันเองโดยรัฐไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่สัญญาดังกล่าวก็จะต้องไม่ขัดต่อกฎหมายฉบับอื่น ซึ่งถือว่าเป็นเกราะคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว

การเปลี่ยนสถาบันการแต่งงานให้เป็นเรื่องของภาคเอกชนนับว่าเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างใหม่ ที่มีทั้งผู้ที่สนับสนุนและคัดค้าน แต่ก็นับว่าเป็นแนวคิดที่น่ารับฟังในศตวรรษที่ 21 ซึ่งนับวัน กฎเกณฑ์ของภาครัฐดูจะวิ่งตามความต้องการที่แตกต่างหลากหลายของปัจเจกชนไม่ทัน จนเกิดเป็นข้อขัดแย้งที่จะไม่เกิดขึ้นหากรัฐปล่อยให้ตลาดจัดการ

 

 

ภาพประกอบโดย ภัณฑิรา ทองเชิด

อ่านเพิ่มเติมได้ที่
‘Privatizing Marriage’ จากหนังสือ Nudge: Improving Decisions about Health, Wealth, and Happiness โดย Cass Sunstein และ Richard Thaler
Privatize Marriage: A simple solution to the gay-marriage debate
Privatize marriage!
Rand Paul: Government Should Get Out of the Marriage Business Altogether

 

DID YOU KNOW?

แกรี่ เบ็กเกอร์ (Gary Becker) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลผู้ล่วงลับ ได้นำเสนอทฤษฎีการแต่งงาน (A Theory of Marriage) โดยมีหัวใจสำคัญในการวิเคราะห์ 2 ประการคือ
1) การแต่งงานจะเป็นไปด้วยความสมัครใจเสมอ (อาจจะเป็นความสมัครใจของพ่อแม่บ่าวสาว หรือตัวบ่าวสาวเองก็ตามแต่) ดังนั้นการแต่งงานจึงมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มอรรถประโยชน์โดยรวมให้เพิ่มสูงขึ้น กล่าวคือมีความสุขมากขึ้น
2) ทั้งผู้ชายและผู้หญิงต่างแข่งขันเพื่อหาคู่รักที่เหมาะสมตามเงื่อนไขชีวิตของแต่ละบุคคล ดังนั้นจึงสามารถสันนิษฐานได้ว่าตลาดของการแต่งงานนั้นมีอยู่

จากย่อหน้าข้างต้น การแต่งงานจึงคล้ายกับการทำสัญญาโดยทั่วไประหว่างสองบุคคล ซึ่งหากยึดแนวคิดเศรษฐศาสตร์สำนักนีโอคลาสสิก บุคคลก็ควรมีเสรีภาพในการเลือกกระทำสัญญาตามความสมัครใจ เมื่อสัญญาเกิดขึ้นก็ย่อมส่งผลให้สังคมโดยรวมมีความสุขมากขึ้น และการแทรกแซงโดยภาครัฐอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำสังคมไม่สามารถบรรลุจุดที่มีสวัสดิการสูงสุด

Tags: , , , , , ,