ทุกวันนี้เราได้เห็นข่าวดารา คนที่มีชื่อเสียงในสังคม หรือแม้แต่คนรอบตัวตัดสินใจจบความสัมพันธ์ฉัน ‘สามี-ภรรยา’ ให้เห็นอยู่เป็นประจำ
บ้างก็บอกว่า “ไปด้วยกันไม่ได้ ไม่มีเวลาให้กัน” หรือที่เจ็บที่สุดก็คือ เขาหรือฉันเจอคนใหม่ที่ดีกว่า ซึ่งไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม ที่สุดแล้วทางออกของปัญหาทั้งหมดก็คือการยุติความสัมพันธ์ในรูปแบบชีวิตคู่ลง
บางคู่ก็ตัดสินใจได้ง่ายหน่อย เพราะค้นพบปัญหาตั้งแต่ช่วงดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ใหม่ๆ ขณะที่บางคู่ต้องคิดแล้วคิดอีกเพราะมีลูกน้อยเข้ามาเป็นปัจจัย ไหนจะคำครหาจากสังคมที่พร้อมตราหน้าพวกเขาว่าเป็นพวกล้มเหลวทาง ‘ชีวิตรัก’ และผู้ให้กำเนิด ‘ปัญหาสังคม’
ข้อมูลสถิติการสมรสและการหย่าร้างในรอบ 10 ปี ของประเทศไทยจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครองระบุว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2549-2559 ที่ผ่านมามีคู่สามีภรรยาจดทะเบียนสมรสลดน้อยลงทุกปี แต่กลับมีคู่แต่งงานที่ตัดสินใจเซ็นใบหย่าเพิ่มสูงขึ้นสวนทางกันทุกปี
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบจำนวนคู่หย่าร้างใน พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2559 จะพบว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการหย่าร้างเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 33% เลยทีเดียว
วัดจากสถิติดังกล่าว หลายคนอาจจะมองและ ‘เชื่อ’ กันว่านี่เป็นสัญญาณของปัญหาสังคม แต่หากมองในมุมกลับกัน จำนวนคู่หย่าร้างที่เพิ่มสูงขึ้นในทุกๆ ปีสะท้อนให้เห็นถึงอะไรกันแน่ คนมีความอดทนกันน้อยลง? มีความเข้าใจเรื่องครอบครัวดีขึ้น? หรือผู้หญิงพึ่งพาตนเองได้มากกว่าในอดีต?
ไม่ผิดที่จะเปลี่ยนมาใช้สถานะพ่อเลี้ยงเดี่ยว-แม่เลี้ยงเดี่ยว
การหย่าร้างไม่ได้เป็นปัญหาสังคม เพราะชีวิตคนเรามีสิทธิ์เลือก
ปัญหาต่างๆ มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับการหย่าร่าง
“หย่าร้างไม่ใช่ปัญหาสังคม หากมีลูกก็อย่าปิดบังและโกหกเขา” มุมมองจากประสบการณ์จริงของแม่เลี้ยงเดี่ยว
เมื่อคำว่า ‘พ่อ-แม่เลี้ยงเดี่ยว’ ถูกใช้แทน ‘พ่อ-แม่ม่าย’ บ่อยและถี่ครั้งขึ้นในสังคมไทยปัจจุบัน ในความเป็นจริงนั้นเทรนด์พ่อ-แม่เลี้ยงเดี่ยวเเสดงให้เห็นว่าคู่สามีภรรยาเหล่านั้นล้มเหลวทางชีวิตรักอย่างที่ค่านิยมในอดีตปลูกฝังกันมาจริงหรือ
ซี พงษ์ธนานิกร คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวเจ้าของเพจเฟซบุ๊กคอมมูนิตี้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อมูลสำหรับซิงเกิลมัมที่มียอดไลก์มากกว่า 5 แสนยูสเซอร์ ‘คุณแม่ยังสวย’ และดูแลลูกน้อยวัย 7 ขวบด้วยตัวเอง หลังตัดสินใจแยกทางกับสามีในวันที่เด็กน้อยลืมตาดูโลกได้ไม่นาน แสดงความคิดเห็นเรื่องอัตราการหย่าร้างที่เพิ่มขึ้นในสังคมไทยกับ The Momentum ว่า
“เรามองว่าการหย่าไม่ได้เป็นปัญหาสังคม ไม่เป็นเรื่องน่าอาย มันมีสาเหตุมากกว่าจะบอกว่าเป็นเรื่องของชีวิตคู่ที่ล้มเหลว ชีวิตการเป็นอยู่หรือความสุขของเราสำคัญกว่า เรามีเพื่อนเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวหลายคน ทุกคนก็ดูแฮปปี้ เด็กๆ ไม่ได้ขาดความอบอุ่นอย่างที่ใครๆ คิด ทุกอย่างมันอยู่ที่ตัวคนเลี้ยงมากกว่า”
ซีย้อนความหลังเล่าความรู้สึกและความยากของการตัดสินใจจบความสัมพันธ์ชีวิตคู่ให้ฟังว่า “ยอมรับว่าช่วงแรกๆ รู้สึกเศร้าเสียใจ ยิ่งมีลูกด้วยก็มีเรื่องกังวลให้คิดเยอะ จะอายคนอื่นไหม ลูกไม่มีพ่อจะทำอย่างไร จะขาดความอบอุ่นหรือเปล่า ก็ต้องพยายามผ่านจุดนั้นมาให้ได้ ซึ่งก็ยาก ทรมาน และสาหัส
“แต่ในวันที่เข้มแข็ง หากย้อนกลับไปวันนั้นได้ก็จะเลือกทำแบบเดิมอยู่ดี และเชื่อว่าตัดสินใจถูกแล้ว ทุกวันนี้มีความสุขมากกว่าเดิมหลายเท่า ตัวเราเองกับอดีตสามีก็ยังเป็นเพื่อนกันได้อยู่ เราเล่าความจริงให้ลูกฟังทุกอย่างแต่วิธีการแตกต่างกันออกไปตามแต่ช่วงอายุ ที่สำคัญไม่ควรพูดถึงอีกฝ่ายในทางที่ไม่ดี มันเป็นเรื่องของเราแค่สองคน อะไรไม่ดีให้เก็บไว้ในใจ อย่าสร้างปมดำๆ ในใจเด็ก”
ในอดีตผู้หญิงส่วนใหญ่จะต้องเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก
พอเกิดปัญหาขึ้นก็ก้าวออกไปใช้ชีวิตด้วยตัวเองไม่ได้ จึงต้องทนอยู่ในสถานะดังกล่าว
หย่าควรเป็นทางออกท้ายสุด แต่หากความอดทนหมดลง ก็ไม่ผิดที่จะตัดสินใจเปลี่ยนสถานะ
ซีแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า “ในอดีตผู้หญิงส่วนใหญ่จะต้องเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก อยู่บ้านให้คุณสามีเป็นหัวหน้าครอบครัว พอเกิดปัญหาขึ้นก็ก้าวออกไปใช้ชีวิตด้วยตัวเองไม่ได้ จึงต้องทนอยู่ในสถานะดังกล่าว แต่สมัยนี้ผู้หญิงต้องออกทำงานหาเงิน ฉะนั้นถ้าเขามีงานเขาก็เลี้ยงลูกได้ด้วยตัวเอง เวลามีปัญหาเกิดขึ้น เขาก็พร้อมอยู่คนเดียวโดยไม่ต้องทนถูกเอาเปรียบหรือทนทุกข์ทรมานใดๆ”
อย่างไรก็ตาม ซีก็ไม่ได้สนับสนุนให้คู่แต่งงานทุกคู่แก้ปัญหาครอบครัวโดยการหย่าร้าง
“เราจะบอกทุกคนเสมอว่า ทุกครั้งที่มีปัญหาขอให้มีความอดทน หย่าควรเป็นทางออกสุดท้าย มีปัญหาควรหันหน้าคุยกัน แต่ถ้าทำทุกอย่างแล้วไม่ดีขึ้น ความอดทนหมด เราก็มองว่าไม่ผิดที่จะเปลี่ยนมาใช้สถานะพ่อเลี้ยงเดี่ยว-แม่เลี้ยงเดี่ยว การหย่าร้างไม่ได้เป็นปัญหาสังคม เพราะชีวิตคนเรามีสิทธิ์เลือก ปัญหาต่างๆ มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับการหย่าร่าง
“ทุกวันนี้เราใช้ชีวิตเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เรามีความรับผิดชอบต่องาน ลูก และหน้าที่ อาจจะดีกว่าสมัยแต่งงานด้วยซ้ำ ต้องมีความเป็นผู้ใหญ่และโตกว่าเมื่อก่อนหลายเท่าจนพูดได้เต็มปากว่าตัวเองเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก ฉะนั้นเราจึงไม่มองว่าการหย่าร้างเป็นปัญหาสังคม” คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวกล่าวปิดท้าย
กลับกัน การไม่หย่านี่แหละที่จะเป็นปัญหาสังคม เพราะพวกเขาต้องทนอยู่ด้วยกันโดยไม่มีความสุข
คนเริ่มเข้าใจเรื่องครอบครัว และรสนิยมทางเพศของตัวเองมากขึ้น การหย่าร้างจึงนับเป็นนิมิตหมายอันดีในสังคมไทย
เมื่ออัตราการหย่าร้างในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ประกอบกับคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวผู้ผ่านประสบการณ์ดังกล่าวมาก็ไม่ได้มองว่าการจบความสัมพันธ์ดังกล่าวลงเป็นเรื่องที่แย่อย่างที่คิด
The Momentum จึงต่อสายตรงถามความเห็นในมุมมองเชิงการรับรู้เรื่องการหย่าร้างที่เปลี่ยนไปในสังคมไทยกับ ลักขณา ปันวิชัย หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันในนาม ‘คำ ผกา’ นักเขียน-พิธีกรชื่อดัง และคอลัมนิสต์ประจำเว็บไซต์ The Momentum
“อัตราการหย่าร้างที่เพิ่มขึ้นทุกปีถือเป็นนิมิตหมายที่ดีค่ะ เพราะคนมีความเข้าใจเรื่องครอบครัวดีขึ้น คนสมัยก่อนอาจจะไม่กล้าหย่า เพราะกลัวลูกมีปัญหา กลัวคำครหา และความอับอายว่าพ่อแม่ทั้งสองฝ่ายจะรับไม่ได้ ส่วนตัวเข้าใจว่าคนกล้าหย่ามากขึ้น เพราะปัญหาข้อครหาเหล่านั้นลดลง ความเข้าใจว่าผัวเมียเมื่อเลิกกันแล้วยังคงความเป็น ‘พ่อ-แม่’ เลี้ยงลูกโดยหย่ากันยังทำได้โดยมีสันติภาพระหว่างกัน เรื่องพวกนี้ค่อยๆ ได้รับการยอมรับ และเข้าใจมากขึ้น คนจึงตัดสินใจหย่าร้างกันง่ายขึ้น”
คำ ผกา อธิบายถึงสาเหตุจำนวนคู่หย่าร้างที่เพิ่มขึ้นในทัศนะของเธอว่า “พูดในแง่ของผู้หญิง มันชี้ให้เห็นว่าสถานะของผู้หญิงในปัจจุบันพึ่งตัวเองได้มากขึ้นในหลายๆ มิติ ทั้งด้านการเงิน หน้าที่การงาน เลยไม่จำเป็นที่ต้องทนอยู่กับใครโดยไม่มีความสุข คนเริ่มมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่าการหย่าร้างไม่ได้เท่ากับความล้มเหลว คุณอาจจะอยู่กับใครสักคนแล้วเคยเวิร์กเมื่อ 10 ปีก่อน แต่ไม่เวิร์กในปีที่ 11 มันก็ไม่จำเป็นต้องทน เช่นเดียวกัน ปัจจุบันความเข้าใจเรื่องเพศอาจจะยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น ผู้ชายที่แต่งงานไป 5 ปี แล้วค้นพบว่าตัวเองไม่ได้ชอบผู้หญิงในปีที่ 6
“หากมีปัญหาอะไรที่ทำให้เราไม่สามารถใช้ชีวิตคู่ต่อไปก็ควรจะยุติมัน การหย่าไม่ได้ทำให้โลกแตก ไม่ได้ทำให้ใครเสียคน ไม่ได้ทำให้ลูกมีปัญหา เว้นแต่ว่าคุณไปสะกดจิตตัวเองว่าลูกคุณมีปัญหา หรือถูกสอนผ่านการอ่านวรรณกรรม ดูละครว่าพ่อแม่เลิกกันจะมีปัญหา ต้องเล่นยา พวกนี้มันคิดกันไปเอง
“กลับกัน การไม่หย่านี่แหละที่จะเป็นปัญหาสังคม เพราะพวกเขาต้องทนอยู่ด้วยกันโดยไม่มีความสุข เราต้องพยายามสนับสนุนและแก้ไขมายาคติที่ผิดๆ เกี่ยวกับการหย่า เพื่อที่สักวันหนึ่งมันจะได้รับการยอมรับมากขึ้น ไม่อย่างนั้นคนก็จะมีความสุขกันน้อยลง”
จริงอยู่ที่อัตราการเพิ่มขึ้นของการหย่าร้างในสังคมไทยจะดูน่าเป็นห่วงและสร้างความหวั่นวิตกให้ทั้งเรา สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) และแม้แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทุกปี
แต่หากมองเรื่องราวของ ‘การหย่าร้าง’ ในสังคมไทยให้ลึกลงไปอีกขั้น ใครหลายคนที่อาจจะเคยคิดว่ามันเป็น ‘ปัญหา’ น่าจะได้ทำความเข้าใจกันใหม่ว่า มันคือ ‘ทางออกของปัญหา’ มากกว่า
คงไม่มีใครอยากให้ชีวิตคู่และชีวิตครอบครัวของตัวเองยุติและพังทลายลงแบบไม่เป็นท่า แต่ที่สุดแล้ว หากการถอยออกมาคนละก้าวจะทำให้ทั้งคุณและเขาหรือเธอมีความสุขและฉีกยิ้มได้มากกว่าที่เป็น การหย่าก็อาจจะไม่ใช่จุดจบของโลกใบนี้อย่างที่ คำ ผกา กล่าวไว้จริงๆ
เพราะทุกครั้งที่ความสัมพันธ์รูปแบบหนึ่งจบลง ความสัมพันธ์รูปแบบที่ต่างออกไปย่อมก่อตัวขึ้นใหม่เสมอ…
ภาพประกอบ: Karin Foxx
อ้างอิง: